กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี เตรียมฟ้องศาลปกครอง 29 มี.ค. 2566 นี้ เพื่อขอให้เพิกถอนการออกประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดินโปแตซ อุดร
ประเด็นฟ้องหลัก “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย- ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. แร่ 2560”
เผย “ยังไม่คืบ” ขอข้อมูลประทานบัตรจากหน่วยงานรัฐ

สรุปแล้ว กำหนดยื่นฟ้อง “29 มี.ค.”
“29 มีนาคม 2566 ที่ศาลปกครองอุดรธานี ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี เตรียมดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองครั้งที่ 2
เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง และคำพิพากษา เพิกถอนการออกประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี รวมถึงกระบวนการ และขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับการออกประทานบัตรดังกล่าว” มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยคำแถลงของกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี วันนี้ (27 มี.ค. 2566)
“ศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษาให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้หน่วยงานรัฐกลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ตั้งแต่ 30 มี.ค. 2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด
มิถุนายน – กันยายน 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อนุญาตออกประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำนวนทั้งสิ้น 4 แปลง ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ ในพื้นที่ 5 ตำบล ในอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยประทานบัตรมีอายุยาวนาน 25 ปี คือปี 2565-2590” คำแถลงระบุ

3 เหตุผล “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
“1. พื้นที่ที่มีการออกประทานบัตร เป็นพื้นที่ซึ่งประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องอาศัยที่ดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน ดังนั้นการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ และจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ทำการคัดค้านมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับฟัง และยุติการกระบวนการออกประทานบัตรดังกล่าว และออกประทานบัตรไปทั้งๆ ที่ยังมีคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เกี่ยวกับใบไต่สวนเหมืองแร่ ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษา ให้ดำเนินการใหม่ตามพระราชบัญญัติแร่ ปี 2560 แต่บริษัทฯ ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. การยื่นคำขอ และเอกสารเพื่อขอประทานบัตร ของบริษัทเอพีพีซี ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กล่าวคือ บรรดาเอกสารที่เป็นการใช้ข้อมูลเก่าที่ได้จัดทำไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งเอกสารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรายงานใบไต่สวนการรังวัดกำหนดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร เอกสารการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการ มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำรายงานใบไต่สวน การรังวัดกำหนดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร ทั้ง 4 แปลง นั้น
ศาลปกครองอุดรธานี ได้วินิจฉัยไว้ว่า การไต่สวนรังวัดปักหมุดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน เป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญซึ่งส่งผลต่อการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการเสนอข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นตามกฎหมาย รวมทั้งในขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป เนื่องจากการทราบรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลดีในการวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองใต้ดินได้อย่างรอบด้านและถูกต้องยิ่งขึ้น
ศาลจึงมีคำพิพากษา ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาคำขอฯ ของบริษัทเอพีพีซี ใหม่ ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด
3. ขั้นตอนการขอประทานบัตร ไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมถึงกำหนดให้จัดทำข้อมูลเขตแหล่งแร่ที่รัฐจะอนุญาตให้ทำเหมืองไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 โดยรัฐจะอนุญาตให้ทำเหมืองได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560
ดังนั้น การกำหนดพื้นที่แหล่งแร่ที่จะอนุญาตให้ดำเนินการได้นั้น จะต้องมีการสำรวจจัดทำข้อมูลขึ้นใหม่ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไป ตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่ใช่พื้นที่ ตามมาตรา 17 วรรคสี่ อันได้แก่ พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคง และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่จะต้องมีการกันพื้นที่ดังกล่าวออกเสียก่อนที่จะมีการประกาศกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไป แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การรังวัดกำหนดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่มีการดำเนินการกันเขตพื้นที่ ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกจากพื้นที่คำขอประทานบัตรแต่อย่างใด” กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี แถลง

“ยังไม่คืบ” ขอข้อมูลประทานบัตรจากหน่วยงานรัฐ
9 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมาลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามความคืบหน้าในการขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซ หลังจากยื่นหนังสือมาทางไปรษณีย์แล้วไม่ได้รับการติดต่อกลับ
โดยเข้าพบ 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ
1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่อง การขอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ที่ สผ. พิจารณาผ่านความเห็นชอบ แล้วทาง กพร. นำไปประกอบการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่ใต้ดิน มีการออกใบอนุญาตเมื่อเดือนกันยายน 2565 โดย วรพจน์ ทองอุปการ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเหมืองแร่และพัฒนาปิโตรเลียม ขอขยายระยะเวลาส่งมอบข้อมูลและเอกสารที่ระบุไว้ในหนังสือต่อไปอีก 2 สัปดาห์
2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อติดตามความคืบหน้าของหนังสือขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาการออกประทานบัตร โดย เศรษฐรัชต์ เลือดสกุล รองอธิบดี กพร. ออกมารับเรื่อง และรับปากกับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ว่าจะดำเนินการตามเรื่องให้ภายใน 15 วัน