สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานยังหนักต่อเนื่อง หนักสุดในหลายพื้นที่จังหวัดเชียงรายโดยเฉพาะ แม่สาย ด้วยสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ที่กำลังมีการเร่งจัดการ โดยมีฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวเร่งสำคัญ
ดัชนีคุณภาพอากาศทั่วประเทศเกินค่ามาตรฐาน 19 จังหวัด
คาดการณ์แนวโน้ม ฝุ่นกรุงเทพเริ่มดีพรุ่งนี้ ฝุ่นเหนือต้องเฝ้าระวังต่อ

ฝุ่นเชียงราย “หนักสุด” แจ้งเตือนคนเชียงราย
“แจ้งเตือน PM2.5 สูง ประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังอาการผิดปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด”
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ประกาศผ่านเฟสบุ๊กบ่ายวันนี้ (24 มี.ค. 2566) หลังดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI : ค่าที่เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด PM2.5 PM10 O3 CO NO2 SO2) อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขึ้นสูงถึง 311 มคก./ลบ.ม. (ล่าสุด 14:00 น. ค่าอยู่ที่ 343 มคก./ลบ.ม.)
“เช้านี้ยังมีไฟป่าในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย โดยมีเมื่อคืนมีไฟป่าลุกไหม้ในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก ล่าสุดเช้านี้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์
นอกจากนั้นยังพบว่าในพื้นที่ดอยจระเข้ยังมีไฟลุกไหม้อยู่ในเขตป่าลึกที่เข้าถึงได้ยาก โดยลุกไหม้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 22 – 24 มี.ค. วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่จัน ต้องระดมเจ้าหน้าที่เดินเท้าขึ้นไปดับไฟไม่ให้ลุกลามอีกครั้ง
บุญส่ง ตินารี นายอำเภอเทิง ได้สรุปข้อมูลจุดความร้อนหรือฮอตสปอต ในพื้นที่เมื่อ 23 มี.ค. มากถึง 11 จุด ส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติตรงเขตรอยต่อระหว่าง อ.เทิง อ.พญาเม็งราย และ อ.เวียงชัย รวมทั้งที่ป่าพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า (เตรียมการ) และป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งไฟได้ลามมาจากทุ่งหญ้าแห้งเขตแขวงอุดมไชย สปป.ลาว เข้าสู่ฝั่งไทยแต่เจ้าหน้าที่ได้เร่งฉีดน้ำและใช้อุปกรณ์ดับจนควบคุมไม่ให้ลามลึกเข้ามาได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด
หลังอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า (เตรียมการ) อ.เทิง ได้ตรวจสอบพื้นที่พบมีไฟไหม้ทุ่งหญ้าบริเวณยอดภูชี้ฟ้ากินอาณาบริเวณประมาณ 5 ไร่ วิทยา บัวพล หัวหน้าอุทยานฯ จึงได้มีประกาศลงวันที่ 23 มี.ค. 2566 ให้ปิดแหล่งท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า (เตรียมการ) เป็นการชั่วคราว เพราะแม้ จนท.จะควบคุมไฟป่าได้แล้ว แต่พื้นที่ยังคงได้รับความเสียหายและไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการได้” MGR Online รายงาน

“อิทธิพลจากฝุ่นเพื่อนบ้าน” GISTDA
“จากข้อมูลดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 23 มีนาคม 2566 ไทยพบจุดความร้อนสูงขึ้นกว่าเดิมมากถึง 2,278 จุด ในขณะที่ สปป.ลาว ยังคงสูงสุดเพิ่มขึ้นกว่าวานก่อนถึง 6,679 จุด ตามด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 5,324 จุด เวียดนาม 966 จุด กัมพูชา 790 จุด และมาเลเซีย 18 จุด
จุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ 984 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 770 จุด พื้นที่เกษตร 221 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 144 จุด พื้นที่เขต สปก. 142 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ แม่ฮ่องสอน 460 จุด น่าน 205 จุด และเลย 143 จุด
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา” GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) รายงานเที่ยงวันนี้

คาดเกินมาตรฐานต่อเนื่องบ่ายนี้ “เหนือ-อีสาน”
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566 ณ 14:00 น. พบว่ามี 19 จังหวัดมีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (มากกว่า 51 มคก./ลบ.ม.) แม่ฮ่องสอน แพร่ เลย เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี หนองบัวลำภู หนองคาย ลำพูน ลำปาง มุกดาหาร พิษณุโลก พิจิตร พะเยา บึงกาฬ น่าน นครพนม ตาก กรุงเทพฯ
ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ (20 พื้นที่ จาก 31 จำนวนพื้นที่ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ)
9 พื้นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง ปริมาณฝุ่น PM2.5 มากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.)
11 พื้นที่อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม ปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม.)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 7 พื้นที่ มี 1 พื้นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง ปริมาณฝุ่น PM2.5 มากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.) 6 พื้นที่อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม ปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม.)
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ โดยอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม ปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม.)
ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่เกินมาตรฐาน
![]() |
![]() |
เหนือเฝ้าระวัง 25-27 หลังจากนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น
“25 มี.ค. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่”
พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 25 – 27 มี.ค. 2566” กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5