“เกินค่ามาตรฐาน 12 จังหวัด” ระดับฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสานวันนี้ คาดกรุงเทพฯ เริ่มดีพรุ่งนี้ ขณะเหนือยังต้องเฝ้าระวังต่อ
“ฝุ่นข้ามแดน ตัวเร่งสำคัญ” นักวิชาการวิเคราะห์ พร้อมเสนอ 11 แนวทางจัดการ

“สาหัส” ฝุ่นเหนือ-อีสาน
“ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเกินมาตรฐาน โดยพบปริมาณ PM2.5 เกินมาตรฐานใน 12 จังหวัด ดังนี้ แม่ฮ่องสอน แพร่ เลย เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ ลำพูน พะเยา บึงกาฬ น่าน นครพนม ตาก
ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ (19 พื้นที่) ตรวจวัดได้ 35 – 182 มคก./ลบ.ม. 6 พื้นที่ปริมาณ PM2.5 อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง ค่าฝุ่น PM2.5 มากกว่า 91 มคก./ลบ.ม.) 13 พื้นที่อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 51 – 90 มคก./ลบ.ม.)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 34 – 72 มคก./ลบ.ม. ทั้ง 3 พื้นที่อยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน” ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานคุณภาพอากาศ 13:00 น. วันนี้ (23 มี.ค. 2566)

“ฝุ่นข้ามแดน” ตัวเร่ง
“เช้านี้ (23 มี.ค. 66) ฝุ่นพิษกลับมาสาหัสในภาคเหนือ และอีสานจากการเผาในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านที่กลับมาเร่งตัวเพิ่มขึ้น สปป.ลาวเผาเพิ่มทำสถิติใหม่! กลางตอนบน และตะวันตกค่าฝุ่นพิษก็อันตรายหลายพื้นที่
“สาเหตุหลักของฝุ่นพิษวันนี้ในทุกภูมิภาคมาจากการเผาในที่โล่งแจ้งที่เร่งตัวขึ้นจากในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน
สปป.ลาว เผาเพิ่มทุบสถิติเดิม โดยจุดความร้อนเพิ่มจาก 3,709 จุด (21 มี.ค.) เป็น 4,284 จุด (22 มี.ค.) จังหวัดริมชายแดน สปป. ลาว กำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษอย่างมาก ตามมาด้วยเมียนมาร์ที่เผาเพิ่มเป็น 2,694 จุด ไทย 1,713 จุด และกัมพูชา 687 จุด ตามลำดับ (ภาพที่ 7)
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยที่รายงานโดย GISTDA เพิ่มขึ้นจาก 1,432 จุด (21 มี.ค.) เป็น 1,713 จุด (22 มี.ค.) (ภาพที่ 4) สำหรับในภาคเกษตรของประเทศไทยมีการเผาเพิ่ม ข้าวยังคงนำโด่ง มีจุดความร้อน 205 จุด ตามมาด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 113 จุด อ้อย 52 จุด และ พื้นที่เกษตรอื่นอีก 138 จุด ส่วนการเผาในภาคป่าไม้วันนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 883 จุด เป็น 1108 จุด จากนี้ไปปัญหาฝุ่นจะหนักเพิ่มขึ้นจากฝนที่ลดลง” วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยวันนี้ ผ่านเฟสบุ๊ก Witsanu Attavanich
![]() |
![]() |
คาดกรุงเทพฯ เริ่มดีพรุ่งนี้ – เหนือยังต้องเฝ้าระวัง
“24 มี.ค. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
24 – 27 มี.ค. 2566 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน” ” กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ซึ่งจากการคาดการณ์ภาพรวมฝุ่นPM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้มอยู่ในระดับปานกลางในตั้งแต่ 26 – 27 มี.ค. 2566 และจะอยู่ในระดับดีตั้งแต่ 28 – 30 มี.ค. 2566” กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ขอรายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 24 – 30 มีนาคม 2566

เสนอ 11 แนวทางจัดการฝุ่น
วิษณุได้เสนอ 10 แนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านเวทีเสวนาปัญหาฝุ่น PM2.5 ฝุ่นข้ามแดน เมื่อ 22 มีนาคม 2566 ดังนี้
1. ลดการเผาในที่โล่งแจ้งภายในประเทศให้เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้สามารถถอดบทเรียน และนำไปแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านได้
2. ให้องค์ความรู้พร้อมเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวไม่เผาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
3. สนับสนุนการปลูกพืชยืนต้นในพื้นที่สูงแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชในพื้นที่สูง และหาตลาดรองรับกับผู้คนในพื้นที่
4. สร้างเวทีเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา และให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
5. สร้างเวทีเพื่อแบ่งปันความรู้เพื่อยกระดับการรับรู้ของสาธารณชน
6. สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลร่วมด้านผลกระทบหมอกควันต่อสุขภาพของประชาชน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
7. ร่วมกันกำหนดวิธีการ และเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในการประเมิน และติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากปัญหาหมอกควัน
8. เพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษจากหมอกควันต่อสุขภาพ
9. ติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมเก็บภาษีเพิ่ม
10. ผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว โดยการนำเงินกู้ออกจาก อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ ไปสู่ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
11. กำหนดเงื่อนไขการป้องกันไม่ให้เกินฝุ่นพิษ PM2.5 ในระดับอันตรายในนโยบาย และสัญญาสินเชื่อของธนาคาร