ยื่นนายกฯ ตรวจปนเปื้อนซีเซียม ช่วยชาวสวนผลไม้ปราจีน นักวิชาการมธ.หนุน

ชาวปราจีนยื่นหนังสือถึงนายกให้ดำเนินการแก้ปัญหาผลกระทบชาวสวนผลไม้จากกรณี “ซีเซียมหาย” ด้วยการตรวจการปนเปื้อน สร้างความมั่นใจผู้ซื้อ รวมถึงมาตรการระยะสั้น-ยาว

นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หนุน “รัฐควรเร่งตรวจวัดการปนเปื้อนผลไม้ เพื่อช่วยให้ผลผลิตขายได้ในล็อตแรกฤดูเก็บเกี่ยว”

ด้านผู้ว่าระยองเผย “ส่งกลับต้นทางแล้ว” ผงฝุ่นเหล็กที่สงสัยมีการปนเปื้อนซีเซียม ที่โรงหลอมโลหะ “เค.พี.พี สตีล” ส่งมารีไซเคิลที่โรงงาน “เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์” ในระยอง แม้ตรวจระดับรังสีพบไม่เกินมาตรฐาน

(ภาพ : Hfocus)

เรียกร้องรัฐบาล

“มาตรการที่ชาวปราจีนบุรีเรียกร้องจากนายกรัฐมนตรี มีทั้งระยะสั้น และระยะยาว 

โดยระยะสั้นต้องเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนหาปริมาณรังสี และการกระจายตัว ระดมเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญ สรุปผลให้เร็วที่สุด รวมถึงต้องมีมาตรการจัดการฝุ่นเหล็กและวัสดุต่างๆที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 และการสื่อสารให้ข้อมูลต้องเป็นมืออาชีพ ระบุเวลา และเหตุการณ์รวมถึงเส้นทางที่เกี่ยวข้อง

สำหรับระยะยาวต้องติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เพราะมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟู ที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมเปิดเผยข้อมูล ชนิดจำนวน ความรุนแรง มาตรการรับมือของวัสดุกัมมันตรังสี เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังขอมีมาตรการชดเชยความเสียหาย เช่น การถูกยกเลิกการซื้อสินค้าทางการเกษตร รายได้ที่หายไปจากภาคบริการและท่องเที่ยว ปัญหาต้องรับผิดชอบ ทั้งทางแพ่งและอาญา ลดผลกระทบในการจำหน่าย พืชผลการเกษตร ขอให้หน่วยงานออกหนังสือรับรองความปลอดภัยกัมมันตภาพรังสีฟรี” ชาวปราจีนบุรี เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตร์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้จัดการแก้ปัญหาซีเซียม-137 วันนี้ (23 มี.ค. 2566) ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล

ผู้มาร้องเรียนยังได้มอบกระเช้าผักสดให้กับนายกฯ ด้วยหวังว่าหลังจากรับประทานแล้ว นายกฯ จะการันตีได้ว่าเป็นผักที่ปลอดภัย

“รัฐบาลได้สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบดำเนินการโดยเร่งด่วน” สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับหนังสือเปิดเผยข้อความจากนายกรัฐมนตรี 

“ช่วงบ่ายจะเตรียมไปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้กำกับตรวจสอบให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล พืชผลทางการเกษตรได้รับผลกระทบจึงอยากให้หาต้นทางที่สำคัญบริษัทต้นทางรับผิดชอบ เพราะไม่มีหลักธรรมาภิบาลไม่ยึดกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง” วิโรจน์ น้อยสำเนียง นายกสมาคมจิตอาสาพัฒนาปราจีนบุรี

(ภาพ : คมชัดลึก)

นักวิชาการ มธ. หนุนตรวจวัดปนเปื้อน

“จ.ปราจีนบุรี มีผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ ทุเรียน มังคุด ซึ่งตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเริ่มต้นเก็บเกี่ยวผลผลิตผลไม้ตามฤดูกาล ที่เป็นผลผลิตล็อตแรกของปีที่เตรียมป้อนเข้าสู่ตลาด ซึ่งการเข้าไปสนับสนุนทางวิชาการเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีวิธีการรับมือ และมีผลรับรองคุณภาพที่ได้จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะมาตรฐานของรังสีในอาหารที่ปลอดภัย (Food Grade) จะช่วยเยียวยาผลกระทบของชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ได้ ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยได้อีกด้วย

ภาครัฐจึงควรเร่งจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อตรวจวัดปริมาณการปนเปื้อนของรังสี เพื่อให้มีเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของผู้บริโภค ที่มีหน่วยวัดที่น่าเชื่อถือ และจับต้องได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลไม้ไทย ทั้งการบริโภคในประเทศ รวมถึงภาพรวมของการส่งออกผลไม้ไทยอีกด้วย

เท่าที่ทราบก็คือได้มีการเคลื่อนย้ายเจ้าฝุ่นซีเซียมนี้จากจังหวัดระยองไปยังจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งในลำดับถัดไปก็คงจะมีการกำจัด หรือทำลายเจ้าฝุ่นซีเซียมนี้ต่อไป 

ในอีกด้านหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะดำเนินมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่จังหวัดระยอง ปราจีนบุรี หรือเส้นทางที่มีการเคลื่อนย้ายเจ้าฝุ่นนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ และไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกก็ควรจะทำการตรวจวัดว่ามีการปนเปื้อน หรือว่ารั่วไหลของเจ้าฝุ่นซีเซียมนี้หรือไม่ระหว่างการขนส่ง หรือว่าระหว่างการจัดเก็บ

ซึ่งเท่าที่ทราบก็ได้สร้างผลกระทบไปยังวงกว้าง ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่กล้าแม้กระทั่งซื้อสินค้าที่มาจาก 2 จังหวัดนี้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้างต่อไป” 

รศ.ดร.พีระศักดิ์ เภาประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อเสนอแนะทางวิชาการจากกรณีผงฝุ่นกัมมันตรังสี (ซีเซียม 137) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนผลไม้ จ.ปราจีนบุรี 

(ภาพ : Somnuck Jongmeewasin)

ส่ง “ผงฝุ่นเหล็ก” กลับโรงหลอมปราจีนฯ

วานนี้ (22 มี.ค. 2566) รายงานจากพื้นที่เปิดเผยว่า ได้มีการขนย้ายถุงบิ๊กแบ็กบรรจุฝุ่นเหล็กจำนวน 12.4 ตัน รวม 16 ถุง จากบริษัท เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์ จำกัด กลับไปยังต้นทางที่โรงงานหลอมเหล็ก ที่พบสารซีเซียม-137 ใน ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 16:00 น.

“เมื่อรถบรรทุกเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ใช้เครื่องมือตรวจหาค่ารังสี ตจวจวัดได้ 0.006 มิลลิซีเวิร์ต และไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 แต่อย่างใด ซึ่งจำนวนฝุ่นเหล็กดังกล่าว จะมีการขนย้ายเข้าไปเก็บในโรงงานที่แยกจากที่พบกัมมันตรังสีซีเซียม-137 จำนวน 24 ตันในโรงงาน

ซึ่งฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งคืนดังกล่าวเป็นฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งไปยังจังหวัดระยองตั้งแต่ 2 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยส่งคืนกลับมาตามคำสั่งของ ไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง  หลังจากทำการตรวจแล้วพบว่าไม่มีการปนเปื้อนซีเซียม-137

โดยมีนายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ควบคุมการขนย้าย กระบวนการขนออกไปนั้น ได้ยกใส่รถบรรทุกพิเศษที่ผ่านมาตรฐาน ที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับขนส่งกากอุตสาหกรรมของเสียที่เป็นอันตรายไปบำบัดหรือกำจัด โดยติดตั้งระบบ GPS เพื่อควบคุมรถ โดยมีการปิดมิดชิด ป้องกันผงเหล็กฟุ้งกระจายด้วย” ข่าวสดรายงาน

“จังหวัดระยองได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบภายในบริเวณโรงงานพบว่า ค่าปริมาณระดับรังสีอยู่ในระดับ 0.15 ไมโครซีเวิร์ดต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าที่พบตามธรรมชาติ เห็นควรจัดส่งผงฝุ่นเหล็กดังกล่าว จำนวน 12.4 ตันกลับไปยังต้นทาง คือบริษัท เค.พี.พี สตีล จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” ไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ระบุใจจดหมาย “แจ้งขอจัดส่งฝุ่นเหล็กจำนวน 12.4 ตัน กลับไปยังโรงงานต้นทางจังหวัดปราจีนบุรี” ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี (ดูจดหมาย)

(ภาพ : Somnuck Jongmeewasin)