“ยังหาไม่เจอ ซีเซียม-137” นักวิชาการชี้ “ความเสี่ยงตกกับชุมชน”

ยังหาไม่เจอและไร้ร่องรอย “วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137” ที่หายปริศนาจากโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม 304 เป็นเวลา 22 วัน ผู้ว่าปราจีนฯ แถลง “กำลังระดมหาเข้มข้น-คาดคนในมีส่วน”

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ “ความเสี่ยงตกกับชุมชนรอบข้าง – โรงไฟฟ้าและสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติคือผู้รับผิดชอบหลัก” เสนอ “ไม่เอาผิดร้านรับซื้อของเก่าที่ครอบครอง – 7 ข้อ ปิดช่องโหว่ระบบกำกับดูแลวัสดุกัมมันตรังสี” 

เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจสอบร้านขายของเก่า ใน จ.ปราจีนบุรี (ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี)

“ยังไม่พบซีเซียม-137-คาดคนในมีส่วน” ผู้ว่าฯ แถลง

“ได้ระดมทุกภาคส่วนติดตามค้นหาอย่างเข้มข้น โดยล่าสุดได้ตรวจค้นหาในโรงงาน และพื้นที่ใกล้เคียงช่วง 2 กิโลเมตรอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้เบาะแส  ส่วนการตรวจสอบจากร้านรับซื้อของเก่าทั่วทั้งจังหวัดยังไม่พบเช่นเดียวกัน และจะขยายพื้นที่ในการตรวจค้นไปยังจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

และได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดใกล้เคียง และมอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งในอำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภออื่นๆ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และร้านขายของเก่า ช่วยแจ้งเบาะแส และในวันนี้ได้สั่งการให้นายอำเภอ ปูพรมค้นหาอุปกรณ์รอบโรงงาน และเรียกสอบพนักงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมั่นใจว่า พนักงานบางคนมีส่วนเกี่ยวข้อง” 

รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี แถลงวันนี้ (16 มี.ค. 2566) ถึงความคืบหน้าการดำเนินการค้นหา วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ซึ่งหายปริศนาไปจากจุดติดตั้งใช้งานในบริเวณโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำของ “บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด” นิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรีตั้งแต่ราววันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และล่าสุดบริษัทประกาศมอบเงินรางวัลราว 100,000 บาทแก่ผู้แจ้งเบาะแส (บางแหล่งข่าวระบุว่า 150,000 บาท)

“ได้ทำการตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่าภายในจังหวัดปราจีนบุรีไปแล้วกว่า 20 แห่ง ทุกแห่งให้การตรงกันไม่เคยพบเห็นอุปกรณ์ลักษณะดังกล่าว จึงมุ่งเป้าไปที่พนักงานภายในโรงงานว่าเก็บอุปกรณ์ชิ้นนี้เข้าโกดัง หรือมีการนำไปขายแล้วหรือไม่” พล.ต.ต.วินัย นุชชาผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยผ่าน Thai PBS 

สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ภาพ : Voice online)

“ความเสี่ยงตกกับชุมชนรอบข้าง” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้

“สิ่งที่กังวลตอนนี้คือว่า ตัวซีเซียม-137 ที่หายไปตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน แล้วมันหายไปตั้งแต่ 23 ก.พ. มันตกลงมาที่พื้นแล้วใครเป็นคนเก็บไป ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นคนในโรงงานเอง เก็บแล้วเอาไปไหน เอาออกไปนอกโรงงานได้ยังไง ซึ่งเป็นคำถามที่จะต้องตอบให้ได้

ความเสี่ยงต่อชุมชนคือตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าตอนนี้ซีเซียมดังกล่าวหายไปอยู่ที่ไหน ถ้ามันยังไม่แกะออกมามันก็ยังไม่เป็นไร เพราะว่าในนั้นมีตะกั่วหุ้มอยู่ และมีซีเซียมอยู่ข้างใน 

แต่ถ้ามีการแกะ หรือผ่าแท่งซีเซียมออกมา แล้วหายใจ หรือจับกับสารดังกล่าวโดยตรงจะทำให้เกิดผิวหนังผุพองไหม้ และป่วยหนักได้ นอกจากนี้สารซีเซี่ยม-137 ยังแผ่รังสีแกมมาที่มีพลังงานสูง(high-energy gamma radiation) ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่มีประจุไฟฟ้า ไม่มีมวล มีอำนาจทะลุทลวงสูงออกมาก็จะทะลุไปทำลายเซลต่าง ๆ ภายในร่างกายโดยเฉพาะเซลเนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงมาก

นอกจากนั้นถ้านำเอาวัสดุกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวไปหลอมเหล็ก โดยถ้าเอาไปเผาเมื่อไหร่ซีเซียมก็จะออกมาที่ปลายปล่อง รังสีแกมมาก็จะออกมาด้วย คือซีเซียมก็จะออกมาเป็นฝุ่น ในฝุ่นก็จะมีรังสีแกมมาออกมาด้วย หรือไปเป็นขี้เถ้า มันก็จะมีรังสีแกมมาออกมาด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามันลงแหล่งน้ำ หายใจเข้าไปก็จะได้รับผลกระทบเหมือนกัน” 

สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวกับ GreenNews

ลักษณะวัสดุกัมมันตภาพรังสีที่หายไป (ภาพ : สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ)

“โรงงาน-สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ” ผู้รับผิดชอบหลัก

“จริง ๆ แล้วกรณีนี้ตัวโรงงานต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะว่าตัวซีเซียม-137 อยู่ในโรงงาน ซึ่งโรงงานเอามาติดไว้เป็นเครื่องมือวัดระดับขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า แล้วมันหลุดลงมาแล้วหายไป ต้องบอกเลยว่าโรงงานมีความหละหลวมมาก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ว่ามีวัตถุอันตรายอยู่ 

ผมมองว่าในกรณีนี้ถือว่าโรงงานมีความผิด ถ้าในอนาคตมีผู้ได้รับผลกระทบจากซีเซียม-137 นี้ โรงงานก็คงจะต้องชดใช้ สามารถถูกฟ้องได้

การจะนำวัสดุกัมมันตภาพรังสีมาใช้ประโยชน์ โรงงานจะต้องไปขออนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ คนอนุญาตคือสำนักงานปรมาณูฯ แล้วโรงงานนำมาใช้ ทีนี้พอนำมาติดในโรงงาน แล้วมันหายไป ความรับผิดชอบเป็นของโรงงาน 

ตอนนี้พอมันหายไป คนที่ดูแลการค้นหาก็คือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสี ที่ต้องจัดการไปหามา แต่ว่าทางสำนักงานฯ ไม่สามารถทำคนเดียวได้ เลยต้องไปขอให้ผู้ว่าจังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยระดมกันหาอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังหาไม่เจอเลย” สนธิกล่าว

เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจสอบบริเวณโรงงาน (ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี)

เสนอ “ไม่เอาผิดร้านรับซื้อของเก่าที่ครอบครอง”

“ถึงวันนี้หน่วยราชการทั้งจังหวัดจะต้องเข้ามาช่วยแล้ว เพราะว่าซีเซียม-137 อันตรายมาก แต่ยังมีเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับการค้นหาก็คือ ถ้าเรานำเครื่องเข้าไปตรวจวัดตามกองเหล็กว่ามี รังสีแผร่ออกมาหรือไม่ มันอาจจะไม่เจอเพราะว่าวัสดุซีเซียมยังไม่แตกออกมาข้างนอก

โดยวิธีการที่คิดว่าน่าจะช่วยได้โรงงานรับซื้อของเก่า โรงเหล็กต่าง ๆ ออกมาแสดงตัวเอง เปิดเผยว่าที่โรงงานมีขยะอะไรบ้าง และคือถ้าตอนนี้วัสดุกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวไปอยู่ที่ร้านแล้วนี่ ทางราชการก็ต้องออกมาบอกว่า ตอนนี้ถ้าเอามาคืนจะถือว่าไม่มีความผิด เพราะว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าคืออะไร นึกว่ามันคือเหล็ก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อย่าไปเอาผิด ซึ่งก็มีช่องกฎหมายในการไม่เอาผิดได้อยู่ 

แต่สำหรับคนที่แบกออกไปจากโรงงานนี่ถือว่าผิดแน่นอน ผมเข้าใจว่าคนที่แบกออกไปจากโรงงานคงเอาไปขายแล้ว หรือเอาไปทำอะไรซักอย่างแล้ว ซึ่งก็คิดว่าวิธีนี้น่าจะทำให้มีโอกาศหาเจอมากขึ้นกว่าที่ให้เจ้าหน้าที่หาเองอย่างทุกวันนี้” สนธิเสนอ

เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจสอบร้านขายของเก่า ใน จ.ปราจีนบุรี (ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี)

เสนอ “7 ข้อ ปิดช่องโหว่ระบบกำกับดูแลวัสดุกัมมันตรังสี” 

“สำหรับการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต

  1. จะต้องทำให้ชัดเจนว่า ถ้าโรงงานจะขอติดตั้งวัสดุกัมมันตภาพรังสีจะต้องขออนุญาตสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พอขออนุญาตแล้วก็ต้องมีการเข้าตรวจเช็คทุกปี จะต้องรายงานทุกปีว่าขณะเป็นยังไงบ้าง ต้องมีการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งว่าวัสดุกัมมันตภาพรังสีนี้ยังใช้งานได้ไหม มีการผุกร่อนหรือไม่ มีปัญหาเรื่องการติดตั้งหรือไม่
  2. วัสดุกัมมันตภาพรังสีดังจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มิดชิด บริเวณนั้นจะต้องเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่ให้คนสามารถเข้าไปยุ่งตรงนั้นได้
  3. จะต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีของอะไรเข้าออกในบริเวณโรงงานบ้าง อย่างแท่งซีเซียมที่หายในครั้งนี้มีขนาดใหญ่มาก หลักกว่า 25 กิโลกรัม ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะแบกออกไปได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นแสดงว่าระบบรักษาความปลอดภัยของโรงงานยังไม่ดี
  4. จะต้องมีกล้องคอยตรวจสอบตลอดเวลา สามารถดูย้อนหลังได้ โดยจะต้องออนไลน์เข้าคอนโทรลรูม
  5. เมื่อใกล้เวลาหมดอายุแล้วก็ต้องแจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบด้วยว่ายังสามารถใช้งานได้ไหม มีการรั่วไหม หรือว่าจะต้องมีการจัดการอย่างไรต่อไป
  6. หน่วยงานราชการก็ต้องเข้ามาตรวจสอบให้มากขึ้น 
  7. และที่สำคัญคือต้องบอกกับประชาชน โดยเฉพาะบรรดาร้านรับซื้อของเก่า โรงเหล็ก โรงหสอม ว่าสัญลักษณ์ของกัมตภาพรังสีเป็นยังไง มีอันตรายอย่างไร” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเสนอ