มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเผย “กรมโรงงานยอมรับปัญหามีจริง-สั่งปิดปรับปรุงอยู่ถึง 16 เม.ย-ยังไม่ชัดจะดำเนินการอย่างไรต่อหากบริษัทผู้รับผิดชอบ “กรุงเทพธนาคม” ยังแก้ปัญหาไม่ได้-ยันต้องเพิกถอนใบอนุญาต-เล็งฟ้องศาลปกครองหากจำเป็น”
ชี้ “คำสั่งคสช.” ต้นตอปัญหาทั้งหมด เสนอ “จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง-ทำ EIA-ทบทวนกฎหมาย-ยกเลิกคำสั่ง 4/2559”

กรมฯ ยอมรับ “มีปัญหาจริง-สั่งปิดแก้ไขอยู่”
“หลังจากรับหนังสืออธิบดีก็ตอบว่าได้ติดตามประเด็นปัญหา โดยกรมฯ ได้มีการดำเนินการสั่งปิดและปรับปรุงหลายรอบแล้ว ถ้าชุมชนคิดว่ายังมีความเดือดร้อนอยู่ ก็จะมีการนัดหมายกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง
และบอกว่าอาจจะวางแผนเข้าไปตรวจสอบในช่วงนี้ ที่ศูนย์ขยะดังกล่าวปิดทำการอยู่ เพื่อที่จะดูว่าในช่วงที่ไม่มีขยะอยู่ สภาพของศูนย์ฯ เป็นอย่างไรบ้าง”
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เปิดเผยกับ GreenNews ถึงผลการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ล่าสุด ต่อกรณี “ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช”
เช้าวานนี้ (14 มี.ค. 2566) ประมาณ 10:00 น. ผู้แทนจาก EnLAW ได้ร่วมกับตัวแทนประชาชนจากชุมชนอ่อนนุชราว 10 คน เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ถ.พระรามที่ 6
เพื่อเรียกร้องให้อธิบดีกรมโรงงานฯ ใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของ “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” ผู้รับผิดชอบดำเนิน “โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช” และขอให้สั่งปิดโรงงานเป็นการถาวร ด้วยเหตุผลสำคัญ ศูนย์กำจัดขยะดังกล่าวส่งกลิ่นเหม็นรบกวน สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้อยู่อาศัยรอบ ๆ
ทั้งนี้ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 16 เม.ย.2566 ตามคำสั่งกรมโรงงานฯ ล่าสุด
“ผู้ที่มาออกมารับหนังสือ และร่วมพูดคุยกับตัวแทนชุมชนจากรมโรงงาน มี จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อัญชลี ยิ่งทวีสิทธิกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม จินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ภัทรพล ลิ้มภักดี ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 และจุฬารัตน์ มณีเสถียรรัตนา เลขานุการกรม” สุภาภรณ์กล่าว

ลุ้นต่อ “เพิกถอนใบอนุญาต หากแก้ไม่สำเร็จ”
“ในทางกฎหมายถ้าสั่งให้ปิดปรับปรุงไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทางกรมโรงงานฯ ก็มีอำนาจในการสั่งให้ยกเลิกเพิกถอนใบอนุญาตได้เลย ซึ่งเราก็ได้ยืนยันไปแล้ว
กรมฯ ยังไม่ตอบชัดเจน อธิบดีกรมโรงงานฯ ก็ตอบว่าในทางอำนาจหน้าที่ก็เป็นไปตามนั้น แต่ว่าก็ต้องดูรายละเอียดรอบนอกด้วย จึงยังไม่ได้รับปากชัดเจน”
สุภาพรกล่าวถึงการเจรจากับผู้บริหารกรมโรงงานฯ วานนี้ ในประเด็นทิศทางการจัดการ หากครบกำหนดแล้ว ศูนย์กำจัดขยะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จะมีคำสั่งปิดถาวรหรือไม่

เล็งฟ้องศาลปกครอง “เพิกถอนใบอนุญาต”
“ถ้าโรงงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ควรจะย้ายออกไป
กิจการประเภท 106 หรือประเภทกิจการการจัดการขยะ ควรต้องคำนึงถึงมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากกว่านี้ ปัจจุบันกิจการในลักษณะนี้เป็นกิจการที่ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลจะมี road map ในการจัดการขยะ แต่ว่าการที่ลดทอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มีคำสั่งที่ 4/2559 ยังคงอยู่ ทำให้กิจการขยะซึ่งไม่ใช่แค่ที่อ่อนนุชเท่านั้น แต่ว่าในหลายพื้นที่ที่อนุญาตให้ตั้งอยู่ในชุมชนได้ ก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
การจัดการขยะถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องมีการดำเนินการ แต่จะต้องมีมาตรการที่รอบคอบมากกว่านี้ นอกจากนั้นมาตรการอย่างเช่น การจัดการคัดแยกขยะ การดำเนินการจัดเก็บขยะ ยังไม่ถูกทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าโรงงานขยะที่เป็นการจัดการที่ปลายทาง
สำหรับความเคลื่อนไหวต่อไปของทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ถ้าภายหลัง 16 เม.ย. 2566 ทางกรมโรงงานฯ ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด การดำเนินการใช้สิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาต คือสิ่งที่เครือข่ายกำลังพิจารณาหารือกันล่าสุด” ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเปิดเผย

เสนอ “จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง-ทำ EIA-ทบทวนกฎหมาย-ยกเลิกคำสั่ง 4/2559”
“1. เราเห็นว่ามาตรการจัดการขยะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเรายังไม่เห็นมาตรการตั้งแต่ต้นทางซึ่งก็คือ การคัดแยกขยะ
2. โรงงานอุตสาหกรรม ประเภท 105 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยก หรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ฝังกลบสิ่งปฏิกูล และวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นของเสียอันตราย และไม่อันตราย) ประเภท 106 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม)
ต้องเป็นกิจการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะจะได้มีการประเมินได้ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร และทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น
3. สำหรับกฎหมายเฉพาะ พ.ร.บ. โรงงาน ก็ควรมีการทบทวนกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ที่กล่าวถึง ระยะห่างระหว่างโรงงานกับชุมชน ควรจะต้องมีการประเมินว่ากฎกระทรวงที่กำลังใช้อยู่มีปัญหาหรือไม่ ทำไมกฎหมายเฉพาะของกรมโรงงานฯ เองก็ยังไม่สามารถเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้
4. และต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ด้วย” สุภาภรณ์ เสนอมาตรการเพื่อไม่ให้โรงงานที่จะสร้างผลกระทบอย่างเช่นที่อ่อนนุชเกิดขึ้นอีก” สุภาภรณ์ เปิดเผย

“คำสั่งคสช.” ต้นตอปัญหา
“พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้ แต่ว่าเป็นเพราะ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ทำให้มีการยกเว้นคำสั่งผังเมือง จนสามารถดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในบริเวณนี้ได้
“(ส่งผลให้ต้องตามแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ ตามอาการ) กรมโรงงานฯ เองก็สั่งปิดให้แก้ไขปัญหามาแล้วหลายรอบ แต่ว่าปัญหาก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เราจึงคิดว่าปัญหาหลักมันคงอยู่ที่ พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการสร้างโรงงานขยะตั้งแต่ต้น การใช้อำนาจพิเศษมาสร้างโรงงานในพื้นที่ชุมชน มันสะท้อนอย่างชัดเจนว่า เมื่อเลือกพื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม ผลกระทบจะยากต่อการแก้ไข โดยเฉพาะผลกระทบต่อชุมชน
ปัญหาดังกล่าวมาจากการใช้อำนาจพิเศษ และตัวกลไกตรวจสอบปกติอย่างกรมโรงงานฯ ก็ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นสาระสำคัญ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2562 ก็มีกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ที่ระบุว่า ไม่ควรจะมีกิจการในลักษณะนี้อยู่ใกล้ชุมชน” ผู้อำนวยการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์
ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีพื้นที่ 580 ไร่ รองรับขยะ 3,400 – 4,000 ตันต่อวัน การดำเนินการภายในศูนย์ฯ แบ่งผู้รับผิดชอบออกเป็น 4 ส่วนตามลักษณะงาน คือ สถานีขนถ่ายมูลฝอย โรงจำกัดมูลฝอยด้วยการหมักปุ๋ยอินทรีย์ โรงกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยความร้อนสูง และโรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า
โรงงานที่ถูกร้องเรียนในครั้งนี้คือ โรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ โรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะชุมชน (RDF) โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะมูลฝอย และ โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ภายใต้โครงการจ้างเหมาบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ของกรุงเทพฯ
“โรงงานดังกล่าวถูกชาวบ้านร้องเรียน และถูกสั่งให้แก้ไขตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
หลังจากโรงงานเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2562 เริ่มมีการร้องเรียนในส่วนโรงงานที่ 1 ก่อน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีชุมชนอยู่รายล้อม จึงมีการสั่งให้โรงงานหยุดดำเนินงาน และแก้ไขในปี 2563
ในปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนอีกครั้ง จึงมีการสั่งให้มีการแก้ไขทั้ง 3 โรงงาน จนมาในปี 2565 ได้สั่งให้หยุดโรงงานและสั่งให้แก้ไขอีก โดยให้โรงงานส่วนที่ 1 หยุดดำเนินงาน และสั่งให้โรงงานส่วนที่ 2 และ 3 ปรับปรุงแก้ไข
ปีนี้ 2566 ยังคงมีปัญหาอยู่และคำสั่งให้แก้ไขจะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2566 นี้” ประชาไท รายงาน