เผยวิกฤตล่าสุด “ช้างไทย” รับวันช้างไทยวันนี้ (13 มี.ค. 2566) เผยช้างบ้านอยู่ในสถานการณ์ “ช้างเหนือครอบครัวพัง-ช้างอีสานหนี้ท่วมหัว-เรากำลังจะสิ้นช้างไทยเพราะทุนต่างชาติ” ขณะช้างป่า “คุมไม่อยู่ ภาวะขาดแคลนอาหาร-ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ดันช้างออกนอกป่า ปะทะคนภาคเกษตร ล่าสุดลามถึงนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ภาคตะวันออก”
พรรคก้าวไกลเสนอ “ยกเครื่องนโยบายจัดการช้างทั้งระบบ” พร้อมมาตรการสั้น-กลาง-ยาว บนแนวคิด “ปัญหาช้าง ไม่ใช่ภัยพิบัติ รัฐต้องจัดการ – เฉพาะหน้าต้องชดใช้เยียวยา”
วิกฤตช้างไทย 2566
“ผมสรุปปัญหาช้างบ้านได้อยู่ 3 เรื่อง หนึ่ง ช้างเหนือครอบครัวพัง ช้างอีสานหนี้ท่วมหัว และส่วนสุดท้าย
เรากำลังจะสิ้นช้างไทย เพราะทุนต่างชาติ”
นิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เปิดเผยในเวทีเสวนาออนไลน์ เนื่องในวันช้างไทย 13 มีนาคม 2566 กับประเด็น “คนกับช้าง (ป่า) จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ช้าง (บ้าน) ไทย ก้าวอย่างไรในวันวิกฤต” จัดขึ้นเช้าวันนี้โดย ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล
“ปัญหาช้างป่าจากสถานการณ์ในพื้นที่ พบว่าเรื่องแรกคือ รั้วช้างพัง ไม่ได้รับการซ่อมแซม กันช้างไม่ได้ ก็คือไม่มีประสิทธิภาพ อีกอัน การผลักดันช้างป่าไม่มีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่มีน้อยเกินไป ต้องพึ่งอาสาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่พอ ล่าสุดช้างเพิ่งเดินออกจากป่าไปไกลถึงนิคมอุตสาหกรรม วันนี้ ช้างโขลงขนาดร้อยตัว ถ้ามานอนสวนไผ่คืนเดียว เสียหายคืนละล้าน
สาเหตุสำคัญคือ ขาดแหล่งอาหาร และขาดแคลนที่อยู่อาศัย (พื้นที่ป่าที่จะอยู่ตามธรรมชาติอย่างเหมาะสม ไม่เพียงพอ)
ทั้งหมดเป็นเพราะเราจัดการโดยมองปัญหาช้างป่าเป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ มันเป็นปัญหาการบริหารจัดการของรัฐ ที่ต้องเปลี่ยนเป็นนโยบายที่มีการชดใช้ เยียวยาผู้เสียหายในวันที่รัฐยังแก้ปัญหาเรื่องช้างไม่ได้” สุนทร คมคาย ว่าที่ผู้สมัคร สส. ก้าวไกล ปราจีนบุรี กล่าวในเวทีเดียวกัน

วิกฤตช้างไทย ในสายตากรมอุทยานฯ
“ช้างป่ากระจายอยู่ใน 69 พื้นที่อนุรักษ์ แบ่งเป็น 38 พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 31 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เมื่อ 2 ปีก่อนพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่ามีจำนวน 41 พื้นที่ แต่ในปัจจุบัน (ปี 2565) มีจำนวน 49 พื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ กระทบชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ซึ่งปัญหาดังกล่าวกระจายมากขึ้น และแต่ละพื้นที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน
เมื่อย้อนดูสถิติช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าช้างป่าทำร้ายคนบาดเจ็บ รวม 116 คน เสียชีวิต 135 คน จากข้อมูลพบว่าช่วง 3 ปีล่าสุด (2563-2565) มีเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายคนเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ปีงบประมาณ 2565 เสียชีวิตมากที่สุด 27 คน บาดเจ็บ 22 คน รองลงมาเป็นปี 2563 และ 2564 เสียชีวิตปีละ 24 คน
ช้างป่าออกนอก 49 พื้นที่อนุรักษ์
ถ้ารวมพื้นที่ป่าถือว่าเยอะสำหรับช้าง 3,000-4,000 ตัว แต่ป่าไม่ได้เป็นก้อนเดียว กระจายเป็นย่อมเล็กย่อมน้อย ซึ่งช้างที่มีพฤติกรรมทางนิเวศใช้พื้นที่กว้าง พื้นที่จึงไม่พอรองรับการใช้ประโยชน์ และเป็นปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ในปัจจุบัน
ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ว่า ช้างป่ากระจายอยู่ใน 69 พื้นที่อนุรักษ์ แบ่งเป็น 38 พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 31 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 ปีก่อนพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่ามีจำนวน 41 พื้นที่ แต่ในปัจจุบัน (ปี 2565) มีจำนวน 49 พื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ กระทบชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ซึ่งปัญหาดังกล่าวกระจายมากขึ้น และแต่ละพื้นที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน
ประชากรช้างเพิ่มขึ้น แต่การตรวจสอบจำนวนที่ชัดเจนทำได้ไม่ง่ายนัก จึงคาดการณ์ว่าจากเดิมมีช้างป่า 3,126-3,440 ตัว เป็น 3,500-3,600 ตัว แม้ภาพรวมตัวเลขประชากรอาจยังไม่มาก แต่ความสอดคล้องของประชากรกับความเหมาะสมถิ่นอาศัย ถือว่ามากแล้ว เพราะป่าไทยมีลักษณะเป็นย่อม ๆ ทั้งเล็กใหญ่ พื้นที่ถิ่นอาศัยของช้างในปัจจุบัน รวม 52,000 ตารางกิโลเมตร
ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์กระจายตัวมากขึ้น เป็นโจทย์ที่หน่วยงาน ผู้ปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องคาดการณ์ในอนาคตว่าแม้ประชากรช้างป่าในธรรมชาติจะไม่มาก เมื่อเทียบกับระดับสากล หรือการจัดลำดับของ IUCN แต่อาจจะเกินความเหมาะสมของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งในอนาคตอาจต้องมองถึงอีกแนวทางในการควบคุมประชากร เคลื่อนย้ายช้างไปอยู่ในพื้นที่รองรับใหม่ ๆ อาจเริ่มต้นจากการศึกษาวิจัย หรือพัฒนาโครงการนำร่อง
กรมอุทยานฯ จำแนกพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่ารุนแรง และต้องดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วน 5 กลุ่มป่า 27 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก หรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด, กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจาน อุทยานฯ กุยบุรี, กลุ่มป่าตะวันตก โดยเฉพาะทางตอนใต้ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานฯ ไทรโยค, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ อุทยานฯ ทับลาน อุทยานฯ ปางสีดา อุทยานฯ ตาพระยา อุทยานฯ ดงใหญ่, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว ทั้งนี้ จำแนกพื้นที่ทั้งหมดจากสถิติที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ความเสียหาย และจำนวนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต”
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยกับไทยพีบีเอส

“ยกเครื่องจัดการทั้งระบบ” พรรคก้าวไกลเสนอ
วันนี้ พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออก และ Think Forward Center ได้เปิดเผยข้อเสนอทางออกต่อวิกฤตช้างไทยปัจจุบันว่า ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไข โดยรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลและป้องกันมิให้ความเสียหายเป็นสิ่งที่กระจายวงกว้างไปมากขึ้นในทุกๆ ครั้ง จึงขอเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยแยกเป็นระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ระยะด้วยกันคือ
ระยะสั้น ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาเฉพาะหน้า และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2566 แบ่งเป็นการจัดการ 3 ข้อ
- การปรับค่าชดเชย/เยียวยาให้เป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันค่าเยียวยาได้น้อยกว่าความเป็นจริง
- การจัดตั้งทีมอาสาป้องกันช้างป่าในทุกหมู่บ้านรอบป่าตะวันออก (300 หมู่บ้าน) โดยพรรคก้าวไกลมองว่าทีมอาสาถือว่าเป็นหน่ยวที่สำคึญในการดูแล และปกป้องประชาชน แต่ว่าปัจจุบันยังขาดกำลังคน ยังมีทีมอาสาไม่ครอบคลุม และขาดงบประมาณในการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การจัดตั้งศูนย์บัญชาการการป้องกันช้างป่าภาคตะวันออก (war room) เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการประสานงาน และส่งต่อข้อมูลที่สำคัญอย่างทันท่วงที
ระยะสั้นและปานกลาง คือ มาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระยะยาว โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 เป็นต้นไป จนกว่าแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
- การพัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามเฝ้าระวังช้าง เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวัง โดยเมื่อสามารถรู้ว่าขณะนี้ช้างอยู่บริเวณไหนบ้าง จะสามารถป้องกันการสูญเสียได้
- การล่อช้างเพื่อกลับเข้าสู่พื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยเฉพาะของช้าง เพื่อให้ช้างอยู่ห่างไกลประชาชนมากขึ้น โดยจะต้องเพิ่มอาหารในป่าให้ช้าง
- การทดลองทำแนว/คูกันช้างรูปแบบต่างๆ และการประเมินผลอย่างจริงจัง เพื่อหาว่าแนวกันช้างรูปแบบใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- การลดกิจกรรมของมนุษย์ (และราชการ) ในพื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยของช้าง เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวน และผลักดันช้างให้ออกมานอกพื้นที่มากขึ้น
ระยะปานกลางและระยะยาว หลังจากการดำเนินมาตรการในระยะสั้นและระยะปานกลาง จนปรากฎผลชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว ก็จะก้าวเข้าสู่มาตรการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่
- การจัดทำพื้นที่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่า
- การจัดการท่องเที่ยวแนวซาฟารี เพื่อเป็นรายได้สำหรับท้องถิ่น/ชุมชน
- การได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตและกลไกทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

ทางออก “ช้างบ้าน” พรรคก้าวไกล
สำหรับปัญหาของช้างบ้านของไทย พรรคก้าวไกลมองว่ามีปัญหาในปัจจุบันอยู่ที่การลดจำนวนลงของช้าง เนื่องจากมีลูกช้างเกิดน้อย รวมถึงมีปึญหาเลือดชิดในหมู่ประชากรช้าง การไม่มีหน่วยงานที่ดูแลช้างบ้านโดยตรง และครอบคลุมทุกปัญหาของช้างบ้าน โดยจะดูแลแค่ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช้างที่ป่วยเพียงเท่านั้น รวมถึงการที่ช้างบ้านที่ไม่ถูกให้ความสนใจมากนักในระดับนโยบาย
พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางแก้ปัญหาช้างบ้านโดยการจัดตั้ง และปรับปรุงสถานบันคชบาลแห่งชาติ โดยจะมี 3 พันธกิจ คือ 1. ดูแลช้างบ้านในประเทศไทยทุกเชือก 2. พัฒนาองค์ความรู้การดูแลช้างบ้าน และสุขภาพของช้างบ้าน 3. พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงช้าง ให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งการที่จะทำตามพันธกิจดังกล่าวจะ สถาบันคชบาลแห่งชาติ จะมีหน้าที่ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลช้างบ้านอย่างเป็นระบบ พัฒนาระบบประกันสุขภาพช้าง รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับช้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลี้ยง และการดูแล โดยสถาบันจะเป็นหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนกันของหน่วยงาน
การเลี้ยงช้างเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อการท่องเที่ยว ที่ถูกประชาชนตั้งคำถาม ก็จะถูกกำหนดให้มีมาตรการที่เหมาะสม ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับให้ธุรกิจมีความชัดเจน และยั่งยืนมากขึ้น
ด้านการดูแลสวัสดิภาพ และสวัสดิการของควาญช้าง รวมถึงการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ทางพรรคก้าวไกลเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งจะทำให้การเป็นควาญช้างมีมาตรฐาน และสามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้อง
นโยบายสุดท้ายเกี่ยวกับช้างบ้านที่พรรคเปิดเผยในวันนี้ คือการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับช้างบ้าน และผู้เลี้ยงช้าง โดยแบ่งเป็น
การช่วยเหลือช้างในสภาวะวิกฤต เช่น โควิด 19 ที่ผ่านมาก็ทำให้ทั้งช้าง และผู้ดูแลช้างประสบปัญหาขาดรายได้
การสนับสนุนอาหารช้างบ้าน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะช่วยทั้งช้าง และเกษตรกร
นอกจากนั้นถ้ามีการสนับสนุนการปลูกพืชอาหารช้าง ในอัตรา 5 ไร่ ต่อ 1 เชือก ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาอาหารช้างขาดแคลนได้ และยังช่วยให้ผู้ดูแลช้างมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
การให้ช้างบ้านเข้ามามีส่วนช่วยในการสนับสนุนป้องกันไฟป่าก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ทำให้ช้างบ้าน เข้ามามีบทบาทในการช่วยชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”

ทางออก “ช้างป่า” จากกรมอุทยานฯ
“กรมอุทยานฯ มีนโยบายแก้ปัญหาคนกับช้างป่า โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ 3 เป้าหมาย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน และการจัดการช้างป่า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกันโดยการสร้างแนวตรวจการณ์ช้างป่าในพื้นที่วิกฤต จัดจ้างพนักงานเฝ้าระวังช้างป่า สร้างและปรับปรุงสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันช้างออกนอกพื้นที่ ส่งเสริมชุมชนในพื้นที่เสี่ยงสร้างแนวป้องกันช้างป่า รวมไปถึงจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านช้างป่า โดยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างป่าตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน และองค์ความรู้ด้านการป้องกันตัวจากช้าง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ การสำรวจ ติดตามโครงสร้างประชากร การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม (DNA) รวมถึงการการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการทำแนวเชื่อมต่อป่า (Corridor) และการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจัดการพื้นที่เพื่อคนและช้างป่า ประกอบไปด้วย การสำรวจ และประเมินศักยภาพของพื้นที่ การศึกษาการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ (Zoning) ในแต่ละพื้นที่ สร้าง ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร รวมถึงการประเมินพื้นที่รองรับช้างที่มีปัญหา เคลื่อนย้ายช้างป่าไปยังพื้นที่มีศักยภาพในการรองรับ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ช้างป่า การศึกษาและส่งเสริมรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม, การสร้างความเข้าใจกับประชาชน ส่งเสริมการทำประกันทรัพย์สินและพิจารณาชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม
เป้าหมายที่ 1 : การพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ : ได้ดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมปศุสัตว์ ในการเร่งดำเนินงานฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและภาคประชาชน
เป้าหมายที่ 2 : การพัฒนาพื้นที่แนวกันชน : ที่ปัจจุบันช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง ได้ประสานงานกับกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรน้ำในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่า ตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant smart early warning system) เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชุมชนต่าง ๆ โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวาง ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (รั้ว คูกั้นช้าง รั้วไฟฟ้า) ได้ดำเนินการไปแล้ว
เป้าหมายที่ 3 : การพัฒนาพื้นที่ชุมชน : ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มต้นจากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า (เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์) พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า เป็นต้น” กรมอุทยานเปิดเผยในเว็บไซด์กรมฯ

“ความขัดแย้ง คนกับช้าง ยังยากเห็นทางออก?”
“พื้นที่รอบนอกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนทางด้านทิศเหนือของกลุ่มป่าตะวันออก ประสบกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามานานกว่า 20 ปี และในปี พ.ศ. 2565 สถานการณ์ได้ยกระดับอยู่ในระดับรุนแรง มีชาวบ้านเสียชีวิตจากช้างป่าสูงถึง 14 ราย ใน 23 รายรอบกลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
จากการติดตามศึกษาการเคลื่อนที่หากินของช้างป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2565 พบจำนวนประชากรช้างป่าคาดการณ์ประมาณ 170 – 200 ตัว ในพื้นที่ต.ท่าตะเกียบ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ ต.ท่ากระดาน ต.ทุ่งพระยา ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ต.วังท่าช้าง ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี และ ต.กรอกสมบูรณ์ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี นอกจากนั้นยังมีกลุ่มสังคมช้างป่าเพศผู้ที่กระจายตัวอยู่อาศัย และหากินในพื้นที่ชุมชนมากกว่า 30 ตัว (ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม, 2565)
แม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะร่วมมือกับมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกสร้างแนวป้องกันเป็นแนวรั้ว และคันคูที่ขุดขึ้นเพื่อป้องกันช้างป่าตามแนวพื้นที่ป่า และชุมชนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตลอดจนความพยายามเพิ่มถิ่นที่อยู่อาศัย และปรับปรุงทุ่งหญ้าอันเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่าภายใต้แนวทางการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ สำหรับเป็นที่อาศัยของช้างป่า โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก และโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ที่ได้ปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่ทุ่งหญ้า กว่า 1,000 ไร่ และยังดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2,000 ไร่ ในปี 2567 ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ด้วยการไถพรวนแหล่งนิเวศเดิมและหว่านเมล็ดหญ้า 2 ชนิด ได้แก่ หญ้ารูซี่ และหญ้าพลิแคทูลัม รวมไปถึงการสร้างโป่งเทียมเพื่อเสริมแร่ธาตุอาหารสัตว์ป่า นอกจากนั้นภายใต้แนวทางดังกล่าวยังได้มีการดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำรวมความจุกว่า 143,700 ลบ.ม. โดยความร่วมมือจากกรมทรัพยากรน้ำ ถึง 9 แห่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการออกมาหากินของช้างป่านอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประชากรช้างป่าได้กระจายตัวหากินในพื้นที่ชุมชน และพักอาศัยหากินอยู่เป็นประจำ จากการศึกษาติดตามของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม พบว่าช้างป่าจะพักอาศัยนอนในหย่อมป่าในชุมชนช่วงกลางวัน และออกหากินในพื้นที่ไร่สวนของชุมชนในเวลากลางคืน ซึ่งสะท้อนถึงการจัดการที่ต้องคำนึงถึงการจัดการช้างป่าในพื้นที่ชุมชนที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการหากินของช้างป่าในปัจจุบัน” ตาล วรรณกูล ช่างภาพ และผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีสัตว์ป่า ผู้ติดตามปัญหาระหว่างคนกับช้างมานาน ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ในงานเสวนา ”คนกับช้าง (ป่า) จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ช้าง (บ้าน) ไทย ก้าวอย่างไรในวันวิกฤต” ที่พรรคก้าวไกล โดย Think Forward Center จัดขึ้น เพื่อเปิดนโยบายแก้ปัญหา ช้างป่า และช้างบ้าน

ชาวบ้านยังต้องรับมือลำพังต่อไป?
“ด้านการจัดการช้างป่าในพื้นที่ชุมชน โดยโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ได้พัฒนาแนวทางการปรับตัวอยู่ร่วมอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า ดำเนินงานตามแนวทางการจัดการพื้นที่ชุมชน มีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน การปรับเปลี่ยนอาชีพและพัฒนาอาชีพ รวมไปถึงการจัดการพื้นที่แนวกันชนและจุดพักช้าง ด้วยการติดตั้งระบบแจ้งเตือนช้างป่าล่วงหน้า (Early Warning System) ซึ่งช่วยสร้างแนวทางการอยู่ร่วมอย่างสันติระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ชุมชน
อย่างไรก็ตามด้วยระยะทางการเคลื่อนที่ของช้างป่า การกินอาหารเป็นปริมาณมาก และพฤติกรรมช้างป่าที่ก้าวร้าวรุนแรงขึ้น
จากการสำรวจข้อมูลปัจจัยการกระจายตัวและการเคลื่อนที่หากินของช้างป่า 2563-2565 พบแหล่งอาหารขนาดใหญ่ในพื้นที่ทางตอนเหนือ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างป่ายังคงอยู่อาศัยไม่เคลื่อนตัวและอยู่ในพื้นที่ชุมชนตลอดทั้งปี
ซึ่งการเคลื่อนที่หากินจะแตกต่างไปตามฤดูกาลเพาะปลูก เดือน ตุลาคม-มีนาคม จะพบการเคลื่อนที่หากินของช้างป่าในพื้นที่ทางตอนเหนือมุ่งหน้าไปทาง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และเดือน มีนาคม-ตุลาคม จะพบการเคลื่อนที่หากินในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือรอบนอกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มุ่งหน้าไปยัง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่ช้างป่าหากินในพื้นที่ชุมชนแล้วกลับเข้าป่าอนุรักษ์ในบางช่วง
แต่พื้นที่ดังกล่าวชุมชนต้องรับมือกับฝูงช้างป่าเกือบตลอดทั้งปี และเริ่มมีช้างป่าบางกลุ่มออกมาหากินในช่วงกลางวัน ดังนั้น กลุ่มชุมชนที่เผชิญกับกลุ่มประชากรช้างขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกันมากกว่า 70-100 ตัว และรับมือตลอดช่วงปีทั้งกลางวัน และกลางคืน จึงรับมือปรับตัวได้ยาก หรือไม่สามารถเลือกแนวทางการปรับตัวจากแนวทางการปรับเปลี่ยน ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ความยากจน สิทธิที่ดิน การเป็นผู้เช่าอาศัยที่ปรับเปลี่ยนเป็นพืชอื่นที่เสี่ยงน้อยไม่ได้ ภาระหนี้สินที่เชื่อมโยงกับพืชไร่ที่ต้องมีรายได้หมุนเวียนปีต่อปี การเข้าไม่ถึงระบบการจัดการช้าง และไม่ได้อยู่ในพื้นที่จัดการ แต่ช้างป่าเดินทางไปถึง เหตุผลและปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนสู่แนวทางอื่น ๆ ได้ยากยิ่ง และเลือกการจัดการตนเอง ในแนวทางเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ด้วยการร่วมกลุ่มเป็นอาสาเฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่ชุมชนของตนเอง
และใช้งบประมาณโดยส่วนใหญ่จากเงินส่วนตัว และอุปกรณ์ที่หาซื้อได้เองในท้องถิ่น เช่น ไฟฉาย ประทัด และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งวิธีการไล่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความรู้ที่ได้รับการอบรมจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ซึ่งแต่ละกลุ่มชาวบ้านก็มีวิธีการเฝ้าระวัง และผลักดันที่แตกต่างกัน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในการควบคุมช้างป่าทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในบางกลุ่ม และไม่ได้เกิดการผสานการทำงานกันในการกำหนดทิศทางช้างป่าให้เกิดการลดผลกระทบมากที่สุดในพื้นที่ชุมชน ซึ่งสะท้อนโจทย์สำคัญหนึ่งในการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง คือ การที่พรมแดนความขัดแย้งขยายจากความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกับคน (Social Conflict) ซึ่งต้องมีกระบวนการและความรู้ในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างคนกับคน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่า มีเอกภาพมากขึ้น หรือเกิดความหลากหลายของวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่ม” ตาล ให้ความเห็น