“เพราะยังมีหวัง กลางชีวิตคลุกฝุ่นกรุง” หญิงสาวแห่ง ThailandCAN

หากเปรียบเป็นเพลง สถานการณ์เรื่องมลพิษฝุ่น โดยเฉพาะ PM2.5 ณ วันนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกค่อนไปทางทำใจกับสถานการณ์หม่น ไร้หวัง คงคล้ายเพลง “ทำใจลำบาก” หรือ “คนที่แพ้ (หรือไม่แพ้) ก็ต้องดูแลตัวเอง” ประมาณนั้น 

แต่สำหรับเธอคนนี้ ดูเหมือนเธอจะเลือกอีกเพลง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” มากกว่า

อะไรทำให้หญิงสาวคนหนึ่งจากกรุงเทพฯ ผู้ร่ำเรียนมาด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน ทำงานด้านสายการเงิน วิเคราะห์เศรษฐกิจ หันมาสนใจเรื่องปัญหามลพิษฝุ่น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และสนใจมากพอที่จะเดินออกมาใช้ชีวิตเพื่อเรียกร้องจริงจังให้มีการแก้ปัญหาฝุ่น ในเชิงโครงสร้างประเทศ ในระดับต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ผ่านบทบาท “นักรณรงค์เพื่ออากาศสะอาด”

นราวิชญ์ เชาวน์ดี ผู้สื่อข่าว GreenNews จับเข่าคุยกับเธอ “วีณาริน ลุลิตานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง “เครือข่ายอากาศ ประเทศไทย” หรือ Thai Clean Air Network (Thaiand CAN)

รู้จักกับมุมมอง ความคิด ความฝัน รวมถึงชีวิตของเธอ ผ่านบทสนทนาพิเศษ รับ “ฤดูฝุ่น 2566” ที่กำลังคุกรุ่นรอการแก้ไข และในวาระแห่งการเฉลิมฉลองบทบาทผู้หญิงในการพัฒนาทั่วโลก “วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2566”

(ภาพ : ThaillandCAN)

ชีวิตจริง กลาง “ฝุ่นกรุง”

“ในช่วงที่มีมลพิษฝุ่นระบาดก็ต้องใช้ชีวิตอย่างระวังมาก ๆ โดยปกติเป็นคนที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะไม่ออกไปวิ่งข้างนอกเลยในช่วงฤดูที่รู้อยู่แล้วว่า ช่วงปลายปี-ต้นปี ที่อากาศเป็นฝาชีครอบ เพราะฉะนั้นช่วงที่อากาศเน่าก็จะเป็นช่วงเวลานี้ คือเริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของ พ.ย.- ช่วงต้นมี.ค. ซึ่งทุกปีก็เป็นอย่างนี้ในกรุงเทพฯ 

ก็รู้อยู่แล้วว่าช่วงนี้อากาศมันจะเน่า ก็ต้องปรับภารกิจของตัวเอง ไม่ออกกำลังกายข้างนอก แล้วการออกกำลังกายข้างในก็ต้องปิดหน้าต่าง ปิดประดู ปิดทุกอย่าง แล้วก็ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศด้วย ก็คือไม่ออกไปออกกำลังกายข้างนอกจนกว่าจะเช็คแล้วว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่รับได้ ” วีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายอากาศสะอาด Thai Can กล่าว

“ความน่ากลัวของฝุ่นก็คือจะเป็นภัยที่ไม่เห็นกับตาจนกว่ามันจะเข้ามาใกล้ตัวคุณมาก ๆ ลมนิ่ง จนทำให้สังเกตเห็นได้ชัด โดยถ้าเป็นวันที่สังเกตเห็นฝุ่นได้ชัดมาก ๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ PM10 ที่มีปริมาณสูงพอ ๆ กับ PM2.5 ทำให้สามารถสังเกตเห็นด้วยตา

ลองสังเกตดูว่าบางวันเราจะเห็นว่าท้องฟ้ามันใส แต่ถ้าลองวัดดูจะเห็นเลยว่า PM2.5 มันสูงมาก” วีณารินกล่าว 

หนึ่งในความน่ากลัวของ PM2.5 คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ต้องหายใจมากกว่าในช่วงปกติ 2.5 เท่า ทำให้ได้รับปริมาณ PM2.5 มากกว่าการหายใจในช่วงปกติ

“มีงานวิจัยที่ออกมาประมาณ 2 ปีที่แล้ว จากทางอังกฤษว่า ไม่มีโรคอะไรเลยที่กระทบอวัยวะในร่างกายเราทั้งหมด ที่ไม่โดนกระทบจากอากาศ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะถ้าเรายังไม่เสียชีวิตเราก็ยังต้องหายใจ การหายใจก็จะเป็นการเอาฝุ่นเข้าไปในร่างกาย มันกระทบหมดเลย 

ก่อนหน้าที่จะเห็นคนมาวิ่งตลอดเลยที่สวนลุม แม้กระทั่งในวันที่อากาศเน่า แต่เมื่อเช้า (2 ก.พ. 2566) สังเกตเห็นเลยว่าไม่มีคนมาวิ่งเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

เพราะสิ่งที่เรากังวลที่สุดจนเรามาทำเรื่องนี้คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชนที่ร้ายแรง และคนยังไม่รู้” วีณารินกล่าว

(ภาพ : ThaillandCAN)

“ดูแลตัวเอง” สิ่งที่จำต้องยอมรับ ณ วันนี้

สำหรับการป้องกันตัวเองในสถานการณ์มลพิษฝุ่นระบาด ผู้ประสานงานเครือข่ายอากาศสะอาดให้ความเห็นว่าต้องอยู่ในที่ปิด โดยช่วงเวลาที่น่ากังวลที่สุดคือเวลานอน

“ต้องอยู่ในสภาพที่ปิดหมด ทั้งหน้าต่าง ประตูทั้งหมด แล้วเปิดเครื่องฟอกอากาศเอา และช่วงที่สำคัญที่สุดคือเวลานอน คนเรานอน 8 ชั่วโมง แล้วห้องนอน ณ ตอนนั้น ถ้าฝุ่นมันสูงมากแล้วคุณไม่รู้ คุณหายใจเข้าไปมันก็จะส่งผลกระทบ ก็ต้องเปิดเครื่องฟอกอากาศก่อนนอนซักครึ่งชั่วโมง แล้วก็สังเกตด้วยว่าถึงเวลาเปลี่ยนเครื่องกรองหรือยัง ก็ขึ้นอยู่ว่าจุดที่อยู่อากาศแย่ขนาดไหน

แล้วก็ต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นว่ามันเป็นยังไง หลักแค่าไหนแล้ว ผ่านแอปพลิเคชั่น โดยถ้าคุณติดตามสถานการณ์ฝุ่นมาบ้างก็จะพอรู้แล้วว่า ช่วงไหนที่จะสาหัสที่สุด ก็คือ กลางพ.ย. จนถึงต้นมี.ค. ของทุกปี จึงต้องระวังช่วงนี้เป็นพิเศษเลยว่ามันเน่า ก็ต้องปรับชีวิตให้มันลดความเสี่ยงของตัวเองในแง่ของกิจกรรมกลางแจ้งเท่าที่ทำได้

ในระดับบุคลก็ทำได้แค่ปกป้องตัวเองในระดับที่พอทำได้” ผู้ประสานงานเครือข่ายอากาศสะอาดอธิบาย

(ภาพ : ThaillandCAN)

จุดเริ่มต้น ชีวิตนักรณรงค์ “อากาศสะอาด”

พื้นเพจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน ทำงานทางด้านสายการเงิน สายวิเคราะห์เศรษฐกิจ ที่มาสนใจ (เรื่องปัญหาฝุ่น) ก็ประมาณ 5 ปีกว่าแล้ว เริ่มต้นที่ จริง ๆ แล้วก็เป็นคนที่สนใจในเรื่องอากาศอยู่แล้ว เพราะว่ารู้ว่าอากาศในประเทศไทยมันไม่ได้ดี 

แต่ว่าที่โดนเองก็คือ ประมาณ 5 ปีกว่านั้น คือตัวเองเป็นนักวิ่งด้วย แล้วช่วง 5 ปีกว่าตอนนั้นมีแผนที่จะไปวิ่งมาราธอน ก็กำลังเริ่ม training ของตัวเอง ตอนนั้นประมาณช่วงต้นธันวา ประมาณปี 2017-2018 อากาศก็ยังเย็นอยู่ 

ตอนนั้นก็ระวังตัวเองมากเพราะว่าพยายามจะวิ่งช่วงเช้า เพราะคิดว่าเป็นช่วงที่รถไม่วิ่งมาซัก 8-9 ชั่วโมงน่าจะดี วันเสาร์ อาทิตย์ เช้า แต่ก็สังเกตตัวเองว่าทำไมช่วงนั้นเราปวดหัว กินยาก็ไม่หาย แล้วมันปวดแบบทำงานอะไรไม่ได้เลย แล้วเป็นนาน ก็เลยเริ่มที่จะเช็คข้อมูล จากเว็บไซต์ต่างประเทศ แล้วก็เห็นว่า PM2.5 มันสูง แล้วสังเกตว่าในข่าว ใช้เวลาประมาณเกือบ 3 อาทิตย์ กว่ารัฐบาลจะออกมาประกาศว่านี่คือมลพิษทางอากาศ ไม่ใช่หมอกสวย ๆ ไม่ใช่อากาศเย็น ๆ ที่เราคิดกัน เห็นอย่างนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่โอเคเลย 

ขั้นต่ำสุดเราต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่เราจะปกป้องตัวเองได้ในระดับปัจเจกบุคคล ถ้ารู้ว่าอากาศมันเน่า ก็จะได้ไม่ต้องออกกำลังกาย ณ ตอนนั้น 

ก็เลยเป็นที่มาที่ไปที่ถามคนรู้จักที่ทำงานภาคประชาสังคมว่ามีใครทำเรื่องนี้หรือปล่าว เพราะมันก็เป็นเรื่องใหญ่ ถามไปถามมาก็ไม่เห็นมีใครทำเลย ก็เลยมาช่วยกันดูกันว่า เราต้องการคนมีความรู้ทางด้านไหน นักกฎหมาย นี่ต้องการแน่นอน นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม คุณหมอ นักวิทยาศาสตร์เรื่องมลพิษทางอากาศ นักสื่อสารมวลชน ก็ไล่ดูว่าเราต้องการใครที่จะมาช่วยในการผลักดันเรื่องนี้ที่มันก็ยาก และซับซ้อนมาก ๆ 

กลุ่มเราก็เลย Form มาจากตรงนั้น ทำงานเป็นเครือข่าย แล้วก็เชื่อมกับหลาย ๆ องค์กร เชื่อมกับภาคเอกชน ไปคุยกับภาครัฐ” วีณารินกล่าว

(ภาพ : ThaillandCAN)

บนเส้นทางแห่งความพยายาม สู่ “เครือข่าย–ร่างกฎหมาย”

“จริง ๆ ตอนเริ่มต้นเราไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนเลย เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องประเด็นทางสุขภาพ คุยกับกระทรวงเป็นปีเลยตอนนั้น เป็นตอนก่อนที่ Airvisual จะดังมากในประเทศไทย ตอนนั้นยังมีไม่กี่เครื่องเอง 

ตอนนั้นก็พยายามจะบอกรัฐบาลว่าการมีข้อมูลนี้มันสำคัญยังไงในทางบริหารจัดการ คุณควรที่จะทำอันนี้เป็นของรัฐเลย แล้วก็ไปหา ตอนนั้นทาง คพ. เค้าศึกษาเรื่อง เครื่องที่เป็น  Low Cost Sensor ก็ไปขอข้อมูลนั้นก็เลย คุยกับนักวิทยาศาสาตร์ที่มาช่วยร่วมงานด้วยกัน เรายังเอาเครื่องของเขาไปทดสอบที่เชียงใหม่เลย วางข้าง ๆ กับเครื่องของคพ. เลย ตรวจประมาณซัก 3 เดือน แล้วเห็นว่าความเสถียรมันได้ มันอ่านค่าได้ใกล้ ๆ กันเลย ไม่ห่างกันเลย ก็เลยมาคุย พยายามจะโน้มน้าวให้กระทรวงสาธาฯ ผลักดันเรื่องนี้ อยากให้มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพียงพอ เพราะข้อมูลมันยังไม่เพียงพอในจุดที่เพียงพอจริง ๆ แต่ ณ ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้เห็นความสำคัญ 

แต่ก็โชคดีว่ามีทั้งภาคเอกชน ทั้ง airvisual เข้ามา แล้วคนไทยก็ตกใจ หลายคนก็ซื้อ จนทางบริษัทที่ผลิตยังงงเลยว่า อะไรเกิดขึ้นกับประเทศนี้ ก็เลยเป็นว่าทำให้มีข้อมูลที่เยอะพอในประเทศไทย แต่ข้อเสียคือข้อมูลไม่ใช่ของรัฐ เป็นของภาคเอกชน

ตอนที่กลุ่มเรา form ก็ได้อ. หลาย ๆ ท่านที่มีความรู้ลึกมาก แล้วอ. หลาย ๆ คนก็ไม่ใช่คนที่ใหม่ในเรื่องนี้ ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาเยอะมากตลอด ก็เลยมานั่งคิดกันว่ามันควรจะขับเคลื่อนตรงไหน ก็คุยกันว่าเราจะทำเรื่องที่ไม่มีใครกล้าแตะ คือเรื่องของโครงสร้าง เพราะปัญหานี้มันซับซ้อนมาก 

แล้วประเทศไทยยังไม่มีพ.ร.บ. อากาศสะอาด ยังไงจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมาย แต่การที่ยังไม่มีกฎหมายมันแก้อะไรไม่ได้ทั้งนั้น มันต้องเริ่มจากการมีกฎหมายรองรับก่อน ก็เลยเป็นที่มาที่ไปที่ผลักดันทางด้านกฎหมาย ที่ไม่มีใครแตะ

ด้านการทำงานก็จะเป็น work from home เพราะก็เป็น freelance ที่ส่วนใหญ่รับงานที่มาจากต่างประเทศ ก็จะไม่ค่อยตรงเวลากับคนอื่นอยู่แล้ว

จริง ๆ ก็เคยโดนถามมาเหมือนกันว่า ทำไงคนที่ทำงานด้านการเงินถึงมาสนใจปัญหาด้านอากาศ คำตอบมันก็ง่ายนิดเดียว เราต้องหายใจ ถ้าเราไม่ต้องหายใจแล้วเรายังอยู่ได้ เราก็คงไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ มันเป็น precondition ในการมีชีวิตอยู่ มันมีผลต่อคุณภาพชีวิต

แล้วส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ถึงเราจะทำงานด้านการเงิน แต่ก็ทำทางด้านเรื่องความยั่งยืน เรื่องที่เคยทำ ทำอยู่ หรือยังเกี่ยวข้องอยู่ก็จะเป็น sustainable banking การธนาคารแบบยั่งยืน การปล่อยเงินทุนยังไงที่จะเข้าไปถึงโครงการที่มีผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม แล้วก็ดูทางด้าน governance ธรรมาภิบาล ให้คำแนะนำเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทในไทย 

แล้วก็ทำงานเรื่องแนวของการวิเคราะห์ของ SME ประเทศไทย ตั้งแค่โควิด ความต้องการของเขาคืออะไร ข้อจำกัดทางธุรกิจของเขาคืออะไร นโยบายของประเทศนี้ที่จะสนับสนุนเขามีข้อจำกัดอะไรบ้าง อะไรอย่างนี้ที่จะทำให้ดีขึ้น แล้วก็เคยดูเรื่องโครงสร้างในเรื่องนโยบายการพัฒนาภาคเอกชนของประเทศไทย เป็นยังไง ข้อจำกัดคืออะไรเพื่อให้อยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ 

ด้วยพื้นเพที่มาจากภาคเอกชน ก็ดูโครงสร้างการลงทุนในหลาย ๆ ประเทศ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่คนที่มาแนวไม่เข้าใจโลกของความเป็นจริง

เครือข่ายของเราเป็นเครือข่ายของหลาย ๆ คน แล้วก็ทำงานร่วมกับหลาย ๆ ภาคส่วนด้วย จริง ๆ ก็อยากจะให้เน้นว่า พรบ นี้เป็นพรบที่ไม่มีฉันกับเธอ มันพยายามจะแก้ปัญหาให้กับทุก ๆ คน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาคเอกชน หรือภาครัฐก็เถอะ สุดท้ายก็ต้องหายใจเอาอากาศเข้าไปอยู่ดี มันเป็นเรื่องของทุกคน นั่นเป็นสิ่งที่ทางเรายังไม่สามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ เขายังไม่มองว่านี่เป็นเรื่องที่กระทบกับเขา” วีณารินกล่าว

(ภาพ : ThaillandCAN)

มลพิษฝุ่น–ข้อมูล-คนไทย

“สังเกตไหมว่าทำไมคนไทยถึงไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับ PM2.5 เลย จนถึงเมื่อซักประมาณ 5 ปีที่แล้ว เพราะว่าข้อมูลของ PM2.5 ไม่เคยรวมเข้าไปใน Air quality index ของประเทศไทย เพราะอะไร เพราะถ้ารวมเข้าไปแล้วคุณภาพมันจะพุ่งขึ้นกระฉูดเลย

สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ก็คือ พอถึง 2019 ที่คนเริ่มรู้แล้วว่ามันคืออะไร เริ่มบ่นกันทาง social media จากที่ไม่ยอมใส่ ข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ หลังจากคนบ่น 9 เดือนใส่เลย” วีณารินกล่าว

“ถ้าพูดในระดับปัจเจกบุคคล ดิฉันแค่ต้องการข้อมูล เพื่อเอาปกป้องตัวเอง และครอบครัว แต่คุณเลือกที่จะดึงสารตัวหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ออกจากการคิดดัชนีคุณภาพอากาศไปเลย

ข้อมูลทั้งหมดที่คุณเก็บมันก็มาจากภาษีพวกเรา มันไม่ใช่ข้อมูลลับของรัฐ คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ใส่เข้าไป เพราะข้อมูลพวกนี้มันมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกคน ถ้าข้อมูลมันบิด ๆ เบี้ยว ๆ แล้วเราจะตัดสินใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตได้ยังไง

แล้วข้อมูลที่เรารู้กันตลอดว่าอากาศมันเน่าเนี่ยก็มาจากเอกชน แล้วรัฐบาลอยู่ไหนทำไมถึงไม่เข้ามาทำงาน

ทั้ง ๆ ที่รัฐก็มี  forecasting คุณมีข้อมูลทั้งหมด คุณต้องบอกเราล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ ๆ แล้ว คุณต้องเตือนเรา ไม่ใช่มาบอกตอนบ่าย ๆ เมื่อวานนี้ว่าให้ work from home ใครจะปรับตัวได้ในความเป็นจริง ทำไมคุณไม่วางแผนล่วงหน้า คุณรู้กันอยู่แล้วว่าอากาศมันจะเน่าสัปดาห์นี้ รู้กันแล้ว คุณมีมาตราการแก้ปัญหานี้ยังไง

ขั้นต่ำที่สุดรัฐบาลจะทำได้ คือให้ข้อมูลอย่างชัดเจนล่วงหน้า ว่าสถานการณ์ล่วงหน้าจะเน่า ช่วงนี้นะ แล้วจะมีมาตรการอะไรบ้าง ให้ชัดเจน ให้ทุกคนวางแผนจัดการตัวเองได้จริง ๆ 

ประเทศอื่นเวลาอากาศเน่าเขาปิดโรงงาน แต่ประเทศไทยเวลาอากาศเน่าเขาปิดโรงเรียน คุณไม่ได้แก้ต้นตอของปัญหาไง” วีณารินกล่าว

(ภาพ : ThaillandCAN)

มลพิษฝุ่น-โครงสร้างแห่งปัญหาของรัฐ

“จะได้ยินภาครัฐชอบพูดว่าทุกคนก็ปล่อยมลพิษ ก็จริง แต่ว่าขอเถียงนิดนึงว่าในระดับปัจเจกบุคล ดิฉันเชื่อว่า ดิฉันไม่ได้ปล่อยมากเท่าบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือว่าหน่วยราชการ ที่ไปทำโครงการยักษ์ใหญ่อะไรต่อมิอะไร หรือไซต์ก่อสร้าง โรงไฟฟ้า เราคงปล่อยไม่มากเท่าเขา

แต่มันไม่ได้มีการแก้ปัญหาไปที่ต้นตอของมันเลย ถึงวันนี้ (2 ก.พ. 2566) อากาศเน่าขนาดนี้ยังไม่มีใครพูดถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเลย ไม่มีใครแตะประเด็นเรื่องของกฎหมายเลยนะ เรายื่น พ.ร.บ. มี 1 ปี แล้ว ตั้งแต่ 22 ม.ค. 2565 ไม่มีใครออกมากล่าวถึงเลย

มันไม่มีเรื่องไหนที่คุณจะแก้ได้โดยไม่มีกฎหมายตั้งแต่ต้น ถ้าจะให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพของพ.ร.บ. นี้คือ เสาเข็มของบ้าน ที่ถือว่าเป็นโครงสร้างที่จะรองรับมาตรการอื่น ๆ” วีณารินกล่าวถึง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชน

วีณาริน กล่าวว่า การที่ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเป็นหนึ่งในปัญหาของการจัดการมลพิษฝุ่น PM2.5 ทำให้ต้องมีกฎหมายเฉพาะด้านอากาศขึ้นมา 

(ทางเครือข่ายยื่นร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด หรือชื่อเต็ม ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ต่อรัฐสภาเมื่อ 21 มกราคม 2565 แต่เนื่องจากร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด ถูกวินิจฉัยว่าเป็นพ.ร.บ. เกี่ยวกับการเงิน จึงต้องรอให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติก่อนว่าจะรับรองหรือไม่ จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า)

(ภาพ : ThaillandCAN)

“ภาคประชาชน” ความหวังสร้างการเปลี่ยนแปลง

วีณารินกล่าวว่าหลาย ๆ ประเทศการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีพ.ร.บ. อากาศสะอาดเริ่มขึ้นจากภาคประชาชน 

“เท่าที่จำได้อเมริกามีคนออกมาเรียกร้องให้มีพ.ร.บ. อากาศสะอาดกว่า 20 ล้านคน อย่างประเทศใกล้บ้านเราอย่างอินโดนีเซียก็เคยมีปัญหามลพิษทางอากาศ การผลักดันครั้งแรกของเขาในจาร์การ์ตา เริ่มขึ้นใกล้ ๆ กับการตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดเลยคือประมาณปี 2017 – 2018 

คนอินโดนีเซียรวมตัวกันจนสามารถฟ้องรัฐบาล และชนะ จนรัฐบาลอุทธรณ์จนถึงศาลขึ้นสูงสุด แล้วศาลก็ไม่ให้อุทธรณ์มากกว่านี้แล้ว เขาชนะขาดลอยสนิทเลย นั่นคือประชาชนนะที่ทำ

แต่คนไทยทำมากที่สุดคืออะไร ไปซื้อหน้ากาก ไปซื้อเครื่องฟอกอากาศจบแค่นั้น แต่คุณอยู่ไม่ได้หรอกถ้าจะทำแค่นั้น” วีณารินยกตัวอย่างความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องพ.ร.บ. อากาศสะอาด

“สำหรับอาวุธที่เหลือตอนนี้ก็คงเป็นแคมเปญให้ลงชื่อใน Change ที่เราคิดว่าถ้าทำได้ ก็ควรจะทำให้ได้ซักล้านคน แล้วก็จะไปหาผู้ออกนโยบายทั้งหลายแหล่ ว่าที่นายกฯ คนใหม่ แล้วบอกว่า แคมเปญใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประชาชนพูดแล้วว่าต้องการเรื่องนี้ อยากจะแก้ให้มันจบจริง ๆ ต้องทำแบบนี้ ถ้ามีพ.ร.บ. นี้เรื่องนี้จบแน่ คุณจะไม่สนับสนุนเหรอ เราต้องยืนยันว่าจะไม่เลือกใครที่ไม่ผลักดันพ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับภาคประชาชน” วีณารินกล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของการรณรงค์ให้มีการผ่านร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด

(ภาพ : ThailandCAN)