เข้าสู่ฤดูฝุ่นเต็มตัว “ฝุ่นเหนือสาหัสต่อ 1 สัปดาห์” – กทม.ปริฯ เฝ้าระวังต่อ 5 วัน

“เกินมาตรฐานสู่ระดับเริ่มส่งผลต่อสุขภาพเกือบ 130 พื้นที่ทั่วประเทศ (กทม. 80 พื้นที่)” สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วันมาฆะบูชา 6 มี.ค. 2566 แนวโน้ม 17 จังหวัดเหนืออ่วมต่ออีกสัปดาห์ ขณะกรุงเทพ-ปริมณฑลแย่ต่อ 5 วัน คาดเริ่มดีขึ้น วันอาทิตย์ (12 มี.ค.)

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษประกาศเน้น “เข้มมาตรการตรวจจับควันดำ” ขณะสถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือยังกรุ่นหลายพื้นที่ 

“ฝุ่นเหนือ-กทม.” สถานการณ์วันมาฆะบูชา 66

“พบพื้นที่ที่สารมลพิษเกินมาตรฐานรวม 129 พื้นที่ใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึง 80 พื้นที่ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” โดยศูนย์ตรวจวัดในภาคเหนือพบระดับ PM22.5 ในอากาศเกินค่ามาตรฐาน (53 – 132 มคก./ลบ.ม.) เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (41 – 77 มคก./ลบ.ม.)

ภาคอีสาน ตรวจพบการเกินมาตรฐานของระดับ PM2.5 รวม 3 พื้นที่ ภาค ภาคกลางและตะวันตก 6 พื้นที่ ภาคตะวันออก 4 พื้นที่ และภาคใต้ไม่พบพื้นที่เกินมาตรฐาน” ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานสถานการณ์ภาพรวมฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในอากาศ เมื่อเวลา 14.00 น วันนี้ (6 มี.ค. 2566) (ดูรายละเอียด : http://air4thai.com/webV3/#/Report)

“เริ่มดีวันอาทิตย์” ฝุ่นกทม.ปริมณฑล – “อ่วมต่ออีกสัปดาห์” ฝุ่นเหนือ

“คาดพรุ่งนี้ ฝุ่นพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะยังอยู่ระดับ “เริ่มมีผลต่อสุขภาพ (สีส้ม)” ต่ออีกวัน (โดยเฉพาะ 11 พื้นที่ : หลักสี่ จตุจักร คลองสามวา มีนบุรี สะพานสูง ตลิ่งชัน บางกอกน้อย ทีวัฒนา บางแค หนองแขม และบางบอน) 

ก่อนจะเริ่มดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ในระดับภาพรวม “คุณภาพอากาศปานกลาง” ที่มีพื้นที่สีส้มลดลงเหลือราววันละ 2 พื้นที่ ต่อเนื่องราว 4 วัน และคาดว่าจะกลับสูงระดับที่ไม่มีพื้นที่สีส้มในวันที่ 12-13 มี.ค.

สถานการณ์ในภาคเหนือจะยังอยู่ในระดับภาพรวม “เริ่มมีผลต่อสุขภาพ (สีส้ม)” ยาวไปตลอด 7 วันตั้งแต่พรุ่งนี้ (7-13 มี.ค.) โดยพรุ่งนี้ คาดจะมีภาพรวมระดับสีแดง (มีผลต่อสุขภาพ) ใน 4 จังหวัด คือสุโขทัย แม่ฮ่องสอน ตากและเชียงใหม่ และแนวโน้มต้องเฝ้าระวัง (สีแดง) ในบางจังหวัดไปตลอดสัปดาห์” ศูนย์ฯ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ฝุ่น

(ภาพ : คพ.)

“เข้มตรวจสอบควันดำ” กรมควบคุมมลพิษ

“จากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สะสมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก ในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน ซึ่งยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล 

ตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดทำโครงการ และมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ เช่น โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” สนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ และมีมาตรการตรวจรถควันดำ ได้เพิ่มจุดตรวจเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามมิให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง เป็นต้น

มาตรการตรวจรถควันดำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 คพ. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำแบ่งเป็นพื้นที่ 

กทม. ตรวจสอบสะสม 109,696 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานสะสม 23,707 คัน ห้ามใช้สะสม 1,503 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 55,635 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 1,367 คัน ห้ามใช้สะสม 1,367 คัน จากสถิติในภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานมีจำนวนประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ จากรถยนต์ที่เรียกตรวจ

รัฐจะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า – ออก 

ทั้งนี้ประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้ารับบริการได้ที่โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถยนต์ จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย TOYOTA ISUZU MITSUBISHI NISSAN MAZDA FORD HONDA SUZUKI และ HINO ซึ่งมีจำนวน 1,774 ศูนย์บริการฯ รองรับรถยนต์เข้าร่วมโครงการฯ 426,000 คัน สนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ” ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยวันนี้ 

(ภาพ : ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลก)

ไฟป่าเหนือยังกรุ่นหลายพื้นที่

“เวลา 02.00 น.ไฟไหม้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน พิกัด  47 Q 486212 E UTM 1953748 N ตรวจพบโดย HOTSPOT

เริ่มดับเวลา 09.20 น.พื้นที่เสียหาย  20 ไร่ ดับเสร็จเวลา 16:40 น.พื้นที่เสียหาย  50 ไร่ สาเหตุ : เลี้ยงสัตว์ ชนิดป่า : ป่าเบณจพรรณ – ป่าเต็งรัง

สิ่งที่ทำให้ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าหมดกำลังใจที่สุดคือ พบลูกหมูป่าถูกรมควัน จำนวน 2 ตัว รอด 1 เสียชีวิต 1 ตัวที่รอดส่งให้เจ้าหน้าที่ อช. รอรับการประสานงานสนับสนุนการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบ” 

ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า พิษณุโลก รายงานผลการปฏิบัติงานดับไฟป่า ภารกิจงานสนับสนุนการควบคุมไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ภายใต้การปฏิบัติภารกิจงานสนับสนุนการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญทั่วประเทศ ตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น 

(ภาพ : ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลก)