“น่ายินดี แต่ยังมี 3 ประเด็นต้องจับตา” มติครม. ห้ามนำเข้าขยะ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (21 ก.พ. 2566) มีมติ “ห้ามนำเข้าขยะ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568” 

“น่ายินดี แต่ยังมีเรื่องที่ต้องจับตา 3 ประเด็น : “ลักลอบนำเข้า-ยังไม่ครอบคลุม-มาตรฐานโรงงานรีไซเคิล” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศให้ความเห็น

(ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ)

มติครม. “ห้ามนำเข้าขยะพลาสติก” 

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว” 

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (21 ก.พ. 2566) พร้อมเปิดเผยรายละเอียดว่า นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้

  1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้ เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร
  1. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ เขตปลอดอากร (เขตพื้นที่สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นๆ ที่ได้รับการกำหนดให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรศุลกากร อาทิ การได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ขาออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต) (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ 

โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง ให้นำเข้าปริมาณร้อยละ 100 ของความสามารถในการผลิตจริง รวมไม่เกิน 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) 

ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถในการผลิตจริง หรือปริมาณรวมไม่เกิน 186,497 ตันต่อปี โดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนาเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น 

  1. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศนำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก) สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด

“โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการมาตรการควบคุมในช่วง 2 ปี (ในช่วงปี 2566-2567) คือ มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ควบคุมปริมาณนำเข้าให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ 2.ป้องกันการลักลอบนำเข้า 3.ควบคุมการประกอบกิจการพลาสติกไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับทุกฝ่ายจึงให้มีมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การป้องกันการขาดแคลนเศษพลาสติกบางชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม 2.การคัดแยกขยะที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 3.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ และ 4.การมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

กว่าจะเป็นมติครม. วานนี้

หลังจากรัฐบาลจีนได้ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศหลังจากพบว่าขยะกำลังล้นประเทศ ในปี 2561 ทำให้บรรดาขยะต่าง ๆ ย้ายจุดหมายมายังหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย (BBC

โดยการนำเข้าขยะพลาสติกของไทยในปี 2561 มีปริมาณเพิ่มขึ้น จากเดิม 152,737 ตันในปี 2560 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จีนจะประกาศห้ามนำเข้าขยะ เป็นกว่า 552,912 ตัน (มากกว่าเดิมเกือบ 4 เท่า) นอกจากนั้นในปี 2561 ยังมีข่าวการจับกุมลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกหลายรายในช่วง พ.ค. – ก.ค.

ในปี 2561 รัฐบาลไทยประกาศว่าจะแก้ปัญหาการนำเข้าขยะต่างประเทศอย่างจริงจัง มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้อีกไม่เกิน 2 ปี หรือห้ามไม่ให้มีการนำเข้าอีกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 (Sarakadee)

แต่จากคำสั่งดังกล่าวที่มีความกระทันหัน มีการขัดค้านจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรม และยังไม่มีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ ทำให้มาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี 2563 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้

จนภายหลังคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวหมดวาระ และได้ตั้ง คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาแทน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน

และได้มีการเปลี่ยนนโยบายใหม่ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 คือ กำหนดแผนควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งเป้าที่จะห้ามนำเข้าในอีก 5 ปี หรือห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569

ก่อนที่จะมีมติเห็นชอบจากการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อ 16 ก.ย. 2565 ซึ่งมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมดังกล่าวมีมติห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดในปี 2568 และเห็นชอบชุดมาตรการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งในเขตปลอดอากร และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั่วไป และมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกด้วย ทั้งนี้ชุดมาตรการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกดังกล่าว ได้มีการผ่อนผันสำหรับการนำเข้าเศษพลาสติกแก่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากร และโรงงานในพื้นที่ทั่วไปเป็นเวลา 2 ปี คือ ระหว่างปี 2566 – 2567 ก่อนการยกเลิกทั้งหมดในปี 2568 (มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีมติครม. เห็นชอบเมื่อ 21 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา

“น่ายินดี” ความเห็น EARTH

“เป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของภาคประชาชน สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และหลาย ๆ ภาคส่วนที่ลุกขึ้นมาช่วยกันขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2562” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวหลังจากครม. เห็นชอบมติห้ามนำเข้าขยะ

แต่ยังต้องจับตา 3 ประเด็น “ลักลอบนำเข้า-ยังไม่ครอบคลุม-มาตรฐานโรงงานรีไซเคิล” 

“สิ่งที่เรากำลังพูดถึงในตอนนี้คือการนำเข้าเศษพลาสติกที่อยู่ในพิกัดศุลกากร 3915 ซึ่งเป็นพวกเศษพลาสติก ขยะพลาสติกไม่ว่าจะสะอาด หรือไม่สะอาด มติครม. จะพูดถึงพลาสติกกลุ่มนี้กลุ่มเดียว

ในความเห็นถึงแม้ว่าจะมีมติครม. ห้ามนำเข้าพลาสติกกลุ่มนี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมี 3 ประเด็นที่ยังต้องติดตาม

1. ต้องติดตามต่อว่าจะมีการลักลอบนำเข้า สำแดงเท็จ หรือแจ้งพิกัดอื่นที่ไม่ถูกต้องไหม หลังจากมีมติครม. รองรับแล้ว ซึ่งภาคประชาชนจะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

2. ข้อจำกัดของมติครม. นี้คือ มันไม่ครอบคลุมไปยังเศษพลาสติกชนิดอื่น อย่างเช่นพวกเม็ดพลาสติก หรือพลาสติกบางอย่างที่ยังคงสามารถนำเข้ามาได้ ที่ยังมีอีกหลายชนิดที่เรายังไม่ทราบ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมอ้างเหตุผลว่า เป็นวัตถุดิบที่ยังมีความจำเป็น

3. ในส่วนของการรีไซเคิลเศษพลาสติกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม เราอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานฯ ประกาศมาตรฐานการปล่อยมลพิษไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ฝุ่นขนาดต่าง ๆ PM2.5 PM10 ฝุ่นโดยรวม แล้วก็สารพิษ สารระเหย และอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก เพราะว่าการรีไซเคิลพลาสติกจะมีการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนมาก ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของคนงาน หรือชุมชนที่อยู่รอบ ๆ

ดังนั้นอุตสาหกรรมรีไซเคิลจำเป็นต้องมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และก็มีการควบคุมการปล่อยมลพิษ ซึ่งประเทศไทยเองยังไม่มีมาตรการเหล่านี้ชัดเจน” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กล่าวถึงสิ่งที่ต้องจับตา หลังจากมาตรการห้ามนำเข้าขยะผ่านมติครม. เรียบร้อยแล้ว

สถานการณ์นำเข้าขยะ ล่าสุด

สถานการณ์ล่าสุดของการนำเข้าเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก (หรือที่ใช้รหัสฉพาะพิกัดศุลกากรว่า HS3915 ซึ่งเป็นรหัสที่เข้าใจกันได้ทั่วโลกว่า ถ้าพูดถึงรหัสนี้จะหมายถึง เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก) จากการสืบค้นฐานข้อมูลการนำเข้าสินค้าจาก เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์. http://tradereport.moc.go.th/searchhs.aspx?TabHs=17 พบว่าปีที่แล้ว (2565) ประเทศไทยมีการนำเข้าเศษพลาสติกจำนวน 179,259 ตัน 

สำหรับประเทศที่ส่งออกเศษพลาสติกมายังไทยมากที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือประเทศที่ไทยนำเข้าเศษพลาสติกมากที่สุดในปี 2565 คือ ญี่ปุ่น โดยไทยรับมาถึง 58,785 ตัน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และจีน โดยรับมา 41,381 ตัน และ 14,650 ตันตามลำดับ