ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องบริษัทฯ ที่ยื่นขอทุเลาการบังคับคดี “แวกซ์ กาเบ็จ” เป็นครั้งที่ 3 ส่งผลให้สามารถดำเนินการต่อ “ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดใช้หนี้ (จ่ายค่าชดเชย)ชาวบ้าน”
“ค่าชดเชยต่ำกว่าความเสียหายจริงมาก” ชาวบ้านน้ำพุอุทธรณ์
ด้านความคืบหน้าการดำเนินการฟื้นฟู “ยังคงไม่มีวี่แวว” หลังบริษัทขนย้ายไม่เสร็จ “ตามเส้นตายกรมโรงงานฯ กำหนด”

ยกคำร้องบริษัท “ครั้งที่ 3”-ยึดทรัพย์ขายใช้หนี้ได้
วันนี้ (21 ก.พ. 2566) ศาลอุทธรณ์ รัชดาภิเษก กทม. มีคำสั่ง ยกคำร้อง “บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ จำกัด” ที่ขอทุเลาการบังคับคดี เพื่อระงับการขายสินทรัพย์เอาไว้ก่อน ซึ่งเป็นการยกคำร้องครั้งที่ 3 ของศาลต่อคำร้องที่บริษัทยื่นศาลเพื่อการนี้ และถูกศาลยกคำร้องไปแล้วสองครั้ง
“ความหมายของคำสั่งคือ ชาวบ้านกับทนายฝ่ายโจทย์สามารถที่จะเดินเรื่องยึดทรัพย์สินต่อไปได้ ที่ผ่านมามีการยึดที่ดินของฝ่ายจำเลยไปแล้ว 19 แปลง และจะมีการขายทอดตลาดในวันพรุ่งนี้อีก 1 แปลง เพื่อนำทรัพย์สินของฝ่ายจำเลยมาชำระหนี้ให้กับชาวบ้าน
ทั้งนี้ ทางฝั่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรับเงินที่จำเลยวางไว้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ศาลมองว่าในกรณีนี้คดีความยังไม่ถึงที่สิ้นสุดจึงยังไม่สามารถจ่ายเงินได้
สำหรับเงินที่ได้จาการขายที่ดินจะถูกนำไปรวบรวมเป็นทรัพย์สินของจำเลย จากนั้นจะส่งต่อให้กรมบังคับคดีเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน และเมื่อคดีมีคำพิพากษาศาลสูงสุดแล้ว กรมบังคับคดีถึงจะดำเนินการจ่ายเงินให้กับฝ่ายโจทก์
ส่วนการนัดฟังคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้มีการกำหนดวัน หากกำหนดเมื่อไหร่จะออกเป็นหมายศาลแจ้งมาอีกที” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวล่าสุดต่อกรณี ขยะมลพิษ “แวกซ์ กาเบ็จ”

“ค่าชดเชยต่ำกว่าความเสียหายจริงมาก” ชาวบ้านน้ำพุอุทธรณ์
4 ธันวาคม 2563 ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้มีคำพิพากษาให้ตัวแทนชาวตำบลน้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี ชนะใน “คดีแบบกลุ่ม” ด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกของประเทศไทย โดยให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากการประกอบกิจการของโรงงานดังกล่าว รวมทั้งให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสู่สภาพเดิม แต่เนื่องจากจำนวนเงินชดเชยที่ศาลสั่งต่ำกว่าที่ทางโจทก์เรียกร้องค่อนข้างมาก ชาวตำบลน้ำพุจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์
“คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น ยังไม่มีความครอบคลุมที่เพียงพอ โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทน กรณีพืชผลและผลผลิตเสียหาย เนื่องจากเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่ต่ำกว่าความเสียหายจริง และการที่ศาลกำหนดค่าความเสียหายโดยเทียบเคียงกับภัยพิบัติประเภทภัยแล้งนั้น เห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย เนื่องจากภัยที่เกิดขึ้นเป็นภัยจากมลพิษที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มิใช่ภัยแล้งตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังเห็นว่า การที่ศาลไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคของโจทก์และสมาชิกกลุ่มนั้น ไม่สอดคล้องกับการกำหนดค่าสินไหมทดแทนด้านการละเมิดสิ่งแวดล้อมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 76 ประกอบกับการกำหนดค่าเสียหายฐานะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420” มูลนิธิบูรณะนิเวศรายงาน

“ยังคงไม่มีวี่แวว” การดำเนินการฟื้นฟู
“ผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมที่ ชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี ต้องเผชิญตั้งแต่ปี 2544 หรือกว่า 20 ปีก่อน จนนำมาสู่การฟ้องศาล เมื่อปี 2560 และศาลตัดสินให้ชาวบ้านชนะเมื่อปี 2563 โดยศาลสั่งให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ ต้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิม แต่ทางบริษัทยังไม่ได้ดำเนินการฟื้นฟูแต่อย่างใด
ส่งผลให้ชาวบ้านตัดสินใจส่งตัวแทนเดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 17 ต.ค. 2565 เพื่อเรียกร้องให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตราย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากการปนเปื้อน และตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยปะละเลยหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ก็ได้รับปากกับชาวบ้านในวันนี้ว่าจะเร่งดำเนินการ
การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับชาวบ้าน ต.น้ำพุ มาก เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยพืชที่ปลูกมากใน ต. น้ำพุ คือลำไย ซึ่งหากสิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาจริง ก็จะส่งผลไปถึงความหวังที่จะได้รับวิถีชีวิตของชุมชนกลับคืนมา
โดยกรมโรงงานฯ ขีดเส้นตายให้บริษัท เร่งดำเนินการขนย้ายกากขยะออกจากบริเวณโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 31 ม.ค. 2566 ไม่อย่างนั้นทางกรมโรงงานฯ จะเข้ามาดำเนินการด้วยตัวเอง โดยมีแผนที่จะของบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการขนย้าย และฟื้นฟู โดยจะมีการฟ้องร้องเอาค่าเสียหายคืนกับบริษัทในภายหลัง” เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณนิเวศระบุ

บริษัทขนย้ายไม่เสร็จ “ตามเส้นตายกรมโรงงานฯ กำหนด”
“พอเข้าวันที่ 1 ก.พ. ก็พบว่าบริษัททำไม่ได้ตามที่กรมโรงงานฯ สั่งไว้ เพราะฉะนั้นตอนนี้อยู่ในช่วงที่กรมโรงงานฯ เข้ามาดำเนินการ
ซึ่งตอนนี้กรมโรงงานฯ อยู่ในช่วงหาบริษัทที่จะเข้าไปดำเนินการขนย้าย และนำกากเคมีต่าง ๆ ออกมาบำบัดให้ถูกต้อง
โดยกรมโรงงานฯ เดินเรื่องของบกลางจำนวน 94 ล้านบาท ซึ่งถ้างบที่ขอไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องรอในคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพียงแต่แค่ให้รัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งมีการอนุมัติมาแล้ว 64 ล้าน แต่ว่าเป็นการอนุมัติเพียงหลักการ ยังไม่มีการโอนเงินมาจริง จึงเข้าใจว่าตอนนี้คงยังไม่มีการดำเนินการขนย้าย
และด้านการฟื้นฟูก็ยังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากตอนนี้อยู่ในระหว่างรองบประมาณ” เพ็ญโฉมกล่าว