“ไม่ชัดเจน กรมฯจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” การแก้ไขบ่อขยะศรีเทพ

“จะแก้ปัญหาผลกระทบจากบ่อขยะอย่างเต็มความสามารถ” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวหลังจากสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจากบ่อฝังกลบขยะศรีเทพ เพชรบูรณ์

“ไม่ชัดเจนว่ากรมโรงงานจะดำเนินการอย่างไรต่อ” ตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความเห็น พร้อมเผย 4 คำถาม-เสียงสะท้อนจากพื้นที่ “หรือโรงงานไม่ได้หยุดดำเนินการจริง ๆ-ทำไมต้องยื่นอุทธรณ์-ทำไมการดำเนินการกรมโรงงานไม่ชัดเจน-ชาวบ้านมีหวังแต่ยังคงไม่วางใจ”

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

ปัญหา “บ่อขยะศรีเทพ”

วันนี้ (20 ก.พ. 2566) จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าสำรวจพื้นที่บริเวณโรงงานคัดแยก และฝังกลบขยะ  ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนอกโรงงาน โดยเฉพาะบรรดาบ่อบาดาลของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณโรงงาน

การสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้เนื่องมาจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหากลิ่นเหม็น น้ำเสีย และอาการเจ็บป่วยจากการประกอบกิจการหลุมฝังกลบของเสีย และรีไซเคิล ของบริษัทเอกอุทัย จำกัด สาขาศรีเทพ ตั้งแต่ปี 2561 ร้องเรียนปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นกับทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ แลูะได้ขอให้มูลนิธิฯ ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนัดหมายขอเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ซึ่งเมื่อทางมูลนิธิแจ้งไป ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำโดยอธิบดี จึงมีกำหนดที่จะลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการการแก้ไขปัญหาในวันนี้

ก่อนหน้านี้ 6 พฤษภาคม 2565 ตัวแทนชาวชุมชนบ้านม่วงชุมยื่นฟ้อง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4) 

กรณีการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ต่อศาลปกครองนครสวรรค์ ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลปกครองนครสวรรค์ได้ไต่สวนเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน รวมทั้งยังพิจารณาให้ บริษัท เอกอุทัย จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ด้วย

หลังจากนั้น 5 สิงหาคม 2565 ศาลปกครองนคสวรรค์ ได้ตัดสินให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำกับควบคุมให้บริษัท เอกอุทัย จำกัด ผู้สร้างมลพิษ แก้ไขปัญหาระงับเหตุเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการของตนให้เสร็จสิ้น และรายงานความคืบหน้าแก่ศาล โดยหากทางบริษัทฯ ไม่ดำเนินการ ให้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ใช้อำนาจดำเนินการกับบริษัท และให้ นายก อบต. และ อบต. คลองกระจัง (ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4) ดำเนินการระงับ เหตุเดือดร้อนรำคาญ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของบริษัท เอกอุทัย ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมกันนั้น ศาลยังมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้บริษัทฯ จัดทำแผน ฟื้นฟูแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และปรับปรุงแก้ไขน้ำภายในโรงงานให้มีสภาพปลอดภัยก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติ รวมทั้งดำเนินการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลเพื่อป้องกันการปนเปื้อนไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ตามข้อเสนอแนะของพยานผู้เชี่ยวชาญ และรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ศาลทราบ จนกว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญจะหมดสิ้นไป

 ผ่านมากว่า 6 เดือน หลังศาลตัดสิน แต่ความเดือดร้อนของชาวบ้านก็ยังคงอยู่ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกร้องให้อธิบดีกรมโรงงานฯ ต้องเข้ามาเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน

บริเวณที่ตั้งโรงงาน (ภาพ : Thai PBS)

ข้อเรียกร้องชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ

“ปัจจุบันเวลาได้ล่วงเลยไปหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษา แต่ว่าประชาชนในพื้นที่ยังต้องเดือดร้อนจากปัญหากลิ่นเหม็น และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อยู่

จึงขอให้อธิบดีกรมโรงงานฯ ดำเนินการระงับการประกอบกิจการของบริษัท เอกอุทัย จำกัด ไว้จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ให้เสร็จสิ้น และเร่งรัดการตรวจสอบหาสาเหตุของการรั่วไหลของสารเคมี ที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกลิ่นเหมืน และการกำกับดูแลมิให้มีการนำของเสียเข้ามาทิ้งในเขตพื้นที่โรงงาน” ส่วนหนึ่งจากหนังสือที่ กลุ่มรักษ์ม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ส่งให้อธิบดีกรมโรงงานฯ เพื่อให้อธิบดีฯ ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบ

(ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

“จะพยายามสุดความสามารถ” กรมโรงงาน

“การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้เข้าไปดูหลายพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน และขอให้คำมั่นสัญญาว่า จะพยายามแก้ปัญหาของประชาชนอย่างสุดความสามารถ” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างลงพื้นที่

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ภาพ : มติชน)

“ไม่ชัดเจน การดำเนินการจากนี้”มูลนิธิบูรณะนิเวศ

“วันนี้หลัก ๆ ก็มี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ความคืบหน้าอย่างแรกคือการได้ไปพบปะชาวบ้าน รับทราบความเดือดร้อนของชาวบ้าน หลังจากชาวบ้านฟ้องคดี และมีคำพิพากษาไปแล้ว โดย ชาวบ้านเรียกร้องการระงับ ให้หยุดการประกอบกิจการ และหาต้นเหตุให้ได้ว่ามีจุดรั่วไหลออกมาจากไหน เพราะถ้าหยุดมันอาจจะช่วยแก้ปึญหาเรื่องกลิ่นได้ แต่ว่าตอนนี้มันยังมีการทำงานในพื้นที่อยู่เลย

อย่างที่ 2 คือการได้ไปที่บ่อน้ำที่ปนเปื้อน และเห็นความชัดเจนว่าน้ำมีกลิ่นเหม็นจริง ๆ มีการปนเปื้อนแน่นอน”

แต่เขา (กรมโรงงานฯ) ยังไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนต่อชาวบ้านเลยว่า กรมโรงงานฯ จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันก็เป็นธรรมดาของอธิบดีฯ เขาก็จะพูดประมาณว่า ผมจะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แต่สิ่งหนึ่งที่อธิบดีพูดอย่างชัดเจนก็คือว่า น้ำที่ชาวบ้านเปิดจากปั้มขึ้นมา มีกลิ่นเหม็นแน่นอน ที่มาจากการประกอบกิจการประเภทปิโตรเลียม ซึ่งในพื้นที่นี้ไม่มีการดำเนินกิจการนี้ นอกจากบ่อฝังกลบ” ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส และที่ปรึกษาชุมชน มูลนิธิบูรณะนิเวศให้สัมภาษณ์กับ GreenNews

ดาวัลย์ จันทรหัสดี (ภาพ : The MATTER)

4 คำถาม-เสียงสะท้อนจากพื้นที่

  1. หรือโรงงานไม่ได้หยุดดำเนินการจริง ๆ

“หลังศาลตัดสินมาแล้ว กรมโรงงานก็มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการ และปรับปรุง ทางกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมสั่งว่าให้บริษัทระงับการนำของเข้าไปยังโรงงาน แต่ชาวบ้านพบว่ายังมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกโรงงานอยู่ และไม่แน่ใจว่าทางบริษัทได้ระงับการนำเข้าจริงหรือไม่” ดาวัลย์เล่าถึงข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่

  1. ทำไมต้องยื่นอุทธรณ์

“วันนี้ชาวบ้านก็ถามว่าทำไมทางกรมโรงงานฯ อุตสาหกรรมจังหวัด และบริษัท ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

ทางอธิบดีก็ตอบว่า เขาต้องไปประสานหน่วยงานต่าง ๆ มาดำเนินการ แต่มันยังไม่ชัดเจนว่าเขามีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้มากแค่ไหน เขาบอกว่าจะเอาไปแถลงต่อศาล

ส่วนตัวคิดว่า เป็นเพราะว่าคำพิพากษาของศาลอาจจะยังไม่ครอบคลุม และทำให้กรมโรงงานฯ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ก็เลยจะแถลงต่อศาลว่าจะขอให้มีคำพิพากษาที่สามารถดำเนินการได้ชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีการยืนยัน” ดาวัลย์กล่าว

  1. ทำไมการดำเนินการกรมโรงงานไม่ชัดเจน

“ทางมูลนิธิเองก็คาดหวังว่าจะมีการแก้ปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากคำพิพากษาออกมาแล้วตั้งแต่เดือนส.ค. ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ยังไม่มีคนไปกำกับการให้จริงจังว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 

แล้วความเดือดร้อนของชาวบ้านหลังคำพิพากษาศาลก็ยังคงได้รับกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา เราเลยหวังว่าการลงไปในครั้งนี้ (ของกรมโรงงานฯ) น่าจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น เรื่องการปนเปื้อนน้ำบาดาลที่ออกสู่สิ่งแวดล้อม แล้วมีผลกระทบต่อชาวบ้านทำให้ไม่สามารถใช้น้ำได้ เราคาดหวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาทางไหน แต่ถึงอย่างไรเราคงต้องเกาะติดเรื่องนี้ตลอดต่อไปอย่างแน่นอน” ดาวัลย์กล่าว

  1. ชาวบ้านมีความหวัง แต่ยังไม่วางใจ

ชาวบ้านวันนี้ที่ดูก็มีความหวังนะ เพราะตั้งแต่ได้รับผลกระทบมาไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่างนี้เข้าไปในพื้นที่เลย เพราะทุกครั้งพอชาวบ้านไปเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดก็จะบอกว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกรมโรงงานฯ เนื่องจากกรมโรงงานเป็นผู้อนุญาต และเป็นหน่วยงานเดียวที่จะหยุดโรงงานนี้ได้

พออธิบดีกับรองอธิบดีไปก็ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ยังไม่วางใจ และยังต้องจับตาดูต่อไปแน่นอน ซึ่งชาวบ้านก็พูดต่อหน้าอธิบดีด้วยเหมือนกัน ว่าเขาหวังว่าปัญหาของเขาจะได้รับการแก้ไข” ดาวัลย์กล่าว