ศาลอุทธรณ์พิพากษาวันนี้ที่ศาลอาญารัชดาฯ “ยืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้อง” คดี “ฟ้องปิดปาก” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ มูลนิธิชีววิถี กรณี “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ชี้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ
“สัญญาณดี คดี “ฟ้องปิดปาก” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม” Enlaw เผย

ศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยกฟ้อง”
“วันนี้ (8 ก.พ. 2566) ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกคำฟ้องของนางจรรยา มณีโชติ และ สมาคมวิทยาการกำจัดวัชพืช ซึ่งฟ้องนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI ในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI เปิดเผย
“คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่นายวิฑูรย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และเป็นหนึ่งในผู้นำการขับเคลื่อนให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่พาราควอต และคลอไพริฟอส ( ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และได้รับการสนับสนุนจาก สภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก ) ถูกฟ้องร้องหลังจากเพจ BIOTHAI นำเอาภาพข้อความของสมาคมแห่งหนึ่งมาขีดฆ่าและให้ข้อมูลเพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้สีฉลากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีฉลากสีน้ำเงินนั้นไม่ได้หมายความว่าสารพิษนั้นอันตรายน้อยแต่ประการใดเพราะการใช้สีฉลากของสารเคมีนั้นระบุสำหรับพิษเฉียบพลันเท่านั้นแต่ไม่ระบุความเสี่ยงอื่นๆเช่นการก่อมะเร็งและก่อกลายพันธุ์เป็นต้น
สมาคมดังกล่าวยังฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย หลังจากเลขาธิการ BIOTHAI ได้เปิดเผยในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า มีสมาคมวิชาการที่ต่อต้านการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงนั้น มีอดีตนายกสมาคม และมีกรรมการบางชุดทำงานกับบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” BIOTHAI เปิดเผย

ศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” ธันวาคม 2564
“หลังจากศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่นางจรรยา มณีโชติ และสมาคมวิทยาการวัชพืช ฟ้องนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ในข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กรณีแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
คำพิพากษาศาลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ระบุให้ยกฟ้องในทุกข้อหา โดยศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัยว่าการฟ้องของโจทก์มีมูลหรือไม่ ดังนี้
1) ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ ม.14(1)และมาตรา16 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสในเพจเฟสบุ๊คที่นำข้อความของโจทก์มาโพสต่อและให้ความเห็นนั้นเป็นเรื่องความอันตรายของสารเคมีซึ่งถ้อยคำที่กล่าวเป็นความเห็นทางวิชาการที่มีความเห็นแย้งกับโจทก์เท่านั้นซึ่งความเห็นของทั้งสองฝ่ายก็มีจุดหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
2) กรณีการให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึกนั้น ไม่ได้กล่าวหาพาดพิงโจทก์ที่ 1 ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาท คือได้รับสารแล้วไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโจทก์ และกรณีโจทก์ที่ 2 นางจรรยา มณีโชติ ไม่ได้มีการพาดพิงเป็นการส่วนตัว จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ปวิอ.มาตรา2(4)
3) ส่วนกรณีการฟ้องตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ม.14(1) และม.16 นั้น ศาลเห็นว่าไม่ได้มีการพาดพิงโจทก์ทั้งสองและไม่ใช่การตัดต่อภาพบุคคลจึงไม่ใช่ความผิดตาม พรบ.มาตรา 16 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและไม่เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ และการนำเอาเนื้อหาในเพจของ BIOTHAI มาผนวกเพิ่มเติมเพื่อฟ้องเนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น โจทก์ได้มีการไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 และนำคดีมาฟ้องศาลเกินระยะเวลา 3 เดือน คดีนี้จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ฝ่ายผู้ยื่นฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. ณ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก” BIOTHAI เปิดเผย ถึงความเคลื่อนไหวการดำเนินคดีที่ผ่านมา

ชี้ “ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
“คำตัดสินขอศาลชี้ให้เห็นจุดยืนและบทพิสูจน์การทำงานของ BIOTHAI ที่ได้แสดงความคิดเห็น เผยแพร่ข้อมูล และเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และประโยชน์สาธารณะมาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี เป็นการต่อสู้บนพื้นฐานของความรู้ และเหตุผลเชิงประจักษ์
เราจะยืนหยัดทำงานภายใต้หลักการดังกล่าวต่อไปโดยไม่หวั่นไหวต่อการปิดปากหรือคุกคามของผู้เสียประโยชน์” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI กล่าวหลังคำตัดสิน
“การพิจารณาคดีที่นายวิฑูรย์เลี่ยนจำรูญถูกฟ้องร้องว่าทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่าการทำงานของคุณวิฑูรย์และมูลนิธิชีววิถีเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน
และมีเจตจำนงในการทำงานมาอย่างยาวนาน ทั้งให้การศึกษากับทางสังคมและตรวจสอบรัฐ บริษัท กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารพิษสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ความมุ่งหมายของคุณวิฑูรย์และไบโอไทย คือการปกป้องกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ที่ใช้สารเคมี และกลุ่มผู้บริโภคที่อาจจะมีความเสี่ยง ที่จะได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ดังนั้นการที่คุณวิฑูรย์และมูลนิธิไบโอไทยออกมาส่งเสียง และออกมาแสดงความคิดเห็นในมิติเรื่องนี้ เป็นประเด็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่พูดได้ แสดงความคิดเห็นได้ต่อสังคม” สุภาภรณ์มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLaw ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้คำแนะนำทางกฎหมาย รวมทั้งจัดทีมทนายความในการต่อสู้คดี กล่าวหลังคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สัญญาณดี คดี “ฟ้องปิดปาก” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม
“ฝ่ายโจทย์มีสิทธิ์ขออนุญาตศาลยื่นฎีกาได้อีก แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเมื่อศาลชั้นต้นและอุทธรณ์มีคำพิพากษาตรงกัน
อย่างไรก็ตาม มีนักสิ่งแวดล้อมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมากที่ถูกฟ้องร้องปิดปาก หรือ SLAPP : Strategic Lawsuits Against Public Participation ซึ่งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นสังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะเราขาดหลักเกณฑ์และบรรทัดฐานในการคุ้มครองนักต่อสู้เหล่านั้น
นับเป็นชัยชนะขององค์กรและผู้ต่อสู้ในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” สุภาภรณ์ กล่าววันนี้
“การแสดงความคิดเห็นของไบโอไทยเป็นการติชมด้วยสุจริต รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองอยู่แล้ว และผู้ฟ้องไม่ควรฟ้องเพื่อปิดปากตั้งแต่ต้น” ผศ.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านกฎหมายคนสำคัญได้ให้สัมภาษณ์หลังศาลได้ยกคำฟ้องเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564