“ความพยายามของกระทรวงฯ ในการรณรงค์โครงการ Everyday Say No to Plastic Bags กำลังกลายเป็นนโยบายไฟไหม้ฟาง” วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยอมรับ “แนวโน้มแย่-การจัดการขยะพลาสติก”
สั่งรณรงค์ต่อ เน้นขอความร่วมมือ ด้านกรมทะเลแจง “พยายามทำอยู่ แม้จะเป็นจุด ๆ”

“แนวโน้มแย่” จัดการขยะพลาสติก
“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เป็นเครื่องมือในการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะยกระดับการจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้น
การจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบ เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันระดมความคิด กำหนดกรอบแนวทาง และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริการจัดการขยะมูลฝอย พร้อมทั้งเดินหน้าสานต่อการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2
ขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติกให้ผู้บริโภคอีกครั้ง ความพยายามของกระทรวง ทส. ในการรณรงค์โครงการ Everyday Say No to Plastic Bags กำลังกลายเป็นนโยบายไฟไหม้ฟาง” วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยวันนี้ (8 ก.พ. 2566)

สั่งรณรงค์ต่อ เน้นขอความร่วมมือ
“อยากขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งบูรณาการปฏิบัติงานทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงฯ และหน่วยงานภายนอกอย่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชน เพื่อผสานความร่วมมือในการมีส่วนร่วมดำเนินการลด คัดแยกขยะจากต้นทาง ตลอดจนรณรงค์ลดการใช้วัสดุพลาสติกให้มีความต่อเนื่อง และรายงานผลให้ทราบ เพื่อให้เกิดรากฐานของการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ขยะบกจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งคิดมาเสมอว่าหากขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล จะสร้างความเสียหายและผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลมากแค่ไหน
ดังนั้น กระทรวง ทส. จึงมีแนวคิดในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางก่อนจะไหลลงสู่ปลายทาง โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นตั้งแต่ครัวเรือน ด้วยการใช้หลัก 3Rs คือ ใช้น้อย ลดปริมาณขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด (Reduce) ใช้ซ้ำ หมุนเวียนใช้ใหม่ก่อนทิ้ง (Reuse) นำไปแปรรูป เพื่อมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่สำคัญทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะทะเล ชายหาดปลอดขยะ ทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ ย่อมส่งผลดีต่อพวกเรา ลูกหลานของเรา และโลกของเราอีกด้วย”
รมว.ทส. กล่าว พร้อมย้ำการเดินหน้าโครงการ Everyday Say No to Plastic Bags ระยะ 2 โดยให้กรมทะเลชายฝั่ง สานต่อนโยบายพร้อมดึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน กำจัดตัดตอนขยะบก ก่อนไหลลงสู่ทะเล
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอเรื่องการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการดำเนินงาน โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมมือกับภาคเอกชนในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจมาตรการดังกล่าวกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน 43 ราย พิจารณากำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติสำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติก
เป็นนโยบายภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่

“พยายามทำอยู่ แม้จะเป็นจุด ๆ” กรมทะเลแจง
“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะทะเลมาโดยตลอด พร้อมทั้งปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
โดยกรม ทช. ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดักขยะ เช่น บูมดักขยะ SCG-DMCR Litter trap รวมถึงเทคโนโลยีจากโครงการความร่วมมือ The Ocean Cleanup (TOC) และนวัตกรรมในต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ลงพื้นที่ทำกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายฝั่ง ปากแม่น้ำ และในทะเล ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและให้ความรู้ด้านการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
จากการรายงานการปฏิบัติงานในวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2566) ได้มีการทำกิจกรรมเก็บขยะร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จัดเก็บขยะจากทุ่นกักขยะและเปลี่ยนซ่อมแซมทุ่นกักขยะที่ชำรุดเสียหายพร้อมเชือกมัดโยง ณ คลองบางโปรง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
โดยร่วมกับเทศบาลเมืองแสนสุข และกลุ่มชมรมกู้ชีพทางทะเล ดำเนินการจัดเก็บขยะจากทุ่นกักขยะและคัดแยก ตามแบบฟอร์มบันทึกข้อมูล ICC Data Card ซึ่งพบขยะประเภท ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว ขยะอื่นๆ และโฟม รวมน้ำหนักขยะที่เก็บได้ทั้งสิ้น 145 กิโลกรัม ส่วนขยะที่จัดเก็บได้นั้น ได้คัดแยกส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิล ส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตะโละกาโปร์ โรงเรียนบ้านท่าด่าน ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายอาหาร และประชาชนจิตอาสา จำนวน 120 คน ได้เก็บขยะที่ตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญแบบมีส่วนร่วม ณ บริเวณจุดชมเรือ หมู่ 3 บ้านท่าด่าน ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยเก็บขยะได้ทั้งสิ้นจำนวน 594.50 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ได้คัดแยกประเภทขยะ ซึ่งมีขยะที่มีปริมาณมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติกอื่นๆ ถ้วย จาน โฟม และขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) พร้อมกันนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนในพื้นที่มีการจัดเก็บ และทิ้งขยะบริเวณที่จัดไว้ให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเลต่อไป
ทั้งนี้ กรม ทช. ยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ Everyday Say No to Plastic Bags พร้อมทั้งรณรงค์แจกถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในพื้นที่ 24 ชายฝั่งทะเล เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงการลดการใช้พลาสติก รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงผ้าหรือวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของการจัดการขยะทะเล แต่ตนมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต
อีกทั้งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปสู่ปลายทาง รวมถึงการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาขยะทะเล นำไปสู่การแสดงถึงจุดยืนและศักยภาพในการช่วยเหลือโลกให้ปราศจากขยะทะเลอันเป็นภัยร้ายทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่อไป ” อภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
