เผยความคืบหน้าการเจรจา “ผู้ชุมนุมกรณีเขื่อนสิรินธร-หน่วยงานรัฐ” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่เห็นด้วย “ควรมี 3 ตัวแทนชาวบ้านร่วมในอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร” ยกเว้น “กระทรวงพลังงานที่ยังไม่มีการตอบรับ”
“อาจยกระดับ ย้ายมาชุมนุมหน้ากระทรวงพลังงาน-ทำเนียบรัฐบาล” ผู้ชุมนุม ประกาศ วันนี้ วันที่ 4 ของการปักหลักชุมนุมหน้าสำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลฯ

ปักหลักชุมนุมวันที่ 4
วันนี้ (2 ก.พ. 2566) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร ภายใต้ชื่อ “กลุ่มนักสู้ลำโดมน้อย” (สดน.) และ “กลุ่มนายวิทยา ยังมีสุข” กว่า 1,000 คน ปักหลักชุมนุม ณ สนามฟุตบอลหน้าสำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มชุมนุมวันแรกในวันที่ 30 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา
“เพื่อเรียกร้องกระทรวงพลังงาน ให้มีการแต่งตั้งภาคประชาชนเข้ามาในคณะอนุกรรมการ จำนวน 3 คน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการแก้ไขปัญหาราษฎร และต้องจัดประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566” ตัวแทนเครือข่ายฯ เปิดเผยข้อเรียกร้องล่าสุด

คืบหน้าการเจรจา
“หลักจากมีการเจรจาร่วมกันระหว่างรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนสำนักปลัดกระทรวงพลังงาน พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี และ ผู้แทนกลุ่มผู้ชุมนุม ตั้งแต่ 31 ม.ค. 2566 และได้ข้อสรุปร่วมกัน 2 ข้อตามที่กล่าวข้างต้น แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงพลังงาน
รองผู้ว่าราชการจังตวัดอุบลฯ ให้ความร่วมมือดี แต่คิดว่าปัญหาตอนนี้อยู่ที่ระดับบน ๆ อยู่ที่กระทรวงพลังงาน” ตัวแทนเครือข่ายเปิดเผย

ประกาศ “อาจมาชุมนุมหน้าทำเนียบ”
“ถ้าภายในวันที่ 14 ก.พ. 2566 ยังไม่มีการตอบสนองใด ๆ จากภาครัฐทั้ง 2 ข้อเรียกร้อง ทางกลุ่มวางแผนที่จะยกระดับการชุมนุมไปที่หน้ากระทรวงพลังงาน หรือทำเนียบรัฐบาลเลย” นิยม ดีจันทึกประกาศวันนี้
นิยมให้ข้อมูลว่าทั้ง 2 กลุ่มวางแผนปักหลักอยู่หน้าสำนักงานพลังงาน เพื่อรอการตอบรับจากกระทรวงพลังงานว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องหรือไม่ จนถึง 14 ก.พ. 2566
“แต่ก็ต้องรอดูการวางแผนของแกนนำด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะก็มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา” นิยมให้ความเห็น

สองกลุ่ม หนึ่งข้อเรียกร้อง
นิยม ดีจันทึก ตัวแทนกลุ่มนายวิทยาให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมีจำนวนหลัก ๆ อยู่ 2 กลุ่ม ก็คือ กลุ่มของวิทยา ยังมีสุข และกลุ่มของ วันชัย ยังมีสุข หรือ ที่เรียกกันว่า “กลุ่มลำโดมน้อย” โดยแกนนำทั้ง 2 กลุ่มเป็นพี่น้องกัน แต่เพราะความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางในการเรียกร้องจึงทำให้ต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม แต่การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมร่วมกันของทั้ง 2 กลุ่ม
นิยมกล่าวว่า จำนวนสมาชิกทั้ง 2 กลุ่มมีประมาณ 4,700 คน โดยทั้ง 2 กลุ่มมีข้อเรียกร้องที่เหมือนกันคือ ต้องการให้รัฐชดเชยที่ดินคนละ 15 ไร่ ต่อคน
สำหรับตัวแทนภาคประชาชนที่ทางกลุ่มเรียกร้องให้แต่งตั้งเข้าไปในคณะอนุกรรมการได้แก่ 1. วิทยา ยังมีสุข 2. วันชัย ยังมีสุข 3. สมปอง เจริญราษฏร์