“ระบบสุขภาพพื้นที่ไม่พร้อมรับมือ วันนี้ที่เป็นอยู่ – ปัญหาการวัด-ค่ามาตรฐาน การแก้ไขมลพิษ VOCs : สารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็ง – ปัญหา “ศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity)”
สามประเด็น มุมมองน่าสนใจจากคนทำงานสาธารณะสุขในพื้นที่ระยอง ที่นำเสนอต่อเวทีเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ #กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดเผยโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ วันนี้ (1 ก.พ. 2566)

หากยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ
“ถ้าเราจะลดหรืองดการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ก็เป็นคำถามในใจที่เกิดขึ้นอีกว่า เราจะมีกลไกอะไรไปทำหน้าที่ควบคุม กำจัด
เพราะปัจจุบันเมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษก็จะมีมาตรการ กรรมการตรวจติดตามประเมิน หากยกเลิก แล้วกลไกอะไรที่จะไปช่วยตรวจติดตามประเมินต่อไป เพื่อให้โรงงานที่เป็นเด็กดื้อจะได้ทำตาม เพราะถ้าเป็นการทำ COP จะเป็นการทำในรูปแบบความสมัครใจ ซึ่งแตกต่างจากการมีเขตควบคุมมลพิษที่เป็นกฎหมายที่ประกาศให้ดำเนินการ”
จันทร์ทิพย์ อินทวงศ์ พยาบาลชีวอนามัย กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง กล่าวในเวที “การจัดการสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) ในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง” เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่จัดโดย#กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อหาแนวทางและมาตรการเร่งลดปัญหามลพิษจาก #VOCs ในพื้นที่จังหวัดระยอง มุ่งเป้าสนองนโยบายปฏิรูปประเทศที่กำหนดยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง ให้ได้ภายในปี 2565
“(ดิฉัน) อยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์ปัญหา ตั้งแต่โรงงานพัฒนาขึ้นในปี 2540 ซึ่งปัญหาที่พบ คือ กลิ่นเหม็น ที่รุนแรง จนต้องย้ายโรงเรียน หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการจัดการแก้ปัญหา
ในปี 2552 ภาคประชาชนได้ร่วมกันฟ้องศาลปกครอง เพื่อประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งประเด็นสำคัญของการฟ้องในครั้งนี้ คือ ประเด็นทางสุขภาพ การเกิดโรคมะเร็ง ที่มาบตาพุด และการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ที่มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ประเด็นเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายให้ทุกคนรู้สึกว่า อยู่ตรงนี้จะปลอดภัยไหม และจะต้องมีมาตรการอะไรมาจัดการ” จันทร์ทิพย์ กล่าว

“ระบบสุขภาพพื้นที่ไม่พร้อมรับมือ” วันนี้ที่เป็นอยู่
จันทร์ทิพย์ให้ความเห็นต่อน่าสนใจ “ความกังวลจากมุมมองคนทำงานสาธารณะสุขในพื้นที่” ว่ามี 3 ประเด็น โดยประเด็นแรกคือ ประเด็นข้อจำกัดของระบบสาธารณะสุขในพื้นที่ ที่ยังมีข้อจำกัดและไม่พร้อมทที่จะรับมือปัญหาต่อโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการ “ยกเลิก-ไม่ยกเลิก เขตควบคุมมลพิษ”
“ระบบสุขภาพ ที่เห็นว่าระบบสุขภาพยังมีข้อจำกัดอยู่ 2 ส่วนคือ การเฝ้าระวังสุขภาพทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ที่ระบบไม่ตอบสนองต่อโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม
อยากให้มีกลไกของรัฐในระดับที่สูงกว่าพื้นที่เข้ามาช่วย เนื่องจากต้องใช้ทักษะองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะประเด็นของสองโรคที่ภาคประชาชนต่างมีข้อกังวล คือมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ
เช่นเดียวกับในเรื่อง “การทำทะเบียนมะเร็ง” ที่จะช่วยบ่งบอกถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคได้ ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น สถาบันมะเร็ง เข้ามาช่วยกันออกแบบระบบร่วมกันกับพื้นที่ เพื่อทำการติดตามข้อมูลแบบไปข้างหน้าที่มีความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่การลงไปทำเพียงแค่ปีเดียวหรือสองปีแล้วก็ทิ้งหนีไป ปล่อยให้เป็นภาระของพื้นที่ โดยที่ในระบบการบริการสุขภาพปัจจุบันยังทำไม่ได้
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ประชากรแฝง
พื้นที่มีประชากรแฝงเข้ามามากมาย 1 เท่า ตอนนี้ประชากรมี 7 แสน แฝง 7 แสน เป็น 1.4 – 1.5 ล้าน แต่อัตรากำลังแพทย์-พยาบาล งบประมาณ ครุภัณฑ์เครื่องมือ มีให้แค่ 7 แสนคน แต่เรามีภาระถึง 1.5 ล้าน อาจารย์จะช่วยออกแบบอย่างไรให้สถานบริการของเราสามารถรองรับอย่างมีคุณภาพและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ก็มองว่าต้องมีการแก้ไขประเด็นตรงนี้ก่อนด้วย คู่ไปกับการลดมลพิษ” จันทร์ทิพย์กล่าว

ปัญหามลพิษ VOCs : การวัด-ค่ามาตรฐาน-การแก้ไข
จันทร์ทิพย์ให้ความเห็นว่า ในพื้นนี้ยังมีสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็ง (VOCs) อีกหลายชนิด ดังนั้นจึงเกิดมลพิษเป็นแบบค็อกเทลรวมกัน ส่วนเรื่องตัวเลขค่ามาตรฐานสารเบนซีนที่ว่าใช้ค่า 1.7 โดยมีความหมายคือยอมรับระดับความเสี่ยง 1 ต่อแสนคน จึงมีคำถามว่า การใช่หรือไม่
“จากประเด็นข้างต้น เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับการตรวจวัดแบบมีมาตรฐาน การที่กรมควบคุมมลพิษ 1 เดือน มาตรวจ 1 วัน จะเท่ากับว่า 1 ปี ตรวจทั้งหมด 12 วัน แต่เราทำงาน 365 วัน ไม่เคยหยุด จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า การยอมให้คนระยองเป็นมะเร็ง 1 คนต่อ 1 แสนคน เป็นมาตรฐานที่ดีแล้วและสามารถยอมรับได้ใช่หรือไม่ มันเพียงพอแล้วหรือไม่
(ในประเด็นมลพิษ) เข้าใจว่ามลพิษที่เกิดขึ้นมีแหล่งกำเนิดมาจากโรงงานและรถยนต์ คือ mobile source ซึ่งตนอยากชวนมองย้อนกลับว่าแล้ว mobile source ที่วิ่งอยู่ในชุมชนเป็นรถของใคร เป็นรถของพนักงานในโรงงานขนส่งสินค้าหรือของชุมชน
ถ้ามันร่วมกัน มันต้องไม่แก้ที่เฉพาะโรงงาน มันต้องแก้ที่ mobile source เหมือนกัน เช่น ระบบการจัดการขนส่ง การมีโลจิสติกส์ที่ดี เพื่อลด mobile source ซึ่งมลพิษที่มันไปตกกับชุมชนก็อาจจะลดลงไปได้มากกว่าการที่จะจัดการแค่ VOCs ในโรงงานหรือไม่” จันทร์ทิพย์กล่าว

ปัญหา “ศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity)”
“(Carrying Capacity) เท่าที่ทราบเคยมีการศึกษามาแล้ว ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ศึกษาแล้วก็เก็บไว้
ในขณะที่การทำ EIA และ EHIA จากที่เห็น ณ หน้างาน พูดแบบชาวบ้านได้ว่าเป็นพิธีกรรมหรือไม่ เนื่องจากคนที่จ้างให้ไปศึกษา คือเจ้าของโรงงาน ดังนั้นย่อมไม่มีรายงานอะไรที่ออกมาแล้วอาจทำให้โรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้
กลไกในเรื่องนี้จึงเป็นอีกส่วนที่ควรจะปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน” จันทร์ทิพย์กล่าว
“สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) หรือ VOCs มาจากคําว่า Volatile organic Compounds หมายถึงกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย กระจายตัวไปในอากาศได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
สามารถพบได้ใน สีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ํายาฟอกสี สารตัวทําละลายในการพิมพ์ อู่พ่นสีรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม น้ํายาซักแห้ง น้ํายาสําหรับย้อมผมและดัดผม สารกําจัดศัตรูพืช สารที่เกิดจากการเผาไหม้และปนเปื้อนในอากาศ น้ําดื่ม อาหาร และเครื่องดื่ม สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางคือ การหายใจ การกิน-ดื่มทางปาก และการสัมผัสทางผิวหนัง
VOCs อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ไม่สบายเจ็บคอ หายใจไม่สะดวก ระคายเคืองตา คอ จมูก หน้าอก ระบบพันธุกรรม ระบบฮอร์โมน อาจทําให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ และโรคทางระบบสืบพันธุ์ เช่นเป็นหมัน ความพิการของเด็กมีการกลายเพศ เป็นต้น” กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุ

เขตควบคุมมลพิษระยอง
เขตควบคุมมลพิษระยองถูกประกาศขึ้นตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อ 16 มี.ค. 2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ ถือเป็นการประกาศใช้ เขตควบคุมมลพิษใน จ.ระยอง เพื่อควบคุมมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มว่าจะร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัตรายต่อสุขภาพของประชาชน
การประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยในมาตรา 59 ระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า ท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้” (ประชาไท)
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษรวม 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด

“ระยอง” หลังยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ (หากยกเลิก)
“นโยบายการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษนั้น เป็นนโยบายที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญและมีความพยายามหาทางดำเนินการในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ล่าสุดถึงกับมีการตั้งเป้าว่าจะต้องยกเลิกเขตควบคุมมลพิษไม่น้อยกว่า 3 พื้นที่ ภายในปี 2565 ซึ่งมีการอ้างด้วยว่าเป็นเป้าหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามในหลากหลายบริบท” มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ระบุ
“พื้นที่ที่จะเข้าสู่การเป็นเขตยกเลิกควบคุมมลพิษนั้นจะต้องมีผลการประเมินมลพิษในพื้นที่ว่า มีระดับที่ลดลงจนไม่อยู่ในภาวะมลพิษรุนแรง หรือมีแนวโน้มรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
การศึกษาภายใต้โครงการ “ประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษตามแผนการปฏิรูปประเทศ” แบ่งพื้นที่เขตควบคุมมลพิษตามความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อม เขตควบคุมมลพิษที่เข้าสู่ความพร้อม เขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมปานกลาง และเขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมน้อย
จากการทดลองประเมินในพื้นที่นำร่อง เขตควบคุมมลพิษ จ. ระยอง ถูกจัดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษที่มีความพร้อมน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีระดับมลพิษเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ระยองซึ่งมีปัญหาด้าน VOCs ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน” ทรงกฤษณ์ ประภักดี นักวิจัย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการศึกษาจาก “รายงานประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ”
รายงานดังกล่าวจัดทำโดยศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การมอบหมายของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยเมื่อ วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ในเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นในเชิงวิชาการ (Technical Hearing) ภายใต้โครงการการประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษตามแผนปฏิรูปประเทศ ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย