เสร็จสิ้นแล้ว “การรับฟังความเห็นสาธารณะ สผ.” กรณีอีไอเอโครงการกำแพงกันคลื่น แนวโน้มผล “เห็นด้วยต้องทำอีไอเอ” คาดผลทางการออกหลัง 9 ก.พ.
เครือข่ายอนุรักษ์ชายหาด เผย หวังเห็น สผ.แก้กฎหมายเรื่องนี้โดย “ไม่เตะถ่วง”
Beach For Life-มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ชี้กระบวนการรับฟัง สผ. ยังมีปัญหา พร้อมข้อเสนอแก้ไข

แนวโน้ม “เห็นด้วยต้องทำอีไอเอ”
“15 วันตั้งแต่วันเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ กองพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ ระบบกลางทางกฎหมาย ทั้ง 2 เว็บไซต์มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นรวมกัน ประมาณ 360 คน
ผ่านเว็บไซต์กองพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในจำนวนนี้ เห็นด้วยให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA ประมาณ 85% คิดเป็น 273 คน จากทั้งหมด 315 คน” ข้อมูลจากเว็บไซต์กองพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบุ ณ วันที่ 25 ม.ค. 2566
สำนักงานนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติฯ (สผ.) ประกาศรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบกับร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อมหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ เเละเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
ใจความสำคัญระบุว่า กำหนดให้กำแพงกันคลื่น หรือคำที่ใช้ในร่างว่า “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” ทุกขนาดต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยฯ ที่ออกมาเมื่อ 2556 ที่ให้ “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” ไม่ต้องทำ EIA
GreenNews ได้สอบถามไปยัง สผ. เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าจะต้องใช้ระยะเวลารวบรวมข้อมูลหลังจากนี้อีก 15 วัน (9 ก.พ. 2566) ถึงจะได้ความชัดเจนจากผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด ซึ่งหลังจากนั้นถึงจะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการถึงผลสรุปการรับฟังฯ ครั้งนี้
“ผมเข้าใจว่าเป็นการสร้างการตื่นตัว จากขบวนการความเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึง ผลกระทบที่เห็นอย่างชัดเจน
คือผมว่าจำนวนมันก็เป็นความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณา แต่ว่าสิ่งที่สผ. ต้องยึดหลัก คือว่าโครงการใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สผ. จำเป็นจะต้องเอาเข้ากระบวนการพิจารณาการทำ EIA หลักการมันคืออย่างนั้น
ประเด็นก็คือว่า การรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้มันมีมุมมองที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่โดยหลักการกำแพงการคลื่นมีผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อชายหาดและวิถีชุมชนซึ่ง พิสูจน์มาแล้วจากข้อเท็จจริง ทางเชิงพื้นที่และข้อมูลวิชาการ ดังนั้นมันชัดเจนแล้วแหละ ว่ากำแพงกันคลื่นควรจะต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะทำอย่างไรให้การประเมินผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมมันมีความรอบคอบมากขึ้น มันรัดกุมมากขึ้น มันทันท่วงที” อภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach for life ให้ความเห็น

คนร่วมหลักร้อย-15 วัน ?
“จริง ๆ จำนวนประมาณนี้ก็ถือว่าไม่มาก แต่บางฉบับก็มีที่คนแสดงความเห็นไม่ถึง 100 ซึ่งบางทีปัญหามันก็อยู่ที่ตัวการเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ได้มีกระบวนการสื่อสารกับภาคประชาชน โดยส่วนมากคนที่รู้ หรือเข้ามาแสดงความคิดเห็นก็มักจะอยู่ในวงแคบ เป็นคนที่ติดตามเรื่องนั้น ๆ อยู่แล้ว
ถ้าถามว่าเยอะไหม มันก็ไม่ได้เยอะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้น้อยมาก
(จำนวนผู้ร่วมแสดงความเห็นน้อย จะมีผลต่อผลการรับฟังฯ หรือไม่) โดยส่วนมากมักจะไม่มีการอ้างว่าน้อยหรือมาก ส่วนมากจะดูเรื่องข้อคิดเห็น แต่ข้อสำคัญที่รัฐมักจะอ้างเยอะก็คือว่า การรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ว่าหน่วยงานนั้นว่าอย่างไร แล้วก็เน้นความเห็นของหน่วยงานรัฐมากกว่าที่จะเอาความเห็นของภาคประชาชนไปประกอบกับการตัดสินใจสุดท้ายเท่าไหร่
ส่วนสำคัญคือข้อสรุปว่า ความเห็นของประชาชนที่นำไปประกอบ หรือนำไปประกอบแล้วไม่เห็นด้วยก็ไม่ถูกสื่อสารกลับมา” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์
“น่าจะมีมากกว่านี้ ถ้าเว็บไซต์ที่ให้แสดงความคิดเห็นใช้งานง่ายกว่านี้
ผมคิดว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทาง สผ ต่อเรื่องนี้ เราพยายามเรียกร้องการมีส่วนร่วม แต่ทาง สผ เขาบอกว่า โดยปกติเขารับฟังความคิดเห็นโดยใช้วิธีการแบบนี้อยู่แล้ว ปกติหลายๆอัน ก็ความคิดเห็นประมาณนี้ ไม่ได้เยอะมาก ซึ่งเราคิดว่าถ้าในอนาคตทาง สผ ควรพัฒนากระบวนการรับฟังความคิดเห็นให้มีความจริงจัง และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากกว่านี้
เพราะว่าเอาเข้าจริงๆการรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ที่เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ เขาก็เข้าไม่ถึง อย่างเช่นชาวประมง มันก็ยิ่งทำให้คนที่ได้รับผลกระทบ ก็ไม่สามารถที่จะแสดงตัวแสดงความคิดเห็นได้” ตัวแทนจาก Beach for life ให้ความเห็น

กระบวนการรับฟังที่เป็นอยู่ “ยังมีปัญหา” เสนอ “ที่ควรเป็น”
“เราคิดว่า 15 วันมันไม่ได้เป็นปัญหา แต่ว่ามันจะสร้างการตื่นตัว สร้างการรับรู้และการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างไรอันนี้สำคัญมากกว่าเงื่อนเวลา
แล้วรูปแบบก็คิดว่ายังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ การแค่ติดประกาศ แล้วก็ไม่ได้มีการทำความเข้าใจ เพราะว่าอันนี้ก็มาจากกระทรวงทรัพย์โดยตรง
ประเด็นนี้มันต่างจากอันอื่นก็แค่ว่า พอ Beach for life เป็นคนเสนอเครือข่าย beach for life ก็ตามมันก็เลยดูเป็นประเด็น แต่ถามว่าอย่างประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ ประเภทกิจการต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าครั้งนี้ด้วยซ้ำไป
อยู่ ๆ ก็ประกาศในเว็บของ สผ. มันไม่ได้มีกระบวนการในการสื่อสารมากพอ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาให้ความเห็นก็คือคนที่ตามจริง ๆ ลองนึงถึงว่าเราจะเข้าเพจ สผ. กันประจำไหม ภาคประชาชนทั่วไปก็คงไม่มานั่งเฝ้าเพจ สผ. เพื่อมาดูว่าเขารับฟังอะไรยังไง
เพราะฉะนั้นก็คิดว่าหลักการในการรับฟังความคิดเห็นก็มีปัญหา เพราะรัฐเองก็มักจะให้ความสำคัญกับหน่วยงานรัฐกันเองมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาจะจัดเวทีในการรับฟังความคิดเห็น หรือส่งเอกสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่คำถามสำคัญก็คือว่า ภาคประชาชนเองที่อาจจะได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลประโยชน์จากประกาศนั้น ๆ มันก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในการสื่อสาร เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเท่าไหร่
ซึ่งจริง ๆ ก็มีคำพูดจากภาคประชาชนบางส่วนเหมือนกันว่า ให้ความเห็นไปก็ไม่ถูกให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นในแต่ละเรื่อง พี่คิดว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมมันอาจจะหลากหลายกันไป อย่างเช่นเรื่อง ประเภทเรื่องกิจการการทำกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA ประเภทที่ต้องทำ EIA หรือไม่
ซึ่งในมุมของเราเคยเสนอว่า มันควรมีคณะกรรมการโดยตรงเรื่องนี้ แล้วก็ควรจะมีอย่างเช่น ไม่ใช่แค่ประเภท list ที่ประกาศ แล้วใช้อย่างถาวรอย่างเดียว ควรจะเป็นช่องทางว่าภาคประชาชนไหน ที่เห็นว่ากิจกรรมโครงการไหนที่อาจจะเกิดผลกระทบ ก็สามารถส่งเรื่องมาเพื่อที่จะให้คณะกรรมการพิจารณาตลอด ช่องการทบทวน
การพิจารณาเรื่องประเภทกิจการ EIA มันไม่ควรที่จะอยู่ในมือรัฐอย่างเดียว ที่จะเป็นผู้พิจารณา และเสนอประกาศ แต่ละประเภทกิจการโครงการภาคประชาชนเองก็ควรจะมีส่วนร่วนในการส่งเรื่องเข้าไป เพื่อให้พิจารณาได้ ดังนั้นประเภทกิจการที่มันจะก่อให้เกิดผลกระทบ ถ้ามันมาจากภาคประชาชนมันก็จะถูกทบทวนเป็นระยะ ๆ ไป
ซึ่งอันนี้ก็จะเป็น 2 ทาง รัฐเองก็จะคิดได้ ภาคประชาชนก็จะมีช่องในการเสนอได้ แล้วก็มีคณะกรรมการพิจารณาอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ คนที่จะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ หนึ่งเลยก็คือคนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกิจการโครงการ” ผู้จัดการ EnLAW กล่าว
“1. ยืนยัน โครงการกำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA เนื่องจาก โครงการกำแพงกันคลื่น เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเล ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล วิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง และกระทบต่อสิทธิชุมชนริมชายฝั่งอย่างร้ายแรง ไม่ว่ากำแพงกันคลื่นขนาดใดก็ตาม จึงขอแสดงจุดยืนว่า “กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA” เพื่อเป็นหลักประสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน
2. ขอให้แก้ไข ถ้อยคำว่า “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” ให้แก้ไขเป็น “กำแพงกันคลื่น” ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน โดยอิงตามหลักวิชาการ
3. ข้อให้แก้ไข นิยาม ในข้อที่ 1 ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยให้กำหนดนิยามเพียงแค่ “กำแพงกันคลื่น หมายถึง โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ที่วางขนานกับชายฝั่งทะเลและติดประชิดชายฝั่งทะเล” และนิยามอื่นๆ ที่ระบุไว้ในร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ขอให้นำออกจากร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ดังกล่าว” Beach for life และเครือข่ายประชาชน ประกาศจุดยืนระหว่างการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนของเครือข่ายฯ

หวัง สผ. “ยึดหลักการ-ไม่เตะถ่วง”
“(ผลการรับฟัง)ถือว่าเป็นความเห็นประกอบการพิจารณา แต่ว่าทางสผ.จะต้องยึดหลักการที่ว่า โครงการใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สผ. จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทำ EIA การรับฟังความคิดเห็นเป็นการทำให้เกิดความรอบคอบ
แต่กำแพงกันคลื่นที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อชายหาด และชุมชน ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้ว จึงเป็นที่ชัดเจนว่ากำแพงกันคลื่นต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย สผ. ก็มีรายงานจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้วว่า กำแพงกันเคลื่อนมีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
เราอยากให้ สผ. มีความจริงใจกับข้อเรียกของ Beach for life และเครือข่ายทวงคืนชายหาดในการทำกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องกลับมาทำ EIA และต้องถือหลักการสำคัญว่าโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชน ให้คนที่เขาได้รับผลกระทบ จากโครงการรัฐ สิทธิ์ที่จะคุ้มครองให้กับประชาชนรัฐจะต้องบัญญัติ
ถ้า สผ ไม่ออกกฎหมายเรื่องนี้นะ ทั้งๆที่ตัวเองมีรายงาน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ทางคชก ให้ความเห็นแล้วว่า กำแพงกันเคลื่อนมีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อันนี้ผมคิดว่าสผ. มีปัญหาแน่นอน แล้วสผ. จะเจอชาวบ้าน ไปประท้วงหน้ากระทรวงอีกแน่นอน เพราะว่ามันชัดเจนไงว่า มันมีผลกระทบแล้วคุณไม่ทำ แสดงว่าคุณกำลังสร้างกระบวนการปาหี่กับประชาชน” ตัวแทนจาก Beach for life กล่าว