“ยาสูบ–เกษตรริมโขง วิถีเศรษฐกิจคนริมโขง ที่ยังไม่ถูกนับในสมการ “การเยียวยา” โขงผันผวนจากการสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขงและน้ำสาขา” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (#คสข.) รายงานจากริมโขง เช้าวันนี้ (29 ม.ค. 2566)

ยาสูบริมโขง
“เมื่อวาน ไปสำรวจเกษตรริมโขงแถบนี้มา ยังคงพบผลผลิตที่หลากหลาย ทั้งพืชผัก ยาสูบ พริก ดาวเรือง
ปีนี้ ยาสูบแม้จะดูเหมือนราคาดีในต้นฤดู กก.ละ 150 บาท (ราคาต้นทุนเมื่อ4-5ที่แล้ว หากต่ำกว่า กก.ละ 90 บาท คือราคาขาดทุน) แต่ชาวบ้านริมโขงต.เวียงคุกบอกว่า ต้นทุนวิ่งเป็นเงาตามตัว ทั้งน้ำมัน แรงงาน ปุ๋ยเคมี แม้จะเป็นพืชที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่กระทรวงการคลังยังมีรายได้จากสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ยาเส้นริมโขง ยังคงเป็นสินค้าขายดี ส่งขายไปทั่วทุกมุมประเทศ ชาวบ้านแถบนี้ นอกจากปลูกส่งบริษัทแล้ว ยังหั่นซอยเอง แพคถุง ติดโลโก้ ส่งขายไกลถึงมาเลเซีย ผู้แปรรูป พ่อค้าคนกลางบางราย บ้างจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน บ้างบริษัท บ้าง หจก. สรรพสามิตควบคุมการผลิต เก็บภาษี ตั้งแต่การปลูก หั่นซอย และส่งขาย
ชาวบ้านริมโขงให้ข้อคิดเห็นว่า พืชยาสูบ แซงคิวรายได้พืชตัวอื่นๆ เนื่องจาก ไม่ยุ่งยากเท่า พริก พืชผัก อื่นๆ และสามารถเก็บไว้ขายในราคาดีได้ โดยไม่เน่าเสีย (หากไม่ตกเขียวกับนายทุนไว้ก่อน ซึ่งมีเกษตรกรที่ไม่พึ่งพาเงินทุนในการผลิตจากพ่อค้าคนกลาง มีเพียงไม่ถึง 5%ของเกษตรกรทั้งหมด) นับเป็นเกษตรฤดูแล้งที่สร้างรายได้พอสมควรในช่วงเดือนธค.-กพ.ของทุกปี
ยาเส้นมีหลายเกรด ขึ้นอยู่กับความเมาของใบ พันธุ์ แดด ดิน ปุ๋ย น้ำ มีผลต่อรสชาดของยาเส้น “ยาตีน“ คือใบต้นๆ ใบแรกๆ 1-3 ใบแรก เมาสุด แต่ราคาไม่แพงเท่ายาเส้นที่รสชาดกลางๆ พอดี ที่ชาวบ้านเรียก“ยากลาง” รสชาดประมาณ ยาสูบยี่ห้อกรองทิพย์ และยายอด คือยาสามใบสุดท้าย รสชาดจะอ่อนลงมาหน่อย
หลังปลูกเจริญเติบโต ชาวสวนจะเก็บใบมาบ่มในกระสอบ บางแห่งใช้ฟางข้าวรองพื้น ทำเป็นคอก พับใบเป็นกำๆ พอเหมาะที่จะพอดีมือสำหรับหั่นซอย บ่มให้ใบสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก่อนหั่นซอย หลังๆมาใช้เครื่องหั่นซอย ในสมัยโบราณ จะหั่นซอยด้วยมือ มีไม้ที่ชาวบ้านเรียก“หน้าม้า” มีมีดหั่นซอยเฉพาะ ศิลปะการหั่นซอยของแต่ละบ้าน จะเป็นหน้าเป็นตา เป็นเอกลักษณ์ ของสินค้า ของการซื้อขาย บ้านนั้นหั่นสวย ยาเส้นเล็ก บ้านนั้น หั่นอ้วน เส้นใหญ่ ไม่สวย พ่อค้าแม่ขายเลือกได้ ให้ราคาแตกต่างตามความงาม
การหั่นซอย ชาวสวนจะทำกันแต่เช้ามืดเพื่อให้ทันผึ่งแดด–ตากแดดในช่วงกลางวัน บางรายทำหลายสิบไร่ ก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีสองตีสามกันทีเดียว และยาเส้นที่หั่นซอยได้ จะตากบนกระแตะที่สานจากไม้ไผ่ ตากแดด 2 แดด/2 วัน ระหว่างวัน จะพลิกเพื่อตากให้แห้ง โดยใช้แรงงาน สองคน เพื่อจับกระแตะช่วยกัน
การบ่มให้เหลืองก่อนหั่นซอยจะใส่กระสอบบ่มก่อนบ่มจะเก็บใส่กระสอบมาวางเรียงๆกันใช้เศษผ้าห่มทับให้ร้อนหลังหั่นซอยตากสองแดดชาวสวนจะเก็บเป็นก้อนในช่วงหลังได้น้ำหมอกน้ำค้างที่ยาเส้นอ่อนตัวลงแพคถุงรอส่งขายให้เจ้าประจำไม่ง่ายนักกว่าจะได้เงินแต่ละบาทละสตางค์” อ้อมบุญ รายงาน
น้ำ-เกษตรริมโขง-การเยียวยา-โขงผันผวน
“วิถีริมโขงเหล่านี้ต่างมีมาเนิ่นนาน
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ในการเพาะปลูกพืชทุกชนิด ผิดที่ผิดทางมักส่งผลกระทบ ชาวบ้านยังคงต้องพึ่งตนเอง ในการนำน้ำขึ้นมาใช้ในแปลงเกษตรเสมอ เกาะ ดอน ที่ใช้ปลูกก็ยังคงเป็นประเด็น ส่วนใหญ่ไร้เอกสารสิทธิ์ บางแห่ง อบต.ดูแล บางแห่ง อบจ.ดูแล เวลาเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำผิดฤดู ชาวบ้านจึงแล้วแต่ชะตากรรม เพราะไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยา
ยังไม่รวมข้อพิพาท ที่เกิดขึ้นเนืองๆ ให้เห็นเสมอ ปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องเกาะดอนในแม่น้ำโขงมีให้เห็นแทบทุกพื้นที่ ยิ่งภายหลังมีเขื่อนในแม่น้ำโขง ยิ่งลุกลามก่อให้เกิดปัญหาร่องน้ำลึกเปลี่ยน ดินพังทะลาย ปัญหาอ่อนไหวเหล่านี้ ไร้การสำรวจและแก้ไขปัญหาจริงจัง ฝ่ายความมั่นคงควรต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
ดอนแตง ก็มีเรื่องราวเช่นว่านี้ การดูดทรายในสปป.ลาว ส่งผลกระทบต่อการหายไปของเนื้อดินบนเกาะ และกรณีเขื่อนกำลังเกิดเป็นดอกเห็ด กรณีเขื่อนสานะคาม หากกระแสน้ำขึ้นลงวันละ 1-4 เมตร เกาะดอนวิถีการผลิตของคนริมโขงจะเป็นเช่นไร
วันที่ 2-3 กพ.66 นี้ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา จะมารับฟังความเห็นกรณีเขื่อนสะนะคาม ที่จ.เลย และที่ อ.เชียงคาน จ.เลย อนุญาตให้ชาวบ้านจ.เลยเข้ารับฟัง ได้แต่สงสัยว่า เขื่อนสะนะคามที่ประชิดชายแดนไทยแค่ 1.5 กม. ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนจ.เลยเขื่อนกั้นน้ำทั้งสายมันกระทบไปหมด
การไม่สนับสนุน เอื้ออำนวยให้ผู้ได้รับผลกระทบ เข้าแสดงความเห็น เป็นการกีดกั้นการแสดงออกอย่างหนึ่ง ชาวบ้านไม่มีปัญญา จ่ายค่าน้ำมันรถไปเองหรอก หากหน่วยงานรัฐไม่สนับสนุน ได้แต่แจ้งข่าวกันในกลุ่มชาวบ้าน ว่าใครพอมีกำลัง ก็ไปกัน และไปเสนอให้หน่วยงาน จัดเวทีให้ครบทุกจังหวัด อย่าสักแต่ว่า ได้จัดแล้ว ได้ทำแล้ว
อยากบอกว่า เขื่อนจีน เขื่อนลาว เขื่อนไทยในลาว ล้วนส่งผลกระทบ หน่วยงานต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น พืชเศรษฐกิจหลากหลายนัก ที่เป็นวิถีริมโขง ถามว่า การใช้น้ำสำคัญอย่างไร ไปเก็บข้อมูลกันชัดๆ ไม่ใช่แค่เรื่องประมง” อ้อมบุญ รายงาน
หมายเหตุ :
ที่มาภาพ : Ladawan Sondak อร สีหาบุตร เสาวรัตน์ คำพิมพ์ #สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง7จังหวัดภาคอีสาน #ComNetMekong




