กรมโรงงานฯ ขยับ “ขีดเส้นตาย 31 ม.ค.” กรณีมหากาพย์มลพิษอุตสาหกรรม “แวกซ์ กาเบ็จ” ราชบุรี เผยหากบริษัทจัดการไม่ทัน กรมฯ จะจัดการกากอุตสาหกรรมเหล่านั้นเอง เล็งของบกลาง-ฟ้องคืนจากบริษัทภายหลัง
“ไม่จี้ ก็คงไม่คืบ – มีแนวโน้มบริษัทจัดการไม่ทันสิ้นเดือน – อธิบดีคนใหม่ ปัจจัยจะคืบไม่คืบแค่ไหน – ผลอุทธรณ์ 21 ก.พ. เรียกร้องเยียวยา” มูลนิธิบูรณะนิเวศเผย

กรมโรงงานขยับ “ขีดเส้นตาย 31 ม.ค.” แวกซ์ กาเบ็จ
“อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จุลพงษ์ ทวีศรี เปิดเผยล่าสุดว่า ทางกรมฯ มีแผนที่จะดำเนินการเองในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถขนย้ายของเสียออกให้แล้วเสร็จได้ภายในวันที่ 31 ม.ค. 66 หรืออีกราวหนึ่งสัปดาห์ ตามที่กำหนดไว้
โดยกรมวางแผนที่จะเข้ามาดำเนินการทจัดการกากอุตสาหกรรม และของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้าง ตลอดจนค้นหา และกำจัดแหล่งมลพิษที่ปนเปื้อนใต้ดิน ฟื้นฟูดิน น้ำใต้ดิน และสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงาน ซึ่งการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน สำหรับ 4 โครงการ วงเงิน 94.91 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว และของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในโรงงานและที่ดินของนายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล (กรรมการผู้จัดตั้งบริษัทฯ) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม วงเงินประมาณ 60.46 ล้านบาท
2. โครงการศึกษาฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล วงเงินประมาณ 30 ล้านบาท
3. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงาน โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) วงเงินประมาณ 2 ล้านบาท
4. โครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงาน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี วงเงินประมาณ 2.45 ล้านบาท
ระยะที่ 2 จะต้องมีการค้นหาและกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีการลักลอบฝังใต้ดินในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งมลพิษที่แพร่กระจายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม”
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เปิดเผยวานนี้ (27 ม.ค. 2566) ถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของการจัดการบำบัดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการจัดการขนย้ายกากอุตสาหกรรม

เล็งของบกลาง-กองทุนสิ่งแวดล้อม-ฟ้องเรียกจากบริษัทภายหลัง
“(กรม) จะใช้ข้อมูลจากการศึกษาสำรวจระยะที่ 1 มาประมาณค่าใช้จ่าย จากนั้นจึงจะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ภายหลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งสองระยะแล้ว ก็จะทำการฟ้องเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการโรงงาน และจะยกกรณีนี้เป็นตัวอย่าง หรือ ย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการประกอบกิจการ และไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชน” มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผย

ย้อนรอยมหากาพย์มลพิษอุตสาหกรรม “แวกซ์ กาเบ็จ”
จากความเดือดร้อนในพื้นที่-สู่คำพิพากษาศาล-2 ปีที่ไร้การดำเนินการ
“แวกซ์ กาเบ็จ” เป็นกิจการของ “บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด” ตั้งอยู่เลขที่ 54/1 ม.8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นโรงงานให้บริการด้านการกำจัดกากของเสียจากอุตสาหกรรม โดยนำมารีไซเคิล และให้บริการฝังกลบของเสียที่ไม่อันตราย
ตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ในชื่อเดิม “บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด” ซึ่งได้รับใบบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเมื่อ 3 ตุลาคม 2543 เพื่อประกอบกิจการผลิตสีทาบ้าน น้ำมันทาแบบ อัดเศษกระดาษ อัดเม็ดพลาสติก ซ่อมถังน้ำมัน และถังอื่นๆ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด” ในปี 2546
ที่ตั้ง “แวกซ์ กาเบ็จ” เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง ต. รางบัว อ. จอมบึง จ. ราชบุรี และ ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรีโดยบริเวณรอบ ๆ โรงงานประกอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน และบริเวณด้านทิศตะวันออกของที่ตั้งโรงงานอยู่ชิดกับ “ห้วยน้ำพุ” ลำน้ำสายหลักที่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้อุปโภคบริโภค และประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเริ่มประสบปัญหาได้รับกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากสารเคมี จากการดำเนินงานของโรงงานมาตั้งแต่ปี 2544 โดยชาวบ้านยังกังวลด้วยว่าอาจจะมีสารเคมีหลุดมาปนเปื้อนกับแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ จึงมีการร้องเรียนต่อหน่วยงานมาเรื่อย ๆ แต่ว่าปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข
จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษพบว่าบ่อน้ำบาดาลของชาวบ้านพบว่ามีสารอินทรีย์ระเหยง่าย และโลหะหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ขณะเดียวกันผลจากการศึกษาทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) ก็ยืนยันว่า น้ำดังกล่าวได้ไหลมาจากบริเวณภายในโรงงานไปยังแหล่งน้ำ คือห้วยน้ำพุ และพื้นที่ของประชาชน
30 พ.ย. 2559 กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบน้ำผิวดินจากห้วยน้ำพุ และน้ำซับในพื้นที่ของประชาชนบริเวณใกล้เคียงโรงงาน พบว่ามีการปนเปื้อนจริง และสรุปได้ว่ามีการแพร่กระจายของมลพิษจากโรงงานออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้กับ “ห้วยน้ำพุ” แหล่งน้ำสาธารณะที่สำคัญของชุมชน ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีอย่างรุนแรง ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้ นอกจากนี้ พืชผลทางการเกษตรยังเกิดความเสียหาย และล้มตายเป็นพื้นที่วงกว้าง ส่งผลให้คนในชุมชนสูญเสียรายได้ บางรายถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ชาวบ้านจึงตัดสินใจฟ้องศาล
11 เม.ย. 2560 ตัวแทนชุมชนตำบลน้ำพุ 3 คน และทนายความได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งแผนกสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประชาชนทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งออกเป็น
- ค่ารักษาพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยจากการสูดดมกลิ่นเหม็นของสารเคมี
- ค่าเสื่อมสุขภาพร่างกายอนามัย
- ค่าชดเชยสำหรับผลผลิต และทรัพย์สินที่เสียหาย
- ค่าขาดประโยชน์จากการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ
- ค่าถูกละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม รวมเป็นเงิน 500 ล้านบาท
หลังผ่านไป 3 ปี 24 ธ.ค. 2563 ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตัดสินว่า จำเลยที่ 1 บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ เป็นผู้ก่อมลพิษ และสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านจริง โดยตัดสินให้บริษัท และจำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ จ่ายเงินชดเชยให้กับ ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ประมาณ 1,000 คน 140 ครัวเรือน
โดยแบ่งเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่อาศัยในพื้นที่แต่ตรวจเลือดแล้วไม่เจอสารโลหะหนัก รายละ 5,000 บาท
2.กลุ่มที่ตรวจพบสารโลหะหนักแต่ยังอยู่ในเกณฑ์รายละ 10,000 บาท
3.กลุ่มที่ตรวจพบสารโลหะหนักเกินเกณฑ์ที่กำหนด รายละ 15,000 บาท
โดยจ่ายตั้งแต่ปี 2559 -2565 และยังมีค่าเสียหายต่ออนามัยสำหรับกลุ่มที่ตรวจพบสารโลหะหนักเกินเกณฑ์รายละ 30,000-100,000 บาท ค่าเสียหายต่ออาชีพเกษตรกรรม และได้สั่งให้จำเลยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมด้วย
ถึงแม้ว่าศาลจะตัดสินให้ชาวบ้านชนะ แต่ว่าหลังจากผ่านไป 2 ปี คำสั่งศาลยังไม่ถูกดำเนินการ ชาวบ้านยังไม่ได้รับค่าชดเชย การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมก็ยังไม่ได้ดำเนินการ กากอุตสาหกรรมอันตรายก็ยังถูกเก็บอยู่ในโรงงาน นอกจากนั้นยังไม่มีการเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีมาตรการควบคุมการเคลื่อนไหวภายในโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม จากการละเลยนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ภายในโรงงานเมื่อ 16 มิ.ย. 2565 (ล่าสุดเมื่อ 26 ม.ค. 2566 ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการวางเพลิง) ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในบริเวณรอบ ๆ มากขึ้น จากการฉีดน้ำดับเพลิง เนื่องจากบริษัทไม่มีระบบ และแนวป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษสู่ภายนอกโรงงานจากเพลิงไหม้ และน้ำท่วม โดยได้มีการเริ่มขนย้ายกากของเสียอันตรายจากโรงงานเมื่อ 18 ก.ค. 2565 หรือประมาณ 1 เดือนหลังจากเกิดเพลิงไหม้ โดยเริ่มจากจุดที่เกิดเพลิงไหม้ก่อน
จากความล่าช้าด้านการเยียวทำให้ ชาวบ้านจาก ต.น้ำพุ เดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อ 17 ต.ค. 2565 เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงทำหน้าที่เร่งจัดการขนย้ายกากสารพิษ และขอให้กรมบังคับคดีดำเนินการให้บริษัททำตามคำสั่งศาล
รองอธิบดีกรมบังคับคดี เสกสรรค์ สุขแสง ที่มาพูดคุยกับชาวบ้านในวันนั้นจึงกล่าวว่า จะมอบหมายเจ้าหน้าที่ติดตามกรณีนี้โดยเฉพาะ และจะพิจารณารายชื่อผู้จะได้รับการเยียวยาให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ต.ค. 2565
ด้านอธิบดีกรมโรงงานฯ รับปากว่าจะประสานกับหน่วยงานข้างเคียงลงมาดูพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเสียหายแต่ไม่สามารถระบุกรอบระยะเวลาได้

“ไม่จี้ ก็คงไม่คืบ” มูลนิธิบูรณะนิเวศ
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ติดตามประเด็นปัญหาผลกระทบจากบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ มานาน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่ครั้งล่าสุดนี้มาจากการเรียกร้องที่ต่อสู้กันมานาน และถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งศาลตัดสินให้บริษัทต้องชดเชยเยียวยา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแล้วแต่ทางบริษัทก็ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
“ถ้าชาวบ้านไม่รวมตัวกันไปยื่นหนังสือเพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทางกรมโรงงานฯ ก็คงจะไม่มีการขยับเช่นกัน
ตั้งแต่ศาลตัดสินบริษัทไม่ได้มีการดำเนินการทำอะไรเลย แล้วถ้าหากชาวบ้านไม่กดดันต่อ ไม่ติดตามผลักดันต่อแม้แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็แทบจะไม่ทำอะไรเลยเหมือนกัน” เพ็ญโฉม ให้สัมภาษณ์
ด้านความเคลื่อนไหวล่าสุดเพ็ญโฉมกล่าวว่า หลังจากได้มีการคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังกับอธิบดีกรมโรงงานคนใหม่ (จุลพงษ์ ทวีศรี) ทางอธิบดีก็รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน แล้วก็ลงมาดูพื้นที่ เสร็จแล้วก็ได้มีการคุยกับกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สุดท้ายได้มีการประชุมคณะทำงานที่ก็สรุปกันว่า มันต้องมีการฟื้นฟูอย่างจริงจัง
แต่ปัญหาหนึ่งก็คือ ทางกรมโรงงานฯ แจ้งว่า กรณีปัญหาพวกนี้กรมโรงงานฯ ไม่เคยมีงบประมาณในการฟื้นฟู จะใช้งบจากกองทุนสิ่งแวดล้อมก็ลำบากมาก มีการพยายามกันแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งสุดท้ายทางออกก็คือกรมโรงงานฯ ทำเรื่องเสนอขอใช้งบประมาณกลางของรัฐบาลมาฟื้นฟูบำบัด
แต่ในระหว่างที่รอสำนักงานงบประมาณอนุมัติ กรมโรงงานฯ ได้ยื่นคำสั่งให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ขนย้ายกากอุตสาหกรรมที่เก็บอยู่ในอาคารต่าง ๆ ไปกำจัดให้ถูกต้องให้หมด ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2566” เพ็ญโฉมกล่าว

มีแนวโน้ม บริษัทจัดการไม่ทันสิ้นเดือน
“จากการประชุมผลความคืบหน้าเมื่อ 25 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการขนย้าย และกำจัดกากอุตสาหกรรมภายในโรงงานได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถกำจัดได้หมด ทางกรมโรงงานฯ จะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการด้วยตัวเอง และจะฟ้องเรียกค่าชดเชยคืนจากบริษัทฯ ในภายหลัง
แต่ก็ต้องจับตาด้วยว่า 1 ก.พ. กรมโรงงานฯ ที่บอกว่าจะเข้ามาดำเนินการขนย้ายกากออกไปทั้งหมด ให้ปลอดภัยสำหรับพื้นที่ รวมถึงการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนด้วย จะมีแผนการในการดำเนินการอย่างไร และจะสามารถทำได้หรือไม่” เพ็ญโฉมกล่าว

“อธิบดีคนใหม่” ปัจจัย “จะคืบ-ไม่คืบแค่ไหน”
“ทั้งบริษัท และทั้งกรมโรงงานฯ ก็เพิ่งมาเคลื่อนไหวเมื่อชาวบ้านไปยื่นจดหมายเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา เรายื่นข้อเรียกร้องจริงจังเลยว่าต้องมีการจัดการในเรื่องนี้ ซึ่งพอดีก็เป็นช่วงเปลี่ยนอธิบดีคนใหม่ด้วย
ถ้าฟังจากคำพูดของอธิบดีคนปัจจุบันบอกว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับไว้ว่าอยากให้อธิบดีคนใหม่ เข้ามาแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และปัญหาต่าง ๆ ที่คาราคาซังของกรมโรงงาน ที่จริงที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นปัญหามาก ที่ไม่ดำเนินการอะไรเลย
คงต้องตามดูว่าอธิบดีคนใหม่ จะแก้ปัญหาได้มากแค่ไหน และยังไง ซึ่งอธิบดีคนปัจจุบันบอกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุดในสมัยที่เขาเป็นอธิบดีอยู่
ซึ่งจริง ๆ แล้วเราโอเคกับแนวทางล่าสุดของกรมโรงงานฯ แต่อยู่ที่ว่าจะลงมือเมื่อไหร่ จะลงมือทำจริงไหม” เพ็ญโฉมให้ความเห็น

เตรียมอุทธรณ์ 21 ก.พ. “เรียกร้องเยียวยา”
“สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของค่าเยียวยาของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ สัปดาห์หน้ากรมบังคับคดีจะมีการประกาศรายชื่อของผู้ที่จะได้รับสิทธิเยียวยา ตามเรื่องขอบเขตทางสุขภาพ หลังจากศาลตัดสินไปแล้วกว่า 2 ปี (ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาจากทางบริษัทเลย แม้จะผ่านไปกว่า 2 ปี)
มีอีกเรื่องหนึ่งที่เรารอดูอยู่คือ 21 ก.พ. 2566 ศาลจะมีการตัดสินคดีแวกซ์ กาเบ็จอีกทีที่ศาลกรุงเทพฯ รัชดา เนื่องจากว่าบริษัทยื่นอุทธรณ์ ซึ่งในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ยื่นอุทธรณ์ด้วย โดยชาวบ้านยื่นอุทธรณ์เรื่องค่าเยียวยาโดยเฉพาะด้านพืชผลทางการเกษตรที่ศาลพิพากษาให้ในจำนวนที่น้อยมาก
เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันให้กรมโรงงานฯ ทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้สำเร็จ และทำการฟ้องเรียกค่าดำเนินการจากบริษัทให้ได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
ตอนนี้เราก็ต้องผลักดันให้กรมโรงงานฯ ทำเรื่องนี้ให้ได้ เพราะว่าคำตัดสินของศาลพูดว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการฟื้นฟู ซึ่งถ้าไปดูตามกฎหมาย กฎกระทรวงเรื่องที่กำหนดแบ่งส่วนงานราชการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ฟื้นฟู ซึ่งกฎหมายก็ระบุว่ากรมโรงงานฯ มีหน้าที่ในการที่ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมด้วย” เพ็ญโฉมกล่าว