Green Special Report
โดย วรรณา แต้มทอง
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา สถานการณ์เหมืองแร่ในไทยมีสิ่งที่ต้องจับตา หลังพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เห็นชอบให้ “แผนแม่บทแร่ฉบับใหม่” หรือ “(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)” มีผลประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ทดแทน “แผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 1 (แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564)” ที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565[1]
แผนแม่บทแร่ฉบับใหม่นี้ มีวิธีการคำนวณหาพื้นที่การทำเหมืองที่แตกต่างจากแผนแม่บทแร่เดิม ซึ่งหากคำนวณตามวิธีการของแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 2 เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในประเทศไทยจะขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านไร่ จากเดิมที่สูตรหาพื้นที่การทำเหมืองของแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 1 มีเพียง 1.59 ล้านไร่ ทำให้ใน พ.ศ.2566 – 2570 ภายใต้นโยบายการบริหารจัดการแร่ตามแผนแม่บทแร่ฉบับใหม่นี้ ประเทศไทยสามารถมีพื้นที่การทำเหมืองใหม่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
แล้วคนเหมืองเก่าอยากจะบอกอะไรกับคนเหมืองใหม่บ้าง หากวันหนึ่งมีเหมืองไปตั้งอยู่หน้าบ้านคุณ ชีวิตของคุณและคนในชุมชนจะเปลี่ยนไปเช่นไร

ชีวิตบนที่ดินเค็ม : เหมืองแร่โปแตช ด่านขุนทด
สุปราณี ทองอุไร ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เล่าถึงพื้นที่บ้านเกิดของตนเองที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ก่อนมีเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด เข้ามาตั้งในพื้นที่ให้ฟังว่า “หมู่บ้านของเราอุดมสมบูรณ์มาก” ฤดูกาลทำนา ทำไร่ ได้ผลผลิตจำนวนมาก จนกระทั่งปี 2558 เหมืองเริ่มเข้ามา “เขาขุดเจาะ ทำโครงการก่อนที่จะได้สัมปทานด้วยซ้ำ”
ในปีแรกๆ ที่เหมืองเข้ามาชาวบ้านยังคงเพาะปลูกกันได้ แต่ปัญหาเริ่มมาเกิดในปี 2562 ที่เหมืองขุดเจาะลงไปในอุโมงค์ใต้ดินแล้วน้ำท่วมดันตาน้ำผุดขึ้นตามไร่นาของชาวบ้านรอบเหมือง “ตั้งแต่ปีนั้นมา บางบ้านทำนาปลูกข้าวไม่ได้เลย ผลผลิตลดลงไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำไม่ได้เลย บางบ้านรถไถไม่สามารถลงไถได้”
“มันผิดตรงที่เขาขอสัมปทานแร่โปแตช แต่ทำไมเอาเกลือไปหมด” สุปราณี กล่าว
สุปราณีตั้งข้อสังเกตจากการมีโรงงานต้มเกลือของบริษัทว่า โปแตชอยู่ในชั้นใต้ดินที่ต้องขุดลึกลงไป ซึ่งจะต้องเจอชั้นเกลือก่อน และเป็นความบังเอิญที่ด่านขุนทดมีเกลือจำนวนมาก เหมืองจึงเอาเกลือไปขายด้วย สุปราณีตั้งคำถามว่า
“ถ้าคุณจะเอาโปแตช ทำไมไม่เอาแต่โปแตช ทำไมคุณต้องเอาเกลือด้วย แล้วเอาเกลือมาต้ม มาปล่อยน้ำเข้าสู่ไร่นาประชาชน ทำให้ดินเค็ม มันไม่ถูกต้อง” สุปราณี กล่าว
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และหน่วยงานต่างๆ เองก็ได้เข้ามาตรวจในพื้นที่ “แต่รู้สึกว่าเขาพูดเป็นปากเป็นเสียงให้เหมืองอย่างเดียวเลย บอกให้ประชาชนยอมรับเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ แต่เขาไม่ใช่คนอยู่ในชุมชน ไม่ใช่คนเสียหาย แล้วมาบอกให้ประชาชนยอมรับ ทั้งๆ ที่เราอยู่มาไม่เคยเป็นแบบนี้”
ก่อนที่จะเริ่มทำเหมือง แม้จะมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่สุปราณีมองว่า เป็นการทำ EIA ที่มีข้อครหา ผู้นำชุมชนมีการเลือกประชาชนเข้าไปร่วมประชุมประกอบการทำ EIA
“ชาวบ้านมาบอกพี่ว่าเขาไปประชุมแล้วได้เงิน 300 คนไหนที่ไปประชุมก็จะได้ 300 ได้ปุ๋ยหมัก เราเคยถามคนที่ไปเข้าประชุมว่า ไปทำไม เขาก็บอกว่า ไม่ไปได้ไง ผู้นำชวนก็ต้องไปตามผู้นำ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีผลกระทบต่อการทำการเกษตร ในที่ประชุมเขาบอกแต่ข้อดีของเขา (เหมือง) ทุกอย่าง ไม่บอกข้อเสียเลย และสัญญาจะให้พื้นที่ตรงนี้ได้ใช้ปุ๋ยถูก ลูกหลานไม่ต้องไปทำงานไกลถึงกรุงเทพ ทำงานที่เหมือง จะได้ดูแลพ่อแม่” สุปราณี กล่าว
สุปราณีกล่าวว่า แม้จะมีคนในชุมชนบางส่วนได้ทำงานกับเหมืองจริง แต่สุดท้ายปุ๋ยก็ยังคงราคา 1,500 บาทเท่าเดิม “หมู่บ้านแถวนี้น่าสงสารมากนะ เขาไม่มีไร่ ไม่มีนา ที่จะทำแล้ว ต่อให้เสนอให้ปุ๋ยฟรี ก็ไม่มีที่จะใส่ปุ๋ยแล้ว” และคนที่คัดค้านเหมืองก็มักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนในการทำการเกษตร
นอกจากนี้ ที่ด่านขุนทด หากมีการเลือกพื้นที่ทำเหมืองแล้วมีชาวบ้านชุมนุมประท้วง ทางเหมืองจะใช้วิธีเข้าหาชาวบ้านผ่านผู้นำชุมชนซึ่งเข้าเป็น “มวลชนสัมพันธ์เหมือง” มาเจรจากับชาวบ้านให้ความช่วยเหลือหรือเงินชดเชยจากกรณีที่ที่ดินเสียหายโดยเฉพาะในช่วงปี 2562 ที่เกิดปัญหาดินเค็มและการปล่อยน้ำเข้านาชาวบ้าน นอกจากนี้สุปราณีเล่าว่า การข่มขู่คุกคามฝ่ายที่ต่อต้านเหมืองยังมาจากกลุ่มมวลชนสัมพันธ์เหมืองซึ่งเป็นผู้นำชุมชนเสียเอง เช่น การขับรถไปจอดหน้าบ้านแกนนำ เพื่อดูว่าทำอะไรอยู่ ซึ่งเธอเองก็เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้มีการรวมตัวกันที่หน้าเหมือง เพื่อประท้วงเหมืองที่ทำ “ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาของประชาชน” สุปราณีกล่าวว่าที่เลือกใช้ข้อความดังกล่าวก็เพราะเหมืองไม่เห็นแก่ความเสียหายที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับ เมื่อชาวบ้านเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับถูกต่อว่าเป็นขอทาน
“มาขออย่างกับมาขอทาน ทั้งที่เขา (ชาวบ้าน) เป็นผู้เสียหาย แล้วเหมืองเป็นผู้กระทำให้เขาเสียหาย แต่กลับใช้คนพูดเหยียบย่ำประชาชน ประชาชนทำไร่ทำสวนไม่ได้” สุปราณี กล่าว
ดินเค็มเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านด่านขุนทดไม่เคยเจอมาก่อนที่จะมีเหมือง สุปราณีเล่าว่าเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมมาตรวจในพื้นที่ และแจ้งว่าค่าความเค็มของดินที่ด่านขุนทดเค็มยิ่งกว่าน้ำทะเล 2 เท่า บางจุดเกินพิกัดที่เครื่องจะวัดค่าได้ พื้นที่ใกล้เหมืองมีการปูกระเบี้องเกลือในแบบที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นมาก่อน สุปราณีเคยถามเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมที่เข้ามาตรวจในพื้นที่ถึงระยะเวลาในการฟื้นฟู และได้คำตอบว่า “ถ้าเป็นแบบนี้ 100 ปี จะฟื้นฟูได้ไหม เขาใช้คำพูดแบบนี้”
ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูก ปีที่แล้วสุปราณีตัดสินใจรื้อยุ้งข้าวที่เคยมีสองหลังออก เนื่องจากข้าวที่เธอปลูกไว้ตายหมด ไม่ได้ผลผลิต การมองเห็นยุ้งข้าวที่ไม่มีข้าวเปลือกจะใส่ทำให้สุปราณีเจ็บใจจนต้องรื้อยุ้งข้าวออกไป นับเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เห็นได้ชัดในครอบครัวของสุปราณี
ชาวบ้านบางคนตัดสินใจยอมขายที่ดินของตนให้เหมือง แต่เหมืองก็รับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น “ที่ดินเรามูลค่าเยอะกว่านั้นแน่นอน แต่เขาซื้อแค่ 60,000 – 70,000 บาท ถ้าเราขายแล้ว เราไม่สามารถจะซื้อที่ไหนได้ ไม่สามารถไปตั้งถิ่นฐานที่ใหม่ได้ มีแต่จะแย่ลง” สุปราณีกล่าวว่าเหมืองเอาเปรียบชาวบ้านทุกทาง
การประกาศใช้แผนแม่บทแร่ฉบับใหม่สร้างความกังวลให้กับคนที่มีเหมืองอยู่ในหมู่บ้านอย่างสุปราณีไม่น้อย เพราะภายใต้แผนแม่แร่ฉบับแรกที่ประกาศใช้เธอและชุมชนยังอยู่ยากขนาดนี้ รัฐบาลไม่ควรมองแค่เพียงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประชาชนด้วย ประชาชนที่เขาอยู่ในพื้นที่ใกล้เหมืองมีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง
“ทุกวันนี้เราเสียหายมามากพอแล้ว เสียหายทั้งทรัพย์สิน ต้นไม้ ที่ดิน สัตว์เลี้ยง เสียทุกอย่าง วัฏจักรในดินเสียหมดแล้ว” สุปราณี กล่าว
หากจะบอกอะไรสักอย่างกับคนเหมืองใหม่ สุปราณีอยากบอกว่า
“ถ้ามีการก่อตั้งหรือทำเหมืองใหม่ เราอย่าคิดว่าเขาจะมาทำเพื่อให้เราอยู่สบาย ไม่ต้องลำบากไปทำงานที่อื่น เขาจะนำแต่ความสูญเสีย ความเสียหาย ความชิบหายมาให้เรา อยากจะเตือนพี่น้องทุกคนถ้าเกิดที่ไหนจะมีการทำประชาคมให้มีเหมืองเกิดขึ้น ขอเตือน ห้ามไม่ให้มีการตั้งเหมืองเกิดขึ้น ตอนอยากเข้ามาทำเขาก็บอกทุกอย่างดีหมด แต่ตอนเสียหายเขาจะไม่รู้ไม่ชี้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เสียหายทุกราย ยิ่งมีเหมืองตรงไหน ยิ่งเดือดร้อน” สุปราณี กล่าว

ชีวิตที่ถูกฟ้อง 64 ล้าน : เหมืองหินเขาคูหา
“บริษัทเหมืองฟ้องพวกเรา เรียกค่าเสียหาย 64 ล้าน”
สุวรรณ อ่อนรักษ์ หรือ ครูนุ้ย หนึ่งในสมาชิกสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยต่อสู้คดีกับบริษัทเจ้าของสัมปทานเหมืองหินปูน “เขาคูหา” อ.รัตภูมิ จ.สงขลา หลังชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการต่ออายุประทานบัตรระเบิดหินของเหมือง
จริงๆ แล้วคนที่ต่อต้านเหมืองเป็นคนส่วนน้อยในชุมชน ครูนุ้ยเล่าว่า คนกลุ่มใหญ่ของชุมชนคือคนที่รู้สึกรักและหวงแหนภูเขาลูกนั้น แต่เป็นกลุ่มคนเฉยๆ ที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว
ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เหมืองหินปูน “เขาคูหา” อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B ในพื้นที่ 2 แปลง หลังถูกประกาศเป็นแหล่งหิน บริษัทเหมืองได้สัมปทานครั้งแรกในปี 2542 หมดอายุสัมปทานปี 2552 ขณะที่อีกแปลงหนึ่งได้สัมปทานในปี 2543 หมดอายุสัมปทาน 2553 ซึ่งทางเหมืองสามารถขอต่ออายุสัมปทานได้อีกครั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี ในระหว่างรอยต่อนี้เองที่ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันคัดค้านการขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองใหม่
“ปัญหาเดิมที่เหมืองระเบิดหินอยู่ที่เขาคูหา ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่ว่าเรื่องฝุ่น เสียง ผลกระทบต่ออาชีพและสิ่งแวดล้อม สายน้ำที่ลอดใต้ภูเขาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ชาวบ้านเดือดร้อนจนทนไม่ได้” ครูนุ้ย กล่าว
หินที่ระเบิดจากเขาคูหาจะถูกส่งไปขายที่อินเดีย ซึ่งทำให้จำเป็นต้องขนถ่ายหินออกไปยังท่าเรือที่สงขลาให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจอดเรือเทียบท่า
“บางครั้งมาตรฐานการระเบิดหินอนุญาตแค่นี้ เหมืองก็เลยระเบิดเต็มที่ ทั้งวันทั้งคืน ใช้รถแม็คโครขึ้นไปอยู่บนเขาขุดคุ้ยหินทั้งวันทั้งคืน เสียงดัง ฝุ่นก็เต็ม คนส่วนใหญ่ในรอบๆ พื้นที่เหมือง จะเป็นโรคทางเดินหายใจ” ครูนุ้ย กล่าว
ครูนุ้ยกล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องคัดค้านสาเหตุหนึ่งก็เพื่อต้องการให้เหมืองหยุดระเบิด และทบทวนปัญหาเก่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อนที่จะต่ออายุสัมปทานใหม่ ชาวบ้านทั้งเข้าไปพูดคุยกับเหมืองและทำหนังสือยื่นต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหยุดยั้งการให้อนุญาตต่ออายุประทานบัตร
การต่อต้านคัดค้านในครั้งนั้นเป็นเหตุให้แกนนำชาวบ้านถูกบริษัทเหมืองใช้กฎหมายฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 64 ล้านบาท จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหา จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ ซึ่งชาวบ้านใช้วิธีการฟ้องกลับเหมืองเช่นกัน ชาวบ้านรวมตัวกันฟ้องกลับเหมืองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบที่ได้รับจากการระเบิดหินที่ส่งผลให้บ้านเรือนแตกร้าว ค่าเสียหายทางจิตใจ และค่าเสียหายทางสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น
แม้ว่าศาลจะตีความว่าฝุ่นส่งผลกระทบเพียงทำให้บ้านเรือนสกปรก ไม่คิดเป็นค่าเสียหายต่อสุขภาพ แต่ศาลก็ตัดสินให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบชนะคดี ทำให้เหมืองต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินและจิตใจให้แก่ผู้ฟ้องคดี แม้จะเป็นชัยชนะในคดี แต่ชาวบ้านก็ได้รับเพียงแผ่นกระดาษคำพิพากษาเป็นเครื่องยืนยัน
“สุดท้ายเราได้แต่ตัวเลข บริษัทขายทรัพย์สินไปก่อนที่ศาลจะสั่งให้ชดใช้ให้เรา คนละ 60,000 บาท ปัจจุบันก็ยังไม่ได้” ครูนุ้ย กล่าว
ครูนุ้ยเล่าว่า แกนนำหลายคนยังต้องเผชิญกับการข่มขู่ทางกายภาพ นอกเหนือจากการใช้กฎหมายอีก เช่น การโทรข่มขู่ , ส่งมือปืนมาติดตาม ฯลฯ
หลังเหมืองไม่สามารถต่ออายุประทานบัตรเหมืองใหม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านฟ้องศาลปกครองเพื่อหยุดเหมืองหินไว้ สิ่งแวดล้อมในชุมชนก็เริ่มฟื้นตัว กุ้งนา ปลาน้ำจืดกลับมาเยอะขึ้น พื้นที่รอบๆ เขาคูหามีชาวบ้านกลับมาอยู่อาศัย และมีการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหายังได้มีการรวบรวมเงินกันในกลุ่มซื้อที่ดิน 4 ไร่บริเวณใกล้กับเขาคูหาไว้เพื่อทำเป็นแหล่งเรียนรู้
แต่ชาวบ้านก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากเขาคูหายังคงถูกระบุให้เป็น “แหล่งหิน” อยู่
จากการต่อสู้ในประเด็นเรื่องเหมืองมากว่า 15 ปี ครูนุ้ยถอดบทเรียนได้ว่า หนึ่ง การประกาศแหล่งหินหรือแหล่งแร่ ควรให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการกำหนดชะตากรรมในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ใช่การกำหนดโดยคณะกรรมการแร่และจัดทำแผนแม่บทมาประกาศใช้ สอง กลไกของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ควรเปิดกว้างในเรื่องของการมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ต้องสามารถหยุดหรือยับยั้งพื้นที่เหมืองที่มีปัญหาได้ สาม การทำเหมืองหินต้องมีจัดทำการประเมินผลกกระทบที่มากกว่าเพียงแค่ EIA เช่น การประเมินผลกกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA (Community Health Impact Assessment) โดยชุมชน เนื่องจากชาวบ้านเขาคูหาเคยตรวจสอบพบการลงรายมือชื่อปลอมใน EIA ภายหลังจากที่มีการจัดทำ EIA ออกมา ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงกลไกก่อนการเกิดขึ้นของเหมืองให้รัดกุมหรือมีการนำเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้
หากสามารถบอกคนเหมืองใหม่ผ่านประสบการณ์ชีวิตจากคนเหมืองเก่าได้ ครูนุ้ยอยากบอกว่า
“หนึ่ง ให้พึงระวังไว้เลยว่า สิ่งที่จะต้องเจอคือความอึดอัด หนักใจ และทรมานใจจนกว่าเหมืองจะหมดอายุสัมปทาน ซึ่งการหมดอายุสัมปทานหมายถึงจนกว่าภูเขาลูกนั้นจะหมด แร่จะหมด สอง ผลกระทบทางกายภาพ ฝุ่น บ้านเรือนแตกร้าว วิถีชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปเลย ความเป็นญาติพี่น้องจะหายไป เพราะว่ากลุ่มทุนจะมาสร้างความขัดแย้ง ถ้าตรงไหนที่ถูกประกาศเป็นแหล่งแร่หรือพื้นที่ทำเหมือง พอมีปัญหาหยุดยาก ทุกพื้นที่ที่เราเจอมารัฐไม่เอากฎหมายตัวไหนไปจัดการ แม้แต่จะสั่งยกเลิกการระเบิดหิน การทำเหมืองแร่เลย นี่คือสิ่งที่ต้องเจอแน่นอน
ถ้าจะออกมาสู้ สู้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีเหมือง พอไปสู้ตอนที่มันเกิดขึ้นแล้วเท่ากับสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจนายทุน อำนาจเงิน และอิทธิพลมืด
เราสู้ตอนนี้ เราสู้กับอำนาจรัฐอย่างเดียว ก็คือคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ที่จะหยุดเรื่องนี้ได้ ช่วยกันปกป้อง ยับยั้ง ทบทวนใหม่” ครูนุ้ย กล่าว

ชีวิตเยาวชนกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ : เหมืองแร่อมก๋อย
“ชาวบ้านรู้แค่ว่าหมู่บ้านเรามีเหมือง เขาจะมาเมื่อไหร่ ทำ EIA อย่างไร เราไม่รู้ รู้แค่ว่ามีคนมาซื้อที่”
คำบอกเล่าตรงไปตรงมาจากดวงแก้ว – พรชิตา ฟ้าประทานไพร วัย 22 ปี เด็กผู้หญิงจากหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ “กะเบอะดิน” ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ดวงแก้วและคนในหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ เธอเกิดและเติบโตที่กะเบอะดิน หลังเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนในตัวอำเภอดวงแก้วเลือกที่จะกลับมาช่วยครอบครัวทำทำสวนมะเขือเทศ คนในกะเบอะดินส่วนใหญ่จะปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และพริกหยวกไว้ขาย
ดวงแก้วเล่าถึงลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของกะเบอะดินคือ คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านไม่นิยมเดินทางลงไปทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่หรือที่อื่น “หมู่บ้านกะเบอะดินไม่ค่อยมี แต่หมู่บ้านอื่นมีเยอะมาก คนในหมู่บ้านถ้าลงไปผู้ชายจะไปทำงานสวนลำไย ผู้หญิงก็จะไปดูแลผู้สูงอายุ ดูแลเด็ก เป็นรายเดือน อยู่กับเจ้าของบ้านเลย เขาไปแล้วเขาก็อยู่ได้ไม่นาน เขาไม่ชอบ”
เหมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวกะเบอะดิน มีข่าวลือว่าเหมืองจะเข้ามาตั้งในหมู่บ้านตั้งแต่สมัยพ่อของดวงแก้วเป็นเด็ก ตอนนั้นชาวบ้านยังนึกภาพเหมืองที่จะเข้ามาตั้งในหมู่บ้านไม่ออก ถ่านหินเป็นเช่นไร มีผลกระทบ หรือมีประโยชน์อย่างไร
ดวงแก้วเล่าว่า บริษัทเหมืองแร่เคยเข้ามาซื้อใจชาวบ้านในหมู่บ้านเมื่อหลายปีที่แล้ว ด้วยการบริจาคเงินให้กับวัดและแจกผ้าห่มกันหนาวให้แก่ชาวบ้าน เขียนชื่อบริษัทติดไว้ด้วย เธอเองยังเคยได้รับผ้าห่มและนำเสื้อกะเหรี่ยงไปมอบให้ตัวแทนจากบริษัทเป็นการตอบแทน ตอนนั้นชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นบริษัทที่วางแผนเข้ามาทำเหมืองแร่ในหมู่บ้าน
ดวงแก้วเป็นหนึ่งในทีมเยาวชนกะเบอะดินที่รวมตัวกันทำงานเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้เกิดเหมืองแร่อมก๋อยขึ้นภายในหมู่บ้าน สมาชิกในทีมมีกันอยู่ 8 คน (ในหมู่บ้านมีคนหนุ่มสาวที่เป็นเยาวชนอยู่ประมาณ 20 – 30 คน) ดวงแก้วเริ่มออกมาเคลื่อนไหวปกป้องหมู่บ้านของตัวเองช่วงปี 2562 ตอนอายุ 19 ปี
เธอไม่ได้ตั้งใจออกมาพูดเต็มตัว แต่ในช่วงนั้นดวงแก้วเห็นข่าวจาก Facebook ว่าจะมีบริษัทเข้ามาทำเหมืองแร่ในกะเบอะดิน ก่อนจะเริ่มเป็นประเด็นกันมากขึ้น และมีคนในอำเภออมก๋อยที่ไม่เห็นด้วยรวมตัวกันในนามกลุ่ม “ยุติเหมืองแร่” ซึ่งเป็นคนจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่จะตามมาในอนาคต หากมีเหมืองมาตั้งในกะเบอะดินจริงๆ ก่อนที่จะมี NGO เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน
“ด้วยความที่หมู่บ้านกะเบอะดินอยู่ไกลสุด หากมีเหมืองก็ต้องมีรถผ่านหมู่บ้านอื่น เขาก็ได้รับผลกระทบกันหมด” ดวงแก้ว กล่าว
ช่วงแรกกลุ่มยุติเหมืองแร่ชวนชาวบ้านในกะเบอะดินล่ารายชื่อคัดค้านการจัดตั้งเหมืองแร่ในหมู่บ้าน และไปยื่นต่อศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ล่ารายชื่อได้ 300 กว่ารายชื่อจากคนในหลายหมู่บ้านของอมก๋อย
หลังจากนั้นดวงแก้วเริ่มมีโอกาสขึ้นไปพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการไม่เห็นด้วยกับเหมืองแร่อมก๋อยในพื้นที่สาธารณะหลายครั้ง
“จนเรากลายเป็นคนที่พูดเยอะที่สุดในหมู่บ้านกะเบอะดินตอนนี้ ไม่ได้คิดว่าจะได้เป็นตัวแทนของชุมชนขนาดนี้ แต่สถานการณ์มันพาไป มันต้องพูด” ดวงแก้ว กล่าว
ประเด็นที่สื่อสารต่อสาธารณะส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “ทำไมถึงไม่ต้องการเหมืองแร่อมก๋อย” ชาวบ้านในพื้นที่มีข้อกังวลใจอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องสุขภาพ ถนน ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ที่จะหายไป
ดวงแก้วและเพื่อนยังทำ Facebook page “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหมืองแร่อมก๋อย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกะเบอะดิน
ในช่วงแรกของการเคลื่อนไหวผู้นำชุมชนอยู่ฝ่ายเหมือง แต่พอชาวบ้านมีการกดดันมากขึ้น ผู้นำชุมชนคนเก่าลาออก และมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ซึ่งเป็นที่พอใจของชาวบ้าน เนื่องจากมีคนค่อยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน แม้จะไม่ออกหน้าก็ตาม “การออกมาพูดแบบนี้อาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับเขา เขาก็ทำงานหน่วยงานราชการ”
ในการเคลื่อนไหวทีมเยาวชนทั้ง 7 คนของหมู่บ้านจะมีบทบาทหน้าที่ที่รับผิดร่วมกันคือ การทำข้อมูล จัดเตรียมเอกสาร ส่วนเวลาจัดงานแต่ละคนจะแบ่งงานกันทำ เช่น ดวงแก้วเป็นฝ่ายเวที ทำหน้าที่เป็นพิธีกร พูดสื่อสารประเด็นในพื้นที่ ส่วนเพื่อนๆ คนอื่นจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสื่อ (ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ) ฝ่ายเจรจา ประสานงาน ทีมการ์ด ฯลฯ ขณะที่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านค่อยสนับสนุนด้วยการขับรถพาไปส่งตามที่ต่างๆ, ไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐร่วมกัน
“เมื่อก่อนชาวบ้านจะบอกว่า เขาเป็นคนมีตังค์ เราสู้ไม่ได้หรอก ไม่ต้องลุกขึ้นมาหรอก เดี๋ยวจะเป็นอันตราย ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร เราก็เข้าใจชาวบ้านเป็นกะเหรี่ยง ไม่รู้เรื่องภาษา ไม่รู้เรื่องกฎหมาย แต่พอมี NGO เข้ามาพูดเรื่องกฎหมาย เรามีสิทธิที่จะฟ้อง เรามีสิทธิที่จะทำเรื่องข้อมูล มีสิทธิอะไรหลายอย่าง ชาวบ้านก็หมดห่วง มีกำลังใจที่จะต่อสู้มากขึ้น เขาเห็นแนวทางการต่อสู้ที่แท้จริง และยิ่งมีทีมพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยสนับสนุนตลอดเขาก็เลยไม่กลัวอะไรอีกแล้ว” ดวงแก้ว กล่าว
แต่ถึงอย่างนั้นในการออกหน้าเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่อมก๋อยดวงแก้วกลายเป็นคนที่ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐและคนในหมู่บ้านที่อยู่ฝ่ายเหมือง เธอเคยถูกถ่ายรูปจากตำรวจสันติบาล บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบก็ใส่เสื้อกะเหรี่ยงมาร่วมงานต่อต้านเหมือง
ประสบการณ์การถูกข่มขู่คุกคามของดวงแก้วเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านไปล้มเวทีการรับความคิดเห็นของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การพยายามขัดขวางการจัดเวทีรับฟังความคิดของเจ้าหน้าที่ทำให้ดวงแก้วได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่
“เขาลงมาคุยกับเรา เขาก็พูดแบบขู่เหมือนกันนะ ทำไมไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมทำแบบนี้ ทำไมไม่ไปคุยกันดีๆ ข้างบน เราก็บอกว่า เราจะตัดสินใจแทนทุกคนไม่ได้ ทุกคนในหมู่บ้านกะเบอะดินก็ได้รับผลกระทบ จะให้เราขึ้นไปคุยแค่ 3 – 4 คน ไม่ได้” ดวงแก้ว กล่าว
แม้ดวงแก้วและคนในกะเบอะดินจะยังไม่ถูกบริษัทเหมืองแร่ฟ้องร้องเป็นคดี แต่นักวิชาการ นักศึกษา และสำนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวการคัดค้านเหมืองแร่อมก๋อยและพูดชื่อบริษัทเหมืองแร่ต่างถูกบริษัทฟ้อง
“จริงๆ แล้วบริษัทฟ้องตัวแทนชาวบ้านด้วย แต่เป็นชาวบ้านหมู่บ้านอื่นจากเครือข่ายยุติเหมือง 2 คน เขาจัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลกและอ่านแถลงการณ์ ซึ่งในแถลงการณ์มีชื่อบริษัท บริษัทก็ฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา…และก็มีนักวิชาการคนหนึ่งที่โดน ชื่อสมลักษณ์ เขาโพสลงโซเชียลเรื่องผลกระทบต่อหมู่บ้านกะเบอะดินที่กำลังจะมีเหมืองแร่ ก็ถูกบริษัทฟ้องคนแรกเลย” ดวงแก้ว กล่าว
ดวงแก้วคิดว่าเธอเองอาจเป็นคนแรกของกะเบอะดินที่ถูกบริษัทเหมืองแร่ฟ้องก็เป็นได้ “หนูอาจเป็นคนแรกก็ได้”
หากสามารถส่งเสียงจากคนเหมืองเก่าไปยังคนเหมืองใหม่ได้ ดวงแก้วอยากบอกว่า
“ชีวิตของคนในชุมชนรวมถึงเด็กๆ จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าวิถีชีวิตที่เราอยู่ บ้านตรงนี้จะเปลี่ยนไปเลยถ้ามีเหมือง เราไม่รู้ว่าเราจะสามารถตื่นนอนแล้วไปทำงานเหมือนเมื่อก่อนได้ไหม เราไม่รู้ว่าสุขภาพร่างกายของคนในชุมชนจะเหมือนเดิมไหม และถ้าถึงวันนั้นเราคงเศร้าและเสียใจมากมายกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในจุดนี้” ดวงแก้ว กล่าว
หมายเหตุ
- บทความนี้ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจาก “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” เพื่ออธิบายถึงอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่ออุตสาหกรรมเหมืองได้ที่เฟซบุ๊ก ผืนดินนี้ไม่มีเหมือง – This Land No Mine
- บทความนี้เป็นบทความลำดับที่ 3 ในซีรีส์ทั้งหมด 4 บทความ สามารถอ่านบทความอื่นในซีรีส์นี้ได้ที่ (1)****เมื่อไทยกำลังมีเขต ‘เหมืองใหม่’ 3 ล้านไร่ ฟังเสียงจาก ‘เหมืองแร่เมืองเลย’ ที่ ‘ไม่เคยถูกฟื้นฟู’ (2) เปิดสถิติ! คนไทยถูกฟ้องปิดปาก จากการคัดค้าน ‘เหมืองแร่’ มากที่สุด**
- ข้อมูลบางส่วนจากรายงานการศึกษาเรื่อง “การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Protection of Human Rights Defenders)” โดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ ประจำประเทศไทย
อ้างอิง
[1] รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร ประชุมบอร์ดนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เห็นชอบ ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566- 2570) ต่อยอดการปฏิรูปการบริหารจัดการแร่ให้มีประสิทธิภาพ ที่มา