837 ชาวระยองยื่นฟ้องยื่นฟ้อง SPRC เรียกค่าชดเชย-เยียวยา “น้ำมันรั่ว 65”

หลังยื่นฟ้อง “7 หน่วยงานรัฐ (7 กรม 5 กระทรวง) เมื่อ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ข้อหา “ละเลยการปฏิบัติหน้าที่-ล่าช้า-แก้ปัญหาประมาท” เรียกร้อง 3 ข้อ “ชดเชย-เยียวยา-กองทุนฯ-ออกกฎหมายป้องกันและจัดการน้ำมันรั่ว” 

บ่ายวันนี้ 837 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งจังหวัดระยอง เรียกร้องให้บริษัท SPRC จ่ายค่าชดเชยเยียวยา และค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทะเล จากการ “ก่อมลพิษ” ของบริษัท

(ภาพ : มติชน)

ฟ้องแพ่ง SPRC

ราว 13.00 วันนี้ (23 ม.ค 2566) สมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองพร้อมด้วยโจทย์รวม 837 คนได้เดินทางไปศาลระยองยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC จากเหตุที่บริษัททำน้ำมันรั่วเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ปีที่ผ่านมา

โดยผู้ได้รับผลกกระทบกว่า 837 รายดังกล่าว รวมถึงชาวประมง แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดระยอง 

(ภาพ : Rising Sun Law)

ฟ้องปกครอง 7 กรม

วันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายดังกล่าวกว่า 837 ราย ได้ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองและทีมทนายความจาก Rising Sun Law ได้เดินทางไปศาลปกครองระยอง ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ที่ 1, กระทรวงมหาดไทย ที่ 2, กรมเจ้าท่า ที่ 3, กรมธุรกิจพลังงาน ที่ 4, กรมประมง ที่ 5, กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ที่ 6 และกรมควบคุมมลพิษ 

เหตุหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการบริหารจัดการเหตุน้ำมันรั่วที่ระยอง ปี 65 เป็นเหตุให้ทะเลระยองเกิดความเสียหายเกินสมควร ยากต่อการเยียวยา

“ทั้ง 7 ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารจัดการเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลอย่างต่อเนื่องกลางทะเลจังหวัดระยองกว่า 400,000 ลิตร จากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SINGLE POINT MOORING SYSTEM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ระบบนิเวศ ทรัพยากรทางทะเล และวิถีชีวิตของประชาชน 

แต่กลับละเลยในการป้องกันเหตุหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ประมาทเลินเล่อในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ อนุญาตให้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันอย่างผิดวิธีและเกินจำเป็น อีกทั้ง ยังละเลยต่อการสำรวจประเมินมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องกับการประมง พ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการท่องเที่ยวจนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

ครบ 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นการแก้ใขและรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสียหายของทรัพยากร และมีแผนการฟื้นฟูที่เกิดการยอมรับได้จริง” ตัวแทนผู้ฟ้องเปิดเผยถึงเหตุผลที่ตัดสินใจยื่นฟ้อง

เจ้าหน้าที่กำลังเก็บกู้น้ำมันชายหาดระยองเมื่อปี 2556 (ภาพ : iGreen)

เผย “10 ปีแห่งการรั่ว-ละเลย-ไร้การฟื้นฟู”

“ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุให้ท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แตก จนมีน้ำมันดิบไหลทะลักออกมาในทะเลเป็นปริมาณมาก และจากการขาดระบบควบคุมการเปิดปิดวาล์วน้ำมัน และการตรวจสอบสภาพท่อส่งน้ำมันและวิธีการส่งถ่ายน้ำมันที่ดีพอ ทำให้การรั่วไหลของน้ำมันดิบเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลไม่น้อยกว่า 50,000 ลิตร 

อีกทั้ง บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ยังเลือกใช้วิธีการฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน เช่นเดียวกับที่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม 

เนื่องจากสารเคมีที่ใช้เพื่อสลายคราบน้ำมัน เป็นสารอันตรายเพราะจะทำให้น้ำมันดิบแตกตัวออก แล้วจับตัวกับสารเคมีกลายเป็นตะกอนจมลงสู่ก้นทะเล ทำให้สารอันตรายในน้ำมันดิบละลายปะปนกับน้ำทะเลเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อทั้งวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเศรษฐกิจภายในจังหวัดระยองเป็นอย่างมาก

มากไปกว่านั้น ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่วที่ระยองในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยองยังไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ 

ชาวประมง แม่ค้าและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว รายได้จากการประกอบอาชีพยังคงน้อยกว่าก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่วและทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำก็ยังไม่ฟื้นฟูกลับมาระดับที่เคยเป็นก่อนเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในปี 2556” ตัวแทนฯ กล่าว

(ภาพ : Rising Sun Law)

3 ข้อเรียกร้อง “คดีปกครอง”

“เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลจังหวัดระยองอีกครั้งในต้นปี 2565 เปรียบเสมือนกับการซ้ำเติมชีวิตของผู้ที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยทรัยากรธรรมชาติทางทะเลจังหวัดระยอง 

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 837 ราย ซึ่งมีวิถีชีวิตเป็นประมงชายฝั่ง หรืออาศัยและประกอบอาชีพบริเวณชายฝั่ง ได้รับความวิตกกังวล และเดือดร้อน กระทบวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ได้ว่า อาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี กว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลจังหวัดระยองจะสามารถฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

1. ให้มีการออกกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขและป้องกันสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล และมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและหลักเกณฑ์การกำจัดน้ำมัน ต้องมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าวด้วย

2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยการเรียกให้บริษัทดังกล่าวจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง” ด้วยงบประมาณของบริษัท โดยในกองทุนดังกล่าว ต้องมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่งและบริษัท ในการกำหนดและเสนอแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทีได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในคดีนี้

3. ต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชอบ “เยียวยา-ชดใช้ความเสียหาย” อันเกิดจากการละเมิด จนเป็นเหตุทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และรับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้ฟ้องคดี” ตัวแทนทนายระบุ

“เราต้องการให้มีการออกกฎระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับมือ แก้ไขและป้องกันสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลที่ได้รับผลกระทบ

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทต้นเหตุทำน้ำมันรั่ว ดำเนินการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวระยอง โดยใช้ผลกำไรสุทธิร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี

และขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 7 หน่วยงานรับผิดชอบเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวระยอง สัตว์น้ำได้รับความเสียหายจนส่งผลต่อวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ และรับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพของแต่ละคนต่อไป” วีระศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง กล่าวกับผู้จัดการออนไลน์

ศาลปกครองรับคำฟ้อง-รอผล

จันทนา เจริญบุญ ผู้อำนวยการ สำนักงานศาลปกครองระยอง รับหนังสือคำฟ้องเพื่อตรวจสอบเอกสารฟ้องว่าองค์ประกอบคำฟ้องครบถ้วนหรือไม่ ก่อนจะออกหนังสือประทับรับฟ้องแจ้งกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบให้รับทราบต่อไป