เครือข่าย “สภาลมหายใจภาคเหนือ” ยื่น สตง. ภาค 8 “ตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้าง ตามแผนจัดทำแนวกันไฟในป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช”
ระบุหวั่นทุจริต “ประกวดราคา แนวกันไฟในเขตป่า เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ระยะทางรวม 4,100 ก.ม.” งบเบื้องต้นราว 20.5 ล้านบาท (5,000 บาทต่อกิโลเมตร)
ด้านมูลนิธิสืบฯ เตรียมจัดเวทีถอดบทเรียน “ส่วยอุทยานฯ 23 ม.ค. หวังได้ข้อเสนอ “คืนความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่กรมฯ – ปฏิรูปกรมอุทยานฯ” จากภาคประชาสังคม

ยื่นสอบประกวดราคา
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.วันที่ 19 มกราคม 2566 วิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือ อนุสรณ์ ไชยวรรณ ประธานสภาลมหายใจลำพูน ธนพงษ์ วังทอง ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ ตัวแทนภาคประชาชนได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพงษ์ศักดิ์ สุระประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้ตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) เพื่อขอให้ตรวจสอบติดตามโครงการจัดทำแนวกันไฟของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้เป็นไปตามการจัดจ้างเพื่อให้การป้องกันปัญหาไฟป่ามีประสิทธิภาพในระหว่างวิกฤตการณ์ฝุ่นควันประจำปี
การยืนหนังสือครั้งนี้ สืบเนื่องจาก สภาลมหายใจภาคเหนือ บ้านก้อแซนด์บ็อกซ์ และกลุ่มประชาชนผู้สนใจปัญหาฝุ่นควัน ได้มีปฏิบัติการเรียกร้อง “ป่าโปร่งใส” ขอให้รัฐบาลกำกับติดตามดูแลตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขไฟป่า ฝุ่นควันภาคเหนือให้เป็นไปโดยโปร่งใส และเปิดให้มีส่วนร่วม
“จากข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตเรียกเก็บเงินจากงบประมาณของกรมอุทยานฯตามที่ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น ยังมีข้อมูลว่าหน่วยงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า จะถูกเรียกเก็บในสัดส่วนมากที่สุดถึง 30% ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงจะเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพการปัญหามลพิษฝุ่นควันและไฟป่าที่เป็นวิกฤตเรื้อรังในภาคเหนือมายาวนาน โดยเฉพาะกิจกรรมป้องกันไฟเช่น การจัดทำแนวกันไฟ ตลอดถึงอุปกรณ์ความพร้อมของการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และอาจจะรวมถึงการปล่อยให้เกิดไฟไหม้ในป่าโดยไม่จำเป็นเพื่อรักษาสัดส่วนงบประมาณที่ได้รับต่อไปในแต่ละปี
แน่นอนที่สุดหากมีกรณีเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสาธารณชนโดยตรงเพราะภาคเหนือเกิดวิกฤตมลพิษอากาศและเกิดปัญหาไฟในป่าจำนวนมาก
ดังนั้นกิจกรรมเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ของรัฐ ควรจะเปิดเผย โปร่งใส และ ควรจะต้องเปิดให้สาธารณะเข้าไปมีส่วนร่วม ได้รับรู้ตั้งแต่ต้น จึงอยากจะให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เกิด “ป่าโปร่งใส” นับจากนี้ โดยเครือข่ายผู้เรียกร้องจึงขอยื่นหนังสือต่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 ที่ดูแลพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน ให้ พิจารณาดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงาน จัดทำแนวกันไฟในป่าอนุรักษ์ของหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เป็นไปตามข้อกำหนดจ้าง และก่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันไฟป่าอย่างแท้จริง
ในแต่ละปี หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ ได้ใช้งบประมาณจัดทำแนวกันไฟในภาคเหนือรวมกันยาวประมาณ 15,000 ก.ม. โดยใช้งบประมาณจัดจ้างทำแนวดังกล่าวประมาณ 5,000 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี
ขณะที่ล่าสุด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ประกาศประกวดราคาทำแนวกันไฟในเขตป่าจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 4,100 กิโลเมตร ซึ่งหากมีการเรียกเงินจากกิจกรรมนี้ 30% ตามข่าวจริง อาจจะส่งผลทำให้แนวกันไฟไม่เป็นไปตามกรอบการจ้าง อีกทั้ง แนวกันไฟมีระยะทางยาวมาก อยู่ในป่าเขาสูง ยากที่คนภายนอกจะเข้าไปตรวจสอบ จึงต้องร้องขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ มีการยื่นเอกสารแถลงการณ์ และรายนามผู้ร่วมลงชื่อจากทั้งระบบไลน์กลุ่ม จำนวน 40 ชื่อ และระบบลงนามออนไลน์ คนจะหาง่ายและเข้ามาร่วมลงชื่อมากขึ้น อีกประมาณ 1,700 รายชื่อแนบเอกสารข้อเรียกร้องด้วย” ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือกล่าว


แถลงสาธารณะ “ป่าโปร่งใส”
“เครือข่ายผู้เรียกร้องจะเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการแก้ปัญหาและยกระดับให้เกิด “ป่าโปร่งใส” ในทุกระดับและต่อเนื่องเท่าที่โอกาสจะอำนวย โดยเริ่มจากการยื่นหนังสือต่อ สตง. ภาค 8 ขอให้ สตง. พิจารณาดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงานฯ กรมอุทยานฯ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดจ้าง และก่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันไฟป่าอย่างแท้จริง
นอกจากการยื่นหนังสือต่อ สตง. ครั้งนี้แล้ว เครือข่ายผู้เรียกร้อง “ป่าโปร่งใส” จะยื่นหนังสือต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
เตรียมจัดเวทีถอดบทเรียน “ส่วยอุทยานฯ” 23 ม.ค.
“สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่นายรัชฎาสุริยกุลณอยุธยาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งจากผู้ใต้บังคับบัญชารายละเอียดตามที่ปรากฎเป็นข่าว
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ เพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาล ออกมาชี้แจงความคืบหน้าในการคืนความชอบธรรมให้แก่บุคลากรของกรมอุทยานฯ ที่ถูกโยกย้ายอย่างไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม และเร่งดำเนินการจัดทำโครงสร้างเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ให้การบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน
ตั้งแต่วันการเข้าจับกุมจนถึงวันนี้ผ่านมาครบ 3 สัปดาห์แต่ยังไม่มีความชัดเจนในกระบวนการตรวจสอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือออกมาชี้แจงกระบวนการคืนความชอบธรรมให้กับบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจึงทำให้ขาดความเชื่อมั่น
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเสนอการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ส่วยสินบน บทเรียนกรมอุทยานฯ บทเรียนข้าราชการไทย” ในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
มีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนเหตุการณ์การเข้าจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อหาแนวในการคืนความชอบธรรมให้กับบุคลากรของกรมอุทยานฯ ที่ได้รับคำสั่งโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม และเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้าง ระบบ และกลไกเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของกรมอุทยานฯ” รายงานข่าวเปิดเผยอีกความเคลื่อนไหวต่อกรณี “ส่วยอุทยานฯ” จากมูลนิธิสืบฯ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ มูลนิธิสืบฯ ได้มีการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนองค์กรในเรื่องนี้ 2 ฉบับ ดังรายละเอียดด้านล่าง
