หน่วยงานภาครัฐตอบรับข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม “เขื่อนสิรินธร” ประกาศแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” แล้วในช่วงเย็นวันนี้ หลังการชุมนุมเป็นวันที่ 3
กลุ่มผู้ไดัรับผลกระทบฯ เรียกร้อง “คณะอนุกรรการฯ ต้องเริ่มทำงานให้เร็วที่สุด ประชุมนัดแรกต้องเกิดขึ้นภายใน 7 วัน” ชี้ ได้รับผลกระทบและรอการชดเชยเยียวยากว่า 50 ปีแล้ว ประกาศพร้อมยกระดับการชุมนุมหากยังไม่คืบ

ข้อเรียกร้อง ได้รับการตอบรับบางระดับ
“เราพึ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อประมาณ 17:30 ที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งชาวบ้านที่มาชุมนุมกันในตอนนี้ ก็คิดว่ายังไงคำสั่งก็ต้องมีการแต่งตั้งมาอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ต้องการก็คืออยากให้กำหนดวันประชุมคณะอนุกรรมการฯ และขอทำระเบียบวาระการประชุมร่วมกันให้ชัดเจน ซึ่งมีการตกลงว่าพรุ่งนี้ (13 ม.ค. 2566) ประมาณ 10:00 น. จะมีการทำระเบียบวาระการประชุมร่วมกัน
โดยจากรายชื่อคณะอนุกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งมามีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอยู่เพียง 3 รายเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก จากที่เคยตกลงกันว่าจะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในคณะอนุกรรมการฯ เป็นจำนวน 50% ซึ่งจากที่คุยกับชาวบ้านที่มาเขาก็บอกว่าก็ยอมรับกันไปก่อน แล้วค่อยไปเพิ่มเติมในที่ประชุมเอา
ที่ชาวบ้านเข้ามาครั้งนี้ก็คือต้องการให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ภายใน 7 วัน ซึ่งถ้าพรุ่งนี้ได้วันประชุมที่แน่นอน ชาวบ้านก็อาจจะยุติการชุมนุมไว้ก่อน แล้วถ้าการประชุมที่จะเกิดขึ้นมีผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจก็คงต้องกลับมาชุมนุมอีกครั้ง
การประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ยังไม่ใช่การประชุมที่ผู้ชุมนุมรอคอย โดยในวันพรุ่งนี้จะเป็นเพียงแค่การจัดทำระเบียบวาระการประชุม และกำหนดวันประชุมของคณะอนุกรรมการฯ”
กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนเปิดเผยกับ GreenNews ถึงความคืบหน้าล่าสุด การชุมนุมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาการสร้างเขื่อนสิรินธร ที่มาชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

วันนี้ (12 ม.ค. 2566) เวลาประมาณ 16:00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้แถลงการณ์ผ่านเฟสบุ๊ก ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร “นักสู้ลำโดมน้อย” ว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ม.ค. 2566) จะมีการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกับผอ. กองวิเคราะห์ของกระทรวงพลังงาน สำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี ผอ. เขื่อนสิรินธร และตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี ณ ห้องประชุมสำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี
โดยตัวแทนกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าการเจรจาในวันพรุ่งนี้ไม่สามารถหาข้อสรุปอันเป็นที่น่าพอใจได้การชุมนุมก็จำเป็นที่จะต้องยืดเยื้อต่อไป และอาจมีการยกระดับการเรียกร้องขึ้น เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนได้รับการแก้ไข

บนเส้นทางสู่การชดเชยเยียวยาผลกระทบ
“ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร กลุ่มลำโดมน้อยมีประมาณ 4,250 ซึ่งก็ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากกลุ่มอื่น ๆ อีก โดยผู้ชุมนุมที่มาในครั้งนี้คือ ผู้ที่ยังรอการช่วยเหลืออยู่”
การสร้างเขื่อนสิรินธรทำให้เกิดน้ำท่วมบนที่ดินของชาวบ้านจาก จ.อุบลราชธานี กว่า 180,000 ไร่ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมากว่า 50 ปี แต่ ณ ปัจจุบันยังมีผู้ไม่ได้รับการเยียวยาอยู่อีกหลายพันคน
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของการแก้ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากกรณีผู้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดประชุมขึ้น ซึ่งได้สรุปกรอบ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาพร้อมกับการทำงานให้ได้ข้อยุติภายในเดือนมีนาคม 2566
ต่อมาเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2565 ตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเพื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ยื่นหนังสือเสนอรายชื่อตัวแทนกลุ่มเพื่อเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการต่อ สุพัฒนพงษ์ ที่สนามบินอุบลราชธานี
โดยการประชุมระบุว่าจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ภายในธันวาคม 2565 และจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ 2 ครั้ง ภายในมกราคม 2566 แต่กลับไม่มีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ แต่อย่างใด
จากความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธรเดินทางมาชุมนุม ที่หน้าสำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ 10 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยเรียกร้อง ให้จัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ ภายใน 7 วัน

การรอคอยที่ยาวนานกว่า 50 ปี
เขื่อนสิริธรหรือในชื่อเดิมว่า เขื่อนลำโดมน้อย ได้รับมติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการสร้างเมื่อ ธันวาคม 2509 ภายใต้รัฐบาลของ พลเอกถนอม กิตติขจร
เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าโดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ 3 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 12,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 36,000 กิโลวัตต์ ซึ่งผลิดไฟฟ้าปีละ 90,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
ตัวเขื่อนกั้นลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของลำน้ำมูล บริเวณใกล้บ้านเหล่าคำชมพู ตำบลคันไร่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี อ่างเก็บน้ำขนาด 292 ตารางกิโลเมตร หรือ 182,500 ไร่ ตัวเขื่อนมีระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 142.2 ม.รทก. โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อมิถุนายน 2511 โดยตัวเขื่อน และระบบส่งไฟฟ้าระยะแรก สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514 จากนั้น 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ส่งมอบเขื่อนสิรินธรให้อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนถึงปัจจุบัน
จากการสร้างเขื่อนสิรินธรทำให้เกิดน้ำท่วมในที่ดินของชาวบ้านเป็นพื้นที่กว่า 180,000 ไร่ โดยจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีชาวบ้านหลายคนที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา

การชดเชย-เยียวยา กับปัญหาที่เกิด
“ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี 2542 ได้รับการช่วยเหลือไป 87 ราย ต่อมาเมื่อปี 2544 – 2545 ได้เพิ่มมาอีก 180 ราย ปี 2550 – 2551 ได้เพิ่มมา 2,200 ราย โดยรัฐบาลที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่เนื่องจากไม่สามารถจัดหาที่ดินให้ได้จึงได้จ่ายเป็นเงินสดแทน ในอัตราราคาไร่ละ 3.2 หมื่นบาท รวมเป็นเงินชดเชยครอบครัวละ 4.8 แสนบาท รวมทั้งหมด 2,526 ครอบครัว” วิทยา ยังมีสุข หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบให้สัมภาษณ์กับ BBC Thailand
“จากข้อมูลการชดเชยช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ กฟผ. กรณีเขื่อนสิรินธร พบว่า ได้มีการจ่ายเงินค่าที่ดินให้กับราษฎร ที่มีเอกสารสิทธิ์ เมื่อปี 2514 ไร่ละ 400 บาท ให้กับราษฎร 1,400 ราย รวมจำนวนที่ดิน 39,000 ไร่ และในปี 2550 จ่ายเงินค่าจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ รายละ 15 ไร่ ไร่ละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 480,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 1,200 ล้านบาท ให้กับราษฎร 2,526 ราย
ข้อมูลที่ปรากฏพบว่ามีการจ่ายค่าที่ดินไปเพียง 39,000 ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 180,000 ไร่ของเขื่อนสิรินธร ยังเหลือที่ดินอีก 141,000 ไร่ ที่รัฐบาลยังไม่มีจ่ายเงินค่าที่ดินให้กับราษฎร ซึ่งเป็น “สิทธิ” ของประชาชนที่ถูกลืม” The Isaan Record เปิดเผย
นอกจากนั้นทางรัฐบาลเคยนำพื้นที่มาจัดเป็นนิคมขึ้นให้ผู้สูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 15 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ ที่ดินทำกิน 13 ไร่ แต่ที่ดินที่ได้รับการจัดสรรกลับเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน ดินเป็นหินลูกรัง หินดาน ทำกินไม่ได้ และซื้อขายไม่ได้ ทำให้ในปัจจุบันนิคมดังกล่าวจึงเป็นนิคมร้าง
หลังจากเขื่อนสิรินธรเริ่มผลิตไฟฟ้าเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ยังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้รับการเยียวยาอยู่อีกหลายครัวเรือน นอกจากนั้นเงินเยียวยาที่รัฐจ่ายให้กับบางรายก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยจากผู้ได้รับผลกระทบกว่า 10,000 ราย มีผู้ไดัรับการชดเชยไปประมาณ 3,000 – 4,000 รายเท่านั้น