“วิกฤตเคมีเกษตร-ความปลอดภัยด้านอาหาร 2565” มุมมอง ‘ปรกชล อู่ทรัพย์’

“ความเสี่ยงลด หลังการแบนพาราควอตคลอร์ไพริฟอส

สถานการณ์ยังวางใจไม่ได้

การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก ผลไม้ยังคงน่ากังวล

ความพยายามยกเลิกการแบน 2 สารอันตรายยังคงมีอยู่

3 ข้อเสนอ สู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ”

ภาพรวมสถานการณ์ “วิกฤตเคมีเกษตร-ความปลอดภัยด้านอาหาร” ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา “ปรกชล อู๋ทรัพย์”ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) นำเสนอในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565 (ดูย้อนหลัง

(ภาพ : TED Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)

“ความเสี่ยงลด” หลังการแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

อยากเริ่มที่ภาพนี้ ภาพประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงกระบวนการในการขับเคลื่อน ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยทางด้านอาหาร เพื่อสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ของทั้งเกษตร ผู้บริโภค รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม 

เป็นภาพที่แสดงถึงความร่วมมือร่วมแรงโดยมีเป้าหมายเดียวกันของทั้งภาคประชาชน เกษตรกร ผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ภาควิชาการ ภาคการเมือง หน่วยงานรัฐ และองค์กรอิสระ รวมถึงสื่อมวลชน

การแบนพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส มีการขับเคลื่อนกันมายาวนานมากกว่า 7 ปี เป็นการทำงานทางวิชาการ เพื่อที่จะมีข้อเสนอในการขับเคลื่อน และก็มีการขับเคลื่อนผ่านกระแสทางด้านสังคมในช่วงตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา 

หลังจากที่เราแบนพาราควอต แล้วก็คลอร์ไพริฟอสไปแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน 

ก่อนที่เราจะมีการแบน 3 สาร ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงที่สุดเป็นประวิติศาสตร์ในปี 2560 ปีนั้นเรานำเข้าสารเคมีสูงถัง 198 ล้านกิโลกรัม (กก.)

ในนั้น 60 ล้าน กก. เป็น “ไกลโฟเซต” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ IARC (International Agency for Research on Cancer) ประกาศว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ในระดับ 2A (สิ่งที่เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) 

44.5 ล้าน กก. เป็น “พาราควอต” สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์ร้ายแรงอีกหนึ่งตัว ที่มีพิษเฉียบพลันสูงในระดับที่เรียกได้ว่า สูงยิ่งกว่า คาร์โบฟูรานหรือที่เกษตรกรรู้จักกันดีในชื่อ ฟูราดาน ซึ่งเป็นสารที่กรมวิชาการเกษตรเองไม่อนุญาตให้มีการต่อทะเบียน และยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคพากินสันด้วย ถึง 43 เท่า

และ 3.32 เป็น “คลอร์ไพริฟอส” สารกำจัดแมลงที่พบการตกค้างสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วงที่มีการเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง เป็นสารที่ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รวมไปจนถึงพัฒชาการของเด็ก โดยพบตกค้างมากในผัก และผลไม้

สถานการณ์ “ยังวางใจไม่ได้”

หลังจากที่เราแบนได้ 2 สาร ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ทำให้ทั้ง 2 สารนี้มีการนำเข้าเป็น 0 แล้วก็มีการจำกัดการใช้ ไกลโฟเซต จาก 60 ล้านกก. ในปี 2560 เหลือปริมาณการนำเข้าเพียง 13 ล้านกก. หรือลดลงไปถึง 78% ก็จะเห็นได้เลยว่า การนำเข้าจาก 198 ล้านกก. เหลือ 136 ล้านกก. ในปีที่แล้ว 

เราสามารถลดการนำเข้าสารเคมีอันตรายร้ายแรงลงได้ถึง 31% ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการลดความเสี่ยงของการสัมผัสสารพิษร้านแรงเหล่านี้ของทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค รวมไปถึงการตกค้างในสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเราพิจารณาว่าสารเคมีที่มีการนำเข้ามันมีความปลอดภัยมากเพียงพอหรือไม่ สำหรับสารประเภทอื่น ๆ 

คณะทำงานวิชาการที่ร่วมงานกับ Thai-PAN ซึ่งเป็นักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งทางด้านแพทย์ สาธารณสุข เภสัช พิษวิทยา นักเกษตร ได้มีการประเมินว่า สารเคมีที่ประเทศไทยยังอนุญาตให้ใช้ทั้งหมด 563 รายการ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมวิชาการเกษตร ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย เข้าข่ายสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูง หรือว่า Highly Hazardous Pesticides (HHPs) ซึ่งอิงเกณฑ์จากคณะทำงานร่วมระหว่าง FAO และ WHO เราพบว่ามีสารเคมีที่ไทยอนุญาตให้ใช้ถึง 230 ชนิดจาก 563 ชนิดที่เข้าข่ายสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูง 

สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูงมีลักษณะอย่างไร 1. เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง 2. เป็นสารที่ก่อโรคในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการก่อโรคมะเร็ง ก่อโรคกลายพันธุ์ เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์ รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ รวมไปถึงการตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน หรือว่าทำลายสิ่งมีชีวิตนอกเป้าหมาย

ถ้าจะยกตัวอย่างง่าย ๆ สำหรับกลุ่มสารที่มีผลกระทบต่อด้านสุขภาพ มีพิษเฉียบพลันสูงตอนนี้ยังมีถึง 52 ชนิด และเข้าข่ายก่อมะเร็งที่ IARC ได้ clssify ไว้ในให้อยู่ในระดับ 2A สูงถึง 3 ชนิด คือ คาร์บาริล ไกลโฟเซต ออกซีฟลูออร์เฟน มีสารก่อกลายพันธุ์ 2 ชนิด เบโนมิล คาร์เบนดาซิม เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์ 22 ชนิด และรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ 4 ชนิด

สารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ สารที่มีพิษสูงต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ มากถึง 186 ชนิด และมีพิษสูงต่อผึ้ง หรือว่าเป็นตัวผสมเกษร ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อการสร้างอาหารให้กับมนุษย์ มากถึง 49 ชนิด 

แล้วเป็นสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือไม่ว่าจะเป็นสาร PIC ที่มีอยู่ 5 ชนิด สารที่เป็นสาร POPs หรือว่าสารตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม ยังเหลือใช้ในไทยอยู่ 1 ชนิด คือ ไดโคโฟล แล้วก็มีสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ หรือว่าเป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีก 1 ชนิด คือ เมทิลโบรไมด์ 

ซึ่งที่น่าสนใจคือ ใน 230 ชนิด ในช่วง 4 ปีหลัง เรามีการนำเข้าอยู่ประมาณ 102 ชนิด เพราะฉะนั้นมันยังมีสารที่เข้าข่ายอันตรายร้ายแรงสูง แต่ว่าไม่ได้มีการนำเข้าและน่าจะสามารถจัดการได้เลยอยู่มากถึง 128 ชนิด

ปีที่ผ่านมา เรามีการนำเข้า สารเคมี 136 ล้านกก. แยกเป็นชนิดสารได้ 257 ชนิด เป็นสารที่เข้าข่ายมีอันตรายร้ายแรงสูง 95 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไกลโฟเซต สารที่เรายังจำกัดการใช้แต่ว่ายังไม่ได้แบน 

แล้วก็มีสารอีกหนึ่งตัวที่ Thai-PAN ได้มีการเฝ้าระวังการตกค้างในพืช ผัก ผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง และก็เห็นว่าเป็นสารที่น่ากังวลสูงคือ คาร์เบนดาซิม ซึ่งเป็นสารกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม ซึ่งดูดซึมหมายความว่า ลักษณะการตกค้างไม่ได้ตกค้างอยู่ที่ผิวแต่เป็นการตกค้างเข้าไปข้างในเนื้อเยื่อ เมื่อตกค้างเข้ามาสู่ผู้บริโภคเนี่ยการล้างไม่สามารถขจัดออกได้ สารตัวนี้เป็นสารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์ด้วย เรามีการนำเข้าสูงประมาณ 3 ล้านกิโลกรัมในปีที่แล้ว 

การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก ผลไม้ “ยังคงน่ากังวล”

สถานการณ์ถัดมาที่จะชี้ให้เห็นว่ายังเป็นสถานการณ์ที่ยังท้าทายอยู่ การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก ผลไม้ในปี 2565 Thai-PAN ได้มีการสุ่มตรวจผัก ผลไม้ยอดนิยมประมาณ 13 ชนิดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มีทั้งพวกคะน้า พริกแดง มะระ ถั่วฝักยาว รวมไปถึงพวกผักไฮโดรโปนิกส์ เช่นพวกผักกรีนคอส กรีนโอ๊ค 

จะเห็นว่ามีสีหลัก ๆ อยู่ 3 สี สีเขียวหมายถึงไม่พบการตกค้าง ในครอบข่ายที่เราส่งวิเคราะห์ สีเหลืองหมายถึงพบการตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศไทย และสีแดงหมายถึงพบการตกค้างเกินกว่าค่า MRL หรือค่าที่ อย. ประกาศอนุญาตให้มีการตกค้างได้ 

ในปีนี้ Thai-PAN ได้มีการสุ่มตรวจ แล้วก็ส่งตัวอย่างทั้งหมดไปวิเคราะห์สารตกค้างที่ต้องปฏิบัติการ TUV SUD ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยภาพรวมพบว่าจาก 268 ตัวอย่างของพืช ผัก ผลไม้ มีสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่า เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 67% ซึ่งสูงมากกว่าปีก่อน

แล้วในปีนี้เรามีการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในเนื้อส้มด้วย รวมไปถึงน้ำส้มกล่อง ซึ่งน่าสนใจมากในน้ำส้มกล่อง 10 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ เราพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถึง 5 ยี่ห้อ แล้วทั้ง 5 ยี่ห้อนั้น เป็นน้ำส้มกล่องที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย 

สำหรับในเนื้อส้ม เราสุ่มตรวจปีนี้ 65 ตัวอย่าง ส่งตัวอย่างไปให้ห้องแล็บแกะเปลือกก็พบว่ามีสารพิษตกค้างประมาณ 20 กว่าชนิด แล้วก็พบการตกค้างของสารพิษในเนื้อส้มทั้งหมด 91% จากทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือการสุ่มตรวจทั้ง 3 ครั้ง 3 รอบ เราพบสารพิษตกค้างทั้งหมด 103 ชนิด แต่ชนิดที่พบการตกค้างสูงที่สุดคือ คาร์เบนดาซิม ซึ่งเป็นสารที่ทั้งก่อการการพันธุ์ แล้วก็เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์ เราพบการตกค้างมากถึง 37% ของกลุ่มตัวอย่าง

ความพยายาม “ยกเลิกการแบน 2 สารอันตราย” ยังคงมีอยู่

สถานการณ์ที่ยังต่อเนื่องมากจากการแบนก็คือ มีความพยายามของกลุ่มบริษัท และกลุ่มที่ต้องการยกเลิกการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ยังมีความพยายามที่จะล้มเลิกการแบนอยู่ โดยในปีที่ผ่านมาความพยายามเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่มีถึง 2 ครั้งที่ทำให้ปรากฏวาระการพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2565 ครั้งนั้นถึงแม้จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกระทั่งนายกฯ ออกมาห้ามทบทวนการยกเลิกใช้ 2 สารนี้ แต่ว่าหลังจากนั้นไม่มีกี่เดือน ก็พบวาระการประชุมทบทวนวาระเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งนั้นหลังจากได้รับแรงกดดัน จากประชาชน ภาคประชาสังคม แล้วก็ทุก ๆ ภาคส่วนทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ ว่าจะไม่มีการทบทวนเรื่องนี้จนกว่าคดีที่อยู่ในศาลปกครองจะถึงที่สุด 

แต่ว่าก็ยังไม่สามารถที่จะวางใจได้ว่าปีหน้าจะไม่เกิดวาระแบบนี้ขึ้นอีก เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกันกับการพยายามยกเลิกการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่เรียกได้ว่าเป็นผลประโยชน์มหาศาลของบริษัท แล้วก็เป็นสารที่เรียกได้ว่า ในสหรัฐอเมริกามีการฟ้องคดีกลุ่มของเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจากการใช้สารชนิดนี้กว่าแสนคดีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถารกาณ์ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

3 ข้อเสนอ สู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

สำหรับข้อเสนอที่ทาง Thai-PAN เห็นว่าในโอกาสที่เราจะได้มีการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วก็สอดคล้องไปกับเจตนารมณ์ของมติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 เสียง เมื่อ 21 พ.ย. 2562 ให้มีการแบน 3 สาร และประกาศเป้าหมายการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 100% ในปี 2573 

เราเสนอให้มีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนทั้งในทางนโยบายและทางปฏิบัติ ให้มีการเลิกใช้หรือลดใช้สารเคมีลง 50% ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายของ EU โดยเสนอให้มียุทธศาสตร์ในการจัดการเรื่องนี้หลัก ๆ 3 ยุทธศาสตร์

  1. การแบน หรือยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูง ซึ่งเป็นการจัดการที่ต้นทาง ในกรณีนี้เราเสนอให้มีการแบน คาร์เบนดาซิม รวมไปถึงการพิจารณา fade out และยกเลิก ไกลโฟเซต และจัดให้มีการทำเกณฑ์บัญชีรายชื่อสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูงของประเทศไทย และมีแผนในการจัดการอย่างต่อเนื่อง
  2. สร้างระบบเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยที่จะนำไปสู่การจัดการปัญหา ซึ่งต้องเป็นการเฝ้าระวังที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งเป็นการเฝ้าระวังการตกค้าง ของสารพิษในผลผลิต ในสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้ที่มีโอกาสใกล้ชิดหรือสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  3. จะต้องมีการปฏิรูปเชิงระบบ โดยมีการสนับสนุนให้เกษตรมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เป็นการปลูกพืชที่มีการพึ่งพา ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูง ไปสู่การผลิตในระบบเกษตรยั่งยืน หรือเกษตรนิเวศ 

ซึ่งในกรณีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายหรือว่ามาตรการในการสนับสนุนเกษตรรายย่อย ซึ่งในกรณีนี้เราเสนอให้มีมาตรการทางการเงินที่สำคัญ และสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และชัดเจน 

อาทิ 1. ให้มีเงินอุดหนุนโดยตรง เพื่อทำการเกษตรที่ลดการใช้สารพิษ หรือสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูง 2. มีเงินอุดหนุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม สามารถซื้อทรัพย์สินฟาร์ม ไปถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช่สารเคมีได้เอง 3. มีเงินสนับสนุนงบวิจัย พัฒนาปัจจัยการผลิตทดแทน 4. มีการสนับสนุนเงินทุนพัฒนาตลาด 5. ลดหย่อยภาษีสำหรับผู้ผลิต และผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ของการผลิตทางการเกษตรที่ไม่มีการใช้สารเคมี หรือว่าลดการใช้สารเคมีลง

นี่เป็นข้อเสนอที่ทาง อ.ไชยยะ คงมณี และคณะ ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นว่ามีความสำคัญ และก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

(ภาพ : TED Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)