“วิกฤตมลพิษ-ขยะอุตสาหกรรม 2565” มุมมอง ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’

Circular Economy ที่หมุนเวียนสู่วงจร “กาก”

Green Economy ที่ความเขียวยังอยู่แค่ในแผน

“อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อยู่ร่วมยั่งยืนกับชุมชน” ฝันนี้ยังยากจะจริง

ภาพรวมสถานการณ์ “ขยะ-มลพิษอุตสาหกรรม 65” ในบริบทนโยบาย BCG ทิศดูดีที่ยังเต็มไปด้วยคำถามในความเป็นจริง “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นำเสนอในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565 (ดูย้อนหลัง) พร้อม 5 ข้อเสนอเชิงนโยบาย

(ภาพ : TED Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)

BCG ในมิติ “ขยะ-มลพิษอุตสาหกรรม 65”

สถานการณ์ปัญหาแล้วก็ข้อเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของมลพิษและขยะอุตสาหกรรมในรอบปีที่ผ่านมา

ประเด็นเรื่องของ BCG (Bio-Circular-Green หรือ “เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว”) เป็นประเด็นที่ติดอันดับของการพูดคุยในสังคมบ้านเรา จริง ๆ ว่าไปแล้ว BCG ก็มีมาแล้วก่อนหน้านี้หลายปีพอสมควร อย่างน้อย 4-5 ปี แต่ว่าการประชุมเอเปคก็ทำให้มีการประชุมเรื่องนี้ มีการพูดถึงเรื่องนี้งานหนักมาก 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของมลพิษและก็เรื่องของขยะก็จะเกี่ยวข้องโดยตรง คือเรื่องของตัว C (Circular) แล้วก็ตัว G (Green) ซึ่งในด้านของมลพิษก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนกับตัวเศรษฐกิจสีเขียว

Circular Economy ที่หมุนเวียนสู่วงจร “กาก”

เศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของวัฏจักรผลิตภัณฑ์ทั้งวงจรแล้วก็กากของเสีย ส่วนเศรษฐกิจสีเขียวค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของการจัดการมลพิษแล้วก็เรื่องของการสร้างภาพลักษณ์

จริงๆ ว่าไปแล้วเศรษฐกิจสีเขียวหรือว่าเศรษฐกิจเชิงนิเวศ เป็นตัวที่นำมาใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการนั้นเอง ในส่วนของเศรษฐกิจหมุนเวียน สถานการณ์ของประเทศไทย ณ วันนี้ยังอยู่แค่เรื่องของกากของเสีย ไม่ได้พูดไปถึง หรือว่ายังไม่มีความสามารถที่จะจัดการไปถึง เรื่องของวัฏจักรทั้งวงจรของตัวผลิตภัณฑ์

ในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมค่อนข้างจะพูดถึงเรื่องของการพยายามกระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการรายงานเรื่องของกากทั้งหมด เข้าสู่ระบบของการรายงานตามกฎหมายอย่างน้อย ๆ เลยมี 65,000 โรงงาน ที่ยังไม่มีการรายงานถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเราที่ทำให้การจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะส่วนของกากอุตสาหกรรมอันตราย ไม่สามารถที่จะควบคุมได้

ในปี 2518 ปริมาณกากที่มีการรายงาน ตัวเลขของกรมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 3 ล้านกว่าตันแต่พอมาปี 2563-4 ตัวเลขจะลดลงไป ล้านกว่าตัน ล้านกว่าตันของแต่ละปีที่ลดหายไปนั้น มีคำถามใหญ่เลยว่ามันหายไป หรือว่าเป็นเพราะว่ากากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมันน้อยลง ซึ่งจากที่เราติดตามมาตลอดพบว่า ล้านกว่าตัน ที่ลดน้อยลงหรือหายไปจากระบบ มันถูกนำไปทิ้งในหลายพื้นที่ 

กระทรวงอุตสาหกรรมเองยังมีการพูด หรือว่ามีการเชื่อมโยงนโยบายของตัวเองเข้ากับเรื่องของเศรษฐกิจเวียนด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมกากอุตสาหกรรมอันตราย

กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยากจะมีการตั้งระบบหรือมีการพัฒนาระบบ E-fully Manifest ขึ้นมาจริงๆ ถ้าระบบนี้มันทำงานจริง กากอุตสาหกรรมจะไม่สามารถหลุดลอดไปสู่วงจรของการจัดการที่ถูกต้องและจะไม่ก่อปัญหาใดๆทั้งสิ้นเลย แต่ว่าทั้งหมดนี้มันหลุดรอดไปแล้วก็หลุดไปแต่ละปีถึง 1 ล้านกว่าตันด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก 

อีกส่วนที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามทำ คือช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมลดต้นทุนในการกำจัดของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตทั้งหมด ด้วยการทำ MOU กับกระทรวงพลังงาน แล้วต่อจากนี้ไป ก็จะมีการจับมือกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงพลังงานเพื่อเอากากอุตสาหกรรม ทั้งส่วนที่เป็นกากอันตรายและไม่อันตราย ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น มันมีเกิดขึ้นจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ว่าจะมีการส่งเสริมให้เกิดมากขึ้นไปอีก 

ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่จะไปตอบรับต่อนโยบาย BCG และ Green Economy ที่จะเน้นเป็นเรื่องของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากกากอุตสาหกรรมด้วย นั่นหมายถึงว่าจำนวนของเตาเผาและโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในอนาคตจะมีมากขึ้น 

สิ่งที่เป็นข้อห่วงใยของเราที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด คืออย่างที่พูดไปข้างต้นว่า มัน (กากอุตสาหกรรมอันตราย) หลุดรอดออกไปจากระบบการจัดการที่ถูกต้องถึง 1 ล้านกว่าตัน 

นี่คือภาพที่แสดงให้เห็นว่ามันหายไปไหน มันถูกนำไปทิ้งตามที่ต่างๆ ในภาพนี้คือส่วนของกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งอยู่ในรูปของน้ำเสียบ้าง กากน้ำมันบ้าง หรือว่ากากที่เป็นของแข็งบ้างอย่างที่เราเห็น ถังในรูป มีปริมาณถึง 8 หมื่นกว่าลิตร

กรมควบคุมมลพิษได้มีการประเมินว่า ถ้าจะฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนอย่างเช่นที่ ตำบลดีลังจังหวัดลพบุรี ในถังที่เราเห็น ภาพนี้ซึ่งจะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาทในการฟื้นฟูพื้น

นี่เป็นตัวอย่างนึงที่จะชี้ให้เห็นว่ามีปัญหากากที่มันก่อความเสียหายที่รุนแรงมาก หรืออีกอันนึงอันนี้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3000 ไร่ ทั้งอ่างเลยใช้ไม่ได้เนื่องจากมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียอุตสาหกรรมจากโรงงาน และจนบัดนี้ผ่านไป 3 ปีแล้วกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ที่เอาผิดกับโรงงานที่เป็นคนลักลอบปล่อยน้ำเสียได้อันนี้ก็ถือเป็นความบกพร่องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง ๆ ที่รู้ ที่พิสูจน์แล้วว่า โรงงานที่ปล่อยน้ำเสียนั้นลักลอบปล่อยเป็นโรงงานอะไร มันก็คือโรงงานรีไซเคิล ซึ่งเราอาจจะไม่ลงรายละเอียด

ในภาพนี้เป็นภาพที่จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย 

แผนที่ทางด้านซ้ายมือของจอจะเน้นเฉพาะส่วนที่เป็นกากอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2560 ถึง 2564 มีการลักลอบทิ้งกากทั้งในส่วนที่เป็นน้ำเสียและกากที่เป็นของแข็งรวมประมาณ 280 ครั้ง นี่รวบรวมจากข่าวเท่านั้น ที่ไม่เป็นข่าวก็จะไม่ไม่ถูกนำมาเสนอในสถิติตรงนี้ 

จะเห็นว่ามีการลักลอบทิ้งเยอะมาก ๆ เพราะฉะนั้นกากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีประมาณ ล้านตันกว่าๆ มันจะกระจายไปตามพื้นที่ชุมชนพื้นที่สาธารณะหรือว่าบ่อที่มีการขุดดิน เฉพาะปีนี้ก็มีการลักลอบทิ้งไป 35 ครั้ง 

นี่เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่มีการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า โดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ตอนนี้จริง ๆ เราบอกไม่ได้เลย ว่าเชื้อเพลิงที่เอาขยะมาเป็นเชื้อเพลิงมันมาจากขยะของชุมชนกี่แห่ง แล้วก็ขยะจากกากอุตสาหกรรมกี่แห่ง

แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เป็นต้นเหตุหรือเป็นต้นทางที่อันตรายมาก ๆ ของมลพิษทางอากาศ แล้วก็เป็นต้นเหตุที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เกิดขี้เถ้ามหาศาล ที่จะนำพาหรือว่าทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งดินและแหล่งน้ำอีกมหาศาล 

การทำลักษณะแบบนี้เพื่อตอบโจทย์เรื่องของ Circular Economy เพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนในการกำจัดกาก ในแง่หนึ่งมันดีอยู่แล้วที่จะต้องมีการหมุนเวียนวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ 

แต่การหมุนเวียนเหล่านี้จะต้องควบคู่มากับมาตรการที่รัดกุมและปลอดภัยอันนี้เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนโรงงานรีไซเคิลทั้งหมดของประเทศทั้งหมดจริงๆแล้วโรงงานลำดับที่ 105 106 จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล แล้วก็การหมุนเวียนหรือว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Circular Economy 

โรงงานลำดับที่ 101 จะเป็นโรงงานที่พูดถึงระบบบำบัดของเสียรวม เป็นโรงงานปรับเสถียรแต่ว่าทั้ง 3 ประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายโดยตรง

จะเห็นว่าตัวเลขพื้นที่ที่มีโรงงานกลุ่มที่สูงที่สุดถ้ารวมกันแล้ว 3 จังหวัด EEC ครอบครองจำนวนโรงงานทั้งหมดถึงเกือบ 30 % ของทั้งประเทศ แต่ถ้ารวมพื้นที่เขตอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่าง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มโรงงานประเภทนี่เยอะอยู่แล้วกับส่วนที่กำลังขยายออกไปก็คือ ปราจีนบุรี สระแก้ว ทั้งหมดที่จะครอบครองสัดส่วนของโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลเรื่องของ CE และการกำจัดของเสียถึง 50 % พื้นที่แถบนี้จะเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของมลพิษสูงมาก

นี่เป็นภาพตัวอย่างของการกระจุกตัวของโรงงานกลุ่มนี้ ในภาพจะเห็นว่าสีเหลืองอันนี้จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการคัดแยก แล้วก็ถ้าเป็นจุดดำ ๆ จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล สีต่าง ๆ อันนี้ภาพนี้ จะเกี่ยวข้องกับชนิดของวัสดุที่นํามารีไซเคิล ก็จะมีรายละเอียดอยู่ในผังอย่างเช่นอันนี้จะมีบอกเลยว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลมีการใช้วัสดุเข้ามารีไซเคิลเกี่ยวข้องกับ Frame ใหญ่คือเรื่องของ Circular Economy อยู่กี่ประเภท 

แต่ว่าพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวสูงสุด อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ก็จะอยู่ที่จังหวัดเหล่านี้ ทีนี้ในส่วนของทำไมเราต้องพูดถึงอันนี้เยอะ เราหยิบเรื่องนี้มาพูดค่อนข้างจะเน้นหลายครั้งในเกือบทุกเวทีที่เราพูด เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นอุตสาหกรรมที่หลาย ๆ ประเทศควบคุมการเกิดหรือว่าควบคุมไม่ให้มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลใหม่อย่าง อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จะควบคุมค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดลักษณะของนโยบายของการส่งออกวัสดุหรือว่าขยะต่างๆ มายังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลหรือว่าในการแปรสภาพไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นแหล่งมลพิษที่สำคัญมาก นอกจากตัวโลหะหนัก นอกจากตัวสาร vocs หรือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นตัวปลดปล่อยสิ่งที่เขาเรียกว่าสารอินทรีย์ที่สามารถอยู่ได้นานหรือว่ามีความคงทนได้นานในสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มไดออกซิน กลุ่มนี้ “อนุสัญญาสตอกโฮล์ม” ว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน ปัจจุบันจะมีรวมทั้งหมด 30 ตัว หรือว่า 30 กลุ่ม บางอันก็จะเป็นตัวเดียว ๆ บางอันก็จะเป็นกลุ่ม 

ตอนนี้มีการพยายามที่จะให้มีการลดการปล่อยสารกลุ่มนี้สู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากว่าตัวที่เป็นพิษอันตรายของมันจะอยู่ที่ การทำให้การเป็นสารก่อมะเร็งแล้วก็การเป็นสารก่อกลายพันธุ์หรือว่าการไปทำลายตัวยีนส์ หรือว่าทำลายระบบพันธุกรรมของมนุษย์แล้วก็สามารถทำลายระบบประสาทต่าง ๆ 

ความน่ากลัวของมันอยู่ตรงที่ว่าสารกลุ่มนี้จะอยู่ได้นานมาก ๆ ในสิ่งแวดล้อมและก็สามารถเข้าไปสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ อย่างเช่น ไปสะสมในนม น้ำนมแม่ น้ำนมวัวแล้วก็ตัวไข่ ซึ่งเป็นอาหาร แล้วก็จริง ๆ มูลนิธิเราได้มีการเก็บตัวอย่างไปศึกษาด้วย ก็พบว่ามันมีการสะสมจริงในประเทศไทย 

นี่เป็นภาพของ Dioxin Factory ซึ่งเป็นสื่อมวลชนและองค์กรผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่นี้ เขามาดูการรีไซเคิลในโรงงานของประเทศไทย และก็เขารู้สึกทันทีสิ่งที่รู้สึกทันทีมันก็ออกมาในลักษณะที่ว่าอันนี้คือ Dioxin Factory  Dioxin คือกลุ่มสารพิษกลุ่มที่พึ่งพูดไป เป็นหนึ่งในนั้น โรงงานรีไซเคิลที่จังหวัดฉะเชิงเทราเหมือนกับเป็นแหล่งก่อเกิดของสารกลุ่มนี้ที่น่ากลัว แล้วก็ที่นี่จะมีโรงงานรีไซเคิลที่เยอะมากๆ

นี่เป็นภาพที่เราไปเก็บพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายแล้วเราก็พบมีสารปนเปื้อนในระดับที่สูงมากๆ แล้วเราเพิ่งจัดแถลงข่าวไปเมื่อวันที่  15 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่านอกจากตัวกากนอกจากกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมดแล้วการลักลอบทิ้งกากเป็นตัวปัญหาใหญ่ ซึ่ง 2 ส่วนนี้ เมื่อรวมกันแล้วมันจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม 

ฉะเชิงเทรา ก็กลายเป็นพื้นที่ที่มีการเล็งเอาไว้ว่าจะมีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของการรีไซเคิลหรือว่าศูนย์กลางของระบบ CE เศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะ จากวัสดุใช้แล้ว ตรงนี้เป็นจุดที่อันตรายมากเพราะ มันจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในดินและก็ในแหล่งน้ำในกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่นี้”

Green Economy ที่ความเขียวยังอยู่แค่ในแผน

“Green Economy จากบทเรียน จากปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของมาบตาพุด ถ้าหลายคนจำได้ หลังจากที่มีการฟ้องคดีและทำให้ 76 โครงการปิโตรเคมีหยุดชะงักไปช่วงนึง มันทำให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยและหลังจากนั้นก็เริ่มมีการพูดว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาไปในทิศทางที่เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คำนึงถึงระบบนิเวศว่าจะรองรับมลพิษได้เท่าไหร่ แล้วก็การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวให้มันอยู่ได้อย่างเป็นมิตรกับชุมชน

ซึ่งนโยบายกับสิ่งที่ทุกคนวางเอาไว้ ทุกคนในที่นี้หมายถึง รัฐบาลกับผู้ประกอบการ วางไว้ให้สวยหรูมากๆ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ค่อยได้เป็นอย่างนั้น

การขับเคลื่อนเรื่อง Green Economy มันเริ่มมาจากโดยมันจะมีแผน มีโครงการต่างๆ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมพยายามทำใน 15 จังหวัดตัวนิคมอุตสาหกรรม หรือ กนอ พยายามทำในพื้นที่นิคมที่ตัวเองกำกับดูแลอยู่

แต่สิ่งที่เขาพยายามอย่างหนักเลยก็คือเรื่องของการปลดล็อคเขตควบคุมมลพิษที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การปลดล็อคเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของภาคประชาชน เหตุที่เขาต้องการปลดล็อคตรงนี้เพราะว่าจังหวัดระยอง เป็นสวรรค์ของการลงทุนอุตสาหกรรมอันตรายหลาย ๆ ชนิด

ถ้ายังไม่มีการปลดล็อคตรงนี้ภาพลักษณ์มันจะยังคงเสียหาย ยังไม่สามารถที่จะขยับขยายการลงทุนได้อย่างเต็มที่อย่างเต็มใจที่ตัวเองต้องการการปลดล็อคตรงนี้จะสำคัญมาก ๆ แต่สุดท้ายผลการศึกษาก็ประเมินว่า มันไม่สามารถที่จะปลดล็อคตรงนี้ได้”

“อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อยู่ร่วมยั่งยืนกับชุมชน” ฝันนี้ยังยากจะจริง

“อีกอันนึงที่น่าสนใจมากๆ เลยคือว่าในตัวนโยบายจะพูดเรื่องการอยู่ร่วมกันกับชุมชนพูดเรื่องการลดมลพิษควบคุมการปล่อยก๊าซต่างๆ ยกตัวอย่างง่ายๆเลยก็คือว่าในมติครมเมื่อปี 54 ได้มีการรับรองว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายควบคุมเป็นค่ามาตรฐานในการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายซึ่งบางตัวเป็นสารก่อมะเร็งเช่น สารเบนซีน 1,3 บิวทาไดอีนในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัดระยอง

ผ่านไป 11 ปีหมายนี้ยังไม่ออกแล้วทุกครั้งที่จะมีการขยับก็จะออกมากลุ่มอุตสาหกรรมก็จะรวมกันคัดค้าน ซึ่งตัวเราเองก็เป็นอย่างนั้นหรือกรรมการในเรื่องนี้เราก็เห็นเห็นบรรยากาศที่มันไม่ค่อยดี 

ปัจจุบันเท่าที่เราติดตามเรื่องของบริษัทอุตสาหกรรม เราเห็นว่าตัวที่เป็นตัวอันตรายมากๆ เลยคือ นอกจากเรื่องของมลพิษอากาศที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและก็มีสถิติผู้ที่เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศค่อนข้างสูงในประเทศไทย 

อีกตัวนึงที่น่ากลัวมาก ๆ คือ เรื่องของกากของเสียอุตสาหกรรมที่มีการลักลอบทิ้ง จัดการไม่ถูกต้องและแผนที่นี้คือแผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ปนเปื้อนในประเทศไทยหลายๆ แห่ง นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่กว่าครึ่งการปนเปื้อนนี้เกิดขึ้นจากการจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีปัญหาแล้วทำให้กากหลุดรอดออกไปจากระบบ

ซึ่งในที่นี้ การปนเปื้อนในส่วนนี้มันจะมีส่วนของของเสียอันตรายจากเหมืองแร่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง แล้วก็ไม่มีการกำกับที่ดีด้วย ปัจจุบันมีสารปนเปื้อนเหล่านี้ได้ลงสู่แหล่งน้ำบาดาล แหล่งน้ำใต้ดินเป็นบริเวณกว้างขวางและในหลายพื้นที่ด้วยมันเป็นอันตรายต่อระบบตรงนี้มาก 

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าประเทศไทยไม่มีกองทุนในการที่จะฟื้นฟู แต่ก่อนที่จะพูดคุยพูดถึงกองทุนเราไม่มีนโยบายเลยด้วยซ้ำ ว่าพื้นที่ปนเปื้อนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เราจะจัดการมันอย่างไรแล้วจะ Clean up มันไหม เราจะฟื้นฟูมันหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้มีเพียงแค่ประชาชนต่างพื้นที่ที่มีการฟ้องคดีต่อศาล แต่แม้ว่าศาลจะได้มีการพิพากษาให้มีการฟื้นฟูแล้วก็ตาม 

ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่ 2 เรื่องใหญ่ 1. ไม่มี Know-how ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีความสามารถพอที่จะฟื้นฟู และ 2. ที่สำคัญคือไม่มีงบประมาณใด ๆ เลย ในการที่จะฟื้นฟู ล่าสุดอย่างกรณีของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ ที่ตำบลน้ำพุ จังหวัดราชบุรี การที่จะฟื้นฟูได้สุดท้ายจากการต่อสู้อย่างหนักการกดดันอย่างหนัก 

กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องไปของบกลางจาก กระทรวงการคลังมาใช้ 70 ล้านเบื้องต้นในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน ที่ตำบลน้ำพุ จังหวัดราชบุรี นั่นเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลโรงงานที่ไม่ใหญ่เลย อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าปัญหามันใหญ่มากแต่ว่าการแก้ไขมันตามไม่ทันเพราะบ้านเราไม่มีนโยบาย”

5 ข้อเสนอเชิงนโยบาย

“ข้อเสนอทางนโยบายที่เราคิดว่าสำคัญก็คือ

  1. ประเทศไทยควรจะมีนโยบายและมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ ถึงเวลาที่เราจะต้องมีแล้ว 
  2. ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายหลายอย่างในการที่จะโยกถ่ายโครงสร้างอำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาสู่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่อย่างนั้นมันไม่เกิดการถ่วงดุลกัน
  3. เราจะต้องมีกฎหมาย PRTR ซึ่งถ้ามีกฎหมาย PRTR การควบคุมหรือการลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศและการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียจะทำได้ดี มีประสิทธิภาพ และรัฐบาลก็จะมีฐานข้อมูลในการกำกับดูแลที่แม่นยำด้วย
  4. ต้องมีการกระจายอำนาจพร้อมกับการกระจายทรัพยากรความรู้ความสามารถแก่ท้องถิ่น เพราะว่าตอนนี้โรงงานจำนวนมากไปอยู่ภายใต้การกำกับของท้องถิ่นแล้ว เนื่องจากหลังจากการเปลี่ยนกฎหมาย พรบ โรงงานแล้วโรงงานที่ต่ำกว่า 50 แรงม้า จะอยู่การกำกับดูแลของอบตหรือว่าท้องถิ่น ซึ่งเขาไม่มีศักยภาพแม้กระทั่งการตรวจโรงงานเขายังไม่รู้เลยว่าจะต้องตรวจยังไง
  5. นอกจากนี้ก็ต้องมีการพัฒนาระบบและกลไกทางยุติธรรมซึ่งสำคัญมากๆ กลไกนี้จะเป็นกลไกที่ดีต่อไปในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากขึ้น จากทุกวันนี้เราเข้าถึงยากมาก

สุดท้ายนี้อยากจะเพิ่มเติมจากสิ่งที่หลายๆ คนพูดถึงกระบวนการฟอกเขียว การสร้างภาพลักษณ์การติดตามปัญหามลพิษอุตสาหกรรมขยะอุตสาหกรรม มันทำให้เรารู้สึกว่าสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ ไม่แตกต่างอะไรเลยกับการพาสังคมให้เคลื่อนเข้าสู่ฟรีโซนของการก่ออาชญากรรมอำพรางทางสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งการก่ออาชญากรรมทางการก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมผู้กระทำผิดนั้นคือผู้ก่อมลพิษ แต่ผู้ที่สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นทางนโยบาย ทางกฎหมาย หรือใด ๆ ก็ตามคือผู้ที่สมคบคิดในการก่ออาชญากรรมนั้นถึงเวลาที่เราจะต้องรู้เท่าทันนะเรื่องนี้ทุกวันนี้จริงๆเราทั้งหลายรู้ทันแต่เราไม่รู้เท่า เพราะว่าเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลแล้วก็ไม่สามารถเข้าถึงกลไกอีกหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นข้อจำกัดของภาคประชาชน” เพ็ญโฉมกล่าว

(ภาพ : TED Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)