ไฟไหม้ใหญ่ “2 เหตุในรอบ 24 ชั่วโมง” เตือนเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีโดนไฟ

เกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ 2 แห่งในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา “บ่อขยะดงสีบู อำนาจเจริญ – โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์บางละมุง ชลบุรี” 

นักวิชาการ-เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมเตือน “มีความเสี่ยงสูง” ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบพื้นที่เกิดเหตุ อันเนื่องจากสารเคมีหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดสารพิษหลังการถูกเผาไหม้

เผยสะท้อนการจัดการ-รับมือที่มีอยู่ “ยังไม่ดีพอ-อาจเพิ่มความเสี่ยง” ชี้ “ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ-บนฐานข้อมูล-ถึงเวลาไทยต้องมีกฎหมาย PRTR”

(ภาพ : ONE31)

ไฟไหม้บ่อขยะ “ดงสีบู อำนาจเจริญ”

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณบ่อขยะดงสีบู ต.ไก่คำ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เมื่อเวลาประมาณ 19:20 น. วานนี้ (5 ม.ค. 2566) ซึ่งเป็นบ่อขยะที่มีพื้นที่กว่า 90 ไร่ และมีปริมาณขยะมากกว่า 400,000 ตัน

“บริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ มีกลุ่มควันลอยคลุ้งไปทั่วรอบๆ บริเวณก่อนถึงบ่อขยะประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยสามารถมองเปลวไฟพุ่งสูง 4-5 เมตร ได้จากระยะไกล” Thairath รายงาน

“มีการดำเนินงานร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งจากอบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง แขวงทางหลวงชนบท อบจ.อำนาจเจริญ และภาคเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลทั้งหมด 20 คัน ดังนี้ รถดับเพลิงและรถน้ำ จำนวน 12 คัน ,รถแม็คโค จำนวน 5 คัน ,รถตักหน้าขุดหลัง จำนวน 1 คัน,รถกู้ชีพ จำนวน 2 คัน,และเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น จำนวน 65 คน ช่วยกันระดมฉีดน้ำ เพื่อดับไฟ ที่โหมลุกไหม้อย่างรุนแรง โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพลิงจึงได้ลดความรุนแรงลง แต่ยังคงมีควันไฟคลุกกลุ่นอยู่ จึงต้องใช้รถฉีดน้ำเป็นบางช่วง เพื่อไม่ไห้เปลวไฟโหมลุกไม้ขึ้นมาอีกครั้ง และรถดับเพลิง จำนวน 5 คัน ยังคงเฝ้าระวังตลอดเวลา จากนั้น ได้ทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันการลุกลามระยะทาง 300 เมตร” บ้านเมือง รายงาน

“ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในวงจำกัด แต่ยังคงมีกลุ่มควันไฟคลุ้งทั่วบริวเวณ ทั้งนี้ต้นเพลิงอยู่ที่บ่อขยะจุดที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่ 16 ไร่ ลามไหม้ไปอย่างรวดเร็วนานหลายชั่วโมง หวั่นลามไปจุดที่ 1 พื้นที่ 79 ไร่ เจ้าหน้าที่เร่งให้รถแบ็กโฮทำแนวกันไฟ และต้องคอยฉีดน้ำสกัดตลอดเวลา เนื่องจากชั้นใต้ดินของกองขยะยังมีความร้อนสะสมอยู่มาก” one31 รายงาน

(ภาพ : Nation tv)

ไฟไหม้โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ “บางละมุง ชลบุรี”

วันนี้ (6 ม.ค.2566) เวลาประมาณ 03.30 น. ได้เกิดเพลิงลุกไหม้โรงงานผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ ต.โป่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี สาเหตุของเพลิงไหม้นั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

“เหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงบริเวณอาคาร 2 ภายในโรงงาน บริษัท สุภาวุฒิ อินดัสทรี จำกัด เลขที่ 44/2 ม.8 และอาคารที่เกิดเหตุนั้นเป็นอาคารฝ่ายผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แผนกเพ้นต์สี (Painting Factorry 2) ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่ภายในอาคาร จะเป็นสี และทินเนอร์ 

พิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ได้ระดมเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย รถน้ำกว่า 20 คัน เข้าสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลามเข้าไปยังบ่อพักน้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณกว่า 15,000 ลิตร” รายงานข่าวเปิดเผย

“เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัดแล้ว แต่เพลิงก็ยังไม่ดับสนิท โดยเกรงว่าที่ตัวอาคารอาจจะถล่มลงมาได้ตลอดเวลา จึงต้องใช้รถแบคโฮถล่มตัวอาคารลง แล้วระดมฉีดน้ำเข้าสกัด เพื่อไม่ให้ลุกลามเข้าไป 

ส่วนอีกจุดที่เป็นอันตราย นอกจากบ่อพักน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ยังพบว่ามีแก๊สแอลพีจี อีกกว่า 20 ถัง ทินเนอร์ สี จำนวนมาก ของโรงงาน จึงต้องใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเลี้ยงตลอดเวลา เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้าไป

นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มควันที่พวยพุ่งขึ้นปกคลุมบนท้องฟ้า และกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณหลายกิโลเมตร ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ สร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงว่า จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ขณะที่นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบางละมุง ยังคงปักหลักอยู่ที่จุดเกิดเหตุ พร้อมทั้งตรวจสอบบริเวณจุดน่าเป็นห่วงบริเวณ บ่อพักน้ำมันและจุดตั้งถังแก๊สแอลพีจี ส่วนทางบริษัทที่เกิดเพลิงไหม้ยังคงไม่เปิดเผยสาเหตุใดๆ กับผู้สื่อข่าว” Thai PBS รายงานเมื่อเวลา 09:42 น.

(ภาพ : sanook)

เตือน “เสี่ยงสูง” 

“ประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยคือว่า จะมีข้อเสี่ยงสูงมาก ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ หรืออยู่ใต้ลมในกรณีที่เกิดไฟไหม้ขึ้นมา เพราะสารเคมีเหล่านี้ถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพมากกว่าสารเคมีในสภาวะปกติ” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามใกล้ชิดด้านสถานการณ์ขยะ-สารเคมี-อุตสาหกรรม ให้ความเห็นต่อเหตุไฟไหม้ทั้งสอง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (ภาพ : Ted Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม)

“(กรณีไฟไหม้บ่อขยะ) การดับไฟภายในกองขยะทำได้ยากมากอาจเกิดการปะทุได้ตลอดเวลาจนมีควันดำและก๊าซ CO2 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในวงกว้าง

(กรณีไฟไหม้โรงงานฯ) สารเคมีอาจจะรั่วไหล กระจายไปในอากาศที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในบริเวณรอบ ๆ โรงงาน จริง ๆ ต้องมีการตรวจมลพิษทางอากาศด้วยหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้แล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาตรวจสอบเลยว่ามลพิษทางอากาศแพร่ออกไปถึงไหน เป็นสารอะไรบ้าง ตอนนี้เรารู้แค่ว่าเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ เบนซีน โทลูอีน ไซลีน ทินเนอร์ แล้วก็พวกน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะมีกลิ่นรุนแรง แล้วอย่างเบนซีนนี่ถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งด้วยนะ แต่ก็ไม่มีใครออกมาตรวจสอบ” สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็น

สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ภาพ : Voice online)

ภาพสะท้อน “การจัดการบ่อขยะที่ยังมีปัญหา”

“ไฟไหม้บ่อขยะ มีการตั้งประเด็นเรื่องการจัดการบ่อขยะที่ผ่านมา 

หน้าแล้งที่มีโอกาศที่จะเกิดความร้อน สันดาปตัวเองของกองขยะในพื้นที่ที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นมา 

สะท้อนถึงปัญหาของการจัดการกองขยะที่ไม่ถูกต้องที่มีหลายพื้นที่ และในอดีตเราเคยพบว่าบ่อขยะบางแห่งมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมปลอมปนเข้ามา จึงทำให้มีความไม่แน่ชัดว่าสาเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นเกิดจากการตั้งใจเผาทำลายหลักฐานการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมหรือไม่” เพ็ญโฉม กล่าว

“บ่อขยะนี้เป็นบ่อขยะแบบเทกองขนาดใหญ่ที่สุดโดยเริ่มแรกเทศบาลเมืองอำนาจเจริญได้ขอใช้พื้นที่เพื่อทำเป็นบ่อทิ้งขยะของเทศบาลเมื่อปี พ.ศ. 2538 ต่อมาได้เปิดให้ องค์กรปกส่วนครองท้องถิ่น (อปท.)ทุกแห่งในเขต จ.อำนาจเจริญ ใช้พื้นที่แห่งนี้ทำเป็นบ่อทิ้งขยะรวมของจังหวัด โดยเก็บค่ากำจัดขยะคิดตามน้ำหนักของขยะในแต่ครั้งที่นำมาทิ้งและโอนย้ายความรับผิดชอบดูแลไปให้กับ อบจ.อำนาจ เจริญตั้งแต่ปี 2556

ตอนนี้มีกองขยะที่เป็นกองภูเขากว่า 1670 กองทั่วประเทศ 

การเทกองขยะเป็นภูเขาโดยไม่ได้มีการบดอัดให้แน่นก่อนประกอบกับมีขยะอาหารจำนวนมากทำให้เกิดการย่อยสลายของสารอินทรีย์โดยจุลลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนเกิดก๊าซมีเทนกับก๊าซไข่เน่าสะสมอยู่ภายในกองขยะ จึงมีกลิ่นเหม็นและก๊าซมีเทนสามารถติดไฟได้หากมีความร้อนจากประกายไฟข้างนอกเช่น บุหรี่ หรือเกิดความร้อนสะสมในกองขยะเพิ่มขึ้นจนถึง 55 องศาทำให้ไฟไหม้ลุกลามได้ใหญ่โต การดับไฟภายในกองขยะทำได้ยากมาก อาจเกิดการปะทุได้ตลอดเวลา จนมีควันดำและก๊าซ CO2 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในวงกว้าง

นอกจากนั้น ถ้าเป็นฤดูฝนน้ำก็จะชะลงมาทำให้น้ำผิวดิน น้ำใต้ดินเกิดการปนเปื้อน ฤดูร้อนก็เกิดไฟลุกไหม้กองขยะได้เอง ถ้าเป็นฤดูหนาวก๊าซมีเทนถ้าไปเจอประการไฟ ไฟก็จะติดได้ มันเป็นมลพิษ

เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายแยกขยะ แล้วจัดการตามประเภทของมัน ขยะเปียกเอาไปทำปุ๋ยหมัก ขยะแห้งเอาไปเข้าโรงไฟฟ้าขยะ ขยะอื่นเอาไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือก็เอาไปฝังกลบ

ปัญหาอีกอย่าง คือตอนนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับขยะอยู่ 2 ฉบับ พรบสาธารณสุข พรบรักษาความสะอาด 2535 ซึ่งทั้งคู่สุดท้ายก็โยนไปให้ท้องถิ่นทำ แล้วท้องถิ่นก็จัดการไม่ถูกต้องเพราะไม่มีงบประมาณ สุดท้ายก็เอาไปกองกันไว้” สนธิ กล่าว

ภาพสะท้อน “การจัดการสารเคมีโรงงานที่ยังมีปัญหา”

“เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนที่ว่าประเทศไทยขาดกลไกที่จะกำกับ ติดตาม ตรวจสอบให้มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับ การใช้สารเคมี การจัดเก็บสารเคมี การตรวจสอบการรายงานต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าไม่มีระบบที่ดี และไม่มีกฎหมายพื้นฐานที่ดี มันจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้ง่าย 

การจัดการของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปรับมือกับสถานการณ์ไฟไหม้ ก็ไม่มีข้อมูลว่าในแต่ละโรงงานมีการจัดเก็บอะไร  สารอะไรที่มีความเสี่ยงต่อการจัดการ หรือต้องใช้โฟม หรือใช้สารเคมีบางอย่างในการที่จัดการกับเพลิงไหม้ 

การที่ทางหน่วยบรรเทาสาธารณะภัยไม่มีข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลอันตรายต่อตัวพนักงานที่เข้าไปรับมือแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันมันอาจจะยิ่งทำให้เกิดการระเบิดหรือว่าปะทุรุนแรงขึ้นมา” เพ็ญโฉมกล่าว

“โรงงานที่มีสารเคมีทั้งหลายในช่วงนี้ที่อากาศแห้งในฤดูหนาว บางทีสารเคมีสามารถทำปฏิกิริยากันได้เอง เกิดสารไวไฟขึ้นมา ถ้าเก็บอย่างไม่ถูกต้อง อย่างในปีที่แล้วช่วงฤดูหนาวก็มีไฟไหม้ประมาณ 22 ครั้ง

สิ่งที่กังวลก็คือ การเอาสารเคมีเข้ามากองในโกดังเยอะ ๆ เวลาเกิดไฟไหม้ขึ้นมา มันทำให้สารเคมีมันแพร่กระจาย อย่างที่บางละมุงก็กระจายไปถึง 5 กิโล แต่ไม่มีแผนอพยพประชาชน ไม่มีการเตือน และไม่มีใครไปตรวจวัดว่ามีสารอะไรออกมาบ้าง กระจายไปไกลแค่ไหน

แล้วการดับไฟที่เกิดจากสารเคมีต้องใช้ระบบที่เรียกว่า automatic ที่มีโฟมหรือมีสารอย่างอื่นพ่นออกมาโดยอัตโนมัติ แต่บางทีโรงงานไม่ได้ติดตั้งระบบนี้ไว้ ใช้คนดับไฟแทน แล้วสารเคมีบางตัวไม่สามารถใช้น้ำดับได้ ต้องใช้โฟม ทำให้เกิดปัญหาว่าไหม้มา 4-5 ชั่วโมงแล้วยังไม่ดับ เพราะการดับเพลิงที่ไม่ถูกต้อง ต้องมีการการตรวจสอบให้เข้มงวดในเรื่องมาตรการความปลอดภัย

แล้วโรงงานอย่างนี้เป็นโรงงานขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายทำ EIA เพราะฉะนั้นมาตราการป้องกันผลกระทบจึงมีค่อนข้างน้อย และเป็นไปแบบพื้นฐาน ซึ่งหน่วยงานที่ต้องเข้ามาดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยคือกรมโรงงานฯ ที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบโกดังสินค้าว่ามีโอกาศที่จะเกิดไฟไหม้หรือไม่ แล้วหน่วยราชการก็ไม่เข้มงวดในการใช้กฎหมายตรวจสอบ โดยต้องเข้าไปตรวจสอบทุกปี แต่ปัญหาคือ ให้โรงงานทำรายงานส่งไปเอง ซึ่งโรงงานก็ต้องบอกว่าตัวเองดีหมดอยู่แล้ว

โดยระบบของโรงงาน ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล กรมโรงงานฯเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ปกติต้องมีการประเมินว่าโรงงานนี้มีสารเคมีนี้เพราะฉะนั้นเวลาดับเพลิงต้องใช้อะไรบ้าง เช่น ถ้าเป็นสารเคมีก็ต้องมีระบบโฟม ก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์แห้ง แต่ว่าโรงงานส่วนใหญ่ไม่มี มีแต่ถังเล็ก ๆ ตั้งไว้ แถมส่วนใหญ่ก็ใช้แค่น้ำดับ 

อย่างที่บางละมุงต้องมีระบบโฟมพ่น ถ้าเกิดไฟไหม้ มีควัน เครื่องตรวจจับได้ก็ต้องมีโฟมพ่นเข้าไปยังที่เก็บสารเคมีแล้ว แต่ที่นี้ไม่มี เป็นโรงงานเล็ก ๆ ไม่มีการตรวจสอบ สุดท้ายก็เอาน้ำไปราดซึ่งมันดับไม่ได้ แล้วสารเคมีก็ฟุ้งกระจายออกไปรอบ ๆ 

แล้วจริง ๆ ต้องมีการตรวจมลพิษทางอากาศด้วยหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้แล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาตรวจสอบเลยว่ามลพิษทางอากาศแพร่ออกไปถึงไหน เป็นสารอะไรบ้าง ตอนนี้เรารู้แค่ว่าเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ เบนซีน โทลูอีน ไซลีน ทินเนอร์ แล้วก็พวกน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะมีกลิ่นรุนแรง แล้วอย่างเบนซีนนี่ถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งด้วยนะ แต่ก็ไม่มีใครออกมาตรวจสอบ 

ถึงตอนนี้ก็อยากให้หน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กรมควบคุมมลพิษ หรือ กรมโรงงานฯ เข้าไปตรวจสอบว่ามีมลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง มีสารเคมีหลงเหลืออยู่ในบรรยากาศหรือไม่ แล้วสาธารณสุขชลบุรีต้องเข้าไปตรวจสุขภาพประชาชนแล้วว่าได้รับสารเข้าไปมากน้อยแค่ไหน ได้รับผลกระทบอย่างไร แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครทำเลย ก็ทำแค่ดับไฟแล้วเลิกกันไป” สนธิ กล่าว

ข้อเสนอ 

“รัฐบาลควรออกกฎหมายแยกขยะ แล้วจัดการตามประเภทของมัน ขยะเปียกเอาไปทำปุ๋ยหมัก ขยะแห้งเอาไปเข้าโรงไฟฟ้าขยะ ขยะอื่นเอาไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือก็เอาไปฝังกลบ” สนธิ เสนอ

“การมีกฎหมาย PRTR จะช่วยให้ลดปัญหาไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมได้ กฎหมาย PRTR จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ไฟไหม้ได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากรู้ว่าแต่ละโรงงานมีสารเคมีตัวใดบ้าง ทำให้รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับสารเคมีตัวนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น” เพ็ญโฉมเสนอ