“ดูดีมาก” ในหลักการและเจตนา – จุดอ่อน ตอนนำไปปฏิบัติ – ยังคงมี “โครงการที่ควรต้องทำอีไอเอ แต่ไม่ถูกทำ” – ยังคงมี “โครงการทำอีไอเอ แต่ทำไม่ถูก ขาดการมีส่วนร่วม”- มีโครงการที่ต้องการมากกว่าอีไอเอ คือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสสตร์ SEA”
5 ประเด็นสะท้อนภาพสถานการณ์ “อีไอเอ” กลไกหลักในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการของไทย ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา ในสายตา รศ.ดร. เรณู เวชรัตน์พิมล นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอ “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และ SEA” ในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565
พร้อมข้อเสนอ ปลดล็อคทั้งระบบอีไอเอ “ห้ามเจ้าของโครงการทำอีไอเอ – มีกลไกคณะกก.กลั่นกรอง-มีผู้แทนชุมชนร่วม”
หมายเหตุ :
EIA : การวิเคราะห์ผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Environmental Impact Assessment)
EHIA : การวิเคราะห์ผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุภาพของโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Environmental and Health Impact Assessment)
SEA : รายงานการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment)
“ดูดีมาก” ในหลักการและเจตนา
“เรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งของ EIA และ SEA ขอเริ่มพูดจากพื้นฐานนิดหน่อย ว่ามันคืออะไร เขาทำกันยังไง แล้วถึงจะไปชี้ให้เห็นว่ามันมีปัญหาอะไร และนำไปสู่ข้อเสนอแนะ
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการทำแบบสอบถาม แล้วก็พบว่าคนไทยห่วงกังวลเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและรองลงมาจากเรื่องเศรษฐกิจ โดยกังวลถึง 37 %
โดย 45 % (ที่คนตอบแบบสอบถามกังวล) เป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน 35% เป็นเรื่องของมลพิษทางอากาศ และ 30% ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ แล้วก็พบว่า 62% บอกว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเขา
อีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง 41% บอกว่าจะแย่ลง เหมือนเดิม 32% และอาจจะดีขึ้น นี่มองบวกหน่อย 27%
ในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่าอีไอเอ (EIA) อาจจะได้ยินคำว่า EHIA ก็เพิ่มเรื่องสุขภาพให้เข้มข้นขึ้นมาหน่อย แล้วแต่ขนาดของโครงการ
มันจะเริ่มจากการกลั่นกรองโครงการ แล้วก็มาเรื่องของการจัดทำรายงาน ที่จัดทำโดยเจ้าของโครงการบริษัทที่ปรึกษา โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ หลังจากจัดทำรายงานแล้วก็จะเสนอรายงานนี่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ
เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว เขาก็จะนำรายงาน EIA ที่ได้รับความเห็นชอบไปประกอบในการขออนุญาตสร้างโครงการ
หลังจากที่มีการสร้างโครงการแล้ว จะต้องมีการติดตามผลกระทบตั้งแต่การก่อสร้าง และจัดทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการ(ที่ระบุไว้ในรายงาน) EIA
ซึ่งฟังแล้วก็ดูดีมาก คือเขียนเป็นตัวหนังสือนี่ดูดีมากเลย แต่การปฏิบัติจริงมีปัญหา”
จุดอ่อน ตอนนำไปปฏิบัติ
“มาดูต่อไป ว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี่เขาดูอะไรบ้าง ก็จะประกอบไปด้วย 3 วงสำคัญ ก็คือเรื่องวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ แล้วก็สังคมศาสตร์
วิทยาศาสตร์กายภาพจะดูเรื่องภูมิอากาศอากาศน้ำดิน แล้วก็ธรณีวิทยา ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจะดูเรื่องระบบนิเวศบนบกในน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องของที่ตั้งจะดูเรื่องภูมิประเทศ ทัศนียภาพ ผังเมือง
ส่วนสำคัญที่อ่อนแอมากๆในการประเมินก็คือผลกระทบในเชิงสังคมศาสตร์ที่มีต่อมนุษย์ต่อชุมชน ซึ่งจะต้องศึกษาเรื่องคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต การสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และก็การชดเชยเยียวยา ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจวิถีวัฒนธรรมของชุมชน
ตรงนี้นี่ถ้าเราไปเปิดรายงานส่วนใหญ่แล้ว (จะพบว่า) ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่อ่อนแอ แล้วก็เป็นส่วนที่ชุมชน(สามารถ) นำหยิบยกขึ้นมา เพื่อที่จะบอกว่ารายงานนั้นเป็นเท็จ มีข้อมูลเท็จ แล้วก็ (สามารถ) นำเข้าสู่ศาลเพื่อเพิกถอน EIA ก็มี
เมื่อทำรายงานนั้น สิ่งที่ราชการเขียนไว้ชัดเจนก็คือว่า จะต้องมีส่วนร่วมกับประชาชน หน่วยราชการ และเป็นการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย มีการกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากข้อมูลที่ประเมินได้ และถ้าพบว่าในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น เมื่อมีการสร้างโรงงานนั้นแล้วก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ให้เสนอมาตรการชดเชยเยียวยา
เท่าที่ดิฉันอ่านรายงานมา ไม่เคยมีมาตรการนี้เลย เพราะตอนที่เขาประเมินนี่ เขาก็จะประเมินว่า “สร้างผลกระทบแต่ไม่มีนัยยะสำคัญ” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งขัดแย้งกับบทที่เขาเขียนก่อนหน้านี้มาก เช่น คลองนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีเรือประมงไปทำประมงเยอะแยะ แต่เสร็จแล้วนี่ โรงงานจะทิ้งน้ำหล่อเย็น ซึ่งมีน้ำร้อนลงไปในคลองนี้ แต่ไม่สร้างผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญ
ดิฉันก็รู้สึกประหลาดใจมากเลย ว่าที่รายงานลักษณะที่มีความขัดแย้งอย่างนี้ แต่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้ ซึ่งมันก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากมาย
เมื่อทำเสร็จแล้ว ในเรื่องของการดำเนินการตามมาตรการผลกระทบนี่ มันจะต้องทำให้ถูกหลักวิชา แล้วก็มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่เอาเข้าจริงๆ จุดนี้ก็เป็นจุดอ่อนมากเลย คือถือว่า EIA ทำแล้วก็ทำไป เพราะว่าเอาแค่เสนอเพื่อขออนุญาตสร้างโรงงาน หลังจากนั้น แทบจะไม่เคยหยิบรายงานขึ้นมาอ่าน”
ยังคงมี “โครงการที่ควรต้องทำอีไอเอ แต่ไม่ทำ”
“ปัญหาคือ ถ้าเราไม่ทำ EIA ให้ดีนี่ มันก็ไม่สามารถที่จะปกป้องผลกระทบได้ เราจึงเจอวิกฤต ไม่ว่าจะทำให้เกิดโลกร้อน เกิดไฟไหม้ป่า เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ จนกระทั่งมีฝนตกมากมาย หรือความแห้งแล้ง ทั้งหมดนี่ มันสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสียหายทางเศรษฐกิจซึ่งมีความสำคัญมาก หลายอย่างในนระบบนิเวศ ถ้าเสียไปแล้วมันเอากลับคืนไม่ได้
ฉะนั้นลองมาดูต่อไปว่า EIA นี่มันต้องทำเพื่อปกป้องผลกระทบ แต่เอาเข้าจริง ๆ มีหน่วยงานโดยเฉพาะราชการไม่อยากทำนะ อ้างว่ามันจะทำให้เกิดความล่าช้า
เช่นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างกำแพงกันคลื่น เมื่อปี 61 ทั้งๆที่โครงการนี้ ความยาว 200 เมตรขึ้นไปจะต้องสร้างประเมินทำ EIA แต่เขาก็ใช้ความสามารถพิเศษไปขอปลดล็อคดึงออก ก็คือต่อไปสร้างโครงการกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA
ดังนั้นเมื่อเราไปตามชายทะเล ก็จะพบว่าหาดไม่มีเหลือมีแต่โครงสร้างที่ดูสกปรกแล้วก็พังไปตามความแรงของคลื่น ใช้งบประมาณก็มาก ซึ่งการอ้างว่ามันจะแก้ปัญหาไม่ทันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการกัดเซาะนี่มันไม่ได้ทำให้เกิดการพังทลายภายในวันเดียวหรือปีเดียวนะ ถ้าจะวางแผนมันสามารถทำได้
ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ก็คือการใช้วิธีการที่ไม่ได้เป็นโครงสร้างที่แข็ง ใช้ปักเสาไม้นะเป็นซิกแซกปักลงไปซัก 2 เมตร ระยะห่างระหว่างเสาเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของเสาไม้
ก็พบว่ามีการทำตัวอย่างนี้ที่ชะอำ เมื่อทำไปเมื่อ 5 พฤษภาคม 6 มิถุนายนนี้ก็เริ่มได้ทรายกลับคืนมา พอผ่านไปอีก 6 เดือนนี่ ได้ทรายกลับมา เป็นเนินทรายสูงมากกว่า 1 เมตร ซึ่งมันเป็นเนินทรายเพื่อป้องกันผลกระทบต่อชายฝั่งแบบตามธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศชายหาดยังคงเหลืออยู่ มันมีความสำคัญมาก เราเคยเห็นหอยเสียบ ปูลมใช่ไหมคะ นอกจากนี้มันยังเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลด้วย
เมื่อกี้นี้เราพูดถึงว่าควรทำ EIA แล้วก็อยู่ในรายการที่ต้องทำ แต่ก็สามารถที่จะไปดึงออกจนได้
ตอนนี้เราพูดถึงว่า มันมีลักษณะกิจกรรมโครงการที่สร้างผลกระทบ แล้วราชการก็เห็นมันสะสมมานานแล้ว แผ่ขยายออกไประยอง ปราจีน สระแก้ว พวกนี้ต่อไปนี่ในแผ่นดินนี่มันจะสะสมมลพิษและแหล่งน้ำด้วย ทำไมถึงไม่ทบทวนกิจกรรมหรือโครงการที่ต้องทํา EIA นะ ปล่อยให้ปัญหานี้มันสะสมมายาวนานมากกว่า 10 ปี
นี่เป็นตัวอย่างของโรงงานที่ระยองนะ ที่โรงงานรีไซเคิลทิ้งของเสียลงน้ำเสียรวมทั้งกากของเสียนี่ เขาอยู่ในที่สูง มันก็ชะลงมาที่พื้นที่ทำกินของเกษตรกร ต้นไม้ก็ยืนต้นตาย
ทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้ประเทศไทยเป็นถังขยะของโลกคะ ทำไมเราต้องนำเข้าขยะอันตรายเข้ามาเพื่อรีไซเคิลเอาสารอะไรบางอย่างเท่านั้น แต่ของเสียที่เกิดขึ้นนี่มันมีปริมาณสูงมากนะ แล้วก็เป็นอันตรายตกค้างยาวนาน
สัปดาห์ที่แล้ว ศาลก็สั่งแล้วว่าให้โรงงานนี้ต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแล้วก็ชดเชยเป็นเงิน 20 ล้านให้กับประชาชน แต่กระบวนการฟื้นฟูนี่มันไม่ได้ง่าย ความสามารถของบุคลากรในประเทศที่จะทำเรื่องนี้แล้วพื้นที่ที่มันปนเปื้อนนี่มันกว้างใหญ่
ดังนั้นต่อให้คดีสิ้นสุด คำถามก็คือว่าทำไม ในเมื่อในเมื่อมีคณะกรรมการที่ทำงานเรื่องนี้ทำไมถึงไม่ทบทวนนะ ที่จะให้เพิ่มประเภทของโครงการเข้าไปนะ”
ยังคงมี “โครงการทำอีไอเอ แต่ขาดการมีส่วนร่วม”
“นี่เป็นอีกโครงการหนึ่ง ก็คือเรื่องของการผันน้ำยวม ปัญหาที่พบคือว่าในรายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว ใต้ทะเลก็มีโลหะหนักมาก ชาวบ้านพบว่าคนที่มาทำรายงานเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ก็เลยไปร้องเรียนมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมันมันแสดงให้เห็นถึงจะผลกระทบในเรื่องของความเชื่อมั่นในจริยธรรม
ต่อไปก็ตัวอย่างของโครงการถ่านหินที่อมก๋อย เป็นการที่จะพยายามที่จะขุดถ่านหินขึ้นมาขายให้บริษัทซึ่งอยู่ใกล้ๆ เขาก็ลดต้นทุนในไม่ต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่มันปนเปื้อนมีการเปลี่ยนแปลงทางสายน้ำนี่ มันจะกระทบกระเทือนคนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาสายน้ํานี้
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่เราจะเห็นเป็นข่าวอย่างเช่น เขาก็เรียกร้องว่าเขาไม่ต้องการนะ แต่ว่ารายงาน EIA ผ่านการเห็นชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ยังสู้ แล้วก็ยื่นฟ้องเพิกถอน EIA อยู่ในขณะนี้”
มีโครงการที่ต้องการมากกว่าอีไอเอ “SEA”
“ภาพนี้นะเราจะเห็นได้ชัดเลยว่า ไอ้ควันดำที่เกิดจากการเป่าเผาปากปล่องหรือหอเผาทิ้งนี่ สร้างมลพิษในเชิงของ PM ในเชิงสารอินทรีย์ระเหยง่ายนั่นเอง ทำให้ 13 ปีผ่านมา หลังประกาศเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด มลพิษในสิ่งแวดล้อมยังเกินค่ามาตรฐาน ยังไงก็ไม่สามารถจะยกเลิกเขตควบคุมมลพิษได้ เพราะว่าสารก่อมะเร็งพวก VOCs นั้นเกินค่ามาตรฐาน และประชาชนต้องแบกรับสิ่งเหล่านี้
คือราชการมีการวิเคราะห์ว่า VOCs สำคัญ มาจาก 3 แห่งคือท่อไอเสีย เตาเผาศพ และโรงงาน
ท่อไอเสียเตาเผาศพเรียกดำเนินการควบคุมไปแล้ว แต่โรงงานควบคุมไม่ได้ จะออกประกาศร่างออกมาเสร็จเอกชนไม่เห็นด้วย ซึ่งมันมันไม่ยุติธรรมต่อชาวบ้าน เพราะเขามีสิทธิ์นะที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ราชการกลับละเลยมานาน ให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับมลพิษนี่นานกว่า 10 ปีและสถิติการเป็นมะเร็งของจังหวัดระยองนี่ก็สูงมาก
น้ำทะเล ลองมองสีสิคะใต้ทะเลนี้นี่มีแต่โคลนสีดำ มีโลหะหนักปนเปื้อน แล้วยังจะเพิ่มโรงงานเข้าไปภายใต้การส่งเสริม EEC เข้าไปอีก มองไปกลางคืนนี่อาจจะมองดูโชติช่วงชัชวาล แต่ความเป็นจริงแล้ว มันฟ้องให้เห็นว่าโรงงานได้มันอยู่ติดกันมากมายแล้วอยู่ติดกับชุมชนนะ
เพราะฉะนั้นการที่จะทำได้ นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก EEC นี่มันจำเป็นที่จะต้องประเมินมากกว่าการประเมิน EIA ซึ่งประเมินเป็นโครงการ อันนี้ควรจะประเมินแผนงานนโยบายโดยทำ SEA หรือการประเมินในระดับยุทธศาสตร์
ซึ่งชาวจะนะมาเรียกร้องว่าอยู่ดีๆ บ้านที่เขาอยู่นี่ก็มาขีดวงว่าจะทำนิคมอุตสาหกรรม จะทำท่าเทียบเรือ จะทำคลังน้ำมัน สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นเขาก็เรียกร้องว่าการที่จะทำแบบนี้มันจะต้องทำ SEA”
ทางออก “ปลดล็อคทั้งระบบอีไอเอ”
ห้ามเจ้าของโครงการทำอีไอเอ – มีกลไกคณะกก.กลั่นกรอง-มีผู้แทนชุมชนร่วม
“ในการปฏิรูประบบและกลไกในเรื่องของ EIA นี่อันที่ 1 ที่สำคัญเลย ต้องแยกเจ้าของโครงการและผู้รับจ้างทำรายงานประเมินออกจากกันให้ได้ ขั้นการกลั่นกรองโครงการ ต้องไม่ทำโดยเจ้าของโครงการ หรือผู้ประเมินต้องมีคณะทำงานที่ในเชิงวิชาการขึ้นมา แล้วทำกำหนดเป็น TOR ออกมา แล้วก็ไปประเมินตามนั้น
โดยที่ในขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ประชาชนต้องมีสิทธิ์ที่จะเสนอตัวแทนของตัวเองทั้งนักวิชาการและผู้แทนชุมชนเข้าไปร่วมฟังและให้ข้อมูล เช่นเดียวกับที่เราพบว่า เจ้าของโครงการมีสิทธิ์ที่จะทำอย่างนั้น
แล้วก็จะต้องมีการปรับปรุงบัญชีที่จะต้องทำรายงานประเมิน EIA นะเรื่องการพิจารณานั้นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการนั้นต้องมีความโปร่งใส ประชาชนต้องมีสิทธิ์อย่างแท้จริง
เพราะดิฉันเคยพาประชาชนทั่วไปเขาไม่ให้เข้า ไปในห้องการพิจารณาของ คชก แต่หน้าห้องนี่เราเห็นเจ้าของโครงการนั่งอยู่แล้ว คือมันแก้แต่ EIA ไม่ได้มันต้องแก้เรื่องอื่นๆด้วย”