พบทั้ง “สัญญาณบวก”และ “สัญญาณลบ” ในการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในรอบปีที่ผ่านมา
โดยสัญญาณบวกที่พบ รวมถึงกรณีการฟ้องร้องจนนำไปสู่การปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 การคุ้มครองชั่วคราวคดีเหมืองอมก๋อย คดีบ่อขยะศรีเทพและคดีบ่อขยะหนองพะวา ขณะที่สัญญาณลบที่พบ รวมถึง คดี EIA โรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่ 10 MW ขึ้นไป คดีเขื่อนไซยะบุรี และ การเสนอ 3 กฎหมายสิ่งแวดล้อมสำคัญ
ข้อสังเกตุพร้อม 3 ข้อเสนอสำหรับปีนี้จาก “สุรชัย ตรงงาม” เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565

สัญญาณบวก : “มาตรฐานฝุ่น PM2.5-เหมืองอมก๋อย”
“วันนี้ผมจะมาเสนอเรื่องสถานการณ์กฎหมาย ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในรอบปี 2565
สถานการณ์ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าไม่แตกต่างจากที่แต่ละท่านนำเสนอ เราก็จะพบว่ามีทั้งสถานการณ์ที่ประสบความสำเร็จ เราก็มีทั้งสถานการณ์ที่มีความท้าทาย และต้องทำกันต่อไป ซึ่งผมจะพยายามอธิบายผ่านตัวการดำเนินคดีในศาล ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรม รวมถึงร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ช่วงต้นปีภาคประชาชนได้มีการฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรี 2 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการประกาศค่ามาตรฐาฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศแล้วก็จากแหล่งกำเนิดที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีความเข้มงวดขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นหลังจากมีการฟ้องร้องไป ภายในระยะเวลา 4 เดือน หลังจากมีการฟ้องร้องไป หน่วยงานก็คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็มีการแก้ไขค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้มีความเข้มงวดขึ้น โดยมีความเข้มงวดตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดในระดับที่ 3 (WHO-Tier3)
อันนี้มันบอกอะไรเรา มันบอกว่า บางทีการฟ้องร้องก็เป็นการกระตุ้นหน่วยงานรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่รวดเร็วขึ้นอย่างหนึ่ง
ส่วนคดีนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพราะยังมีเกี่ยวกับเรื่องค่ามาตรฐานจากโรงงานอุตสาหกรรม
ก็มีชาวบ้านบางส่วน เช่นชาวบ้านกะเบอะดิน ที่อยู่ที่ อ.อมก๋อย ก็มีการไปฟ้องร้องเพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ชุมชนเห็นว่าไม่ครบถ้วน ให้ข้อเท็จจริง มาตราการป้องกันไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอ รวมถึงมาตราการในการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ยังไม่ดีเพียงพอเช่นเดียวกัน
คดีนี้หลังจากมีการฟ้องร้องไปประมาณ 4-5 เดือน ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
คุ้มครองชั่วคราวอะไร คุ้มครองชั่วคราวให้ตัวรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมห้ามนำเอาไปใช้ในการอนุมัติ อนุญาตการทำเหมืองแร่ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งอันนี้เป็นมาตราการคุ้มครองชั่วคราวที่ใช้ในศาลสำหรับกรณีที่หากว่ามีความเสียหายยากต่อการเยียวยาในภายหลัง ศาลเห็นว่ามีข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง มีข้อเท็จจริงที่เพียงพอ ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้ก่อน
ซึ่งอันนี้เป็นการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการวินิจฉัยก็รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญย้อนหลังไปถึงรัฐธรรรมนูญ 50 เพราะตัวรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีการอนุมัติ อนุญาตมาตั้งแต่ปี 255- กว่า ๆ ก็คือนานมากแล้ว แต่เพิ่งจะเอามาใช้ในการอนุมัติ อนุญาต
คดีนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเช่นเดียวกัน”
สัญญาณบวก : คดีบ่อขยะศรีเทพ-หนองพะวา
“คราวนี้เรามาดูว่า เราเห็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมที่น่าสนใจ อันหนึ่งที่ต้องชื่นชมเลยก็คือ เราเห็นความรวดเร็วขึ้นในการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม
เรามีตัวอย่างในคดีบ่อขยะศรีเทพ มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับเรื่องการปนเปื้อนมลพิษ แล้วหน่วยงานรัฐไม่เข้าไปดูแล แก้ไข หรือมีการฟื้นฟู
ปรากฏว่าศาลสามารถที่จะพิจารณา และมีคำพิพากษาได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งนี่มันเป็นมาตรฐานใหม่มาก ๆ ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ถ้าเทียบกับที่เราเคยจำได้ เรามีคดีการปนเปื้อนมลพิษ สารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ มีการพิจารณาพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดเนี่ย 9-10 ปี อันนี้มัน 3 เดือน แต่ว่า 3 เดือนนี้ก็คือ ก็ยังแค่ศาลชั้นต้น แต่มันดีกว่าเดิม ต้องขอชื่นชม
คดีของศาลยุติธรรมก็เช่นเดียวกัน คดีบ่อขยะที่หนองพะวา ก็มีคำพิพากษาว่า บริษัทกระทำละเมิดก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีการปนเปื้อน น้ำทั้งใต้ดินบนดิน ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดระยอง ก็พิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย 20 ล้านกว่าบาท รวมถึงมีหน้าที่ต้องไปดำเนินการฟื้นฟู ซึ่งอันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ความรวดเร็วอีก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ 3-4 เดือน เหมือนกรณีศาลปกครองของกรณีศรีเทพ แต่ก็มีความรวดเร็ว ปีกว่า ๆ เท่านั้น”
สัญญาณลบ : คดี EIA โรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่ 10 MW ขึ้นไป-คดีเขื่อนไซยะบุรี
“คราวนี้เรามาดูว่า เราสำเร็จหมดไหม คำตอบก็คือไม่
เรามาดูย้อนถึงคดีที่มีการฟ้องร้องไป คราวนี้เป็นตัวอย่างคดีที่มีการฟ้องไปนานแล้ว ก็คือมีการฟ้องให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพฯที่ไปยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่ 10 MW ขึ้นไป ไม่ต้องทำ EIA ซึ่งอันนี้ศาลมีการวินิจฉัยรับรองเรื่องสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเพียงแต่ว่า ศาลอาจจะเห็นว่า สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ศาลตีความว่าไม่เข้าตามเงื่อนไขที่จะต้องมีการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
ซึ่งคดีนี้ก็มีการอุทธรณ์อยู่ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือคดีมลพิษข้ามพรหมแดน อย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี อันนี้ก็เป็นมหากาพย์อีกคดีหนึ่ง เพราะว่าจริง ๆ ก็มีการฟ้องร้องเรื่องเขื่อนที่มีการสร้างที่ไซยะบุรี ซึ่งอยู่ในประเทศ สปป.ลาว แต่ว่าอาจจะมีผลกระทบข้ามพรหมแดนมายังพี่น้องที่อยู่บริเวณริมน้ำโขง
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง รายละเอียดก็อาจจะต้องไปตามอ่าน เพราะเราไม่มีเวลาพูด แต่ว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ศาลรับรองเรื่องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีถ้าหากการดำเนินการใด ๆ จะมีผลกระทบ แม้แต่การไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว คือจากเขื่อนไซยะบุรีก็ตาม เพียงแต่ว่าศาลอาจจะเห็นว่า แม้ว่าถึงรัฐธรรมนูญจะรับรอง แต่ข้อเท็จจริง ศาลไม่เห็นว่าการทำสัญญาซื้อขายจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรง อันนี้ก็เป็นเชิงเทคนิคทางกฎหมาย”
สัญญาณลบ : การเสนอ 3 กฎหมายสิ่งแวดล้อมสำคัญ
“แล้วตัวกฎหมายละ เรากำลังเห็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลง ในปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นศาล หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เสนอกฎหมายสำคัญ 3 กฎหมายเข้าสู่การพิจารณารับฟังความคิดเห็น พูดง่าย ๆ ว่าอยู่ในระหว่างการจัดทำเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งถ้าเสร็จสิ้นการเสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นด้วย ก็จะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นตัวกฎหมายต่อไป
กฎหมายทั้ง 3 เรื่องคือ 1. พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะมาแทน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 ซึ่งถ้านับมาถึงปัจจุบันก็ใช้มาถึง 30 ปีเลยนะ พึ่งจะมีการแก้ไขแบบทั้งหมดเลย 2. และ 3. ในกระบวนการยุติธรรมก็จะมีการเสนอตัวกฎหมายวิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมต่างหาก แยกจากคดีทั่ว ๆ ไป ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมาเรายังใช้วิธีพิจารณาคดีเหมือนคดีทั่ว ๆ ไป ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองเสนอวิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อทีจะผลักดันให้กลายเป็นกฎหมายต่อไป
กฎหมายทั้ง 3 ฉบับมีความสำคัญในแง่ของสร้างหลักการใหม่ ๆ จำนวนมากเช่น อย่างพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมแต่ชาติมีการเสนอเรื่องหลักประกันความเสี่ยง การเพิ่มหลักประกันความเสี่ยงของกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง กิจการอย่างนี้ต้องมีการวางหลักประกันความเสี่ยง
หรือตัววิธีพิจารณาคดีทั้งศาลปกครอง และศาลยุติธรรมเองก็พยายามที่จะวางหลักการให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น มีการเปิดช่องในการฟ้องร้องคดี หรือในการบังคับคดีที่อาจจะไปผูกพันบุคลภายนอก ถ้าเกิดว่าสามารถที่จะพิพากษาเกินกว่าคำขอของคู่ความได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น
อันนี้ก็จะเป็นร่องรอยความเปลี่ยนแปลงซึ่งสำคัญมากสำหรับกระบวนการยุติธรรม หรือการปกป้องเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต”
ข้อสังเกต และ 3 ข้อเสนอ
“คราวนี้ผมมีข้อสังเกต และข้อเสนอสั้น ๆ ประมาณ 3 ข้อ
1. เราจะพบว่าศาลให้ความสำคัญในการรับรองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของประชาชน
ถามว่าการรับรองสิทธิพวกนี้มันมีผลยังไง ก็มีผลอย่างคดีที่เราเสนอไปว่ามันเป็นฐานที่ศาลจะนำมา รับรองและบอกว่า รัฐเองต้องเคารพ ไม่ละเมิด และต้องสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมได้อย่างจริงจัง
เรามีตัวอย่างถ้าเราจำได้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราเคยมีตัวอย่างคดี 76 โครงการมาบตาพุดที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับกระบวนการการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วคดีนั้นศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกับยุติการดำเนินโครงการที่มีผลด้านสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดไว้ก่อน ซึ่งมีผลมหาศาลต่อกระบวนการยุติธรรม ต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะเรื่องการคุ้มครองพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ว่าสิ่งที่น่าเสียดายก็คือ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เคยเขียนไว้ และถูกศาลนำมาตีความ รวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย บางส่วนในรัฐธรรมนูญ 60 มีการตัดออกไป ถามว่าที่ผ่านมาศาลทำยังไงคือในการดำเนินคดีศาลจะพิจารณาตัวรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ขณะดำเนินคดี ที่นี้พอคดีมันนาน มีการฟ้องร้องกันตั้งแต่รัฐธรรมนูญเก่า ก็นำเอารัฐธรรมนูญเก่ามาวินิจฉัยประกอบกับรัฐธรรมนูญใหม่
ปัญหาก็คือว่าหากสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชน ไม่มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ 60 การรับรองสิทธิก็จะมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้นหรือไม่
จริง ๆ แล้วลักษณะนี้มันสอดคล้อง จริง ๆ การมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี มันสอดคล้องว่าปัจจุบันในปีนี้ทาง UNGA สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชน โดยมีความคาดหวังว่า รัฐนานาประเทศที่เป็นสมาชิกจะนำเอาหลัก สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือหลักคุ้มครองกระบวนการการมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมของประชาชนเข้าไปบัญญัติเป็นกฎหมาย เป็นรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในแต่ละประเทศ และนำไปจัดการให้มีผลในทางปฏิบัติจริง พูดง่าย ๆ ว่าหลักในสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ดีได้รับการรับรองในระดับสากล
คราวนี้ในต่างประเทศมีงานวิจัยยืนยันว่า 170 กว่าประเทศมีการบัญญัติเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีในรัฐธรรมนูญ คำถามก็คือว่าของเราควรมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
ยกตัวอย่างประเทศอาเจนติน่าก็มีบัญญัติไว้ว่า รับรองสิทธิประชาชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี แล้วก็สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน และไม่ไปละเมิดสิทธิของคนรุ่นต่อไป อันนี้ก็เป็นของอาเจนติน่า
คำถามก็คือว่าสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนควรจะต้องถูกผลักดันอย่างเข้มแข็งในรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อไปในอนาคต นี่เป็นของเสนอข้อที่ 1
ข้อที่ 2 การผลักดัน สนับสนุนนโยบายและกฎหมายที่สร้างความเข็มแข็ง อย่างตัวอย่างที่เราเห็นไปว่าประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ตรวจสอบเรียกร้องสิทธิทำให้เกิดบรรทัดฐานความเข้มแข็งของการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่เราต้องเรียกร้องผลักดัน การตรวจสอบตัววิธีพิจารณาหรือกฎหมายสิ่งแวดล้อม 3 ฉบับที่กล่าวไป เราต้องเข้ามาสอบอย่างจริงจังว่าในสมัยหน้าของการพิจารณาจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อผลักดันให้เป็นกฎหมายที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือรับรองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างจริงจัง
ข้อที่ 3 ผมคิดว่าความเข้มแข็งของประชาชนรวมถึงความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคีประชาชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สถานบันการศึกษา นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม พรรคการเมือง หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐบางส่วนเป็นตัวทำให้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีมีผลในเชิงปฏิบัติ
ดังนั้นผมคิดว่าในการเลือกตั้งที่เราต้องเรียกร้องก็คือ เราต้องเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องประกาศนโยบายในการสนับสนุนการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม หรือสนับสนุนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความชัดเจน
เพื่อที่ประชาชนจะได้เลือก หรือมีความเห็นกับตัวของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่จะเข้าไปสู่รัฐสภา หรือเข้าไปสู่รัฐบาลเพื่อที่จะผลักดันนโยบายของตัวเองด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความชัดเจนต่อไป
ที่ผ่านมาเรามักจะพบว่าพรรคการเมืองมักจะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่คลุมเครือ และไม่ชัดเจน ผมคิดว่าต้องมีการผลักดันให้มีการประกาศอย่างชัดเจน แล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเราอยากจะผลักดันให้ประเทศนี้ไปสู่สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร”
