6 ประเด็น “ความจริงขม ๆ ส่งท้ายปี” เรื่องสถานการณ์และแนวโน้มพลังงาานไทย ทั้งน้ำมัน ค่าไฟ ที่ล้วนวิกฤตบนความพลาดผิดทางนโยบาย ที่ยังยากจะเห็นทิศการยูเทิร์น พร้อมความหวังเล็ก ๆ ว่า “กบที่ว่ายในหม้อต้ม” อย่างภาคประชาชนจะตื่นรู้ ตื่นตัว และลุกขึ้นแสดงพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง
- “ไกลห่างจากปลายทาง “พอเพียง พึ่งตัวเอง”
- ราคาน้ำมันพุ่ง เพราะ “นโยบายค่าการกลั่น”
- ค่าไฟแพง เพราะแรง “นโยบายเอื้อทุนใหญ่พลังงาน”
- ไม่สน “ขัดรัฐธรรมนูญ”
- สวนทิศ “ประชาธิปไตยทางพลังงาน”
- สวนทาง “ข้อตกลงนานาชาติ” ลดโลกร้อน”
ผศ. ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค นำเสนอ “ความยั่งยืนและเป็นธรรมระบบพลังงานที่เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม” ในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565 (ดูย้อนหลัง)

ไกลห่างจากปลายทาง “พอเพียง พึ่งตัวเอง”
ประเด็นที่ผมจะนำเสนอในวันนี้จะเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน แต่ว่าจะขอแถมไปนิดนึงว่า เราเสนอต่อผู้บริโภค ไม่ใช่แค่รัฐบาลอย่างเดียว เพราะว่าที่ผ่านมารัฐบาลก็เป็นนาโต้ซะมากกว่า คือพูดอย่างเดียวไม่ทำอะไร
จากในรูปเป็นผู้เชี่ยวชาญ 2 คนกำลังสำรวจหาแหล่งพลังงานอย่างตั้งอกตั้งใจ แล้วก็มองไปที่พื้นดิน มันต้องมีแหล่งพลังงานอยู่ใต้นี้แน่ ๆ เลย แต่ดวงใหญ่ ๆ นั้น 2 คนกลับไม่เห็น แหล่งพลังงานที่มีมากที่สุดในจักวาลเลยก็ว่าได้
ปัญหาของพลังงานในช่วง 6 เดือนแรก เราใช้พลังงานไปคิดเป็นมูลค่า 1.23 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.4% ของ GDP ซึ่งสูงมาก สูงที่สุดตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ก็ประมาณนี้ แต่ว่าช่วงนี้สูงที่สุด ในจำนวนนี้คิดเป็นไฟฟ้า 3.66 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นน้ำมัน 7.08 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขของครึ่งแรกของปีนี้
สิ่งนี่ผมจะพูดเน้นก็คือ เรื่องไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเราพอจะมีปัญญาทำเองได้ ภาคประชาชนพอจะทำเองได้ แต่น้ำมันจะค่อนข้างยาก แต่ผมจะชี้ให้เห็นกลลวงกลโกงของบริษัทพลังงาน
ถ้าเราย้อนไปในอดีตสิ่งที่เราพูดกันมาก คือเศรษฐกิจพอเพียง คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการพึ่งตนเองนั่นเอง แต่ว่าเอาเฉพาะเรื่องพลังงาน ตั้งแต่ปี 57 เราพึ่งพลังงานของเราเอง 43% ประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ 43%
ณ วันนี้มันลดลงเหลือ 24% เท่านั้น ในขณะที่เราพูดถึงพอเพียง ๆ แต่ว่าในความเป็นจริงความพอเพียงเรา ความพึ่งตนเองของเราลดลง ๆ จาก 43% เหลือ 24% ในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา
นักการเมืองของเยอรมันคนหนึ่งบอกว่า “ถ้าเราปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมาเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” ไม่ว่าจะกี่ปีมันก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นทางออกมันอยู่ที่ประชาชน
ราคาน้ำมันพุ่ง เพราะ “นโยบายค่าการกลั่น”
เรื่องน้ำมัน ครึ่งปีคนไทยจ่ายค่าน้ำมันไปกว่า 7 แสนล้านแล้ว นี่แค่ครึ่งปีนะ
เราถูกทำให้เชื่อว่าน้ำมันแพงเพราะว่าสงคราม ซึ่งเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้วมันโกงกันภายใน
ภาษีน้ำมันรัฐบาลเคยเก็บอยู่ประมาณ 5 บาท พอน้ำมันขึ้นรัฐบาลก็ลดลง แต่ปัญหาก็คือค่าการกลั่น ค่าการกลั่นที่ผ่านมา 10 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2012 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละประมาณ 1-2 บาทเท่านั้น แต่พอมาถึงช่วงนี้ ช่วงสงคราม มันฉวยโอกาศขึ้นเป็น 5-6 บาทกว่าเฉยเลย อันนี้ไม่เกี่ยวกับต้นทุนด้วยนะ ค่าการกลั่นคือผลต่างระหว่าง ราคาขายที่หน้าโรงกลั่นรวมกัน ผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่นที่หน้าโรงกลั่นลบด้วยราคาน้ำมันดิบที่หน้าโรงกลั่น
เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับต้นทุนการผลิต แต่มันฉวยโอกาศขึ้นจากบาทเศษ ๆ มาเป็น 5-6 บาท ณ วันนี้ประมาณ 3.80 บาท และก็เป็นอย่างนี้ทั่วโลก มันก็ส่งผลให้กับบริษัทน้ำมัน รำ่รวยขึ้นไปกำไร 10 เท่าตัว ในช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ค่าไฟพุ่งแพง เพราะแรง “นโยบายเอื้อทุนใหญ่พลังงาน”
สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยจัดเสวนาเมื่อไม่กี่วันมานี้เรื่อง ไฟฟ้า ซึ่งเราเสียค่าไฟฟ้าปีหนึ่งประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี หัวข้อสัมนาก็ดีมากเลย “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่”
เรื่องนี้มีคนยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แล้วยื่นไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นไปประมาณ 3-4 ปีแล้ว ปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยแล้วว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ทำอะไร
ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญแล้วสั่งให้แก้ไขภายใน 10 ปี แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไร แถมยังหนักกว่าเดิม
เรามาดูค่าไฟแพงก่อน ในหนึ่งปีค่าไฟฟ้าขึ้น 28% แต่ GDP ขึ้นประมาณ 3-4% เท่านั้น GDP ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นภาคธุรกิจด้วย ภาคประชาชนแทบไม่ขึ้นเลย เงินเฟ้อด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นนี่คือปัญหา ค่าไฟขึ้นไป 28% แต่รายได้ของประเทศขึ้นแค่ 3-4% เท่านั้น
แล้วรัฐผิดพลาดยังไง
- เริ่มตั้งแต่การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าสูงเกินจริง เป็นวงจรอุบาทว์เลย วางแผนให้สูงเอาไว้
- แล้วก็ประมูลสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนให้มาก ๆ
- แล้วก็ทำสัญญาแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย แปลว่าไม่ได้ผลิตเลยเป็นปี ๆ แต่ได้ค่าผลตอบแทนไปตามสัญญาที่กำหนด
- โดยมีประชาชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย
- แล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ที่นี้มาดูตัวเลขกัน เอาเฉพาะโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ของประเทศไทยมีอยู่ 12 โรงไฟฟ้า ณ วันนี้ 5 โรงไม่ได้เดินเครื่องเลยมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ไม่ได้เลยแม้แต่น้อยแต่ได้เงินไป เฉพาะเดือนพ.ค.-ส.ค. 65 5 โรงนี้ได้ไปเกือบ 8 พันล้านบาท ถามว่าเขาผิดสัญญาไหม ก็ไม่ได้ผิดมันเป็นไปตามสัญญา แต่มันผิดที่ผู้ว่านโยบายผู้ทำสัญญา
ไม่สน “ขัดรัฐธรรมนูญ”
มาดูเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 กับ 2560 เขียนเหมือนกันเลย รัฐธรรมนูญที่เรายกย่องกันมากคือปี 2540 ที่เขียนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเอาไว้ แล้วก็ไม่มีคำว่าพลังงานเลยนะ คำว่าพลังงานเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 แล้วก็ปี 2560 แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมีคำอยู่คำหนึ่งคือคำว่า ความมั่นคงทางด้านพลังงาน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่นิยามความมั่งคงคืออะไรก็เป็นที่สับสนกันอยู่
รัฐธรรมนูญปี 2550 บอกว่ากิจการสาธารณูปโภคในรัฐที่เป็นพื้นฐานของประชาชนรัฐต้องถือครองไม่น้อยกว่า 51% อันนี้เป็นแนวนโยบายพื้นฐาน
แต่พอมาปี 2560 เขียนตัวเดียวกันเลยแต่เน้นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ต่างกันเลยนะ อ.บรรเจิด นักกฎหมายมหาชนบอกว่า หน้าที่ของรัฐแปลว่าต้องทำ แต่แนวนโยบายพื้นฐานไม่ทำก็ยังพอไหว แต่อันนี้ต้องทำ
เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับมัดเอาไว้แน่นหนามากว่าเป็นหน้าที่ของรัฐต้องทำให้ โรงไฟฟ้า ระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นของรัฐไม่น้อยกว่า 51% แต่เรามาดูข้อเท็จจริง ก่อนปี 2537 สาธารณูปโภคพื้นฐานของเราในด้านพลังงานไฟฟ้ารัฐถือครอง 100% แต่ก็ค่อย ๆ ลดลงมา ปี 43 เหลือ 77% ปัจจุบันปี 65 เหลือ 32%
ปัญหาอยู่ที่ว่าการตีความว่าระบบผลิตไฟฟ้าแปลว่าอะไร จะนับส่วนไหน จะนับโรงไฟฟ้าแบบแยกส่วนหรือรวมหมดทั้งระบบ มันมีระบบผลิต ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย(ภูมิภาค กับ นครหลวง) เราจะคิดอย่างไรเรื่องนี้ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ตอนแรกศาลรัฐธรรมนูญไม่รับฟ้อง เราก็ยื่นใหม่คราวนี้ก็รับฟ้อง มีมติเป็นเอกฉันท์รับฟ้องแล้ว แต่จะวินิจฉัยเมื่อไหร่ ไม่ทราบ
ในตรรกศาสตร์เบื้องต้น ถ้าระบบมันมันคงเนี่ย ถ้าระบบประกอบด้วยหลายส่นว มันต้องมั่นคงทุกส่วน แต่ถ้านิเสธของมันเนี่ย ถ้ามันไม่มั่นคงส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็แปลว่าระบบมันก็ไม่มั่นคง
ลองมาดูตัวอย่างว่าต่างประเทศเขาจัดการกันยังไงเรื่องพลังงานไฟฟ้า
Dr. Hermann Scheer เขาบอกว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากได้ ให้ป้อนเข้าสู่สายส่งได้เลยไม่จำกัดจำนวน แล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคทั้งประเทศ” ไม่จำกัดจำนวน คำนี้ความหมายดีมาก ซึ่งเขาทำได้สำเร็จ เยอรมันทำได้สำเร็จ พลังงานหมุนเวียนเติบโตเร็วมาก
แต่ของเราประเทศไทยทำยังไง สัญญาล่วงหน้า 25 ปี ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ไม่ผลิตก็ต้องได้เงิน มันต่างกันเลยนะ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาซื้อขายล่วงหน้าเป็นวันนะ วันนี้กำหนดราคากันแล้วพรุ่งนี้ก็ไปจ่ายเงิน ความต้องการเปลี่ยนไปก็ปรับตัวได้ทัน ไม่ต้องมารอ 25 ปี เศรษฐกิจซบ โควิดมา ระบบทั้งระบบพังหมด แต่เราต้องจ่ายตังค์ ผู้บริโภคจ่ายตังค์ตลอดเวลา แต่ผู้วางแผนไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ นี่คือระบบของเรา
ตัวอย่างของแคลิฟอร์เนียเมื่อ 6 ธ.ค. 65 ที่เป็นหน้าหนาว แต่เขาผลิตไฟฟ้าได้จากโซล่าเซลล์ 66 ล้านหน่วย ถ้าเป็นบ้านเราก็เกือบ 2 ร้อยล้านบาท ต่อวัน วันเดียวในหน้าหนาว แดดน้อยมาก แต่ผลิตได้ วิธีการก็คือว่า ถ้ามีแดดเยอะก็ลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติลง ลดการนำเข้าลง มันลดได้ทันทีทันใด ไม่ต้องไปรอ 25 ปี นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่ยอมทำ
แผนของกระทรวงพลังงานบอกว่า ความมั่นคง แปลว่ามีพลังงานใช้ ตลอดเวลา มีสำรอง แต่มันขาดหัวใจที่สำคัญหมดเลยคือ ความเป็นธรรมไม่มี ไม่พูดถึง คาร์บอนต่ำไม่มี ใครจัดการชุมชนจัดการหรือว่าบริษัทขนาดใหญ่จัดการ ไม่มีพูดถึงเลย นี่คือการบิดประเด็นนิดเดียวเท่านั้นเอง
สวนทิศ “ประชาธิปไตยทางพลังงาน”
ประชาธิปไตยพลังงานต้อง 1. มีความยืดหยุ่น ตัวนี้สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีแย่เลย สามารถปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ 2. มีประสิทธิภาพ ประหยัดและลดการสูญเสีย ควบคุมโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ 3. คาร์บอนต่ำ ใช้พลังงานหมุนเวียนที่ส่วนใหญ่คือลม และแสงแดด 4. ควบคุมโดยท้องถิ่น ชุมชนเป็นเจ้าของ และมีอำนาจตัดสินใจในเศรษฐกิจพลังงาน กระจายการผลิต 5. มีความเป็นธรรม ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ และมีอำนาจเหนือสายส่ง สามารถเข้าถึงแหล่งทุน
แต่เราจะไม่เห็นคำเหล่านี้จากรัฐเลย
นี่เป็นรายงานของ IEA ที่เป็นองค์กรพลังงานสากล เขาเชิญประเทศไทยไปทำงานวิจัยร่วมกัน ทั้งกระทรวงพลังงาน ทั้งนักวิชาการระดับประเทศ ระดับโลก ผลการวิจัยบอกว่า 1. ต้องมีความยืดหยุ่น และ 2. ต้องส่งเสริมพลังงานหมุ่นเวียน
แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานไม่มองปัญหานี้เลย เก็บผลงานวิจัยเก็บเข้าลิ้นชักเลย ไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่ความยืดหยุ่นคือหัวใจของประชาธิปไตยพลังงาน หรือว่าความมั่นคงของพลังงาน
อีกเรื่องหนึ่งเป็นมติซึ่งออกมาในรัฐบาลรักษาการที่ พลเอกประวิตร เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อ 27 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ว่าให้รับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านด้วยระบบ Net Metering ออกมา 27 ก.ย. ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวง ปรากฏว่าถึงทุกวันนี้ ยังไม่ทำอะไรเลย
สภาองค์กรของผู้บริโภคก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบถาม มาปรึกษาหารือกัน ร่วมกันแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรดี ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าเลย
สวนทาง “ข้อตกลงนานาชาติลดโลกร้อน”
แล้วเรื่องพลังงานกับโลกร้อน 75% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากพลังงาน
แต่การแก้ปัญหาเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มันถูกประเมินเพื่อความโปร่งใส ก็ถูกประเมินโดยองค์กรหลายองค์กร องค์กรหนึ่งคือ CAT (Climate Action Tracker) มี 37 ประเทศปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 85% ของทั้งโลก
เขาบอกอีกว่าถ้าทำตามประเทศไทยอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียส แล้วเขาเลยประเมินให้ประเทศไทยแย่ที่สุดในบรรดา 37 ประเทศ ร่วมกับ อิหร่าน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์
เป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติดูเหมือนดีมี 17 เป้าหมาย ซ้ายมือมี 17 เป้าหมายวางเรียงกันอยู่ แต่ไม่มีเหตุมีผล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นหัวใจของปัญหา
แท้จริงแล้วองค์กรอีกองค์กรหนึ่งซึ่งเป็นของสหประชาชาติอีกเหมือนกัน ชื่อย่อว่า IRENA (International Renewable Energy Agency) บอกว่าแท้จริงแล้วเป้าหมายที่ 7 คือ เรื่องพลังงานเป็นหัวใจของอีก 16 เป้าหมาย เพราะโลกร้อนก็เกิดจากตัวนี้ น้ำทะเลเป็นกรดก็เกิดจากตัวนี้ ยากจน มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ก็มาจากพลังงาน
ต่อมาก็มีวาทกรรมปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้กันให้เยอะ ๆ มีตัวเลขว่าคาร์บอนที่ปล่อยออกไป 48% อยู่ในอากาศ แม้ว่าเราเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 2 เท่า เพิ่มต้นไม้เป็น 2 เท่า แต่ก็ไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ ลดได้เพียง 1% เท่านั้นเอง ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของการลดจะอยู่ที่คาร์บอน ซึ่งมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
รายงานของประเทศไทยที่ส่งให้ข้อตกลงปารีส ในปี 2016 ป่าไม้เราดูดซับได้ 91 ล้านตัน แต่ถ้าจะให้ลดได้ตามข้อตกลงที่เรายื่นไปจะต้องลดให้ได้ 120 ล้านตัน จากการคำนวนของหน่วยงานในประเทศไทย ต้นไม้ 1 ต้นลดคาร์บอนได้ 25 กก.ต่อปี ปรากฎว่าต้องใช้ต้นไม้ 1,160 ล้านต้น เพื่อเพิ่มการดูดซึบให้ได้อีก 29 ล้านตัน เพื่อบรรลุเป้าหมายดูดซับ 120 ล้านตัน คิดออกมาได้ว่า คน 1 คน ต้องปลูกต้นไม้ 18 ต้น ต่อปี ตอนนี้ผู้ว่าฯชัชชาติรับไปแล้ว 1 ล้านต้น ยังคาดอีก 1,159 ล้านต้น จะเอาที่ดินที่ไหนมากปลูก
ที่โตเกียวรัฐบาลของเมืองโตเกียวบอกว่า บ้านหลังใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 เป็นต้นไปจะต้องติดตั้งโซล่าเซลล์ แล้วก็มีค่าชดเชยให้ด้วย 40% แต่ของประเทศไทยไม่ให้ติด ถ้าจะติดก็จะมีกติกาจนทำได้ยาก
เทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 90% ภายในปี 2035 เราใช้เทคโนโลยี 8 ตัวเท่านั้นเอง ที่สามารถทำให้ลดได้ 90% 1. โซล่าเซลล์ 2. กังหันลม 3. แบตเตอรี่ 4. 5. 6. จะเป็นรถยนต์ และมือถือที่สามารถติดต่อสื่อสารได้หมด เชื่อมโยงระบบได้หมด เพราะฉะนั้นมันสามารถลดคาร์บอนได้ เราจะไปไหนเราก็ไม่ต้องใช้รถยนต์ตัวเอง ใช้มือถือสั่งอาหาร แล้วไม่กระทบวิถีชีวิต ไม่กระทบคุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตจะดีกว่าเดิม นี่คือการศึกษาของกลุ่ม “ RethinkX”
Dr. Hermann Scheer กล่าวในเวที WTO 2005 ไว้ว่า “นักการเมืองมักจะดีแต่ปาก พูดดีหมดน่าฟังแต่ชอบแก้ตัว และขาดความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานฟอสซิล” ถ้าเราติดโซล่าเซลล์เราจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้าได้
16 ปีที่แล้วผมเขียนหลังสือเล่นหนึ่ง ช่ือ พลังยกกำลัง 3 นั่นคือ พลังใจ เราต้องเชื่อว่าปัญหาโลกร้อนแก้ได้ ต้องมั่นใจว่าแก้ได้ อันที่ 2 คือสร้างเครือข่ายพลังพลเมือง ตรงนี้ที่เรากำลังทำอยู่ รัฐบาลเราก็ผลักดัน 3. สร้างนโยบายพลังงาน
ผมเชื่อว่าปัญหาโลกร้อนแก้ได้ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่นำเสนอไปแล้ว มั่นใจว่าปัญหาโลกร้อนแก้ได้ แต่ให้รู้เท่าทันว่านักการเมืองไม่สามารถทำได้ ถ้าเรายังปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนนโยบายไม่สูบบุหรี่ มันไม่มีทางสำเร็จ ภาคประชาชนเท่านั้นที่ต้องช่วยกัน อย่าดูถูกตัวเอง สามัคคี จัดประสานกันดี ๆ จะสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้
