“วิกฤตแม่น้ำโขง 65” ในสายตา “มนตรี จันทวงศ์”

กลาง ‘การกัดกร่อนและกัดกิน’

ท่ามกลางการแทบไม่ขยับ(อย่างมีนัยสำคัญ)” ของหน่วยงานรับผิดชอบ

รับรู้ผลกระทบ ไร้แววระบบตรวจวัดจัดการ

นิเวศกระทบ ชุมชนสะเทือน หนักต่อเนื่อง ยากคาดการณ์

คนลุ่มโขงทำได้เพียงพยายามส่งเสียง

4 ทิศ ปีหน้า ยังเดินหน้าค้าเขื่อนปั่นไฟข้ามแดน?

คนลุ่มโขงดิ้นทุกทางมองหาทางรอด

อาจพอมีหวัง จากการเลือกตั้ง

มนตรี จันทวงศ์ นักวิจัยอิสระจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ฉายภาพสถานการณ์วิกฤตแม่น้ำโขงในปี 2565 แนวโน้ม ทิศการตั้งรับปรับตัวของคนลุ่มโขง การขยับของหน่วยงานรับผิดชอบ ทิศอนาคต พร้อมข้อเสนอทางออกและความเป็นไปได้ของความหวังดังกล่าว ในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565 (ดูย้อนหลัง)

(ภาพ : TED Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)

กลาง “การกัดกร่อนและกัดกิน”

“(วันนี้ผม) ได้รับมอบหมายให้มีประเมินสถานการณ์แม่น้ำโขงในช่วงปีนี้ และดูว่าปีหน้าจะมีปัญหาอะไร สถานการณ์จะเป็นยังไงบ้าง

ชีวิตของแม่น้ำโขงทุกวันนี้มันถูกกัดกร่อน และถูกทำลาย สิ่งที่มันถูกกัดกร่อนและถูกทำลายไป สารตั้งต้นของแม่น้ำโขงคือการไหลของน้ำและตะกอนที่ล้อกันไปตามฤดูกาล การพัฒนาที่เป็นอยู่ทั้งหมด 20-30 ปี และในปีนี้ ปีข้างหน้าด้วย มันกำลังทำลายสิ่งที่เรียกว่าเป็นสารตั้งต้นของชีวิตแม่น้ำโขง สิ่งนี้ก็จะเป็นปัญหามากกับวิถีชีวิตของผู้คน ระบบนิเวศวิทยา 

ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง ในประเทศจีนมีการสร้างกันแล้ว 11 เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนล่าง ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ปัจจุบันก็มีการสร้างไปแล้ว 2 เขื่อน คือ เขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว และเขื่อนดอนสะโฮงที่อยู่ในลาวเช่นกัน 

ในจีนสร้างไปแล้ว 11 เขื่อน มีปริมาตรเก็บกักน้ำมากกว่า 40,000 ล้านลบ.ม. มากกว่ามหาศาลกับปริมาตรเก็บน้ำในเขื่อนประเทศไทย แล้วน้ำจากประเทศจีนก็ครอบคลุมกว่า 90% ของน้ำที่ไหลลงมาในแม่น้ำโขงตอนล่างที่สถานีวัดน้ำที่เชียงแสน

ในขณะที่ในปีนี้เขื่อนที่กำลังเข้าคิวที่จะสร้างเพิ่มอีก 3 เขื่อน ซึ่งมีการลงนามบันทึกความเข้าใจรับซื้อไฟฟ้ากันไปแล้วมถึง 3 เขื่อน โดยไทยเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าทั้งหมด ได้แก่ 1. เขื่อนปากลาย 2. เขื่อนปากแบ่ง 3. เขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งทั้ง 3 เขื่อนก็มีบริษัทเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุนคนสำคัญร่วมกับเอกชนที่เป็นทุนจากประเทศอื่น นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

ท่ามกลางการแทบไม่ขยับ(อย่างมีนัยสำคัญ)” ของหน่วยงานรับผิดชอบ

การสร้างเขื่อนทั้งในจีน เขื่อนที่สร้างมาแล้วทั้งในจีน และก็เขื่อนไซยะบุรีในลาว ตรงนี้มันสร้างปัญหาค่อนข้างมาก

ปัญหาหนึ่งที่มันจะเกิดขึ้นโดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ตระหนักมาก หรือว่าไม่ได้พูดถึงมากนัก อย่างเช่นเขื่อนปากแบ่งที่กำลังจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ก็มีผลกระทบที่อาจจะสูญเสียอธิปไตยหรือเขตแดนในแม่น้ำโขง ระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว หรือในขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงเรื่องนี้ได้ กรรมาธิการการต่างประเทศก็เชิญไปประชุมเมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศก็ดี กรมแผนที่ทหารก็ดี ก็วิเคราะห์ไม่ได้ว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนปากแบ่งขึ้นมาแล้ว เราจะสูญเสียพื้นที่หรือไม่ อย่างไร ก็วิเคราะห์ไม่ได้ แต่ว่ากระทรวงพลังงานกำลังจะลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบ่งแล้ว 

ในขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของทั้ง 3 เขื่อน (1. เขื่อนปากลาย 2. เขื่อนปากแบ่ง 3. เขื่อนหลวงพระบาง) ก็มีการปกปิดไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะว่ารายละเอียดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำคัญมาก เนื่องจากสัญญาทุกสัญญาเป็นแบบ Take or Pay ก็คือไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ซึ่งเป็นภาระเรื่องค่าไฟทั้งระบบอยู่ในขณะนี้

ในช่วงกลางปีก็มีเครือข่ายองค์กรประชาสังคม 15 องค์กร ได้มีจดหมายถามทั้งนายกฯ แล้วก็หน่ยวงานในกรณีของเขื่อนสานะคราม ซึ่งติดเขตแดนไทยเลย เหนืออ.เชียงคานไปไม่ถึง 2 กิโลเมตร ว่าถ้าสร้างเขื่อนสานะคราวแล้วจะมีผลต่อเขตแดน จะมีผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ส่งไป 11 หน่วยงาน ปรากฏว่าตอบกลับมาเพียง 5 หน่วยงานเท่านั้น แล้วที่ตอบกลับมา 5 หน่วยงานก็เป็นแค่การตอบกลับมาตามภาระหน้าที่ แต่ว่าไม่ได้มีการวิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร

ในขณะที่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมประมง หรือว่ากรมสนธิสัญญาและกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศ ไม่ตอบจดหมายที่เราส่งไป เลือกที่จะนิ่ง ไม่ตอบจดหมายในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องแม่น้ำโขงโดยตรงอย่าง หน่วยงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นอกจากจะนิ่งไม่ตอบจดหมายแล้ว ในเรื่องสถานการณ์รวม ๆ ของแม่น้ำโขงแล้ว ผมคิดว่า สทนช. มีความล้มเหลวมากกับเกือบทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่จีนปล่อยน้ำออกมาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำโขงได้อย่างทันท่วงที คือจีนนึกอยากจะปล่อยก็ปล่อย นึกอยากจะหยุดก็หยุด อันนี้เป็นมาทั้งปี 

มีการศึกษาเรื่องผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ศึกษาต่อเนื่องใช้งบประมาณกันไปแล้ว 6 ปี แต่จนบัดนี้ก็ยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าความเสียหายที่คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจจากทั้งเขื่อนจีน ทั้งเขื่อนไซยะบุรีมีจำนวนเท่าไหร่ โยนไปให้เป็นปัญหเรื่องโลกร้อน ยังบอกไม่ได้ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากเขื่อน

แล้วก็เรื่องของการแจ้งเตือน จากแจ้งเตือนเรื่องระดับน้ำโขงที่มีการขึ้นลง เนื่องจากแม่น้ำโขงในฝั่งประเทศไทย ตั้งแต่เชียงรายลงมาไปจนถึงอุบลราชธานี โดยเฉพาะในภาคอีสานแม่น้ำโขงยาวเกือบ ๆ 800 กิโลเมตร น้ำโขงจะมีการผันผวนมาก แต่ว่าสทนช. ก็ไม่สามารถที่จะมีระบบวิเคราะห์และแจ้งเตือนการขึ้นลงของแม่น้ำโขงในแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือมีข้อมูลที่อ้างอิงจากข้อมูลของ MRC ทั้งนั้น ซึ่งมันไม่เพียงพอ 

มันเคยมีตัวอย่างว่าสถานีปกติของ MRC รายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงปกติ แต่ว่ามีหมู่บ้านที่อยู่ ๆ ที่น้ำขึ้นมา 2-3 เมตร จนมีความเสียหายเกิดขึ้น

แล้วสิ่งที่สำคัญก็คือว่า เขื่อนไซยะบุรี สร้างมาแล้ว 3 ปีนับจนถึงขณะนี้ สทนช. มีการตรวจวัดตะกอนมาทุกปีในสถานีหลัก แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจวัดตะกอนเลย ทำให้ประชาชนต้องมาตรวจวัดกันเอง

รับรู้ผลกระทบ ไร้แววระบบตรวจวัด

กราฟอันนี้แสดงให้เห็นถึงการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน คำว่าเขื่อนจีน เขื่อนที่เป็นตัวควบคุมน้ำคือเขื่อนจินหง เป็นเขื่อนอาจจะตัวล่างสุดของ 10 เขื่อน คือเป็นผลของการบริหารน้ำของเขื่อนจีนทั้งหมด แล้วเขื่อนจินหงก็จะเป็นตัวเก็บหรือตัวปล่อย เราจะเห็นว่าในช่วงหน้าแล้ง ม.ค. – เม.ย. ปล่อยน้ำมากกว่าในช่วงฤดูฝนในช่วง ก.ย.-ต.ค. ด้วยซ้ำ แล้วการขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้มันส่งผลกระทบมากต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่เชียงแสน ไปเลย ไปยังหนองคาย คือระดับน้ำมันก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามการปล่อยน้ำของประเทศจีน แต่ว่าทาง สทนช. นับครั้งได้ นับนิ้วข้างเดียวก็ยังไม่ครบเลยสำหรับการแจ้งเตือนว่าแจ้งการปล่อยน้ำไปกี่ครั้ง

ส่วนนี้เป็นการศึกษาที่ทำไปแล้ว 6 ปี แต่ก็ยังวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดจากเขื่อนจีน และเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้ สิ่งที่เราอยากจะเห็นคือ สทนช. ควรจะเป็นหน่วยงาน ควรจะเป็นตัวแทนของคนไทย ที่จะวิเคราะห์ความเสียหาย และตั้งโต๊ะเจรจากับประเทศจีนว่า ความเสียหายที่มันเกิดขึ้นกับการปล่อยน้ำของจีนเป็นแบบนี้นะ ที่มีกับคนในชุมชนในเขตประเทศไทย แต่ว่าเรายังไม่เห็นสิ่งนี้จากสทนช.เลย

สทนช. ตั้งเป้าจะศึกษาไป 15 ปี ให้เสร็จ 15 ปี ก่อนแล้วค่อยสรุป แต่ผมว่าอย่างนี้มันสายเกินไป และเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป

นิเวศกระทบ ชุมชนสะเทือน หนักต่อเนื่อง ยากคาดการณ์

กลับมาที่แม่น้ำโขง เวลาเราเห็นแม่น้ำโขงในฤดูฝนอาจจะเห็นเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แต่ว่าแม่น้ำโขงพอลดระดับลงไปเวลาเข้าหน้าหนาว หรือเข้าหน้าแล้ง อย่างเช่นตอนนี้มันจะมีระบบนิเวศย่อย ๆ เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด มีหนอง มีบึง แล้วก็มีที่ภาษาท้องถิ่นที่ชาวนบ้านเรียกันไป มีแก่ง สิ่งเหล่านี้น้ำที่ลดระดับลงตะกอนที่มาได้สร้างความอุดมสมบูรณ์กับทางด้านทรัพยากรประมง แล้วก็การเกษตรที่ชาวบ้านได้ปลูกพืชริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญมากในช่วงฤดูแล้ง 

แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือพอน้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ช่วงน้ำลงในช่วงฤดูแล้ง ชายหาดอย่างเช่นแก่งคุดคู้ที่เมื่อก่อนชาวบ้านเคยไปตั้งเต็นท์เป็นรายได้เป็นเศรษฐกิจของคนท้องถิ่นก็ถูกน้ำจกเขื่อนจีนท่วม ซึ่งแก่งคุดคู้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ว่าตลอดทุกจังหวัดที่แม่น้ำโขงไหลผ่านชาวบ้านจะมีกิจกรรมที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ลักษณะนี้โดยตลอด และจากผลกระทบจากเขื่อนทำให้ชาวบ้านเสียรายได้ในส่วนนี้ไป 

แล้วก็มีการเกิดการระบาดของสาหร่ายแม่น้ำโขง โดยสาหร่ายที่ระบาดจะไปจับกับเครื่องมือประมง ตาข่าย ทำให้ชาวบ้านจับปลาไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีหลังจากเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี

ระดับน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติทำให้อยู่ ๆ ก็น้ำขึ้นท่วมแปลงผัก และท่วมพื้นที่วางไขของนกอพยพที่อาศัยทำรังวางไข่บนหาดทราย พืชไม้น้ำล้มตายไปเป็นจำนวนมาก บางช่วงกำลังออกดอกอยู่ดี ๆ น้ำก็ท่วมขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องของระบบนิเวศ 

พืชไม้น้ำในแม่น้ำโขงล้มตายเป็นจำนวนมาก ต้นไคร้น้ำในเขตหนองคาย เลย ตายเป็นจำนวนมาก ดอกไม้ในแม่น้ำโขงก็ออกดอกผิดฤดูเนื่องจากการขึ้นลงของน้ำผิดฤดูกาล ไม่ใช้แค่ต้นไม้แต่ปลาก็อพยพผิดฤดูอย่างเช่นปลารากกล้วย

และจากการที่จีนเป็นคนคุมน้ำทำให้น้ำขึ้น ๆ ลง ๆ พอน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้เข้าไปในแม่น้ำสาขาอย่างเช่นแม่น้ำสงครามที่เป็นลำน้ำสายใหญ่มาก มันก็ทำให้ปลาที่อพยพเข้าไปผสมพันธุ์ วางไข่ ที่เป็นทรัพยากรทางประมง เป็นอาหารและรายได้ให้กับชาวบ้านก็สูญเสียไป รวมทั้งเมื่ออยู่ ๆ น้ำขึ้นมา เรือหรือเครื่องมือประมงของชาวบ้านก็ถูกทำลายไป

คนลุ่มโขง “ดิ้นทุกทาง-มองหาทางรอด”

แล้วทีนี้สิ่งที่ชาวบ้านได้ทำก็คือว่า 11 มี.ค. 2564 ปีที่แล้ว เครือข่ายในนาม คสข. (สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน) ก็ไปยื่นจดหมายที่กทม. ถึงนายกฯ ซึ่งก็มีตัวแทนมารับ 

เรื่องสำคัญก็คือว่า 

  1. การเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และกับจีน
  2. การให้รัฐบาลชะลอการรับซื้อไฟฟ้าหรือทำข้อผูกพันในการรับซื้อไฟฟ้าใด ๆ ที่มาจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของ สปป.ลาว ไปก่อน จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าของไทย และความจำเป็นเกี่ยวกับการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
  3. การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการที่มีผลกระทบข้ามพรมแดนโดยรัฐบาลไทย
  4. การจัดการฐานข้อมูลและจัดทำระบบเตือนภัยการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างทันท่วงที (Real-time)
  5. การกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยากับชุมชนริมโขงผู้ได้รับผลกระทบ
  6. การมอบหมายให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรัดการกระจายอ้านาจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรม
  7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ

ข้อเรียกร้องทั้งหมดเหล่านี้ รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองในสาระสำคัญ แต่กลับกลับเดินหน้าในทิศทางตรงข้าม โดยเฉพาะการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขง ดังที่ได้ระบุไว้ตอนต้น มีเพียงการตอบสนองไปตามภาระกิจของหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ในด้านการฟื้นฟูทรัพยากรประมงและการเกษตร ที่ยังไม่สามารถตอบสนองต่อการฟื้นฟูนิเวศน้ำโขงแบบองค์รวมได้

หน่วยงานที่ทำงานอาจจะใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดในช่วงนี้ก็คือ กรมประมง โดยได้ออกแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ที่พึ่งออกมาเมื่อ มิ.ย. 2565 เป็นแผน 5 ปี โดยแผนนี้มีการพูดถึงการอนุรักษ์พืชบางชนิด อย่างเช่น พลับพลึงธารแม่น้ำโขงหรือต้นหวีดแม่น้ำโขงด้วยการวิธีขยายพันธุ์แบบเพาะเนื้อเยื่อ และนำกลับไปปลูกในถิ่นเดิม แต่ว่าแผนงานเหล่านี้ยังคงต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นความยั่งยืนตามชื่อแผนได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แผนการฟื้นฟูทรัพยากรประมงและการเกษตรทั้งหมดนี้ ยังไม่มีแผนการศึกษาระบบนิเวศแม่น้ำโขงแบบองค์รวมเพื่อการวางแผนฟื้นฟูระบบนิเวศ ทรัพยากรประมงและการเกษตรแม่น้ำโขงในระยะยาว

สิ่งที่มันเกิดขึ้นเรื่องตะกอนซึ่งเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งาน ตะกอนเนี่ยหายไป ภาพซ้ายกับขวาจะเห็นชัดเจนว่าในช่วงเวลาเดียวกัน แม่น้ำโขงจะใสขึ้นมาก ๆ ในภาพทางขวามือ

ทีนี้เมื่อสทนช. ไม่เปิดเผยข้อมูลออกมา พี่น้องชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะวัดตะกอนด้วยตัวเอง ด้วยเครื่องมีอทางวิทยาศาสตร์อย่างง่าย ๆ จุดตรวจวัดตะกอนก็จะมีตั้งแต่เชียงของ เชียงคาน ปากชม นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 

เป็นการตรวจโดยใช้ท่อวัดความขุ่น แล้วตัวแผ่นเหล็กวัดความขุ่นหน่วยก็จะเป็น เซนติเมตร สิ่งที่เราพบเมื่อปี 2564 ก็คือว่า กราฟแท่งสีน้ำเงินก็คือที่ตรวจวัดที่เชียงของ เป็นจุดที่อยู่เหนือเขื่อนไซยะบุรี แท่งที่เป็นสีเหลืองและส้มเป็นแท่งที่ตรวจวัดใต้เขื่อนไซยะบุรีทั้งหมด โดยจุดแรกคือที่เชียงคาน ปากชม เราจะเห็นความแตกต่างถึงความใสของแม่น้ำโขงที่อยู่ใต้เขื่อนไซยะบุรีกับที่อยู่เหนือเขื่อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านพยายามเก็บกันขึ้นมา แล้วทุกคนก็พยายามวัดกันทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แล้วทุกคนก็จะเห็นภาพว่าอันนี้คือความแตกต่างของปริมาณตะกอนก่อนเข้าเขื่อนไซยะบุรีกับหลังออกจากเขื่อนไซยะบุรี


ภาพนี้เป็นภาพของปีนี้ 2565 ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. และล่าสุดช่วง 5-13 ธ.ค. อันนี้งานที่พี่น้องชาวบ้านพยายามที่จะทำกัน

สิ่งที่เราพยายามเข้าไปดูในงานศึกษา 6 ปีก็คือว่า ตะกอนก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีอัตราในการลดอยู่ที่ 14% 11% วัดจากเชียงของมาเชียงคาน แต่พอสร้างเขื่อนไซยะบุรีแล้วมีอัตราการลดของตะกอนมากถึง 77% บางปีลดลงไปถึง 98% ซึ่งอันนี้เป็นข้อมูลของทางสทนช. เอง ซึ่งอยู่ในงานศึกษา 6 ปี แต่ทางสทนช.เองไม่ได้เอามาวิเคราะห์ แล้วเราก็จับเอาขึ้นมาวิเคราะห์

เมื่อคำนวนปริมาณตะกอนที่หายไปเปรียบเทียบระหว่างสถานีเชียงแสนกับเชียงคาน ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ตะกอนหายไปประมาณ 463,461.87 ตัน (หรือรถบรรทุก 30 ตัน ประมาณ 15,000 คัน) ซึ่งนี่คือปริมาณตะกอนที่มีชีวิต และมีคุณค่ามากในฤดูแล้งที่หายไป เราอาจะบอกไม่ได้ว่าเขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวกักไว้ทั้งหมด แต่ว่านี่คือสิ่งที่มันหายไปจากการตรวจวัดของชาวบ้าน และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สทนช.เป็นคนศึกษาไว้

น้ำโขงใสนี้ ส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ด้วยการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้น, สารอาหารที่หายไปทั้งต่อการเกษตร อาหารของปลา และยังมีข้อสันนิฐานว่า เป็นแหล่งอาหารของนกบางชนิดด้วย

4 ทิศ ปีหน้า ยังเดินหน้าค้าเขื่อนปั่นไฟข้ามแดน?

สำหรับสถานการณ์ในปีหน้า(2566) 

  1. เขื่อน 3 เขื่อน ปากแบ่ง หลวงพระบาง ปากลาย ก็เข้าคิวที่จะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 
  2. สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันก็คือว่า รัฐไทยก็จะล้มเหลวทั้งหมดในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองเยียวยา ประชาชนไทยโดยเฉพาะที่อาศัยริมน้ำโขง และการรักษาระบบนิเวศแม่น้ำโขง แต่แผนงานฟื้นฟูนี้จะมี แต่เป็นแผนงานฟื้นฟูแบบแยกส่วน จะปลูกต้นไม้ จะปล่อยปลา จะเลี้ยงปลา ก็ว่ากันไปของแต่ละหน่วยงาน แต่ว่าในภาพรวมมันจะล้มเหลวทั้งหมด 
  3. การเลือกตั้งในปีหน้า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2566 แต่ว่าตรงนี้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงค์ของรัฐบาลใหม่ว่าจะใส่ใจเรื่องแม่น้ำโขงมากน้อยแค่ไหน แต่ยังไงก็ตามถ้าสัญญาเซ็นไปแล้ว ต่อให้รัฐบาลจะมีเจตจำนงค์ดีแค่ไหนก็แก้ไม่ได้
  4. สิ่งที่มันน่าสนใจก็คือว่าพี่น้องชาวบ้าน เขามีกระบวนการที่จะพยายามดูแลรักษาแหล่งน้ำของชุมชน ในแม่น้ำโขง ในระบบนิเวศต่าง ๆ ตรงนี้สำคัญมากที่จะเป็นแหล่งรักษาทรัพยากรการประมง และเป็นแหล่งที่จะรักษาทรัพยากรระบบนิเวศแม่น้ำโขงในอนาคต

อาจพอมีหวัง จากการเลือกตั้ง

สิ่งที่เป็นข้อเสนอที่มาจากการประชุมกันของเครือข่ายคสข. เครือข่ายโขงอีสาน ที่หนองคาย ที่ถึงจะเป็นการประชุมแยกส่วนกัน แต่ก็ได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กัน คือ 

  1. หยุด ทบทวน โครงการพัฒนา “เก่า” และยกเลิกโครงการ “ใหม่” โดยรวมถึงโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน และแก้ปัญหาของเก่าให้มันได้ก่อน  
  2. ต้องมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเชิง นิเวศ สังคม และเศรษฐกิจ 
  3. ทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ และนโยบายการพัฒนาพลังงาน 
  4. การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายน้ำให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาข้ามพรมแดน 
  5. มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยารกรให้ท้องถิ่น ชุมชน 
  6. การส่งเสริมการพัฒนานโยบายการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชนท้องถิ่น 
  7. ให้มีการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทย กับ สปป.ลาว และจีน

นี่เป็นข้อเสนอที่เครือข่ายพี่น้องชาวบ้านเสนอขึ้นมา ได้ไม่ได้อาจจะต้องดูกันรัฐบาลหน้า

และสิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนมากก็คือ พี่น้องชาวบ้านก็ได้เคยทำงานฟื้นฟูตัวระบบนิเวศของแม่น้ำโขงในหลาย ๆ พื้นที่ ตรงนี้ต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจริง ๆ ก็เคยมีการสนับสนุนมาแต่ว่าก็ขาดตอนไป ก็หวังว่าจะมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอสุดท้ายก็คือว่า รัฐและหน่วยงานของรัฐต้องหยุดกิจกรรมประเภทฟื้นฟูแบบแยกส่วน อย่งาปล่อยปลาก็มีอัตราการรอดไม่ถึง 1% แต่ก็ยังจะปล่อยกัน ในแผนประมงจะปล่อยกัน 5 ร้อยล้านตัว หลังจากนั้นไปแล้ว 5 ปี จะเหลือรอดกี่ตัวไม่รู้ เรื่องพวกนี้มันต้องมีการทบทวน

เน้นว่าเป็นข้อเสนอรวม ๆ ว่าเราอยากเห็นอะไรบ้าง แต่ว่าจุดใหญ่ใจความก็คือ ข้อเสนอของพี่น้องชาวบ้านที่เป็นทั้งเครือข่ายของ คสข. และเป็นเครือข่ายของโขงอีสาน ซึ่งต่างคนก็ต่างประชุมกัน แต่ว่าได้ข้อสรุปใกล้เคียงกัน 

สุดท้ายขอจบที่ว่า ถ้าเราจะฟื้นชีวิตแม่น้ำโขงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต เราต้องฟื้นการไหลและฟื้นตะกอนแม่น้ำโขงตามฤดูกาลกลับมาให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสารตั้งต้นของชีวิตแม่น้ำโขง สารตั้งต้นของระบบนิเวศ และชีวิตของประชาชน 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขง

(ภาพ : TED Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)