สินบน “อุทยาน”

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : News1)

1.

จากกรณีที่ตำรวจและปปช. บุกจับนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ ข้อหาเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ในกรม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 กลายเป็นข่าวใหญ่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงถูกล่อจับพร้อมของกลาง และยังมีเงินที่คาดว่าได้มาจากการเรียกรับสินบน อยู่ในห้องทำงานอีกประมาณ 5 ล้านบาท โดยที่หลังจากจับกุมแล้วสื่อก็ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอขณะที่ตำรวจและ ปปช. เข้าไปจับกุมในห้อง เรียกว่าประจานกันเลยทีเดียว 

2.

ผมเห็นการโปรยข่าวความเคลื่อนไหวของตำรวจและปปช. ตั้งแต่ช่วงสายๆ ของวันที่ 27ธันวาคม ว่า ปปช. เตรียมเข้าจับอธิบดีกรมๆ หนึ่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พอช่วงบ่ายก็เห็นข่าวว่าได้ทำการจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ แล้ว 

เมื่อเห็นกรณีนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว จึงได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวตลอด 

จนหลังวันจับกุมแล้วหนึ่งวัน ก็มีการเปิดเผยว่าคนที่เป็นต้นเรื่องไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือคุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดิตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยที่คุณชัยวัฒน์ ตำรวจและ ปปช. ได้มีการวางแผนล่อจับโดยให้คุณชัยวัฒน์ นำเงินจำนวน 98,000 บาท ใส่ซองไปมอบให้นายรัชฎา จำนวน 3 ซอง เมื่อช่วงเวลา 09.00 น. หลังจากนั้นตำรวจและ ปปช. ก็ได้นำกำลังเข้าไปจับกุมพร้อมค้นห้องทำงานของนายรัชฎา  ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจและปปช. จึงได้มีการแถลงข่าวการจับกุม

3. 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่าพฤติกรรมการกระทำความผิดของนายรัชฎา คือ เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะร่วมกลุ่มโยกย้ายตำแหน่งหรือสับเปลี่ยนกำลังในหน่วยงานนั้น โดยเรียกรับไปยังหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ภายในกรมทั่วประเทศ 

จากเหตุการณ์นี้ มีสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจหลายประการ กล่าวคือ

ประการที่ 1. ทันทีที่ถูกจับ นักข่าวได้สัมภาษณ์คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งในกระทรวง เพราะมีพยานหลักฐานที่แสดงถึงความโจ่งแจ้ง ซึ่งคุณวราวุธ กล่าวว่า “การโยกย้ายตั้งแต่เบื้องต้นเป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจของอธิบดี เพราะตั้งแต่ตนเข้ามาทำงานในระดับกรมหรือกระทรวงก็ดำเนินการผ่านปลัดกระทรวง ตามสายบังคับบัญชา เรื่องภายในกรมอยู่ในอำนาจอธิบดี” ซึ่งเท่ากับว่าคุณวราวุธบอกปัดความรับผิดชอบและย้ำว่าเรื่องการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ตนเองไม่เคยไปดูแล

หากรัฐมนตรีวราวุธ มีท่าทีในการบริหารกระทรวงตามที่พูดจริงถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก กล่าวคือ สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกแช่แข็งการพัฒนามาเป็นเวลานาน เพราะเป็นระบบรัฐราชการรวมศูนย์ มีโครงสร้างระบบราชการที่เข้มแข็ง หมายถึงระบบงานธุรการภายในองค์กรมีความเข้มแข็ง งบประมาณและสรรพกำลังทั้งหมดถูกใช้ไปกับการบริหารคนและระบบธุรการในหน่วยงาน โดยไม่สนใจสร้างสร้างผลงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ 

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของสังคมให้ปฏิรูประบบราชการ ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องเป็นกลไกคานงัดกับฝ่ายราชการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคัญคือฝ่ายการเมืองมีอำนาจออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอยู่ในมือ แต่ถ้าหากรัฐมนตรีหันหลังให้กับปัญหาของระบบ หรือไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหา ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ประจำจัดการกันเองตามอำเภอใจ ตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในระบบบังคับบัญชาของหน่วยงานแทบไม่มีความหมายอะไร นอกเสียจากทำตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่ประจำบอกมา 

ประการที่ 2. กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาช็อคสังคมไทย หากแต่ปัญหาการทุจริตในวงราชการ เป็นที่รู้กันทั่วทุกหย่อมหญ้าแต่ไม่สามารถจัดการได้ 

เพราะการทุจริตในวงราชการมีการปลูกฝังและออกแบบกระบวนการทำกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งสำนึกของการทุจริตไม่ว่าจะเป็นการให้หรือการรับ ถูกปลูกฝังอยู่ในความคิดของคนในวงราชการแทบทุกคน จนพวกเขาคิดว่านั่นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้คนที่อยู่สูงกว่า และเป็นความชอบธรรมของคนที่อยู่สูงกว่าที่จะต้องได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกจับเป็นคนที่มีตำแหน่งระดับอธิบดีกรม ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งราชการที่สูงมาก ย่อมไม่ใช่คนโง่ไร้เดียงสาหรือเสียสติถึงขั้นอยู่ๆ ก็เกิดโลภขึ้นมาแล้วสั่งให้ลูกน้องเอาเงินมาให้ คนระดับนี้ย่อมไม่กล้าทำอะไรโดยพลการแน่ๆ เป็นไปได้ที่เขาก็เพียงแค่ทำตามระบบปกติที่คนอื่นๆ ก็เคยทำมา โดยคนส่วนใหญ่ในระบบนี้ต่างก็ได้ประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยมีคนที่อยู่ในระดับสูงกว่าคอยคุ้มกันให้ ส่วนสาเหตุที่มีการแฉเรื่องนี้ขึ้นมา ผมคิดว่าคนไทยน่าจะเดาไปในทางเดียวกันว่า “ผลประโยชน์ไม่ลงตัว”

ประการที่ 3 จากรายงานข่าว มีการเรียกรับเงินที่เป็นงบประมาณจากหมวดงบดำเนินงานและค่าใช้สอยของหน่วยงานต่างๆ ภายในกรมอุทยานทั่วประเทศ โดยคิดตามอัตราส่วนจากหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เช่น อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเก็บ 18.5% นอกจากนี้ข่าวยังบอกต่อว่าเงินที่พบในวันนี้จำนวนเกือบ 5 ล้านบาท เป็นเพียง 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละเดือนอาจจะได้เงินมากถึง 20 ล้านบาท 

คำถามคือ หลักเกณฑ์การเรียกรับเหล่านี้ เพิ่งเกิดขึ้นสมัยอธิบดีคนนี้เท่านั้น หรือว่าเป็นเป็นหลักเกณฑ์ที่ทำกันมานานแล้ว 

นี่เป็นการทุจริตโดยอธิบดีซึ่งเป็นการทุจริตของผู้บริหารระดับสูง โดยให้หน่วยงานตัดแบ่งงบประมาณแผ่นดิน เอาเงินสดไปให้โดยตรงเลย ซึ่งแตกต่างจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในระดับล่าง ที่ทำแบบแนบเนียนกว่า เช่น การจ้างพนักงานชั่วคราวแบบลูกจ้างผี คือทำสัญญาจ้างจริงแต่ไม่ให้มาทำงานหรือจ่ายค่าตอบแทนไม่ครบ การทุจริตในการปลูกป่าโดยเฉพาะการปลูกป่าในวันสำคัญ การเรียกรับสินบนจากหน่วยงานหรือผู้รับเหมาที่เข้าไปทำโครงสร้างพื้นฐาน แม้กระทั่งการอยู่เบื้องหลังขบวนการลักลอบทำไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

(ภาพ : News1)

4. 

กรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่แทบไม่เคยมีการจรวจสอบความโปร่งใสเลย แม้แต่ฝ่ายการเมืองเองก็ไม่เคยใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ จะเห็นว่านับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 และมีการจัดตั้งรัฐบาลให้กลไกสภาผู้แทนราษฎรทำงาน แทบไม่มีการอภิปรายการทำงานหรือการจุจริตกรมอุทยานอย่างจริงจังเลย ซึ่งแตกต่างจากหลายหน่วยงานที่ถูกไล่บี้ ขุดคุ้ยอย่างถึงรากถึงโคน เช่น กองทัพบก ตำรวจ การจัดการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

เรื่องนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้จุดประกายการปฏิรูประบบราชการ แต่เชื่อได้ว่าอีกไม่นานเรื่องนี้ก็จะซาลงไป และทุกอย่างก็กลับมาดำเนินไปเป็นปกติเช่นเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และปัญหาระบบราชการแบบเดิมๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไป 

ที่สำคัญเรายังจะต้องมาลุ้นอีกว่าสุดแล้วนายนายรัชฎา จะพ้นผิดไหม เพราะอย่างลืมว่าหากเงินจำนวนมหาศาลนี้เพียงผ่านมื้อของนายรัชฎา เพื่อถูกส่งต่อขึ้นไปข้างบนอีก คดีนี้ก็อาจจะจบแบบงงๆ เหมือนอย่างอีกหลายๆ คดีก็ได้