“วิกฤตทะเลและชายฝั่ง 65” ในสายตา “ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์”

“ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์” ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง พาไปล่องอันดามันยันอ่าวไทย สำรวจสถานการณ์และวิกฤตของทะเลไทย ตั้งแต่เชิงพื้นที่ ทรัพยากรสัตว์ทะเลสำคัญอย่างพะยูน โลมา เต่าทะเลและวาฬ ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง

ก่อนจะกลับมาส่องผู้คนและชุมชนที่อยู่อาศัยและหากินกับทะเลตลอดแนวชายฝั่งทั้งประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ล่าสุดการทำประมง และประเด็นมลพิษระดับสากลอย่า ขยะทะเลและไมโครพลาสติก ภายใต้ 7 หัวข้อ ของการนำเสนอในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565 (ชมย้อนหลัง)

  1. ทะเล บริการของระบบนิเวศ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
  2. สัตว์ทะเลสำคัญ : พะยูน โลมา เต่าทะเล วาฬ
  3. ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง
  4. สถานการณ์ “ประมง”
  5. สิทธิชุมชน ป่าชายเลนชุมชน” และการทวงคืนผืนป่า คทช.
  6. การประมงทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
  7. ไมโครพลาสติก” ในห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศทะเล
(ภาพ : Ted Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)

ผมจะพยายามประเมินสถานการณ์ว่าในรอบปีที่ผ่านมาเป็นยังไง และข้างหน้าเป็นยังไง แต่ว่าเป็นปกติขององค์กรพัฒนาเอกชน เราจะไม่มีข้อมูลเชิงสถิติมากนัก ข้อมูลเชิงสถิติก็ไปค้นมาจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งคงจะมีการรายงานสถานการณ์ในเชิงสถิติต่าง ๆ 

เวลาเราพูดเรื่องทะเลและชายฝั่งนี่ มันจะพูดถึง 7 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน บริการของระบบนิเวศทะเล ปัจจุบันเราเข้าไปเป็นภาคีในอนุสัญญาพื้นที่คุ้มครองทางทะเลด้วย สถานการณ์การประมงทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของเรา เรื่องสิทธิชุมชน ป่าชายเลนชุมชน แล้วก็การทวงคืนผืนป่า คทช. จะกล่าวถึงสัตว์ทะเลสำคัญ พวกพะยูน โลมา เต่าทะเล วาฬด้วย ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง การประมงทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติประเด็นสุดท้ายจะเป็นไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศทะเล ก็เป็นเนื้อหารวม ๆ ที่ผมจะกล่าวถึง โดยจะไม่ได้เรียงตามลำดับ

1. ทะเล บริการของระบบนิเวศ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล

พูดถึงทะเล ผมอยากจะเน้นย้ำว่า เรา มนุษย์นี่ใช้บริการจากระบบนิเวศของทะเลเยอะมาก 

มีการพูดถึง คาร์บอน การเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศ ซึ่งทะเลก็เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ แล้วก็การประมง ชุมชนชายฝั่ง รวมถึงเราทุกคนที่ทานอาหารทะเล เราก็เก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของทะเล และมันก็เป็นทรัพยากรสำคัญของการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่นำเงินรายได้หลักเข้าประเทศจำนวนมาก

ตัวระบบนิเวศทะเลได้แสดงให้เห็นพลังของมันในการฝ่าวิกฤตครั้งสำคัญในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ก็คือ วิกฤตโควิด 

ณ ขณะนั้น กลุ่มชุมชนชาวฝั่ง หมู่บ้านบนเกาะ เขาก็เผชิญปัญหาไม่มีนักท่องเที่ยว ทุกอย่างปิดลง ถูกควบคุมในสถานการณ์โควิด แต่เราจะได้ยินเสียงบ่นความยากลำบากจากชาวประมงพื้นบ้าน จากชุมชนชาวฝั่งเบา ๆ ไม่ได้บ่นหนัก คือเขาเผชิญปัญหาเหมือนกัน แต่ว่าอยู่ได้ ผ่านความยากลำบอกอย่างนั้นมาได้ 

กลุ่มที่ทำการท่องเที่ยวก็หันหน้าลงสู่ทะเล ตัวทะเลก็โอบอุ้มภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจนี้มาได้ และก็ผ่านมันมาด้วยดี ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ว่าทำไมเราถึงต้องรักษาระบบนิเวศทะเลไว้ ทำไมเราถึงต้องปกป้อง ป้องกันไม่ให้มีการพัฒนาชายฝั่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะว่าในเวลาที่เราเจอวิกฤตตัวระบบนิเวศได้อุ้มชูเราเอาไว้ 

เพราะฉะนั้นโดยรวมเวลาเราพูดถึงทะเล เราพูดถึงระบบนิเวศ เราพูดถึงบริการนิเวศ และเราพูดถึงมันเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับชีวิต และเป็นตัวที่ช่วยค้ำจุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา รวมทั้งในสถานการณ์ที่เราเกิดวิกฤต

ทีนี้มาดูเรื่องพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ปัจจุบันเราตกลงว่าเราจะมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 ตอนนี้เราน่าจะมีประมาณร้อยละ 5 ยังห่างไกลร้อยละ 30 อีกเยอะ การพูดถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลก็เลยกลับมาพูดถึง พื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ดำเนินการโดยชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผมจะแสดงตัวอย่างให้ดูว่าเวลาเขาพูดถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ชุมชนเขาก็จะมีพื้นที่แบบนี้

อันนี้เรียกว่าเขตทะเลเสบ้าน เป็นการดูแลระบบนิเวศร่วมกัน

อันนี้เป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบงว่าด้วยการอนุรักษ์พะยูน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของพะยูนในทะเลตรังเกือบทั้งหมด ข้อบัญญัตินี้ออกเมื่อปี 2554

อันนี้ก็จะเป็นเขตอนุรักษ์หญ้าทะเลอ่าวขาม ที่ปากเม็ง ก็จะทั้งอนุรักษ์หญ้าทะเล และก็ทั้งอนุรักษ์หอยท้ายเภา ซึ่งอันนี้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนออกแบบ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมกันคิดร่วมกันทำ 

และก็กำลังคุยกันอยู่ว่ามันเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแบบที่อนุสัญญาหรอ IUCN กำหนดหรือไม่ เรื่องนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่

2. สัตว์ทะเลสำคัญ : พะยูน โลมา เต่าทะเล วาฬ

ผมอยากจะมาถึงสัตว์ทะเลสำคัญหน่อย ในกราฟเป็นข้อมูลพะยูนในตรัง ตรังก็เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ และก็มีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในไทยอาศัยอยู่ 

เราจะเห็นว่าในปี 54 55 ที่เราออกข้อบัญญัติตำบล เรามีวิกฤตเรื่องจำนวนการตายของพะยูน จาก 250 ตัว ลงมาเหลืออยู่ 134 ตัว แล้วก็ลง 125 ตัว 

แต่หลังเราออกข้อบัญญัติ อบต. ลิบง มาได้ซัก 3 ปี อัตราการเพิ่มขึ้นของพะยูนก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนถึงปี 62 มีการสำรวจด้วยการบินสำรวจประชากรพะยูน ก็พบพะยูนในตรังเพิ่มขึ้นเป็น 185 ตัว 

อันนี้มันก็แสดงว่าตัวพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ท่ีดำเนินการโดยชุมชน โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มันมีประสิทธิผล รวมทั้งทะเลตอนในมันก็จะมี ต.บ่อหิน ต.ไม้ฝาด เขาก็จะดูแลซีกทะเลตอนใน เพราะข้อบัญญัติเกาะลิบงจะดูแลทะเลด้านนอก 

แต่ว่าพอมาถึงปี 2565 ท่านอธิบดีกรมทะเลและชายฝั่งเพิ่งแถลงไปว่า เราพบพะยูน 273 ตัว ตั้งเป้าว่าปีนี้พะยูนจะต้องเพิ่มจำนวนเป็น 280 ตัว ตามแผนพะยูนแห่งชาติ แต่ว่าเราทำได้ 273 ตัว อ่าวไทยมี 31 อันดามันมี 242 ตัว ในปี 65 พบซากจากการตาย 18 ตัว ร้อยละ 73 ของการตายมาจากป่วยตาย และปัจจุบันก็อยู่ในระยะที่จะทำแผนพะยูนระยะที่ 2 ซึ่ง ยังคงเป้าเดิมว่าพะยูนเพิ่มเป็น 280 ตัว

กลับมาดูสถานการณ์เรื่อง วาฬ โลมา เต่าทะเล โลมาที่เรามีอยู่ในอ่าวไทย และอันดามัน ที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ โลมาอิรวดี ในพื้นที่จังหวัดสงขลา 

ก่อนอื่นต้องเรียนว่า เรามีโลมาอิรวดีอยู่ในทะเลด้วย แต่อิรวดีที่เข้าไปอยู่ในทะเลสาบสงขลานี่ เป็นอิรวดีน้ำจืด ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์แยกไปจากอิรวดีในทะเล ตอนนี้มีอยู่เต็มที่เลยก็คือ 20 ตัว แต่ที่พบมีประมาณ 12 ตัว เพราะฉะนั้นอิรวดีในทะเลสาบสงขลาก็จะเป็นสายพันธุ์เฉพาะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราจะดูแลอนุรักษ์ไว้ได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าเราจะดูแลอิรวดีในทะเลได้ แต่สายพันธุ์เฉพาะในทะเลสาบมันอาจจะหายไป เรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันทำ

และอีกอย่างหนึ่ง พะยูนที่เรามีอยู่ในประเทศไทย ผลการวิเคราะห์ DNA กับพะยูนทั่วโลก DNA ของพะยูนไทยก็มีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เป็นหนึ่งเดียวในโลกเหมือนกัน แต่ว่าอยู่ในวงศ์เดียวกัน เป็นวงศ์ Dugongidae เหมือนกัน

ทีนี้เรื่องเต่าทะเล ยกเว้นเต้ามะเฟือง เต่าอื่น ๆ ถ้าจากประสบการณ์ของชุมชนเพิ่มขึ้นมาก ตอนนี้เรากำลังจะเจอปัญหาเต่าทำนองเดียวกันกับเจอปัญหาช้าง หรือว่าลิง เพราะว่าเต่าเพิ่มจำนวนขึ้นมาก แล้วก็เริ่มมีผลกระทบกับปริมาณอาหาร และเข้าไปกัดอวนชาวประมง เวลาชาวประมงออกไปทำการประมง 

โดยรวมแล้วสถานการณ์ของสัตว์ทะเลหายาก ที่น่าวิตกก็คือ โลมาอิรวดี ส่วนอย่างอื่นก็ยังไปได้ ที่ต้องคิดเพิ่มเติมก็คือเรื่องเต่าว่า ปริมาณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากจะรับมือต่ออย่างไร

3. ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง

ทีนี้มาดูทรัพยากร หญ้าทะเล ปะการัง ป่าชายเลน ผมให้ปะการังเป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองดี ผลกระทบที่เกิดจากคนลดน้อยลง ทีนี้ที่ต้องเฝ้าระวังก็คือผลกระทบจากธรรมชาติโดยเฉพาะปัญหาอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และความเป็นกรดของน้ำทะเล ซึ่งอันนี้จะมีผลกระทบมากต่อตัวประการัง 

ป่าชายเลนโดยรวมก็ดี มีปัญหาอย่างเดียวก็คือป่าชายเลนชุมชน ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูป่าชายเลน นับตั้งแต่ยุคปิดสัมปทานเต่าถ่าน ต้องเรียนแบบนี้ก่อนว่า ก่อนหน้านี้ป่าชายเลนเรามีสัมปทานทำไม้เผาถ่าน เราเห็นป่าเป็นถ่าน สถานการณ์ ณ ตอนนั้นทำให้ป่าชายเลนทั่วประเทศเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก แล้วหลังจากปิดสัมปทานชุมชนก็ช่วยกันดูแล จนกระทั่งป่าชายเลนฟื้นตัวขึ้นมา 

อันนี้ก็แสดงภาพที่อยู่อาศัยของพะยูนที่ตรัง แสดงถึงความชุกชุมของพะยูนที่มาอยู่รวมกัน ซึ่งปัจจุบันนี้เสื่อมโทรมจาการทับถมของตะกอนทรายประมาณ 7,000 ไร่

ตะกอนทรายนี้มาจากการขุดลอกแม่น้ำตรัง และนำไปทิ้งในทะเล ความหนาของตะกอนทรายก็ประมาณ 15 เซนติเมตร และรากที่เน่าตายลักษณะแบบนี้

ภาพหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีวิธีการฟื้นฟูให้หญ้าทะเลกลับมาสมบูรณ์ได้ยังไง

ในเรื่องประเด็นพลาสติกในทะเล เราก็ยังเป็นอันดับ 10 ของโลก ที่ปล่อยให้พลาสติกรั่วไหลในทะเล แล้ว กลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงไปในระบบนิเวศ แล้วก็เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร แล้วเราก็นำพลาสติกนั้นไปกินในรูปของอาหารทะเล

4. สถานการณ์ “ประมง”

สำหรับสถานการณ์ประมงที่ต้องก้าวไปสู่ความยั่งยืน ที่ต้องใช้คำว่าต้องก้าวไปสู่การประมงที่ยั่งยืนก็เพราะว่าในขณะนี้มันยังไม่ยั่งยืน

เส้นสีม่วงคือทะเลชายฝั่ง เส้นสีน้ำเงินคือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ แล้วก็ในเขตทะเลชายฝั่งมีส่วนไหนเป็นอุทยาน ส่วนนั้นก็จะถูกกันออกจากเขตทะเลชายฝั่ง หมายความว่าเข้าไปทำการประมงไม่ได้

เรามีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ประมาณ 20,000 ลำ เรือประมงพาณิชย์อีกประมาณ 10,000 ลำ แต่ประมงพาณิชย์จับสัตว์น้ำร้อยละ 90 ประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำแค่ร้อยละ 10 ของปริมาณสัตว์ทะเลที่จับทั้งหมด 

แล้วก็ดูปริมาณการลดลงของปริมาณการจับสัตว์ ปัจจุบันเราลดลงจากปี 2541 ราวร้อยละ 52 

เส้นสีแดงแสดงให้เห็นว่าจำนวนการจับปลาทูลดลงมาก แต่ปริมาณปลาที่เราจับได้จากขึ้นเป็นปลาตัวเล็ก ก็คือกลุ่มปลากะตัก เพราะเรากำลังทำการประมงกับปลาที่เล็กลง ๆ เรื่อย ๆ ทุกวัน การลดลงของจำนวนปลาทูผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราปรึกษาหารือกัน หาวิธีแก้ไข 

เรื่องใหญ่ของเราก็คือ เวลาเราทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่กวาดจับสัตว์น้ำทุกชนิด มันจะจับปลาเป็ด (ปลาที่ตลาดไม่ต้องการ ลูกปลาชนิดต่างๆ และปลาขนาดเล็กที่ชาวประมงจับโดยลากอวนไปบนพื้นทะเล ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไว้จนเน่าเปื่อยใต้ท้องเรือจนกว่าเรือจะเทียบท่า ไปเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ ที่มา : ป่าสาละ) มาเป็นจำนวนมาก ปลาเป็ดนี่ครึ่งนึงมันเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราก็จับลูกปลาทู ลูกปลาอินทรีย์มาทำอาหารสัตว์ เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญ

แล้วปัจจุบันก็มาเป็นที่นิยมกิน หมึกกะตอย ปลาทูแก้ว (ตัวอ่อนของปลาทู) หมึกกล้วย ปลากรอบทั้งตัว (​​ตัวอ่อนของปลาอินทรย์ ,ปลาจาระเม็ด, ปลาหลังเขียว, ปลาข้างเหลือง,ปลาสีกุน ฯลฯ) เราเอาลูกปลาทั้งหลายมาทำเป็นปลากรอบกินกัน อันนี้ก็เป็นวิกฤตที่ต้องคุยกันว่าจะเอายังไง รวมทั้งปลาข้าวสารด้วย

ส่วนเรื่อง IUU ชมรัฐบาลว่าพอไปได้ แต่ว่าปัจจุบันการประมงผิดกฎหมายมันมาอยู่ในการประมงที่เรือขนาดเล็กลง ในภาพเป็นเรือสำหรับทำอวนรุน แล้วตอนนี้อเมริกาก็ออกใบเตือนเรามาว่า เรากำลังทำการประมงที่ส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ระหว่างเฝ้าระวังจับตา แล้วก็อาจจะถึงขึ้นให้ใบแดงเหมือนกับ EU 

มีการสำรวจพบว่ามีร้านค้าจำนวนมาก ร้อยละ 60 ของร้านค้าที่สำรวจที่ขายสัตว์น้ำวัยอ่อน 

ประเด็นสุดท้ายของการประมงก็คือว่า เรามีประตูบานแรก บานที่ 2 บานที่ 3 ก็คือ การควบคุม ควบคุมผลผลิตสัตว์น้ำวัยอ่อน การจับสัตว์น้ำผิดประเภท แล้วก็การคุมการตลาดซื้อขายลูกสัตว์น้ำ ข้อเสนอนี้มาจากสมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

เพราะฉะนั้นโดยสรุป การประมงทะเลก็ยังไม่ยั่งยืน และยังมีแนวโน้มที่ปลาตัวใหญ่จะลดลงเรื่อย และที่เราจับได้ก็จะเป็นปลาตัวเล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งปกติพวกนี้จะเป็นอาหารของปลาใหญ่

5. “สิทธิชุมชน ป่าชายเลนชุมชน” และการทวงคืนผืนป่า คทช.

มาที่ชุมชน มันยังมีปัญหากฎหมายทับซ้อนอยู่ในทะเลเยอะมาก ชุมชนชายฝั่งบางส่วนอาจจะอยู่ในอุทยาน บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์ป่า ขณะเดียวกันก็ถูกป่าสงวนครอบคลุม และถ้ามีเสาบ้านข้างใดข้างหนึ่งอยู่ในแม่น้ำ ทะเล คลอง ก็จะเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ต้องจ่ายค่าอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่ออยู่อาศัยในบ้านตัวเองเป็นรายปี ตารางเมตรละ 5 บาท อันนี้ก็เป็นปัญหาทีต้องหารือร่วมกัน

ประเด็นเรื่อง คทช. ถ้าคุณอยู่ป่าบก คทช.จะให้ที่ดินทำกิน และให้ชุมชน ให้บ้านอยู่อาศัยด้วย แต่ถ้าเป็นชุมชนชายฝั่ง คทช.จะวงเฉพาะที่อยู่อาศัย ส่วนที่ดินทำกินไม่ให้ แล้วตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องการจับกุมดำเนินคดีกันอยู่ เหตุผลที่ไม่รับรองสิทธิในที่ดินของชุมชนชายฝั่งเพราะมติครม.ไปบอกว่า พื้นที่ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ข้อเท็จจริงมันก็คือพื้นที่บกทั่วไปนี่แหละ เพียงแต่ว่าตามกฎหมายมันถูกขีดให้เป็นป่าชายเลน แต่ในตามสภาพแล้วมันไม่ใช่ที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง

6. การประมงทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

แสดงให้เห็นถึงอุทยานแห่งชาติทางทะเล

ในขณะที่เป็นอุทยานแบนนี้ก็จะมีการทำข้อตกลงร่วมกันกับอุทยาน เพราะมีช่องตามมาตรา 65 ที่จะทำประมงแบบยั่งยืนได้ก็มีการทดลองทำกัน

7. “ไมโครพลาสติก” ในห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศทะเล

สุดท้าย อยากจะพูดเรื่องแรกก็คือขยะทะเลเรื่องนี้เป็นวิกฤตแล้วก็ เราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ถ้าเรายังใช้แนวคิดสร้างขยะแบบเสรีในปัจจุบัน เพราะการแก้ปัญหามันต้องเปลี่ยนแนวคิดเป็นผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เพราะว่าพลาสติกที่คุณใช้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร มันถึงต้องใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคต้องร่วมกันรับผิดชอบ อันนี้อาจจะต้องนำระบบการเงินการคลังเข้ามาใช้

ข้อเสนอที่ 2 ก็คือ ต้องทบทวนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทบทวนกฎหมายทะเลในระดับที่ต้องมีการปฏิรูปและดูร่วมกันหลาย ๆ ฉบัน ดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมกันแล้วก็ปรับปรุงให้มันสอดคล้องกับภาพที่เป็นจริง และการเคารพสิทธิชุมชน

การประกาศกำหนดขนาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง ตอนนี้มีการหารือกันอยู่ และมีข้อเสนอให้นำร่องที่ปลาทูกับปูม้า คือมันอาจจะไม่สามรารถกำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมงได้ทุกชนิด แต่ควรจะเริ่มต้นและนำร่องในสัตว์น้ำสำคัญ

ปรับแนวคิดเรื่องพื้นที่คุ้มครองทางทะเล มาเป็นความร่วมมือกับชุมชน

ส่วนหญ้าทะเลต้องปรับปรุงมาตรการ เพราะมาตราการฟื้นฟูคุ้มครองหญ้าทะเลปัจจุบันยังเป็นมาตรการที่ใช้ไม่ได้ และยังไม่มีการเข้าไปฟื้นฟูอย่างจริงจัง

เรื่องคทช.ก็ต้องขยายจากชุมชนไปรับรองที่ดินทำกิน

เรื่องพื้นที่อนุรักษ์ เรื่องอุทยานก็ต้องร่วมกันกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ประเด็นสุดท้ายผมคิดว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญมาก และมันจะเป็นหัวใจที่ทำให้ทุกอย่างวิกฤต ถ้าเราไม่ช่วยกันลงมือทำ และก็ทะเลเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันปกป้องทะเล

(ภาพ : Ted Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565)