“อคติที่คิดว่าชาวบ้าน และชาวเขาเผา และเกิดฝุ่นควัน เริ่มค่อย ๆ เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วฝุ่นควัน PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท คมนาคม ขนส่ง ทุกครั้งที่สตาร์ทรถนี่ PM2.5 เกิดขึ้นแล้ว โรงงานที่ดำเนินการตลอดเวลา แต่ดาวเทียมจับไม่ได้ ไม่มีจุด Hot Spot เลย
แต่จุด Hot Spot จะไปจับได้แค่เฉพาะพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า แล้วก็พื้นที่เพื่อนบ้าน อันนี้เราจะเห็นเลยว่าตัวเทคโนโลยี GISTDA ทั้งหลายนี่ เอียงขนาดนี้ แล้วกลายเป็นว่าจุด Hot Spot และไฟแดงที่เกิดขึ้นนี่เป็น ซีกชนบท ซีกชุมชน ซีกชนเผ่า”
“ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ” สภาลมหายใจเชียงใหม่ นำเสนอ ภาพล่าสุดในปี 2565 “สถานการณ์-วิกฤต-มายาคติ มลพิษฝุ่นควัน PM2.5” ที่คลุ้งก่อปัญหาทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อม “5 มุมมองใหม่ ที่จำเป็นต้องมี” และ “6 ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ในเวที TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม 2565

“ฤดูฝุ่นควัน” ฤดูที่สี่ของไทย
มลพิษฝุ่นควัน ไฟป่า กำลังจะเริ่มแล้วเดือนนี้เดือนหน้า ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. สำหรับประเทศเราโดยเฉพาะทางเหนือ เริ่มมี 4 ฤดู นอกจากร้อน ฝน หนาว แล้วยังมี “ฤดูฝุ่นควัน” และเรากำลังจะเข้าสู่ฤดูฝุ่นควันแล้ว
ผมอยากเริ่มจากภาพใหญ่ว่า เรามีป่าเขตร้อน ทั้งโลกประมาณ 7% แล้วผมคิดว่าป่าเขตร้อนมีความสำคัญสูงมากในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ซึ่งยึดโยงอยู่กับความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในเรื่องยารักษาโรค และสุขภาพ สำคัญมาก
และพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่กำลังถูกไฟ และฝุ่นควันเกิดขึ้นจำนวนมาก
สังเกตว่าพื้นที่ประเทศไทย ตรงเขียว ๆ จะอยู่ภาคเหนือเกือบหมดเลย กับซีกตะวันตก ส่วนอื่น ๆ น้อยมาก กรุงเทพฯ ไม่มีป่าเลย แต่มีฝุ่นควัน PM2.5 ด้วย
จุดความร้อน (Hot Spot) : ต้นตอ รูปแบบ และมายาคติ
อันนี้เป็น Pattern (รูปแบบ) ทุก ๆ ปี มัน (จุดเผาไหม้) จะเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค ก็จะเริ่มมาละจากเมียนมา จากอินเดียเข้ามา แล้วจะเริ่มออกเป็นสีส้ม แล้วมันก็จะแดงเถือกจริง ๆ ก็จะอยู่ในช่วงของมีนา เมษา
จะสังเกตว่า มันไม่ได้เกิดจุดเผาไหม้แค่ในประเทศไทย สปป ลาว เมียนมา เต็มไปหมดเลย
ภาพนี้ขยายให้เห็นว่า มันเต็มไปหมดจริง ๆ ถ้าเราดูตัวเลขฝั่งที่เป็นเมียนมา กับ สปป ลาว จะเห็นว่าสูงมากกว่าเรา 10 เท่า อย่างไม่น่าเชื่อ มันคือการขยายตัวของเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งส่งเสริมในประเทศไทยได้ยากลำบากขึ้น จึงขยายตัวออกไปสู่รอบนอก แล้วมันกำลังกลายมาเป็นฝุ่นควัน แล้วกลับเข้ามาในประเทศ เป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ มันไม่ใช่เรื่องเล็กเลย
อันนี้คือทุ่งทะเลข้าวโพดในเมียนมา (ที่ผ่านมาก็) มีการเจราจากัน ระหว่างหอการค้าทางฝั่งแม่ฮ่องสอนก็ดี ทางเชียงรายก็ดี เขา (เมียนมา) บอกว่ามันเป็นเศรษฐกิจหลักของเขา ยังไงก็ลดยาก มีแต่จะเพิ่มแล้วก็มีได้รับการส่งเสริมที่น่าสนใจด้วย
ภาพนี้สำคัญเหมือนกัน ผมอยากให้เห็น Pattern (รูปแบบ) การจุดความร้อน (Hot Spot) ที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน Pattern เดียวกันหมด ภาพอย่างนี้จะเกิดขึ้นทุกจังหวัด และเหมือนกันทั้งประเทศ เช่นเดียวกันทั้งสองพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น Hot Spot ในเขตป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน รวม ๆ แล้ว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรรอบนอก นิดหน่อย ประมาณ 5 %
แต่ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นชาวบ้าน และชาวเขาที่เป็นผู้จุด ก็อยากให้เห็นตัวเลขนี้ เป็นปี 64 กับ 65 แทบไม่ต่างกันเลย
คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเกิดไฟไหม้ในแถบนั้นมากขึ้น ผมคิดว่าอาจจะโยงได้กับที่หลาย ๆ ท่านได้พูดไปแล้ว
6 สถานการณ์วันนี้ วิกฤตฝุ่นควัน PM2.5
หลังจากสภาลมหายใจเกิดขึ้น เราพยายามชวนทุกภาคส่วนมานั่งคุยกัน ผมคิดว่าน่าสนใจมาก อคติที่คิดว่าชาวบ้าน และชาวเขาเผา และเกิดฝุ่นควัน เริ่มค่อย ๆ เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นว่า แท้จริงแล้วฝุ่นควัน PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท คมนาคมขนส่ง ทุกครั้งที่สตาร์ทรถนี่ PM2.5 เกิดขึ้นแล้ว โรงงานที่ดำเนินการตลอดเวลา แต่ดาวเทียมจับไม่ได้ ไม่มีจุด Hot Spot เลย
แต่จุด Hot Spot จะไปจับได้แค่เฉพาะพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า แล้วก็พื้นที่เพื่อนบ้าน อันนี้เราจะเห็นเลยว่าตัวเทคโนโลยี GISTDA ทั้งหลายนี่ เอียงขนาดนี้ แล้วกลายเป็นว่าจุด Hot Spot และไฟแดงที่เกิดขึ้นนี่เป็น ซีกชนบท ซีกชุมชน ซีกชนเผ่า
ซึ่งอันนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อป่า ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตมากมายมหาศาลแน่นอน
ดร.ชัยชาญ (ศาสตราจารย์นายแพทย์ ชัยชาญ โพธิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ) ทำการศึกษาวิจัยตามเรื่องนี้มา 10 ปี พบว่ามีผู้เสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องมากจาก PM2.5 ปีละ 4 หมื่นคน ดร.พยายามออกมาพูดอย่างมากเลย แต่ว่าไม่ค่อยมีคนสนใจ เขาบอกว่ากลัวจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามา หมายความว่าห่วงนักท่องเที่ยวมากกว่าคนไทย ปีละ 4 หมื่น มากกว่าโควิดอีกนะครับ แล้วที่ป่วยอีกเท่าไหร่
ตอนนี้มี ดร. 2 ท่าน มีอาจารย์ที่ มช. อีกท่านหนึ่ง ล่าสุดอายุ 28 ปี เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ไม่สูบบุหรี่ เขาวิเคราะห์ว่าเกิดจาก PM2.5 แน่นอน เพราะว่าอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้มี ดร. เสียชีวิตไปเขาก็วิเคราะห์ชัดเจนว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เลย
ทางภาคเศรษฐกิจออกมาพูดเลยว่า ฤดูฝุ่นควันนี่ คนไม่ขึ้นไปทางเหนือ กลับไปทางใต้ ไปทะเลครับ เศรษฐกิจสูญเสียเป็นแสนล้าน โรงแรมไม่มีคนพัก ร้านอาหารไม่มีคนเข้า ระบบท่องเที่ยวทางเหนือพัง อันนี้เขาก็วิเคราะห์ว่าสูญเสียอย่างมาก
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ไอ้การจำกัดสิทธิการพัฒนา และความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย โครงการและแผนงานจากทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นพื้นที่ไหนที่ถูกประกาศทับ ถูกเขตป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนทับ ตั้งแต่ปี 2503 2504 2507 เป็นต้นไป จะถูกจำกัดสิทธิการพัฒนา และการพัฒนาจะเข้าไปไม่ได้ เป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย อันนี้คือประเด็น
ซึ่งอันนี้แหละ ถูกจำกัดการพัฒนา ที่ดินผิดกฎหมายด้วย แต่ Hot Spot GISTDA จับได้เฉพาะชนบท เฉพาะพื้นที่ชนเผ่า ในเมืองจับไม่ได้เลย อย่างนี้เป็นต้น
ผมคิดว่ากระบวนการแก้ปัญหามันสร้างความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น โลกร้อน โลกรวนคงได้รับการรับรู้กันมากแล้ว
5 มุมมองใหม่ ที่จำเป็น
(ผม) อยากจะสรุปอย่างนี้ครับ ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิค
ตอนนี้รัฐตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเดือน ธ.ค. มาดับไฟ ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. แล้วจบเข้ากลับกรม กอง อีกปีก็มาตั้งกรรมการใหม่ มาไล่ดับไฟ แล้วก็กลับกรม กอง เป็นเช่นนี้มา 15-16 ปีแล้ว แก้ไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีความซับซ้อน แล้วก็เชื่อมโยงหลายเรื่อง หลายหน่วย ที่ผ่านมาใช้คำสั่งแบบบนลงล่าง แก้ปัญหาไม่ได้
ซึ่งข้อเสนอของเราต้องเป็นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมทั้งสังคม เพราะทุก sector เลย มีส่วนร่วมในการสร้างฝุ่นควัน PM2.5 โทษกันไป โทษกันมา ที่ผ่านมาคนเมืองโทษคนชนบท แล้วตัวเองก็อยู่เฉย ๆ เฮ้ย ชาวเขากับชาวบ้าน แก้ปัญหาสิ ตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน วันนี้บอกว่าทุกคนหยุดขับรถยนต์ได้ไหม โรงงานปิดได้ไหม หยุดส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ไหม มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหมดเลยที่จะต้องหาทางออก แบบ win-win ด้วย
และก็ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ อาเซียน แต่อยากจะบอกอย่างงี้ว่า ชุมชนเป็นผู้ที่อยู่ติดดิน ติดน้ำ ติดป่า ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ถ้าชุมชนไม่ได้มีบทบาท มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ปัญหานี้แก้ไม่ได้ครับ ต่อให้คนข้างนอกคิดมาดีขนาดไหน มีนโยบายดีขนาดไหน ก็แก้ไม่ได้ ถ้าพี่น้องชุมชนไม่ได้ลุกขึ้นมา เพราะว่า เขาเป็นคนที่ดูแลผืนแผ่นดิน ผืนน้ำ และผืนป่า ทุกตารางนิ้วในประเทศ
บทเรียนจาก “สภาลมหายใจเชียงใหม่”
สิ่งที่(เรา)พยายามทำกัน ที่ผ่านมาสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ขยายเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ+ตาก กำลังพยายามที่จะเชื่อมโยงพลังทุกฝ่าย สร้างพื้นที่ที่กลาง ที่เราเรียกว่าพื้นที่หน้าหมู่ หรือพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายขยับเข้ามา สรุปบทเรียนร่วมกัน มาเสนอหลักคิดและการทำงานใหม่ร่วมกัน โดยกระบวนการที่สำคัญคือ การมองเห็นช้างตัวเดียวกัน
ที่ผ่านมาเรามองเห็นช้างกันคนละตัว เป็นช้างแอฟริกัน กับช้างเอเชียมั้ง เราต้องมองเห็นช้างตัวเดียวกันก่อน อันที่หนึ่ง แล้วต้องมองเห็นช้างทั้งตัวร่วมกัน บางคนอยู่งาช้าง หัวช้าง ตีนช้าง หางช้าง ต้องมามองเห็นภาพเดียวกัน มองภาพให้เป็นองค์รวมให้เห็นภาพเดียวกัน และที่สำคัญมามองเห็นดาวดวงเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเรามองดาวกันคนละดวง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ากระบวนการนี้สำคัญมาก กระบวนการในการพูดคุยกัน และสรุปบทเรียนร่วมกัน
ก็มีการเสนอกันใหม่ว่า การแก้ไขแบบปัญหาเฉพาะหน้ามันแก้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน มีแผนระยะสั้น กลาง ยาวต่อเนื่อง อันนี้สำคัญมากเลย พวกเราสรุปบทเรียนร่วมกันว่า ต้องให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง อันนี้เป็นเรื่องฝุ่นควันนะ แต่เรื่องอื่น ๆ ก็น่าจะมีความใกล้เคียงกัน
เชียงใหม่มี 3 โซน โซนใต้ แถวอมก๋อย ดอนเต่า ใบไม้จะแห้งม.ค. ก.พ. โซนกลางใบไม้จะแห้ง ก.พ. มี.ค. โซนเหนือ เชียงดาว ชัยปราการ ฝาง โซนนั้น ใบไม้จะแห้ง มี.ค. เม.ย. ขนาดพื้นที่จังหวัดเดียวกันใบไม้ยังแห้งไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการต้องใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
หรือกรุงเทพฯ ที่ไม่มีป่าเลย ไม่มีชนเผ่าเลย มี PM2.5 เต็ม เพราะฉะนั้นเสนอให้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก ท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน วิชาการ ธุรกิจ รัฐ สนับสนุน และมีภาคประชาสังคมมีบทบาทในการเชื่อมโยง
อีกอันที่สำคัญ เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญมาก เดิมรัฐใช้วิธีใครเผาโดนจับ เป็นประกาศจังหวัด แล้วไล่จับกัน ให้ตำรวจไปไล่จับ ปรากฏว่าไฟไหม้วินาศสันตะโร แต่จับใครไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะว่าทำให้การเผาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น ทุกคนเผาเสร็จแล้วก็ไป หาใครไม่ได้
เราเสนอใหม่ครับ เพราะแท้จริงแล้ว ไฟ มีทั้งไฟที่จำเป็นและไม่จำเป็น ไฟที่ไม่จำเป็นก็เห็นด้วยกับ zero burning คือห้ามเผาเด็ดขาด ต้องทำแนวกันไฟป้องกันกันอย่างดีเลย แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือไฟที่จำเป็น เช่น ถ้าไม่เผาแล้วไม่มีข้าวกินแบบนี้ หรือมีการสั่งสมเชื้อเพลิงชีวมวลเยอะ ๆ แล้วมีความเสี่ยงสูง อาจจะต้องมีการจัดการ ซึ่งมันจำเป็น
เราเลยเสนอเป็นเรื่อง fire management ก็คือ รักษาสิ่งที่ต้องรักษา ที่จำเป็นต้องบริหาร ดูแล ควบคุม จัดการ ซึ่งตอนนี้มีแอพพลิเคชั่น “FireD (ไฟดี)” ต้องมีการเสนอเข้ามาว่าจะจัดการตรงไหน แล้วทุกหน่วยจะเข้าไปช่วยกันดูแล และมีคณะกรรมการมาช่วยกันดู ซึ่งเป็นการประสานงาน ซึ่งผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจมาก
อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องกฎหมายอากาศสะอาดจำเป็น ตอนนี้เราใช้ พ.ร.บ. บรรเทาสาธารณะภัย เข้าใจว่าเรื่องน้ำท่วมน่าจะคล้ายกัน ถ้ามีภัยถึงจะใช้งบ ใช้คน ใช้เครื่องจักรได้ ซึ่งมันเป็นกฎหมายล้าหลัง เชิงรับมาก แต่ว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เพราะฉะนั้นต้องมีกลไก จะต้องไปดูแลควบคุมทุกสาเหตุ มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ และมีงบประมาณที่ชัดเจน
อีกส่วนหนึ่งคือ แผนเชิงรุกในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมามี ASEAN agreement ว่าจะช่วยกันลดฝุ่นควัน แต่ไม่มีแผนอะไรเลย ว่าจะลดยังไง ไม่เกิดอะไรเลย ซึ่งอันนี้จำเป็นจะต้องทำ
เราก็ทำงานประมาณนี้ ทำงานเชิงพื้นที่รูปธรรม แก้ปัญหาโดยเอาศักยภาพของทุกภาคส่วน มีพื้นที่สาธารณะ มีงานวิชาการ มีงานสื่อ งานรณรงค์ ที่ผ่านมาก็มีเทศกาลเพื่อลมหายใจ มีนิทรรศการที่ทำงานกับศิลปิน Art for AIR ต่าง ๆ เพื่อที่จะรณรงค์
เรามองว่า การรณรงค์เพื่อให้คนเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง ก้าวพ้นอคติ การมาร่วมกันแก้ปัญหาที่แท้จริง แล้วช่วยกัน สำคัญมาก ๆ สำนึกที่จะเกิดขึ้นที่จะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนี่ ผมว่าจริง ๆ มีส่วนทำให้เกิดการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับนโยบาย
ส่วนระดับนโยบายก็เรื่องจังหวัด อบจ. เรื่องติดตามวาระแห่งชาติ เรื่องกฎหมายอากาศสะอาดก็ทำกันไป
6 ข้อเสนอเชิงนโยบาย
สุดท้ายแล้วครับ ข้อเสนอคือถึงแม้เราจะทำดีขนาดไหนในระดับพื้นที่ ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เราสรุปว่าเชียงใหม่ จริง ๆ แล้ว Hot Spot ลดลงเยอะมากเกือบ 80% ปีนี้ อาจจะเป็นเนื่องจากมีฝนเยอะ เราเลยขยายเป็น 8 จังหวัด 9 จังหวัด แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ PM2.5 มันเกิดขึ้นทั่วประเทศ จะต้องแก้กันทั้งประเทศ ต่อไปอาจจะทั่วโลกกันด้วยซ้ำไป ที่จะต้องช่วยกันทำควบคู่กันกับพื้นที่
รูปธรรมที่เราขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนซึ่งสำคัญมาก ๆ ถ้าภาคประชาชนไม่ลุกขึ้นมา เชื่อได้เลยว่าการแก้ปัญหา หนึ่ง ไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลทำงานรวมศูนย์ตรงกลางแล้วแยกส่วนกันลงมาทำงานในพื้นที่ ซึ่งไม่มีทางบูรณาการกันได้เลย ประชาชนจะเป็นจุดสำคัญของกระบวนการตั้งต้นของการแก้ไขปัญหา
มีข้อเสนอนโยบายคือ
- ต้องมีควบคู่กันไปก็คือนโยบายพลังงานสะอาด และยั่งยืน ขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า โรงงานปลอดมลพิษ ตอนนี้ทั้งประเทศมีเครื่องวัดโรงงานอยู่โรงเดียวทั้งประเทศ อยู่ที่สระบุรี โรงอื่น ๆ ไม่ได้มีการวัดเลย ว่าปล่อยมลพิษอะไรมาบ้าง จำเป็นจะต้องกำกับดูแล
- เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว อันนี้อาจจะต้องถกเถียงกันต่อไป เสนอกันว่าเศรษฐกิจสีเขียวจะต้องควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจท้องถิ่น ฐานราก เพราะว่า จู่ ๆ เราจะให้ชาวบ้าน เปลี่ยนจากข้าวโพดทันทีทันใดเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการส่งเสริมทั้งความรู้ ทั้งทุน ทั้งการตลาด เยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นต้องมีกระบวนการให้ชาวบ้านแข็งแรง ปลดล็อกการจำกัดการพัฒนาต่าง ๆ ออก มันถึงจะสามารถเกิดเศรษฐกิจท้องถิ่นที่แข็งแรงได้
นโยบายการลดพืชเชิงเดี่ยว แล้วเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับแต่ละภูมินิเวศ อันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ
นโยบายเรื่องการจัดการที่ดินทำกินที่มั่นคง เรามีข้อสรุปว่าที่ดินที่ไม่มั่นคงนำไปสู่การผลิตที่ไม่มั่นคง การขยายตัวของข้าวโพดเชิงเดี่ยวนี่มาจากที่ดินที่ไม่มั่นคง ถ้าปลูกต้นยางโดนตัด ปลูกข้าวโพดไม่โดน อันนี้มันก็เป็นกระบวนการที่เราจะต้องทำให้ที่ดินเกิดความมั่นคงในทุก ๆ ชุมชนมันจึงจะเกิดการผลิตที่มั่นคงตามมา สิทธิชุมชนในการร่วมในการจัดการดูแลดิน น้ำ ป่า
รวมทั้งมีข้อเสนอปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติใหม่ เพราะว่า ในสถานการณ์โควิด คนกลับท้องถิ่นมากขึ้น แม่ฮ่องสอนมีป่าอยู่ 86% ถ้าคนแม่ฮ่องสอนจะกลับไป มีพื้นที่ผิดกฎหมาย 86% ของจังหวัดทำอะไรได้ละ เชียงใหม่ 70% ลำปาง 70% ตาก 70% ผู้ว่าบริหารอยู่แค่ 30% ที่เหลือเป็น 2 อธิบดีบริหารซึ่งผมว่ามันไม่แฟร์ มันไม่มีความเป็นธรรมเพราะฉะนั้น ต้องจัดการทรัพยากรใหม่
อีกอันหนึ่งก็คือ นโยบายการป้องกัน รักษา เยียวยา สุขภาพ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายเรื่องการสื่อสารเพื่อให้คนรับรู้เข้าใจมีน้อยมาก เฮ้ย ตอนนี้สีแดงแล้ว แล้วต้องป้องกันตัวเองยังไง ตอนนี้สีส้ม ตอนนี้สีม่วง ต้องดูแลจัดการตัวเองยังไง ไม่มี ซื้อหน้ากากก็ต้องซื้อเอง เครื่องฟอกอากาศก็ต้องจ่ายเอง ไม่มีระบบเยียวยาอะไรเลยช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นนโยบายในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจะต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไป
สุดท้ายที่สำคัญมาก ๆ ต้องมีนโยบายกระจายอำนาจให้ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และจังหวัด สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ กรุงเทพฯ ต้องแก้แบบหนึ่ง เชียงใหม่ซึ่งเป็นแอ่งกะทะหุบเขา มีภูเขาสูงสุดของประเทศ 4 ลูกไปกองอยู่ที่เชียงใหม่ ก็แก้อีกแบบหนึ่ง ที่น่านก็เป็นอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนกัน
เรื่องการกระจายอำนาจจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องใหญ่มากสำหรับอนาคต