เผย 7 ปีตั้งแต่มีเหมือง ผลกระทบหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ผลตรวจijน้ำในพื้นที่เค็มกว่าทะเลกว่าสองเท่า บางพื้นที่เค็มมากจนเครื่องวัดไม่ได้ ไม่นับบ้านผุ-ผลผลิตข้าวฮวบไม่พอกิน
ตัดสินใจประกาศจัดเวทีตีแผ่ผลกระทบ “เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด” บริเวณหน้าเหมืองไทยคาลิ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด โคราช พรุ่งนี้ หวังสาธารณะหนุนข้อเรียกร้อง “ชดเชยเยียวยาชาวบ้าน-ฟื้นฟูพื้นที่”
ด้านตำรวจในพื้นที่เรียกพบตัวแทน“กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โคราช” ถามจะจัดกิจกรรมขออนุญาตหรือยัง ชาวบ้านยัน “กฎหมายระบุแค่แจ้ง ไม่ต้องขออนุญาต”

น้ำในพื้นที่ “เค็มกว่าน้ำทะเล 2 เท่า”
“พบว่าบางสระมีค่าความเค็มของน้ำมากถึง 60 ppt ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของความเค็มของน้ำทะเล และบางสระค่าความเค็มพุ่งขึ้นสูงมากจนเครื่องไม่สามารถตรวจสอบความเค็มได้”
ผลตรวจล่าสุด ระดับความเค็มของน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองโปแตชไทยคาลิ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาล่าสุด จากรายงานข่าวเครือข่ายชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองโปแตชโคราช ภายใต้ชื่อ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด โคราช”
“เป็นผลตรวจจากการลงพื้นที่วานนี้ (21 ธ.ค. 65) ที่ตัวแทนกกลุ่มฯ ได้นำคณะทำงานจังหวัดลงพื้นที่ฯ
โดยคณะทำงานจัดทำแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และคณะทำงานลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด นี้ประกอบด้วยกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 นครราชสีมา สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา
รวมถึง ตัวแทนจากอำเภอด่านขุนทด รศ.ดร.ณภัทร น้อยน้ำใส มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ดร.ฉัตร พยุงวิวัฒนกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเจ้าหน้าที่กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งทั้งหมดได้ประชุมร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน เพื่อลงพื้นที่ เก็บข้อมูลผลกระทบของเหมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่กับชาวบ้านและเตรียมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา
โดยบัญชา ขุนสูงเนิน ผู้อำนวยการส่วนตรวจและบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานควบคุมสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ได้นำเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบน้ำในพื้นที่โดยได้ตักตัวอย่างน้ำในบ่อของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และก็ได้ผลดังกล่าว” ตัวแทนกลุ่มฯ ชี้แจง

กระทบหนักต่อเนื่อง “บ้านผุ-ปลูกข้าวไม่ได้”
“บางบ้านไม่สามารถทำกินในพื้นที่ทำกินเดิมได้ บางบ้านได้รับผลกระทบเกลือกัดกร่อนบ้านจนแทบจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้
บางบ้านจากที่เคยปลูกข้าวได้ทีละ 9 ตัน มากพอที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ แต่ความเค็มที่มาจากน้ำทำให้ที่นาปลูกข้าวได้เพียงแค่ 2 ถุงปุ๋ยเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในชุมชนเป็นการทำลายความเป็นชุมชนลงหมดสิ้น” ตัวแทนชาวบ้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวในที่ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่ศาลาวัดหนองไทร อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา วานนี้ (21 ธ.ค. 65)
“ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้นำเจ้าหน้าที่ลงไปดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
รวมถึงพื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่ติดกับเหมืองกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำเสียและแผ่นคราบเกลือที่ไม่สามารถประกอบการเกษตรได้ บ้านชาวบ้านหลายหลังที่พื้นดินมีความชื้นจากน้ำตลอดเวลาและมีน้ำผุดขึ้นในสุขา รวมถึงบ้านที่ความเค็มของเกลือที่ผุดมากับน้ำกัดกร่อนบ้านจนทำให้เกิดการผุพังของฝาบ้าน และที่นาของชาวบ้าน และบ่อปลาของชาวบ้านอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากความเค็มที่เกิดขึ้นในน้ำจนทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายยกสระ และผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกไว้ไม่ได้ตามเดิม” รายงานข่าวเปิดเผย

รับนำข้อมูลไปหาทาง “ชดเชย-เยียวยาฟื้นฟู” พื้นที่
“จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราเห็นแนวทางเบื้องต้นที่จะดำเนินการได้ก่อน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ที่เคยทำการเกษตร ก่อนที่จะมีเหมืองนั้นถูกเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากการมีเหมือง ในประเด็นนี้เราสามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาสนับสนุนได้ ซึ่งเราจะทำการรายงานต่อทางจังหวัดต่อไปว่าวันนี้เราได้ข้อมูลอะไรบ้าง” ดร.ฉัตร พยุงวิวัฒนกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานกล่าวในช่วงสรุปผลการลงพื้นที่และแนวทางในการดำเนินการต่อหลังจากนี้
“แผนการทำงานของเราในระยะสั้น เราจะทำการค้นหาผลกระทบจากการทำเหมือง และเมื่อเราได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนรอบด้านแล้ว เราก็จะนำข้อมูลจากวิธีการแรกมาทำเรื่องของการชดเชยเยียวยา
ส่วนแผนการทำงานระยะยาว เป็นเรื่องของการฟื้นฟูต้องมีการพัฒนาพื้นที่และปลูกพืชที่สามารถปลูกได้
ซึ่งข้อมูลที่เราได้ในวันนี้ เราจะนำไปรวบรวมและสรุปต่อไปยังคณะทำงานระดับจังหวัดชุดใหญ่ และกำหนดพื้นที่ในการลงตรวจสอบอีกครั้งต่อไป” อาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าว

ชาวบ้านกังวล “บริษัทจะนำออกหลักฐาน”
“การมาลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่วันนี้ดูจะมองเห็นทิศทางที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงร่วมกันมากขึ้น ก่อนหน้านี้ในคณะทำงานชุดนี้ได้มีการกำหนดสัดส่วนของบริษัทฯเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย แต่เมื่อชาวบ้านท้วงติงไป ได้มีการตัดสัดส่วนของบริษัทฯออก ดังนั้นการมาของเจ้าหน้าที่ในวันนี้จึงเห็นแนวโน้มในการทำงานร่วมกันได้
อย่างไรก็ตามเรามีความกังวลในเรื่องหลักฐานที่บริษัทฯ อาจมีการนำออกไป จนอาจส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบหรือไม่อย่างไร
สิ่งที่เราต้องการคือการยืนยันกับจังหวัดว่าเหมืองแร่โปแตชได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างไร ทั้งนี้ตามหลักแล้วหากมีผลกระทบในพื้นที่ขยายเป็นวงกว้างในลักษณะนี้จะต้องมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามาจากเหมือง และเจ้าหน้าที่จะต้องสั่งให้เหมืองหยุดกิจการจนกว่าจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด
และสุดท้ายแล้ว แม้การพิสูจน์จะไม่สามารถเอาผิดเหมืองได้ จังหวัดก็จะต้องเป็นหน่วยงานที่ต้องชดใช้เยียวยาให้กับชาวบ้าน จะปล่อยให้ชาวบ้านเกิดความสูญเสียโดยไม่ได้รับการเยียวยาไม่ได้” จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ที่ปรึกษากลุ่มฯ กล่าว

ประกาศเดินหน้า “ตีแผ่ผลกระทบ”
กลุ่มฯ เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (23 ธ.ค. 2565) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทด จ.นครราชสีมา จัดกิจกรรม “เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด” ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน หน้าเหมืองโปแตชไทยคาลิ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
“เราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 7 ปี ตั้งแต่ โครงการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ขอประกาศว่าจะจัดกิจกรรมชุมนุมหน้าเหมืองไทยคาลิ ศุกร์ที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อตีแผ่ความจริงผลกระทบเหมืองแร่โปแตชกับชุมชนและสาธารณะ” ตัวแทนกลุ่มกล่าว

ตำรวจพื้นที่เรียกพบ
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (21 ธันวาคม 2565) เพจเฟสบุ๊ค เหมืองแร่โปแตชแอ่งโคราช รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการแจ้งตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ให้เข้ามาพบกับผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอด่านขุนทด เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และจะแจ้งว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ตีแผ่ปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด “เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด” ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน 23 ธันวาคม 2565 หน้าเหมืองโปแตชไทยคาลิ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
“กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้แจ้งกลับไปว่า ไม่สะดวกที่จะเข้าไปพบ และยืนยันว่าตามกฎหมายกฎหมายพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าหากมีข้อคิดเห็นใด ๆ ก็ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมา และก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการแจ้งการชุมนุมเป็นการแจ้งให้ทราบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตในการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด” รายงานข่าวเปิดเผย


