เสียงสะท้อน จากถนนสาย “BCG”

เมื่อโครงการอย่าง “กังหันลม-โปแตซ-โรงไฟฟ้าชีวมวล-EEC-แลนด์บริดจ์” ถูกรัฐบาลชูให้เป็นการพัฒนาสีเขียว “BCG” ทิศการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นกระแสโลก 

“จริงหรือ เขียวแค่ไหน?” คำถามแรก ๆ ในหัวหลาย ๆ คน 

นราวิชญ์ เชาวน์ดี ผู้สื่อข่าว GreenNews พาไปฟังเสียงจริงจากผู้คนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่โครงการเหล่านั้น พร้อมข้อสังเกตุ-ข้อวิพากษ์จากตัวแทนภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมหลายความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญ “ข้อเสนอ” หากต่อการดำเนินตามนโยบายนี้ในทางที่ “ควร”

เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของบทสนทนา เวที Dialogue Forum “BCG, เส้นทางการพัฒนาสีเขียว?” ที่จัดโดยสำนักข่าว Bangkok Tribune และองค์กรพันธมิตร เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ประชาชนตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี คัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่จะมาก่อสร้างที่เขาตะเภา (ภาพ : สยามโฟกัสไทม์)

“กังหันลม ลพบุรี”

“ไฟฟ้าที่มาจากกังหันลมถือว่าเป็นพลังงานสะอาดก็จริงแต่ถ้าลองมองดูว่า ตัวโครงการโรงไฟฟ้านั้น ไปทำลายธรรมชาติในพื้นที่ก็จะดูขัด ๆ กัน 

การสร้างโครงการไฟฟ้าจากกังหันลมนั้นไปทำลายธรรมชาติซึ่งก็คือเขาตะเภา ที่เป็นแหล่งธรรมชาติ แหล่งทำมาหากินของคนจากตำบลเรา และอีกหลาย ๆ ตำบลที่ได้รับผลประโยชน์จากเขาตะเภา เราจึงอยากจะถ่ายทอดให้ทุก ๆ ท่านรับรู้ว่าก่อนจะเป็นพลังงานสะอาด มันต้องทำลายธรรมชาติไปขนาดไหนแล้วมันคุ้มค่ากันหรือไม่ ซึ่งกลุ่มพวกเรามองว่ามันไม่คุ้มค่า แล้วก็ขอให้ไปทำที่อื่นได้ไหม” อนันต์ ศิริสลุง ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าตำบลเพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี กล่าว

“บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่อยู่ ๆ ก็เข้ามาขอประชาคมจากชาวบ้านเพื่อสร้างโครงการกังหันลม ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านหลายคนไม่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้เลย

ลพบุรีเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว เราไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอาโครงการกังหันลมเข้ามา เราต้องรักษาพื้นที่สีเขียวของเราไว้ ผู้ประกอบการเอกชนไม่มองถึงเรื่อง bcg แต่กลับมองแค่ด้าน gdp อย่างเดียว” สุภสิน หนูอั้น ตัวแทนอีกคนจากลพบุรีเล่าเสริม 

“ผมกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนำกังหันลมขึ้นมาตั้งบนภูเขาตะเภา ที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ที่อาศัยอยู่บนภูเขา และทิศทางน้ำที่อาจจะเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพทำนา” จงกล ไม้ขด หนึ่งตัวแทนจากพื้นที่โครงการกังหันลมกล่าว

(ภาพ : ThaiNGO)

“โปแตซ อุดรธานี”

“ในพื้นที่ภาคอีสานกำลังมีการสำรวจทำเหมืองแร่โปแตซ และมีการขอสัปทานทำเหมืองไปแล้วประมาณ 3-4 แห่ง โดยจะมีพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่โปแตซรวมกว่า 1 ล้าน 5 แสนไร่ 

เหมืองที่บ้านผมเขาจะทำเป็นเหมืองใต้ดิน เนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ เป็นเขตที่อยู่ในชุมชน บ้านผมอยู่ข้างบน แต่เหมืองจะขุดเป็นอุโมงค์ลึกลงไป 100 เมตร เพื่อที่จะเอาแร่ขึ้นมา เพื่อเราแร่โปแตซไปทำปุ๋ยเคมี อ้างการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่กำลังจะขุดเอาแร่ที่บ้านผมมาทำปุ๋ยเคมี ผมตั้งคำถามตรงนี้ก็ได้ว่ามันสีเขียวตรงไหน

ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการทำเหมือง โดยการค้านในทุกกระบวนการไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ ขอประทานบัตร ทุกขั้นตอนในระดับท้องถิ่น จนมีมติของอบต. ท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับการมีเหมือง  ชาวอุดรติดตามและต่อสู่เพื่อยกเลิกเหมืองแร่มากว่า 20 ปีแล้ว

ประเด็นของผมก็คือว่าความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ ก็คือว่า ชาวบ้านติดตามโครงการนี้มา 20 ปี แต่พอรัฐบาลชุดนี้จะอนุมัติ เขาอนุมัติโดยที่ชาวบ้านที่อุดรไม่รู้เรื่องเลยนะครับ ชาวบ้านมารู้ตอนบ่าย ตอนที่นักข่าวโทรมา ผมอยากถามว่า ความโปร่งใสมันอยู่ตรงไหน การมีส่วนร่วมของประชาชนมันอยู่ตรงไหน” เดชา คำเบ้าเมือง ตัวแทนจากเครือข่ายพื้นที่โปแตซอุดรธานี กล่าว

(ภาพ : InfoQuest)

“โรงไฟฟ้าชีวมวล-EEC ปราจีนบุรี”

“จากประสบการณ์ติดตามเรื่องนี้ในอดีต เราพบว่ามีประสบการณ์ไม่ดีนักกับโรงไฟฟ้าชีวมวล มีตัวอย่างมากมายที่ผู้คนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าประสบเคราะห์กรรมโดยที่หนักสุดก็คือ ร้อยเอ็ด ปัจจุบันที่สุดคือมีโรงไฟฟ้าที่สระแก้ว ตอนนี้ก็แปรมาใช้เชื้อเพลิงขยะ RDF 

ในพื้นที่บ้านผม โครงการ EEC ของรัฐบาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคตะวันออกจนหลายคนตามไม่ทัน ผู้คนตกหล่นจากการพัฒนา ตอนนี้ EEC ขยายอุตสาหกรรมไปมากที่ 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา แต่อีกด้านหนึ่งคือการก่อสร้างโรงงานฝังกลบขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขั้นจาก ม. 44 คำสั่งที่ 4/2559 

ผลที่ตามมาคือการลักลอบทิ้งสารเคมีที่ระบาดไปทั่ว ไล่ไปตั้งแต่พนมสารคาม ปราจีนบุรีจนลามไปสระแก้ว โครงการใหญ่ที่สุดก็อยู่ที่สระแก้ว ซึ่งตอนนี้ก็หนักมาก

ผมคิดว่าการเตรียมพร้อมของประเทศไทยต้องทำให้ดี ไม่อย่างนั้น BCG ก็จะเป็น BCG ฟอกเขียว สำหรับทุนอุตสาหกรรมสกปรก“ สุนทร คมคาย ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและบ่อขยะ  อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 

(ภาพ : Thai Post)

“แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง”

“ผมขอพูดในนามประชาชน เป็นตัวแทนของคนอำเภอพะโต๊ะ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์

พะโต๊ะบ้านเราทำการเกษตรซึ่งเป็นสีเขียวอยู่แล้ว บ้านผมทำสวนทุเรียน สวนผลไม้ คำขวัญอำเภอพะโต๊ะเขียนไว้ว่า ดินแดนภูเขาเขียว เที่ยวล่องแพ แลหมอกปก น้ำตกงาม ลือนามผลไม้ ทุกอย่างมีในอำเภอ แต่ถ้าโครงการแลนบริดจ์ผ่านขึ้นมาจริง ๆ ความอุดมสมบูรณ์จะหมดลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ากับอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว 

ผลกระทบจากแร่ดีบุกที่เคยทำในอำเภอพะโต๊ะแต่ตอนนี้เลิกทำไปแล้ว ยังสร้างผลกระทบจนทุกวันนี้ กระแสน้ำเปลี่ยนทาง ลำคลองตื้นเขิน น้ำท่วมวัดวาอาราม ชุมชน ตลาด มาตอนนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะเข้ามาที่พะโต๊ะอีกแล้ว ผมถามว่าโครงการนี้ใครได้รับผลประโยชน์ ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ไหม หรือบริษัทก่อสร้างคือผู้ได้รับผลประโยชน์ 

โครงการนี้ผิดตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ได้รับอนิสงค์จากคำสั่งของ คสช. อย่ามองข้ามประชาชน เพราะประชาชนแทบจะไม่มีบทบาท ไม่มีส่วนร่วม” สมโชค จุงจาตุรันต์ ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง แผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC)

(ภาพ : Thairath)

BCG-เกษตรยั่งยืน-คาร์บอนภาคป่าไม้

“น่าสนใจมากตรงกรอบ BCG ไม่มีคำว่าเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน เกษตรนิเวศเลยแม้แต่คำเดียวใน 243 หน้า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจถ้าเรากลับไปดูว่าใครเป็นคนร่าง ใครเป็นกรรมการ ใครเป็นอนุกรรมการให้แผนนี้ 

เราก็จะเห็นได้ว่าเป็นตัวแทนจากบริษัทเอกชน และกลุ่มทุนผูกขาด เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีเรื่องแบบนี้อยู่ในนั้นอย่างแน่นอน มีการพยายามแก้กฎหมายหลัก ๆ 2 ตัวที่น่ากังวลในภาคเกษตร คือ 

  1. พรบ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่มีการพยายามแก้ไขไปตาม upov 1991 ซึ่งจะทำให้กระทบต่อสิทธิของเกษตรในการเก็บรักษาพันธุ์ และจะเป็นการเพิ่มระยะเวลาการผูกขาดของพันธุ์พืชใหม่ ๆ ให้มากขึ้น 
  2. พรบ. ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะเปิดทางให้มีการปลูกพืช GMO และจะกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นห่วงคือ การที่ให้เอกชนไปปลูกป่าในพื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ 3.2 ล้านไร่ เพื่อเทรดเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งเราคิดว่าเป็นไปในทางการฟอกเขียว 100% เพราะว่าไทยมีปัญหาเกี่ยวกับชุมชนในเขตป่าอีก 4,000 กว่าชุมชน 4 ล้านกว่าไร่ที่ยังไม่ถูกจัดการอย่างเป็นธรรม แต่เรากำลังเอาที่ของรัฐไปให้เอกชนปลูก แถมยังไม่มีงานวิจัยด้วยว่าการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตจะแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนได้

ไม่นับว่า ถ้าเป็นการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตต้นไม้ที่ใช้ปลูกอาจจะเป็นไม้ที่โตเร็ว และเป็นไปในทิศทางของการปลูกเชิงเดี่ยว อาจจะไม่เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชน และอาจจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลายลง นอกจากนั้นยังอาจจะเป็นการส่งเสริมการใช้สารเคมีด้วย” ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าว

(ภาพ : Karnt Thassanaphak)

BCG-ขยะอุตสาหกรรม-EEC

“EEC เริ่มจากเป็นให้ Circular economy เข้ามา เขาก็ circular ขยะก่อน เอาขยะมาเป็นสินค้ามีมานาน แล้วตอนนี้ก็กระจายไปทั่ว เคยมีการทำแผนที่ในปี 58 ว่ามีการลักลอบทิ้งพวกขยะต่าง ๆ กากอุตสาหกรรมอันตราย ไม่อันตรายทั้งหลาย ก็พบว่ามีการกระจายไป 15 จังหวัด

อำเภอหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราเพียงไม่กี่ปีจาก 58 แห่งที่สามารถทำเรื่องคัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะได้ ขยายไปเป็น 100 กว่าแห่ง แล้วอำเภออื่นอีกเท่าไหร่

การทมทะเลที่ระยอง ที่มาบตาพุด เป็น BCG ตรงไหน เป็น SDG อย่างไร ทั้งที่ก็เคยทมไปแล้ว แล้วนิคมอุตฯก็ยังขยายตัวต่อไป มีทั้งนิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเฉพาะ เช่น innovation park วังจันทร์วัลเลย์ รถไฟฟ้าความเร็วสูง 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันตรงกับชีวิตคนในพื้นที่ไหม มันไปทำให้คนในพื้นที่ต้องออกจากพื้นที่ไหม ทำ มันไปทำให้คนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนอาชีพไหม ทำ แล้วอันนี้มันเป็น BCG SDG ตรงไหน มันตอบโจทย์เรื่องแก้โลกร้อนตรงไหน

เรากำลังแก้ปัญหาโลกร้อน เราต้องการลด Carbon emission แต่ก็มีพวกฉลาดบางพวกมือซ้ายทำอุตสาฯฟอสซิล คือทำอุตสาฯสกปรกแบบเก่า มือขวาทำอุตสาฯสะอาด ที่อาจจะไปทับที่บางคนด้วย แล้วก็เอา 2 อันนี้มาเทรดกันแล้วบอกว่าอันนี้ได้เกณฑ์ละ ได้เป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว แล้วแบบนี้มันแก้โลกร้อนได้จริงหรือ” ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)

(ภาพ : Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน)

BCG-ผังเมือง

“BCG พูดถึงความมั่นคงทางอาหาร พูดถึงความยั่งยืน เริ่มต้นจากการพัฒนา เราก็ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการบางอย่าง EEC เริ่มต้นจากการเปลี่ยนพื้นที่ผลิตอาหารไปเป็นฐานอุตสาหกรรม อันนี้คือความมั่นคงทางอาหารอย่างไร

คุณมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลบอกน้ำตาลทรายในภาคอีสาน บอกว่าอยากเป็นโรงไฟฟ้าที่จะเอาเศษของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมา แต่ตอนนี้ให้ปลูกพืชเพื่อพลังงาน อันนี้คือตอบโจทย์ความเขียวจริงใช่หรือไม่ มีการประเมินหรือไม่ว่าพื้นที่ที่เป็นการผลิตอาหารของภาคอีสานมันถูกทำลายไปเท่าไหร่ ถ้าเราจะกรีนจริง เขียวจริง เราได้มีการศึกษาดีแล้วใช่ไหมว่าจะยั่งยืนจริง จะเป็นพื้นที่ที่เขียวแบบไม่กระทบกับชุมชนจริง

นอกจากพื้นที่ผลิตอาหารแล้วมีการพูดถึงเกี่ยวกับระบบนิเวศหรือไม่ ไลเคนที่มูลนิธิโลกสีเขียวศึกษาเพื่อเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศ นก หรือสัตว์ที่สูญพันธุ์ได้ถูกพูดถึงหรือไม่ จากการที่จะมีการเอาพื้นที่ใช้ชีวิตของสัตว์เหล่านี้ไปใช้เป็นฐานการผลิต

นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็น EEC อุตสาหกรรมจะนะ โครงการนโยบายขยะต่าง ๆ ไม่มีการประเมินผลกระทบ SEA เลย ในมิติผลกระทบเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาสู่ทิศทางกำหนดนโยบายเพื่อความมั่นคงอย่างชัดเจน และในมิติกฎหมายก็ไม่มีการพัฒนากฎหมายเชิงป้องกัน ระบบ EIA ที่เราถกกันมากี่ปีแล้ว มันก็ยังไม่มีการพัฒนา กฎหมายที่เราอยากให้มีอย่าง PRTR การเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษก็ยังไม่เกิดขึ้น

นโยบายต่าง ๆ ถ้ามันเป็นนโยบายที่ดีจริงมันต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพชุมชน และเคารพระบบนิเวศด้วย ดังนั้นถ้าจะเริ่มไปข้างหน้าควรกลับมาทบทวนยกเลิกคำสั่ง 4/2559 ก่อนไหม ควรทบทวนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และแก้ไขกันก่อนไหม

ความมั่นคงทางอาหารจะไม่เป็นจริงถ้า ระบบนิเวศจะไม่ยั่งยืนจริงถ้า คำสั่ง 4/2559 ยังอยู่ ตอนนี้ในภาคตะวันออกมีโรงงานที่เกี่ยวกับขยะอยู่กว่า 925 โรง อันนี้แค่ที่ถูกกฎหมายด้วย ถ้ากฎหมายและนโยบายยังไม่เคารพเรื่องหลักการความยั่งยืนจริงมันจะไม่เป็น BCG จริง ๆ” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

(ภาพ : GETTY IMAGES)

BCG-โลกร้อน

“ที่เรามีปัญหาอยู่แบบนี้ทั้งเรื่องมลพิษ และเรื่องโลกร้อนมันเกิดขึ้นจากการโหมใช้ทรัพยากรโดยที่ไม่ได้ดูบริบทที่ทรัพยากรนั้นควรใช้ยังไงในระดับพื้นที่ มีตัวอย่างเยอะเกี่ยวกับการเดินหน้าในระดับพื้นที่ที่ชาวบ้าน และชุมชนเป็นคนทำ ซึ่งเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว

ปัญหาที่เกิดอยู่ขณะนี้เกิดจากกลุ่มทุน และกลุ่มอุตสาหกรรม แต่กลับเป็นกลุ่มเดียวกันนี้เองที่เป็นตัวหลักในการผลักดัน BCG

คำถามก็คือทำไมเราถึงต้องไปวางอนาคตเรื่องสีเขียวไปไว้ในมือของคนที่ทำลายมาตั้งแต่อดีต แล้วมันจะไม่เกิดปัญหาในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นหรือ ในเรื่องที่จะทำให้เกิดมลพิษ และเรื่องไม่มีการแก้ปัญหา มันกลับทิศไปหมดเลย” วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์กร Climate Watch Thailand

(ภาพ : สภาลมหายใจเชียงใหม่)

ข้อเสนอจากพื้นที่

“ตอนนี้เราพยายามผลักดันให้เกิดเป็น พรบ. อากาศสะอาด หรือชื่ออื่น ๆ ที่พยายามเสนอเข้าไป โดยในแต่ละภูมิภาค แต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน มีบริบทแตกต่างกัน จึงควรมีกฎหมายที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีส่วนร่วมเฉพาะภูมิภาคเลย

ในส่วนของในเมืองที่เราขับเคลื่อนกันอยู่ มีเรื่องขนส่งสาธารณะ ในเชียงใหม่ที่เป็นเมืองใหญ่ควรจะมีการเดินทางที่เป็นทางเลือกเช่น ทางจักรยานที่เป็นทางจักรยานจริง ๆ โดยทางจักรยาน และทางเดินควรจะเป็นทางเอกมากกว่ารถยนต์ที่สัญจรในพื้นที่เมือง

แต่ก็มีความซับซ้อนในการจัดการของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้เพราะมีหน่วยงานส่วนกลาง” ธนพงษ์ วังทอง ผู้แทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น ควันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือ

“อยากจะฝากถึงทางหน่ยวงานของรัฐที่จะมาสร้างกังหันลมบนเกาะตะเภาว่า อยากให้ยกเลิกการตั้งกังหันลม เพราะถ้าหากท่านเข้ามาตั้งกังหันลมบนเขาตะเภา เหมือนกับว่าท่านกำลังจะลบคำว่าป่าอนุรักษ์ และลบคำว่าป่าสงวนทิ้ง

ผมอยากฝากถึงทางรัฐ และผู้ประกอบการที่จะมาสร้างกังหันลม ขอให้ยุติเรื่องนี้ไว้ เพราะชาวเพนียดจะคัดค้าน และจะเดินหน้าต่อไม่ยอมถอย” จงกล ไม้คด ตัวแทนจากพื้นที่โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าตำบลเพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 

“ควรจะยกเลิก ม. 44 ที่เป็นปัญหามานาน ที่มาจากการออกกฎหมายของเผด็จการ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งคำสั่ง 4/2559 ที่ทำให้เกิดการผุดขึ้นของโรงขยะ สารเคมีอันตราย จากที่เคยผิดกฎหมาย การอนุมัติโครงการต่าง ๆ ควรจะมีสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ 

ขอขีดเส้นใต้ไว้ว่า ม.44 ควรจะยกเลิกทั้งฉบับเลยครับ” สุนทร จากพื้นที่ EEC เสนอ

อีกหนึ่งข้อเสนอในงานเสวนาจาก กฤตานนนท์ ทศกูล ผู้ผลิตสารคดีด้านสิ่งแวดล้อมจาก จ.สตูล ก็คือ 

“การให้ประชาชนได้มีโอกาศเข้าถึงข้อมูลที่ตอนนี้เข้าถึงยาก นอกจากข้อมูลแล้ว การศึกษา คืออีกสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตสารดียกขึ้นมา โดยให้เหตุผลว่า การบรรจุวิชา สิ่งแวดล้อม สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ กฎหมายต่าง ๆ ลงในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะช่วยให้คนธรรมดาเข้าใจเกี่ยวกับปัญหามากขึ้น

ผมอยากจะฝากไปถึงหน่วยงานของรัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรี วราวุธ ศิลปอาชา ว่าไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่จังหวัดใดก็ตาม เวลาที่จะสร้างโครงการต่าง ๆ อยากให้มีกระบวนการผ่าน IEE แบบ มีรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการเองทุกอย่าง ท่านควรจะต้องเชิญชุมชนเข้าไปร่วมด้วย เพราะท้ายสุดเวลากลั่นกรอง IEE หรือ EIA กระทรวงของท่านก็ต้องไปพิจารณาว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน 

เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการดำเนินการแล้วส่งไปถึงท่าน ท่านมีดูสิว่ามีอนุกรรมการระดับชุมชน อำเภอ จังหวัดไหม มีคนในพื้นที่ไหม ถ้าไม่มีผมว่าท่านตีตกได้นะครับ แล้วให้กลับมาทบทวนใหม่ ถ้าทำอย่างนี้ทุกพื้นที่ ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นชุมชน และจะได้เสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่จริง ๆ ”สุภสิน หนูอ้น กล่าว

(ภาพ : GreenNews)

ข้อเสนอจากภาคประชาสังคม

“ถ้าเป็นทางเลือกหรือข้อเสนอ คิดว่า เรื่องแรก 

  1. รัฐธรรมนูญต้องแก้ไข แล้วสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ
  2. ต้องยกเลิกคำสั่ง หรือกฎหมายที่ออกมาภายใต้รัฐบาลเผด็จการ คำสั่งหัวหน้าคสช. ต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิ ต้องยกเลิกทั้งหมดรวมทั้งคำสั่งที่ 4/2559
  3. ทบทวนกฎหมายที่ออกในยุครัฐบาลที่ผ่านมา เพราะว่าบางกฎหมายมีปัญหาอย่างเช่น พรบ. EEC พรบ. โรงงาน ที่ลดถอนมาตรการทางสิ่งแวดล้อม และเอื้อให้เกิดอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดไม่ต้องทำ EIA
  4. ขับเคลื่อน ผลักดันกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ และกำกับมาตรกาสิ่งแวดล้อม เช่น EnLAW เองจะผลักดันกฎหมายของภาคประชาชนในปีหน้าแน่นอน และกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายเหล่านี้ต้องถูกสนใจและผลักดันให้เกิดขึ้น
  5. การพัฒนาจะต้องลงไปศึกษาศักยภาพของพื้นที่ ศักยภาพของชุมชน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยชุมชน 

การพัฒนาทุกโครงการจะต้องสร้างคุณภาพของชีวิตคนในพื้นที่นั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเดิม หรือดีมากกว่าเดิม ถ้าชุมชนนั้น ๆ ที่มีโครงการพัฒนาลงไป ถ้าเขามีชีวิตที่ดี เราเชื่อว่ามันจะไม่มีการคัดค้าน และไม่มีการขัดแย้ง สุดท้ายการกระจายอำนาจต้องมีในรัฐธรรมนูญด้วย” ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าว

“การแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ ทางสมนึกกล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากบนสู่ล่าง ที่รัฐและนายทุนอยู่บน เปลี่ยนเป็นให้ชุมชนคิด และส่งขึ้นไปข้างบนแทน

อะไรก็ตามที่มาทำที่บ้านเราแล้วเราสะบายใจ ไม่ลำบาก เราไม่เหนื่อย เราไม่เสีย ต่อให้เป็นโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลม แต่มันมาทำให้เราเสียพื้นที่ เสียป่า เสียทรัพยากรมันก็ไม่เหมาะสม

ฉะนั้นคำว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม คนในพื้นที่จะต้องเป็นคนมาคิด จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนอย่างมีความหมาย ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วมในการยกมือ กินกาแฟ กินน้ำชา มันไม่ใช่ แต่ต้องมีส่วนในการออกแบบตั้งแต่ต้นว่า จะเอาอะไรเข้ามา หรือไม่เอาอะไรเข้ามาในพื้นที่” ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) กล่าว

“สำหรับเรื่อง BCG สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกอาจจะเป็นการรื้อโครงสร้างกรรมการ ต้องเพิ่มภาคส่วนของประชาชน ถ้าไมมีพวกเราแล้วใครจะเป็นคนเขียนนโยบายเพื่อพวกเรา เรื่องที่ 2 ต้องเพิ่มกรรมการ และอนุกรรมการในระดับพื้นที่ จะทำงานที่ไหนต้องมีคนในพื้นที่นั้น อนุกรรมการบางชุดมี 17 คน เป็นเอกชนไปแล้ว 15 เรื่องที่ 3 สำหรับภาคเกษตร หยุดพยายามที่จะแก้ไขกฎหมาย มันไม่ได้เป็นประโยชน์กับเกษตรรายย่อย ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย มันไปเอื้อประโยชน์ให้บริษัท

แล้วทำยังไงเราถึงจะกลับไปตั้งเป้าให้มีความเป็นรูปธรรม ทั้งการมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นในปี 2030 25% ลดการใช้สารเคมีลง 50% ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง เป้าหมายประเทศไทยต้องมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 100% ในปี 2573 แต่เราไม่เห็นภาพนั้นเลยว่าจะสำเร็จได้ยังไง” ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าว

“ปัญหาเกี่ยวกับโลกร้อน และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญ การเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันทั้งในประเทศ และภูมิภาค และร่วมเรียกร้องแก้ปัญหาด้วยกันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการแก้ปัญหาจากประเทศเดียว หรือชุมชนเดียว 

ณ ตอนนี้เรารู้ปัญหาหลากอันแล้ว เราอยากเสนอทางออกมีอะไรบ้าง ที่เป็นทางออกของชุมชนที่เป็นแนวคิดใหม่ ที่สามารถทำได้จริง ที่ควรจะชูออกมา เวลาพูดถึงพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่แค่พูดว่าไม่เอาถ่านหิน และเดินหน้าไปเอาพลังงานหมุนเวียน แต่มันจะได้พลังงานหมุนเวียนแบบลม ซึ่งมันไม่ได้เรื่อง มันไม่เหมาะ แล้วไม่พูดถึงเรื่องผู้หญิง ความสมดุลทางระบบนิเวศเลย

มีหลายคนบอกว่าเรื่องโลกร้อนทำให้เกิดการผลักดันเดินหน้าจากพลังงานรูปแบบเดิมไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน ต้องพูดให้จบว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นแปลว่าอะไร Energy Transition แปลว่าอะไร 

การเปลี่ยนผ่านในเทอมของพลังงานต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ ต้องให้คนมีส่วนร่วม ต้องให้ความสำคัญกับผู้หญิง ไม่ใช่แค่จำนวนของผู้หญิงเท่านั้นนะ เช่นกรณีคนที่ทำเรื่องถุงปูน ถ้าจะทำให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่มีความยั่งยืน และการมีส่วนร่วม ถุงปูนนั้นคุณยังคงออกแบบแบบเดิมไหม ประเด็นเรื่องผู้หญิงอยู่ตรงไหนของถุงปูน ควรออกแบบถุงปูนในห้เล็กลงหน่อยไหม เพื่อจะให้เหมาะสม ทุกคนได้เข้าถึง และแบกถุงปูนนั้นได้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเรื่องราวเหล่านี้ที่เป็นรูปแบบใหม่ ๆ ควรจะต้องเกิดขึ้นด้วยในสังคม เพื่อนำไปสู่การผลักดัน เปลี่ยนผ่าน และส่งเสริมให้มีการแก้ปัญหาที่เข้ากับบริบทของพื้นที่” วนัน กล่าว