“จุดเริ่มจากโควิด สู่วิกฤตเศรษฐกิจถดถอย กลางพายุ “สงคราม-โลกร้อน” คนย่ำแย่สุด “ผู้มีรายได้น้อย ที่รายได้กว่าครึ่งคือค่าอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มในเมือง” ซ้ำเติมระบบ “เก็งกำไร-ผูกขาด” ก่อ “เหลื่อมล้ำ” ทั้งประเทศ (และโลก)”
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ฉายภาพสถานการณ์ “วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร-นิเวศเกษตร” ในไทยล่าสุด(ซึ่งอยู่ในทิศเดียวกับโลก) พร้อม 4 ข้อเสนอ “หากคนไทยอยากรอด”

สถานการณ์-วิกฤต 2565
นิเวศเกษตร ล่าสุดปีนี้เองทำโดยมหาลัยวอชิงตัน มหาลัยปักกิ่งและอีก 3 มหาลัยโลก ร่วมกันทำการประเมินว่ากลางบรรยากาศของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลอย่างไรต่อโภชนาการ นี่คือภาพของงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับแล้วทั่วโลกคือ ในกรณีเรื่องข้าวโภชนาการของโปรตีน เหล็ก สังกะสี วิตามินบี 1 บี 2 บี 5 บี 9 เนี่ยลดลงแทบทั้งหมดเลยอย่างB9 ลดลงถึง 30% นี่คือผลที่ก่อผลระยะยาวต่อความมั่นคงด้านอาหารที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครับ
ผมขอพูดถึงปัญหาที่ผ่านมาที่ประจักษ์ชัดคือ วิกฤติอาหารปี พ.ศ. 2565 วิกฤติอาหารคราวนี้เนี่ยเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นก็คือ การระบาดของโควิดและนำไปสู่เรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจภาวะถดถอย ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อกำลังซื้อของคนที่สามารถเข้าถึงอาหารได้
ถ้าเปรียบเทียบจากประวัติศาสตร์ของวิกฤติอาหารซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมาการบันทึกเอาไว้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4-5
วิกฤติคราวนี้ผมอยากเรียนว่าเป็นวิกฤตที่แทบจะใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกกันมา เราอาจจะรู้สึกน้อยเพราะเราเป็นแหล่งผลิตอาหาร แต่ว่าถ้าไปดูรายละเอียดปัญหาเรื่องนี้จะเรียกว่าเกิดขึ้นมากขึ้นทุกที
องค์การสหประชาชาติประเมินสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารที่มันร้ายแรงยิ่งขึ้น จนเป็นครั้งหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นมีสาเหตุมาจาก 3 เรื่องใหญ่ ๆ เรื่องที่ 1.ก็คือเรื่องของความขัดแย้ง ความมั่นคงเรื่องสงครามเป็นต้น 2.เศรษฐกิจอันที่ 3.ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความน่าสนใจคือว่าวิกฤตการณ์ด้านอาหารในช่วงหลังจะเกี่ยวข้องมากที่ยิ่งขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากขึ้นทุกทีครับนี่คือผลที่เกิดขึ้นจากมนุษย์กระทำที่ทำให้เกิดสิ่งนี้
ในช่วงวิกฤติอาหารที่ผ่านมา นี่คือราคาอาหารในช่วงที่เกิดวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นทั้ง Covid เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนว่างงาน รวมทั้ง ASF ระบาดในช่วงปีที่ผ่านมา
น้ำมันพืชเพิ่มขึ้นไปเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ราคาไข่ไก่สูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ไก่เนื้อ 27 เปอร์เซ็นต์ หมูพุ่งขึ้น 20% แต่ว่าช่วงที่เพิ่มสูงสุด สูงมากกว่านี้เกือบจะเท่าตัวก็มี แต่นี้เป็นช่วงประมาณเดือนเมษายนที่เราบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้
เราอาจจะรู้สึกว่าพวกเราหลายคนอาจจะไม่กระทบ แต่ว่า “คนที่กระทบคือคนที่รายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด
คนที่ค่าใช้จ่ายของเขาเนี่ยครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งใช้สำหรับอาหาร คนกลุ่มนี้จะกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในเมือง นี่เป็นการวิจัยของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาร่วมกับภาคประชาสังคม
ที่พบว่า คนจนในเมืองที่มีรายได้น้อยนั้น 30 % แทบจะไม่มีเงินซื้ออาหาร สิ่งนี้จะเกิดขึ้นอีกเพราะว่าวิกฤตคราวนี้คงไม่หยุดอยู่ที่นี่ และวิกฤติครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย”
ผมอยากให้ท่านเห็นภาพหนึ่งว่าวิกฤติอาหารที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดรวมศูนย์อย่างไร ประเทศไทยกรุงเทพฯ เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งอาหารดีราคาถูกแต่สิ่งนี้เป็นเพียงภาพในอดีตครับ

นี่คืองานวิจัยที่ทำโดย Cloud Computing ของบริษัทวิจัยชั้นนำ ใช้ประมาณ 6 แสนคนในการรายงานข้อมูลนี้กรุงเทพฯ กลายเป็นมหานครที่อาหารแพงที่สุดในปัจจุบัน ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนอื่นนี่คือสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันที่ส่งผลต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาศัยอยู่ในเมือง
80% ของประชาชนในภาคเกษตรกรรม ไม่ได้ประโยชน์เลย จากวิกฤติคราวนี้เพราะว่าแทนที่ราคาข้าวจะขึ้น ราคาข้าวกลับตกต่ำ ราคายางพาราที่มีประชาชนอีกหลายล้านครอบครัวรวมกันแล้วกับปลูกข้าวด้วยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ผลผลิตตกตํ่ากว่าปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำก็ต้องซื้ออาหารในราคาแพง
ประชาชนที่มีรายได้สูงก็ต้องเผชิญที่เกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาที่เพิ่มขึ้นก้ไม่ได้ประโยชน์ เพราะว่าราคาปุ๋ยเคมี 2-3 รายการใหญ่ที่เราใช้กันอยู่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นต้น ราคาพุ่งขึ้นประมาณเท่าตัว หักลบกลบหนี้แล้วภาคเกษตรก็ไม่ได้ประโยชน์
ผมอยากเรียนนึงว่าเราฟังดูเหมือนว่าสภาพภูมิอากาศ เรื่องของสงคราม เรื่องเศรษฐกิจทำให้เกิดปัญหาเรื่องนี้ แต่ว่าเบื้องหลังที่ทำให้วิกฤติเหล่านี้เลวร้ายที่สุดก็คือ “การเก็งกำไร” อันนี้คือกราฟของราคาอาหารที่เป็นด้านบนสุดราคาอาหาร

แต่กราฟ 2 ตัวหลัง ที่อยู่ด้านล่างเส้นสีน้ำเงินกับเส้นสีม่วงเนี่ยกราฟผลผลิตกับสต๊อกก็คือว่าผลผลิตไม่ลดลงเลย แต่ว่าราคากลับพุ่งขึ้น แสดงว่าเบื้องหลังของวิกฤติคราวนี้ มีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเก็งกำไรและผูกขาดอาหารนั่นเอง
รายงานของสื่อในทั่วโลกทั้งประเทศไทยรายงานเรื่องนี้ตรงกันว่า ยกตัวอย่างบริษัทที่ค้าธัญพืชอยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกชื่อย่อ A,B,C,D Archer-Daniels-Midland Company , Bunge, Cargill และ Louis Dreyfus กำไรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางวิกฤตอาหาร และแน่นอนบริษัทปุ๋ยเคมีก็กำไรมากที่สุด รายได้เพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยเช่นเดียวกันกำไรเป็นประวัติการณ์ นั่นหมายความว่าท่ามกลาวิกฤติอาหาร มีคนที่ได้ประโยชน์จากระบบอาหารเช่นเดียวกัน
ซึ่งส่วนนั้นมาจากการควบคุมและผูกขาดตลาด เรื่องความหลากหลายและพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย
ความมั่นคงทางอาหารนั้น ดำรงอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่านิเวศเกษตร(Agroecology) ซึ่งหมายถึงระบบ และความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร โดยเฉพาะยิ่งความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหารของเรา
อย่างไรก็ตามในทางสากล เมื่อกล่าวถึง “นิเวศเกษตร” โดยทั่วไปแล้วมีนัยความหมายของ 3 สิ่งนี้ ได้แก่ 1) นิเวศวิทยาของเกษตรกรรม (ecology of agriculture) 2) เกษตรกรรมเชิงนิเวศ (ecological agriculture) และ 3) ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนิเวศเกษตร
ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนิเวศเกษตรเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิเวศเกษตรได้รับการสนับสนุนในทางสากลมากขึ้นนั้น เป็นเพราะวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนได้กลับมามุ่งเน้นที่นิเวศเกษตร ซึ่งนำแนวทางแบบองค์รวมและเป็นธรรมชาติมาใช้เพื่อการเกษตร

5 ประเด็นสำคัญ
- ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พันธุ์พืชปลูกในระบบเกษตรกรรมสูญหายไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์สัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรหายไปครึ่งหนึ่ง ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตร (FAO) ระบุว่า มีพืชเพียง 9 ชนิดเท่านั้น ที่เราใช้ในการผลิตพืชผลคิดเป็นสัดส่วนถึง 66% ของการผลิตพืชผลทั้งหมด แม้ว่าในโลกนี้จะมีพืชที่กินได้อย่างน้อย 30,000 ชนิดก็ตาม ซึ่งสาเหตุหลักของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลกระทบจากการขยายตัวของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ครอบครองแบบแผนการผลิตหลักของโลกซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน
- ท่ามกลางการสูญหายไปของพันธุกรรมในระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติกลับกลายมาเป็นผู้ยึดครองพันธุกรรมการเกษตร ตัวอย่างเช่น 99% ของสายพันธุ์ไก่เนื้อถูกครอบครองโดยบริษัทเพียง 4 บริษัท บริษัท 3 แห่งครอบครองสายพันธุ์ไก่ไข่และไก่งวงเกือบ 100% ในขณะที่ตลาดเมล็ดพันธุ์ 75% อยู่ในมือของบริษัท 8 บริษัทเท่านั้น ที่น่าสนใจคือพ่อพันธุ์ไก่ที่ใช้เป็นผู้ผลิตไก่นั้นผลิตพันธุ์ไก่สำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์มากถึง 28 ล้านตัว เช่นเดียวกับพ่อพันธุ์วัว 1 ตัว เป็นต้นกำเนิดของพันธุ์วัวที่เลี้ยงเป็นการค้ามากถึง 1 ล้านตัว ในขณะที่ในทางพันธุศาสตร์ประสิทธิภาพมากที่สุดที่พ่อพันธุ์สัตว์จะให้ลูกที่เข้มแข็งได้นั้นควรจะมีไม่เกิน 100 ตัวเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทย การผูกขาดรวมศูนย์ไม่ได้ครอบครองแค่เพียงพันธุ์พืชและการเลี้ยงสัตว์ แต่รวมศูนย์ในห่วงโซ่ของระบบอาหารตลอดทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ดังจะเห็นได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทเดียวครอบครองส่วนแบ่งตลาดปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ผัก พืชไร่ อาหารสัตว์ ข้าวสาร และครอบครองตลาดอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารพร้อมทานมากถึง 1 ใน 3 อีกทั้งครอบครองตลาดค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายอาหารไปสู่ผู้บริโภคมากถึง 50% และ 80% ตามลำดับ
- การขาดความหลากหลายทางชีวภาพนี้เองที่ทำให้เราเห็นการเกิดขึ้นของโรคระบาดร้ายแรงทั้งในพืชและสัตว์ และหนึ่งในประจักษ์พยานที่สร้างปัญหาจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศก็คือ การระบาดของ ASF ในปี 2564-2565 ที่ทำให้หมูตายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ราคาหมูในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีระดับสูงที่สุดในโลก โดยมีราคาแพงกว่าหมูในบราซิลและชีลี มากกว่า 2.3 เท่า มากกว่าเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และรัสเซียประมาณ 2 เท่า และมากกว่าหมูในจีนซึ่งเคยเผชิญหน้ากับการระบาดของ ASF อย่างหนักถึง 1.46 เท่า ซ้ำเติมวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิดและผลที่ตามมาจากวิกฤตอาหารระดับโลกในปี 2564-2565
- เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวยังเป็นสาเหตุใหญ่ของการปล่อยแกสเรือนกระจกและเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเขตร้อนมาเป็นแปลงถั่วเหลือง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน การผลิตและการใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นไนตรัสออกไซด์แกสที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 298 เท่า การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมซึ่งปล่อยแกสมีเธนในปริมาณมหาศาล โดยการศึกษาล่าสุดของ FAO ซึ่งเผยแพร่ในการประชุม COP 26 ที่กลาสโกว์ระบุว่า ภาคเกษตรกรรมและการผลิตอาหารนั้น มีสัดส่วนการปล่อยแกสเรือนกระจก 17 ล้านตันคาร์บอน หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ของปริมาณการปล่อยแกสเรือนกระจกทั้งหมด
- อย่างไรก็ตามความตระหนักต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกตกลงที่จะลดการปล่อยแกสเรือนกระจกเป็นศูนย์ “Net Zero” ภายในปี พ.ศ. 2050 นั้น ได้นำไปสู่การบิดเบือนทางออกในการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไปสู่การสร้างกลไก และคำอธิบาย เพื่ออ้างว่าสามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอน ผ่านกิจกรรมต่างๆเช่น การปลูกต้นไม้เพื่อตรึงคาร์บอน เพื่อชดเชยคาร์บอน (carbon offsets) แทน ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้วสามารถทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยที่กลุ่มทุนยังคงขยายพื้นที่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ผลิต/ใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร และยังคงปล่อยแกสเรือนกระจกเท่าเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิมได้ต่อไป
ตัวอย่างเช่น เนสท์เล่ซึ่งจะขยายตลาดเนื้อและนม และสินค้าเกษตรอื่นๆมากขึ้น 67% ในปี 2020-2030 นั้น บริษัทนี้จะต้องปลูกป่าไม้ 4 ล้านแฮกตาร์ ซึ่งมีขนาดเท่ากับพื้นที่ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทุกปีติดต่อกัน เช่นเดียวกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของยุโรป เช่น Eni และ เชลล์ จะต้องจัดหาพื้นที่ 8 ล้านเฮกตาร์ทุกปี เพื่อชดเชยการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พวกเขาคงเป้าหมายไว้จนถึงปี 2050 กระบวนการซื้อขายคาร์บอนจากการปลูกป่าในประเทศโลกที่สามนี้ทั้งหมดคือ การเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมยุคใหม่ที่เรียกว่า “carbon colonialism” นั่นเอง

รากปัญหา : ไม่ได้ขาดแคลน-แต่เข้าไม่ถึง
3 วิกฤตอาหาร 2565 : ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอาหารขาดแคลนแต่เกิดขึ้นเพราะอาหารมีราคาแพงเกินกว่าคนยากจนจะเข้าถึงได้
วิกฤตอาหาร 2564-2565 เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุเริ่มต้นจากการระบาดของโควิด-19 ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และสงครามในยูเครน แต่สิ่งที่ซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลวร้ายลงและอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อาหารมีราคาแพงเป็นประวัติการณ์ คือการเก็งกำไรของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก โดยในประเทศไทยนั้น สถานการณ์เรื่องนี้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก เพราะการระบาดของอหิวาต์ในสุกร (ASF) และความพยายามในการปกปิดข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งทำให้การระบาดของโรคร้ายแรงจนเกินกว่าจะควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น
ในกรณีประเทศไทยราคาอาหารแพงที่สุดในรอบ 13 ปี ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมูซึ่งเป็นโปรตีนหลักราคาแพงขึ้นแทบจะมากที่สุดในโลก ฉุดให้ราคาเนื้อสัตว์อื่นๆแพงตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพโดยเฉพาะในหมวดอาหารในเมืองของคนไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นมหานครของอาหารราคาถูก เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยสถิติในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับ กัวลาลัมเปอร์ มนิลา จาร์กาตา และโฮจิมินห์ซิตี้ ราคาเนื้อสัตว์และแม้แต่ข้าวสารในเมืองหลวงของประเทศไทยมีราคาแพงมากกว่า
ข้อมูลจากกราฟแสดงให้เห็นว่าวิกฤตราคาอาหารนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากสงครามในยูเครนตามที่รัฐบาลของประเทศตะวันตกกล่าวอ้าง แต่ต้นเหตุสำคัญที่ราคาอาหารพุ่งกระฉูด เพราะถูกซ้ำเติมจากนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร ผู้บริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มุ่งลงทุนและเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ กำลังซื้อหุ้นมหาศาลของกองทุนเหล่านี้ที่เก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในอนาคต (future commodity) สร้างผลกระทบต่อราคาปัจจุบันของสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกแห่งความเป็นจริง ปรากฎการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในวิกฤตการณ์อาหารเมื่อปี 2008 และเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
วิกฤตอาหารส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนยากจน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในเมือง ในขณะที่บริษัทอาหารขนาดใหญ่กลับร่ำรวยจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
รายงานของเดอะการ์เดี้ยนพบว่า บรรษัทค้าธัญพืชยักษ์ใหญ่ 4 รายของโลก ได้แก่ Archer-Daniels-Midland Company , Bunge, Cargill และ Louis Dreyfus ที่รู้จักกันในนาม ABCD ซึ่งควบคุมการค้าธัญพืชทั่วโลกประมาณ 70-90% มานานหลายทศวรรษ ได้รับผลกำไรจากยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือเกือบเป็นประวัติการณ์ เช่น คาร์กิลล์รายงานว่ารายรับในปี 2565 เพิ่มขึ้น 23% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Archer-Daniels-Midland ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่สองของปี ยอดขายของ Bunge เพิ่มขึ้น 17% รายงานผลกำไรในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 80% จากปีก่อน เช่นเดียวกับรายงานข่าวของบีบีซีและประชาชาติธุรกิจระบุว่า ซีพีเอฟมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ โดยยอดขายประจำไตรมาส 2 ปี 2565 นั้น สูงถึง 155,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นับเป็นยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีผลกำไรสุทธิจำนวน 4,208 ล้านบาท โดยกิจการประเทศไทยของซีพีเอฟมีรายได้จากการขายจำนวน 50,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และในส่วนของกิจการต่างประเทศ มีรายได้จากการขายจำนวน 105,016 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้น 22%
มักมีการอ้างว่า ราคาอาหารแพงจะเป็นโอกาสของเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เช่น ราคาข้าวในตลาดโลก ณ เดือนมีนาคม 2565 กลับมีราคาลดต่ำลง 19.62% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 เช่นเดียวกับราคายางพาราที่มีราคาลดต่ำลง 10.55% นั่นหมายถึงเกษตรกรที่ปลูกข้าวจำนวน 4.57 ล้านครัวเรือน และเกษตรกรที่ปลูกยางพารา 1.88 ล้านครัวเรือน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 79.7% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด ( ครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด 8.095 ล้านครัวเรือน) นอกจากไม่ได้ประโยชน์จากราคาในตลาดโลกแล้ว ยังต้องรับมือกับราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ได้อานิสงค์จากราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาที่ขายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องชดเชยจากราคาของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟตมีราคาสูงขึ้น 75.64% โปตัสเซียมคลอไรด์เพิ่ม 177.78% และยูเรียเพิ่ม 157.28% เช่นเดียวกับ เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสัตว์และต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ ก็อาจไม่ได้ประโยชน์จากราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ก็เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันราคาปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่ปลูกพืช
หลายพรรคการเมืองในยุโรป และพันธมิตรในองค์กรภาคประชาสังคม เรียกร้องให้จำกัดธุรกรรมของสินค้าโภคภัณฑ์ที่นักลงทุนทางการเงินสามารถถือครอง รวมทั้งมีข้อเสนอการเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินเหล่านี้ได้ เช่น ภาษีลาภลอย เป็นต้น แต่ไม่ง่ายนักในประเทศไทยที่กลุ่มบริษัทอาหารเหล่านี้มีอำนาจเหนือตลาดและมีอิทธิพลทางการเมืองมาก

2 ปัจจัยคุกคาม
ปัจจัยทางนโบายที่คุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารและนิเวศเกษตร
นอกเหนือจากปัญหาเรื้อรังของระบบเกษตรกรรมและอาหารที่วางฐานการผลิตของประเทศเกือบทั้งหมดไว้ที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ขายเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมราคาถูก โครงสร้างปัญหาการถือครองที่ดินและหนี้สิน ตลอดจนสัดส่วนระบบชลประทานต่อพื้นที่การเกษตรที่น้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน จนไม่สามารถแข่งขันและต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 70,000-80,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรแล้ว ยังมีปัจจัยคุกคามทางนโยบายที่เกษตรกรรายย่อยจะต้องเผชิญหน้าอื่นๆอีก ได้แก่
- การเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลและหน่วนงานของรัฐแสดงความจำนงจะเข้าร่วมเจรจา หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาแล้วอย่างน้อย 4 ความตกลง ได้แก่ CPTPP FTA Thai-EU FTA Thai-UK และ EFTA โดยทั้ง 4 ความตกลงดังกล่าวจะระบุเงื่อนไขให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเก็บและรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ และจะส่งผลกระทบต่อวิถีการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์พืชให้หลากหลายของเกษตรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นในอนาคต ดังที่กรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร มีข้อสรุปว่า “คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ”
- การประกาศใช้ “แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570” ซึ่งใช้ถ้อยคำสวยหรูดูดี แต่กลับซ่อนวาระที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น มีการกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมบริษัทเอกชนปลูกป่าในพื้นที่ 3.2 ล้านไร่ และเป้าหมายนอกแผน BCG มากถึง 16 ล้านไร่ นั้น จะส่งผลกระทบให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อมอบให้บริษัทข้ามชาติ และบริษัทเอกชนในประเทศนำไปปลูกป่าที่อ้างว่าเป็นการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero
จากการตรวจสอบพบว่าในแผนปฏิบัติการดังกล่าวนอกจากมีรายชื่อของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่มีความประสงค์จะปลูกป่าขั้นต้น 1 ล้านไร่แล้ว ยังระบุการ “แก้ไขระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วย การอนุญาตให้เข้าไปศึกษาวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2559 และ แก้ไขระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2560” แสดงให้เห็นว่านอกจากการแย่งยึดทรัพยากรจากคนส่วนใหญ่แล้ว การแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว เท่ากับการเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติเข้าถึงการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในเขตป่าของไทยไปพร้อมๆกันอีกด้วย

4 ข้อเสนอ “ทางรอดคนไทย”
ข้อเสนอต่อต่อประชาชน กลุ่ม และพรรคการเมือง ต่อการพัฒนานโยบายและการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
- การลดต้นเหตุของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การปล่อยมลพิษ และแกสเรือนกระจกในระบบเกษตรกรรม ไม่สามารถแก้ได้โดยผ่านวาทกรรม “Net Zero” “Carbon Offsets” “Carbon Farm” หรือแม้กระทั่ง “Climate smart agriculture” ของบรรดาบรรษัททั้งหลาย ที่ผลักดันการปลูกไม้ยืนต้นเชิงเดี่ยว อ้างการทำฟาร์มที่ลดไถพรวนผ่านการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช การอ้างการเพิ่้มผลผลิตต่อไร่โดยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การส่งเสริมพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ถูกควบคุมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 2-3 บริษัท เพราะข้อเสนอดังกล่าวมิได้นำไปสู่การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดมลพิษ/การปล่อยแกสเรือนกระจกอย่างแท้จริง พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เสนอตัวสำหรับการเลือกตั้งและพัฒนานโยบายเกษตรกรรมต้องแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการทบทวนแผนปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ BCG รวมทั้งนโยบายอื่นใดที่อาศัยความตื่นตัวเรื่องการปล่อยแกสเรือนกระจกของสังคมโลกเพื่อฟอกเขียวธุรกิจของตนโดยไม่ได้ลดการก่อมลพิษที่ต้นตอ
- พรรคการเมืองและผู้เสนอตัวในการบริหารประเทศต้องให้คำมั่นว่า การลงนามหรือเจรจาในกรอบการค้าระหว่างประเทศใดๆ ต้องไม่ยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 หรือมีข้อความใดๆในความตกลงที่จะสร้างผลกระทบต่อการเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างเกษตรกร ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาพันธุ์พืชที่หลากหลายโดยเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น อันเป็นฐานรากของความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเรา
- ควรถึงเวลาที่จะบรรจุสิทธิในอาหารไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างหลักประกันว่าการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอปลอดภัยและมีคุณค่าทางสุขภาพควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคมไทย เช่นเดียวกับการแสดงความจำนงเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า และ/หรือการแสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองหรือผู้นำที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะจัดการปัญหาการผูกขาดรวมศูนย์ในระบบการผลิตและกระจายอาหารที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบรวมกิจการที่นำไปสู่การผูกขาดและมีอิทธิพลเหนือตลาดในอุตสาหกรรมค้าปลีกในปัจจุบัน
- แสดงให้เห็นว่าจะสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของระบบเกษตรกรรมและอาหาร ที่เปลี่ยนเกษตรกรรายย่อยซึ่งผลิตวัตถุดิบการเกษตรราคาถูกแบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในการเกษตร การพัฒนาสายพันธุ์พืชที่หลากหลายโดยเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง การสร้างพื้นที่อาหารและตลาดอาหารสำหรับชุมชน สร้างความเป็นธรรมให้แรงงานในภาคเกษตรและอาหาร ให้เป็นจริงได้อย่างไร พร้อมเป้าหมายที่จับต้องได้ ดังเช่น การตั้งเป้าหมาย Farm to Fork ภายใต้ European Green Deal ของสหภาพยุโรป
ข้อเสนอเหล่านี้สามารถเป็นจริงได้ จากการมีพื้นที่ปฏิบัติการ การเคลื่อนไหวทางนโยบาย การสร้างและสื่อสารความรู้ สร้างประเด็นนิเวศเกษตรและความมั่นคงทางอาหารที่กล่าวแล้วให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ จนเกิดความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกนโยบายแบบใดของใครเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ
หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก เวที TED Talk “สถานการณ์นิเวศ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงอาหาร ปี 65 และทิศทางปีหน้า” ดูเวทีย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/hvGyvU6Ad0/