GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
10 ธันวาคม เป็นวันหยุดราชการก่อนสิ้นปี นั่นเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้และเตรียมจัดตารางท่องเที่ยวช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะปีนี้ไปตรงกับวันเสาร์ รัฐบาลจึงประกาศให้หยุดชดเชยวันจันทร์ ที่ 12 รวมมีวันหยุด 3 วัน นี่ช่างเป็นวันหยุดที่พิเศษสำหรับหลายๆ คน
ย้อนหลังกลับไป 90 ปี ในวันที่ 10 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2475 อันเป็นช่วงเวลาหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 5 เดือนกว่าๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 1 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของประเทศไทยจากเดิมที่ถือคำสั่งของพระมหากษัตริย์เป็นกฎหมายสูงสุด มาเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแทน

2.
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นทั้งกฎหมายที่ทั้งกำหนดหน้าที่และให้อำนาจแก่รัฐบาลในการบริหารบ้านเมือง หรืออาจกล่าวได้ว่าที่รัฐบาลมีอำนาจอย่างชอบธรรมอยู่ได้ทุกวันนี้ ไปไหนมามาไหนมีคนให้ความเคารพ พูดอะไรก็ตาม แม้จะสิ้นคิดแค่ไหนคนก็จะปลาบปลื้ม (ส่วนจะแกล้งบ้างจริงบ้างก็แล้วแต่) ก็เพราะมีรัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีและเหล่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลคิดอย่างไร พวกเขาต่างนิ่งเงียบ ไม่มีกิจกรรมอะไรที่แสดงถึงการเคารพต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของอำนาจและเกียรติยศของพวกเขา มีเพียงนักกิจกรรมและสถาบันวิชาการ ที่ออกมาทำกรรมรำลึกและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการเสวนาทางวิชาการ รวมทั้งมีสื่อมวลชนหลายสำนักที่ลงบทความรำลึก

3.
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีหลายประการมาก เช่น การกำหนดรูปแบบของรัฐไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน หน้าที่ของรัฐ รัฐสภา ศาล เป็นต้น แต่สำหรับประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ แล้ว ผมคิดว่าบทบัญญติว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด
เพราะจะเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อตัว ร่างกายและชื่อเสียงเกียรติคุณของบุคคล และเรื่องทรัพย์สิน ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนอื่นใช้อำนาจ อิทธิพลหรือกำลัง สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่เราได้
การรับรองสิทธิที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ สิทธิในที่ดิน ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2475 ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้อย่างเป็นการทั่วไปให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิในที่ดิน เพราะในสมัยนั้นถือว่าแผ่นดินเป็นของกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ชาวบ้านทั่วๆ ไปมีสถานะเป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น ไม่ใช้ผู้มีสิทธิเป็นเจ้าของ และจะมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินได้จะต้องได้รับอนุญาติจากกษัตริย์หรือเจ้าเมือง
เช่น ช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนที่ได้รับอนุญาติให้เป็นเจ้าของที่ดินมักจะเป็นคนในเชื้อพระวงศ์ ขุนนางหรือนายทุน นอกจากนี้ในสมัยหนึ่งคนแถวที่ราบเชียงใหม่ – ลำพูน หากอยากมีที่ทำกินก็ต้องไปหักร้างถางพงแล้วขุดเป็นนา โดยจะได้รับอนุญาตให้ทำกินเพียง 3 ปี หลังจากนั้นก็ต้องยกที่นานั้นให้แก่เจ้าเมือง แล้วหากอยากมีที่ดินทำกินอีกก็ต้องไปหักร้างถางพงขุดนาใหม่ไปเรื่อยๆ
ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2475) สิทธิในที่ดิน ได้ถูกบัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจนและเป็นการทั่วไป หมายความว่าประชาชนทุกคนจะมีสิทธิแบบเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยมาตรา 14 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน…”
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2475) จนถึงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2534) รัฐธรรมนูญคุ้มครองเฉพาะสิทธิในที่ดินของบุคคลและนิติบุคคลเท่านั้น จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญได้ขยายการคุ้มครองสิทธิที่ครอบคลุมไปถึงบุคคล นิติบุคคล และชุมชนท้องถิ่น และขยายขอบเขตรวมถึงสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย อันเป็นผลจากการต่อสู้เรียกร้องและรณรงค์อย่างกว้างขวางของนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และแกนนำชาวบ้าน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และ 2560 ก็ยังคงยืนยันรับรองสิทธิเช่นเดิม
สาระสำคัญของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิของชุมชนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ ชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่น มีสิทธิอนุรักษ์ จัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่ในการใช้สิทธินั้นจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งหมายความว่านอกจากสิทธิในที่ดินอยู่อาศัยและทำกินแล้ว คนในชุมชนท้องถิ่นยังมีสิทธิในที่ดิน น้ำและป่า ซึ่งถือทรัพย์สินของสาธารณะ
แน่นอนว่าในรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและการใช้สิทธิในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นปัญหาอยู่ โดยขณะนี้ศาลมีแนวคำวินิจฉัยที่ยอมรับว่าชุมชนมีสิทธิในการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ หากแต่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยยอมรับสิทธิในการใช้ประโยชน์ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่จะต้องต่อสู้เรียกร้องต่อไป

4.
ในทางการเมือง วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นทั้งวันที่ประเทศไทยเปลี่ยนอำนาจการปกครองจากอภิสิทธิ์ชน ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์และขุนนาง มาให้อำนาจแก่ประชาชน โดยเดิมทีอำนาจปกครองเป็นของกษัตริย์ แล้วกษัตริย์แต่งตั้งบรรดาขุนนางเป็นกลไกปกครองบ้านเมือง เปลี่ยนมาเป็นให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีไปทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองแทน นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ประชาชนทั่วๆ ไปได้รับการเปลี่ยนสถานะจากผู้อาศัยในดินแดน มาเป็นเจ้าของดินแดนร่วมกัน
สำหรับปัญหาเรื่องสิทธิชุมชนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือว่าสิทธิการเป็นเจ้าของแผ่นดินร่วมกันของพลเมืองไทยยังไม่บริบูรณ์ เพราะรัฐธรรมนูญยังสร้างเงื่อนไขที่เป็นจริงได้ยากไว้ ในขณะที่อำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยถูกรวมศูนย์ไว้ที่ราชการส่วนกลางทั้งหมด ซึ่งโดยความชอบธรรมแล้วคนในแต่ละท้องถิ่นควรมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพยากรที่รายรอบพวกเขา พวกเขาควรมีสิทธิที่จะอนุรักษ์ จัดการและใช้ประโยชน์ได้โดยชอบธรรมตามสมควร