สั่งจ่ายค่าเยียวยา 20 ล้าน ไม่รวมค่าฟื้นฟู“คดีวินโพรเสส”มลพิษอุตฯ ระยอง

ศาลระยองพิพากษาคดี “วิน โพรเสส” ให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย 15 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 20 ล้าน จากมลพิษกากอุตสาหกรรมที่บริษัทก่อ พร้อมให้บริษัทดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาเหมือนเดิม

“ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของคดีสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงต้องจับตาต่อไปว่าบริษัทจะทำตามที่ศาลสั่งหรือไม่” ทนายโจทก์และ ผอ. มูลนิธิบูรณนิเวศให้ความเห็น

(ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix)

ชาวหนองพะวายื่นฟ้อง “เรียก 47 ล้าน-ฟื้นฟู”

วันนี้ (13 ธ.ค. 2565) 10:00 น. ศาลจังหวัดระยองนัดอ่านคำพิพากษากรณีชาวบ้านหนองพะวา ม. 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 15 ราย ยื่นฟ้องบริษัท วินโพรเสส จำกัด จำเลยที่ 1, นางสาววิชชุดา ไกรพงษ์ กรรมการบริษัท จำเลยที่ 2 และนายโอภาส บุญจันทร์ อดีตกรรมการบริษัท จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานละเมิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 

โดยชาวบ้านฟ้อง 1. เรียกร้องให้ทางบริษัทเยียวยาค่าเสียหายต่อผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม และต่อรายได้ของชาวบ้านเสียหายจากการกระทำของบริษัท โดยเรียกเรียกค่าชดเชยทั้งหมด 47,949,505 บาท และ 2. ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในที่ดินของโจทก์ และทางน้ำสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

สาเหตุในการฟ้องของชาวบ้านเนื่องมาจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด มีการลักลอบฝังกากอันตราย ลักลอบฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมทั้งของแข็ง และของเหลวลงใต้ดิน จนเกิดการรั่วไหล ลุกลามของสารอันตรายออกมายังพื้นที่ของชาวบ้านรอบ ๆ โรงงาน สร้างความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านในพื้นที่เกือบ 10 ปี ตั้งแต่โรงงานเริ่มนำของเสียอุตสาหกรรมเข้ามาเก็บในพื้นที่เมื่อปี 2556

(ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix)

พิพากษา “จ่าย 20 ล้าน-ฟื้นฟู”

ประมาณ 12:00 น. หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา ทนายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายประจำคดี ได้เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ค เกี่ยวกับคำพิพากษาในคดี 

โดยศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทย์ทั้ง 15 ราย เป็นจำนวนรวม 20,823,718 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะได้ร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้าเสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสามควบคุมมิให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งเข้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของโจทก์ทั้ง 15 ราย และพื้นที่หนองพะวา แหล่งน้ำสาธารณะให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ

 “ศาลจังหวัดระยองได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาให้คดีแพ่งด้านสิ่งแวดล้อม ในคดีหมายเลขดำที่ สวพ 1/2564 โดยศาลได้พิจารณาว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของผู้ครองครองวัตถุอันตรายมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามคำฟ้องโจทก์

พิพากษาให้ จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้ โจทก์ที่ 1  จำนวน 5,300,000 บาท, โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,040,000 บาท,โจทก์ที่ 3 จำนวน 914,375 บาท,โจทก์ที่ 4 จำนวน 2,470,000 บาท,โจทก์ที่ 5 จำนวน 2,412,490 บาท,โจทก์ที่ 6 จำนวน 705,250 บาท,โจทก์ที่ 7 จำนวน 81,500 บาท,โจทก์ที่ 8 จำนวน 2,450,000 บาท,โจทก์ที่ 9 จำนวน 782,100 บาท,โจทก์ที่ 10 จำนวน 1,072,400 บาท,โจทก์ที่ 11 จำนวน 67,990 บาท,โจทก์ที่ 12 จำนวน 713,013 บาท, โจทก์ที่ 13 จำนวน 1,335,200 บาท, โจทก์ที่ 14 จำนวน 253,400 บาท, โจทก์ที่ 15 จำนวน 226,000 บาท

รวม 20,823,718 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะได้ร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้าเสร็จสิ้น

และพิพากษาให้ จำเลยทั้งสามควบคุมมิให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งเข้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของโจทก์ทั้งสิบห้า และหนองพะวา แหล่งน้ำสาธารณะให้มีสภาพเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ

ให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนที่ได้รับยกเว้นต่อศาล กำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 20,000 บาท” ทนายชำนัยเปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว

(ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix)

ศาลมองว่าคิดค่าเสียหายต่อเนื่องนานเกินไป

“กรมควมคุมมลพิษ และทางทีมทนายมีการประเมินค่าเสียหายอยู่ที่ประมาณ 47 ล้านจากการยื่นฟ้อง แต่ศาลปรับลดลงมาเนื่องจากว่า เรามีการคำนวนอายุต้นไม้ตามระยะเวลาของอายุทั้งชีวิตของต้นไม้เลย อย่างเช่นต้นทุเรียนเราคำนวนไว้ที่ 75 ปี ซึ่งศาลมองว่ายาวนานเกินไปในการคิดค่าเสียหายต่อเนื่องยาวนานเป็น 70 ปี ศาลเลยลดลงมาใช้เกณฑ์ของไม้ยืนต้นอยู่ที่ 30 ปี ในการคิดคำนวนทำให้ค่าเสียหายบางส่วนลดลงมา

แล้วก็ค่าเสียหายต่อสุขภาพเนื่องจากเราไม่มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าโจทย์แต่ละคนได้รับความเสียหายหรือผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เป็นเพียงการประมาณการ ศาลจึงกำหนดให้แค่รายละ 1 หมื่นบาท จากที่เราเรียกไปรายละประมาณ 1 แสนบาท”

ทางเพ็ญโฉมมองว่าถึงแม้ว่าศาลจะลดเกณฑ์ค่าชดเชยที่ชาวบ้านเรียกร้องลงไปบ้าง แต่ก็ถือว่าไม่ได้ตัดค่าชดเชยไปมากจนเกินไป และกล่าวต่อว่าในกรณีค่าชดเชยต่อแหล่งน้ำในพื้นที่ที่เสียหาย ศาลตัดสินให้ค่าชดเชยเต็มจำนวนไม่ได้ลดออกไปเลย แต่ในส่วนที่ศาลลดลงไปจะเป็นส่วนของพืชผลที่ศาลมองว่า ศาลได้มีการพิพาษาให้จำเลยต้องรับผิดชอบฟื้นฟูความเสียหายในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้นระยะเวลาความเสียหายของพืชผลก็น่าจะลดลงไม่ถึงกับต้องคำนวนตามระยะเวลาทั้งชีวิตของพืชผล ทำให้มีการลดจำนวนค่าเสียหายที่โจทย์เรียกร้องน้อยลง

และมีค่าเสียหายทางสุขภาพที่ลดน้อยลงเนื่องจากศาลให้เหตุผลว่า ไม่มีการวินิจฉัยความเสียหายต่อสุขภาพว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับมลพิษจากโรงงานอย่างไรบ้าง

(ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix)

อาจเป็นบรรทัดฐานอนาคต

“เราอาจะยังไม่รู้ว่าจะได้รับชดใช้ตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ว่าในด้านหนึ่งผลของคำพิพากษาก็แสดงให้เห็นว่ามีพัฒนาการในด้านกระบวนการยุติธรรม ที่เล็งเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เพราะมีการกำหนดประเด็นค่าเสียหายที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน แล้วก็สามารถอิงการคำนวนค่าเสียหายที่ใช้หลักวิชาการในการคำนวน ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีในด้านหนึ่ง

คดีนี้คิดว่าจะเป็นแนวทางที่ดีเพราะว่าสิ่งที่มันแตกต่างจากคดีก่อน ๆ คือ เรามีการคำนวนค่าเสียหายในเชิงเศรษฐศาสตร์ชัดเจนมากขึ้น มีการอธิบาย มีวิธีคิดต้นทุน กำไร ผลอประโยชน์ที่จะได้รับจากพืชพันธุ์ต้นไม้ที่ดินต่าง ๆ ก็เป็นแนวทางคดีแรก ๆ ที่ผมคิดว่าค่าเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างมีหลักการคิดที่ชัดเจนขึ้น น่าจะเป็นแนวทาง บรรทัดฐานได้” ชำนัญกล่าว

“โดยภาพรวมเราถือว่า คดีนี้ เป็นกรณีแรก ๆ ที่เป็นคดีแพ่งด้านความเสียหายจากมลพิษ ที่ศาลได้พิพากษาให้ค่าเสียหายโจทย์ผู้ฟ้อง ค่อนข้างจะเป็นที่พอใจ

ในส่วนความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ศาลก็มีคำสั่งชัดเจนให้จำเลย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยมีคำพิพากษาชี้ออกมาเลยว่าจากนี้ไปจำเลย ห้ามปล่อยให้มีการรั่วไหลของสารเคมีออกจากโรงงานได้อีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นคำพิพากษาที่สำคัญ เพราะการรั่วไหลของสารเคมีออกนอกพื้นที่โรงงานทำให้เกิดความเสียต่อสภาพแวดล้อม พืชผลของชาวบ้าน” เพ็ญโฉมกล่าว

สำหรับความเห็นของผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศต่อคดีในครั้งนี้ ทางเพ็ญโฉมให้ความเห็นว่า 

“ถ้าพิจารณาในเชิงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราคิดว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่เห็นพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย

  1. ระยะเวลาในการตัดสินคดีนี้ไม่ยาวนานจนเกินไป
  2. มีการชี้ชัดถึงการกระทำผิดของจำเลยที่ศาลชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 3 จะออกจากตำแหน่งบริหารแล้ว แต่ศาลก็มองว่าไม่พ้นจากความรับผิดชอบ เพราะเหตุเกิดขึ้นในยุคที่จำเลยที่ 3 ยังเป็นผู้บริหารอยู่
  3. จำเลยทั้ง 3 ต้องร่วมกันรับผิดชอบในการฟื้นฟูความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งการฟื้นฟูคือสิ่งที่โจทย์ต้องการมากที่สุด และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูจำเลยก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบด้วย 

ทั้งหมดนี้เราถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เป็นความก้าวหน้าอีกขึ้นหนึ่งของการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชุมชน”

เพ็ญโฉมกล่าวต่อว่าความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจสู้ของชุมชนหนองพะวาเพื่อปกป้องชุมชนของตัวเอง ทางทนายความที่เข้ามาช่วยทำคดี และให้คำปรึกษา กรมควบคุมมลพิษที่เข้ามาตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนจริงในพื้นที่ บทบาทของสื่อมวลชนที่หลังจากมีสื่อเข้ามาติดตาม เผยแพร่สู่สาธารณะ ก็ถือเป็นตัวกระตุ้นให้หลายฝ่ายเกิดความสนใจ และมูลนิธิบูรณะนิเวชเองที่เข้ามาสนับสนุนชุมชนที่ประสบปัญหา

(ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix)

เตือนจับตา “บริษัทฯ จะทำตามคำสั่งศาลไหม-แค่ไหน”

“แม้ว่าโจทย์จะได้รับคำพิพากษาให้เป็นผู้ชนะในคดี แต่ก็ต้องติดตามต่อว่าจะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้โจทย์หรือไม่ และติดตามให้มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งทางกรมควมคุมมลพิษก็มีการทำแผนการฟื้นฟูในพื้นที่รอบนอกของโรงงานแล้ว

และติดตามดูว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการกำกับดูแลให้จำเลยดำเนินการขนย้ายกากออกไป ดำเนินการให้ถูกต้องปลอดภัย และให้พื้นที่ได้รับการฟื้นฟูตามคำพิพากษาของศาลจนกระทั่งสภาพความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่สภาวะปกติหรือไม่” เพ็ญโฉมกล่าว

“นับเป็นอีกคดีที่ได้ผลสรุปทางคดี แต่ผลสรุปเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันยังไม่ได้มีการแก้ไขทั้งจากผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน” ทนายประจำคดีกล่าว

“เราก็คงต้องติดตามดูต่อไปว่าจำเลยจะทำตามที่ศาลสั่งไหม ทางทนายก็อาจจะรุกคืบไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือจะให้มีการบังคับคดีเลย ซึ่งมีสัญญาณมาว่าจำเลยกำลังจะหาทางออกให้ตัวเองโดยการบอกว่า บริษัทล้มละลาย ทำให้ไม่สามารถรับผิดชอบต่อความเสียหายตามคำพิพากษาของศาลได้

ซึ่งเราคิดว่าทางนี้เป็นทางที่จะเอาตัวรอดของจำเลย ซึ่งบริษัทหลาย ๆ แห่งก็ทำแบบนี้ 

ในกรณีนี้คำพิพากษาที่เกิดขึ้นขั้นต้อไปที่อาจจะมีการเร่งก็คือ ให้มีการบังคับคดีเลย โดยใช้เงินที่จำเลยได้วางไว้ 10 กว่าล้านบาท เอามาใช้ในการแก้ไขปัญหาไปก่อน

ส่วนที่เหลือจำเลยจะต้องมีการฟื้นฟู แก้ไขสภาพการปนเปื้อนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานอย่าง กรมโรงงงานอุตสาหกรรมต้องเข้ากำกับดูแล ซึ่งถ้ากรมโรงงานฯ ไม่เข้ามาดำเนินการ กรมโรงงานก็ต้องถูกฟ้องคดีในฐานะละเลยการปฏิบัติหน้าที่” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว