หลายคนมองปรากฎการณ์ “สหรัฐอนุมัติรื้อถอน 4 เขื่อน” เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์และทิศโลก หากเป็นจริงปรากฏการณ์นี้ส่งผลสะเทือนถึงไทยไหม แค่ไหน อย่างไร? โดยเฉพาะต่อ “ผู้กำหนดนโยบาย” และ “สาธารณะ”
“นราวิชญ์ เชาวน์ดี” สำรวจความเห็นผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพยายามหาคำตอบต่อคำถามนี้ พร้อมสำรวจสถานการณ์และแนวโน้มการสร้างเขื่อนในไทยและภูมิภาคลุ่มโขง รวมถึงประเด็นถกเถียงล่าสุดว่าด้วย “เขื่อน-พลังงานสะอาด-คาร์บอนเครดิต”

“ทุบเขื่อน” ทิศโลก-อีกประวัติศาสตร์หน้าใหม่
18 พ.ย. 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุมัติรื้อถอน 4 เขื่อนบนแม่น้ำ Klamath ที่ไหลผ่านพรมแดนของรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐออริกอน ซึ่งครั้งนี้เป็นการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประวิติศาสตร์
ในรายงานกล่าวว่า การรื้อถอนในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยฟื้นฟูแม่น้ำ Klamath ซึ่งเป็นเส้นทางที่ปลาแซลมอน Chinook และปลาแซลมอน coho ที่ใกล้สูญพันธุ์ ใช้ว่ายผ่านจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังต้นน้ำเพื่อวางไข่ และเป็นทางที่ลูกปลาแซลมอนใช้เพื่อกลับมาสู่ทะเล
โดยการอนุมัติการรื้อถอนเขื่อนในครั้งนี้มี U.S. Federal Energy Regulatory Commission (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของสหรัฐอเมริกา) เป็นผู้ลงนาม
โดยโครงการนี้เป็นเป้าหมายของกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกาหลายกลุ่ม ที่บรรพบุรุษของพวกเขาใช้ชีวิตโดยการพึ่งพิงปลาแซลมอนมายาวนานหลายศตวรรษ แต่วิถีชีวิตของพวกเขาก็ต้องมาถูกรุกรานจากกลุ่มผู้มาใหม่จากทรีปยุโรปที่มาตั้งถิ่นฐาน และความต้องการใช้ไฟฟ้าในชนบทในช่วงศตวรรษที่ 20
รายงานจาก inhabitat กล่าวว่า เขื่อน Copco 2 ซึ่งที่เล็กที่สุดใน 4 เขื่อนจะถูกรื้อถอนราว ๆ มิ.ย. – ก.ย. ปีหน้า (2566) ส่วนอีก 3 เขื่อน (Copco 1, Iron Gate และ J.C. Boyle Dams) มีแผนที่จะค่อย ๆ ปล่อยน้ำออกในต้นปี 2024 (2567) โดยมีการคาดการณ์ว่าแม่น้ำจะกลับสู่สภาวะก่อนจะมีเขื่อนภายในปลายปีเดียวกัน (2567)
โดยในปี 2021 สหรัฐอเมริกาได้มีการรื้อถอนเขื่อนแล้วกว่า 1,951 แห่ง และกว่า 239 แห่งในทวีปยุโรป
“การรื้อถอนเขื่อนในต่างประเทศมันชี้ให้เห็นว่าในประเทศที่มีการสร้างเขื่อนมาก่อนหน้านี้แล้ว ประเทศเหล่านี้เห็นถึงผลกระทบทางสภาพแวดล้อม และนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน
โดยเฉพาะช่วงหลังประโยชน์ของเขื่อนมันน้อยลงเรื่อย ๆ มันก็เลยมีแนวทางที่เรียกว่า Commission on Dams คือเลิกใช้งานเขื่อน เปิดบานประตู หรือว่าทุบทิ้ง ซึ่งก็เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ
มันก็เป็นเทรนด์ว่าเดี๋ยวนี้ Nature-based solutions (แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน) การรักษาระบบนิเวศ การใช้ธรรมชาติในการดูแลโอบอุ้ม ความเป็นอยู่ของสังคม มีแนวโน้มที่มากขึ้นในประเทศที่สร้างเขื่อนไปแล้วก่อนหน้าเราหลาย 10 ปี
แต่ว่าในภูมิภาคเรายังมีการเสนอให้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมัน อาจจะเรียกได้ว่าเป็น เฮือกสุดท้ายของอุตสาหกรรมเขื่อนแล้วก็เป็นไปได้ เพราะว่าในประเทศที่เค้าพัฒนาแล้ว การสร้างเขื่อนมันแทบไม่มีแล้ว
เพราะมันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าผลกระทบที่เกิดต่อระบบนิเวศ และสังคมมันสูงมาก” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้สัมภาษณ์กับ GreenNews

แรงสะเทือนอาจมาไม่ถึงไทย-ลุ่มโขง
“ต้องถามก่อนเลยว่า การทยอยรื้อถอนเขื่อนในอเมริกา หรือในยุโรปเนี่ย คนไทยรู้เรื่องนี้มาก น้อย แค่ไหนก่อนดีกว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลย
สำหรับผมคิดว่ามันยังไม่มีผลอะไรต่อประเทศไทยเท่าไหร่ เพราะว่าอย่างแรก คนส่วนใหญ่ก็ยังเขื่อว่าเขื่อนมันคือการพัฒนา อุดมการณ์การสร้างเขื่อนมันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ที่สำคัญอีกอย่างนึงคือขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนมันก็ยังไปไม่ถึงเรื่องของการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการยกเลิกการใช้เขื่อน หรือว่าการรื้อเขื่อนทิ้ง” ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์กับ GreenNews

“ผมว่าก็มีคนที่มีความก้าวหน้าแหละ คนที่มีแนวคิดว่าควรจะมีการรื้อทิ้งหรือว่ายกเลิกการใช้เขื่อน แต่น่าจะมีจำนวนไม่เยอะเท่าไหร่ แต่หลายพื้นที่ชาวบ้านเอย อะไรเอย ก็ยังมุ่งไปที่การเรียกร้องเรื่องค่าชดเชย
ยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งไปกันใหญ่เลย ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าบ้านเราจะมีความคิดเรื่องของการรื้อเขื่อนทิ้ง หรือยกเลิกการใช้เขื่อน คงใช้เวลานาน แล้วก็อาจจะนานมาก ๆ ด้วยซ้ำไป” ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ให้ความเห็นต่อแนวโน้ม และความเป็นไปที่จะเกิดการรื้อถอนเขื่อน
ไชยณรงค์ ยังกล่าวถึงเหตุผลต่อการรื้อถอนเขื่อนในสหรัฐอเมริกาด้วยว่าสืบเนื่องมากจาก การตระหนักถึงการฟื้นฟูธรรมชาติที่มากขึ้น และมองเห็นว่าประโยชน์จากไฟฟ้าที่ผลิตมาจากเขื่อนไม่คุ้มกับการต้องสูญเสียธรรมชาติ พันธ์ปลา ระบบนิเวศ และการคืนสิทธิทธิดินแดนและเขตแดนให้กับชนพื้นเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย
“ในยุโรป อเมริกา เหตุผลของเค้ามันเป็นเรื่องของการไม่คุ้มค่าไฟที่ได้ หรือผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้อย่างอื่น เช่ืนเรื่องของการได้พันธุ์ปลากลับมา มันมีมูลค่ามากกว่าการที่จะได้ผลประโยชน์จากเขื่อนไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรืออะไรก็แล้วแต่อันนี้คือเหตุผลที่ 1
เหตุผลที่ 2 มันก็เป็นเรื่องของการเอาธรรมชาติกลับคืนมา ระบบนิเวศที่มันถูกทำลายจากเขื่อนหรือ แม่น้ำตามธรรมชาติ เค้าก็ไม่ได้เห็นว่าเขื่อนมันเป็นที่เที่ยวอีกต่อไป แต่ธรรมชาติหรือแม่น้ำตามธรรมชาติที่ไหลอย่างอิสระมันคือ พื้นที่ recreation (นันทนาการ) ที่สำคัญ
และอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการที่จะคืนสิทธิดินแดนและเขตแดนให้กับชนพื้นเมือง ซึ่งบ้านเราประเด็นเหล่านี้มันยังห่างไกลจากขบวนการเคลื่อนไหว จากความคิดของขบวนการเคลื่อนไหว” ไชยณรงค์กล่าว
แต่ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็กล่าวว่าถ้าการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในประเทศมุ่งไปที่การฟื้นฟูระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การรื้อเขื่อนทิ้ง หรือยกเลิกการใช้เขื่อนเลย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
“แต่ในแง่ของการที่เราจะไปสู่จุดนั้นได้ อย่างที่ผมบอกแหละมันก็ขึ้นอยู่กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมุ่งไปที่ค่าชดเชย โดยเฉพาะเขื่อนที่สร้างไปแล้ว แล้วหันไปมุ่งที่การฟื้นฟูระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งมันไม่ได้ชูประเด็นนี้ ลองไปดูเรื่องเขื่อนปากมูล ยังไม่มีเรื่องของการรณรงค์เรื่องรื้อเขื่อนทิ้ง หรือยกเลิกการใช้เขื่อนเลย ทั้ง ๆ ที่มันมีปัญหามากมาย มีทั้งเรื่องระบบนิเวศ พันธ์ุปลา การปิดตายลุ่มน้ำในอีสานตอนล่างทั้งหมด รวมทั้งปัญหาที่ทำให้เกิดอุทกกภัย มันก็ยังไปไม่ถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้เขื่อน
บ้านเรามันยังคิด ความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ไปถึงขั้นนั้น การเคลื่อนไหวยังเป็นแค่เรื่องผลประโยชน์เฉพาะหน้า
ยังไปไม่ถึงอีกนาน เรามีเขื่อนที่มันควรจะยกเลิกการใช้ในอีสานเต็มไปหมด โครงการในโขงชีมูล 13 เขื่อน รวมถึง เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ตอนนี้ยังไปเรียกร้องเรื่องค่าชดเชย ฟื้นฟูวิถีชีวิต เอาเงินกองทุนฟื้นฟูมาใช้ ส้มหล่นกับหน่วยงานราชการด้วยซ้ำไป แต่มันฟื้นฟูวิถีชีวิตได้จริงหรือไม่ มันก็ยังไม่ชัด มันก็ยังไปไม่ถึงเรื่องของการฟื้นฟูแม่น้ำ
ซึ่งถ้ามันจะไปถึงการฟื้นฟูแม่น้ำมันก็ต้องไปถึงการยกเลิกการใช้เขื่อน เปิดประตูเขื่อนถาวร ให้ปลาให้ระบบนิเวศกลับคืนมา
ซึ่งถ้ามันจะทำก็ต้องรณรงค์ ถ้าแค่เป็นข่าวมันก็โอเค ถามว่ามีคนเห็นด้วยไหม มันก็มีคนเห็นด้วย แต่จะมากถึงขั้นล้มอุดมการณ์ของเขื่อนที่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาหรือไม่ ไม่ล้มไม่ได้หรอก มันแทบจะไม่สะเทือนด้วยซ้ำ เพราะบ้านเรามันปลูกฝังเรื่องนี้มานาน การสร้างเขื่อนคือการสร้างชาติ” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าว
ด้านเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้ความเห็นถึงสถานการการรื้อถอนเขื่อนในประเทศไทยว่า
“จริง ๆ ก็มีอยู่แห่งหนึ่งที่มีการพูดถึง และตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องถึงการรื้อถอนเขื่อน ก็คือในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนราศีไศล หรือเขื่อนปากมูล
ซึ่งจากกรณีที่น้ำท่วมจังหวัดอุบลเมื่อ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ก็มีคนตั้งคำถามว่าส่วนหนึ่งนอกจากการใช้พื้นที่ที่ปิดกั้นทางน้ำ หรือการถมพื้นที่ต่าง ๆ ในลุ่มน้ำมูลตอนล่าง เขื่อนปากมูลที่สร้างกั้นแม่น้ำมูลก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขง ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบเนี่ยมันนอกจากการปิดกั้นพันธุ์ปลา การสร้างความเสียหายทางระบบนิเวศจากเขื่อนแล้วเนี่ย มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมอุบลนานขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น เพราะแทนที่น้ำจะไหลออกสู่แม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว ก็ต้องมาโดนกั้นที่เขื่อนปากมูล
แต่สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันนอกเฉียงยังไม่เคยเกิดขึ้นของแนวโน้มการรณรงค์รื้อถอนเขื่อน” เพียรพรกล่าว
เพียรพรกล่าวถึงสถานการณ์ในไทยและภูมิภาคว่า ยังมีความต่างจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป อยู่มาก ทางนั้นเขามาก่อนเราเป็นร้อยปี ตอนนี้เรายังตามไปไม่ถึง กฎหมายของเรายังไปไม่ถึง ผู้มีอำนาจของเรายังคิดไม่ถึง การตั้งคำถามถึงการรื้อถอนเขื่อนในเชิงสาธารณะยังน้อย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากขณะนี้การตั้งคำถามถึงความจำเป็นของเขื่อนมีมากขึ้น
“ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ เพราะตอนนี้สังคมก็ตระหนักรู้เรื่องผลกระทบเรื่องเขื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น กรณีเขื่อนปากมูลทำให้น้ำท่วมนานขึ้น ผู้ที่เดือดร้อนมันเยอะขึ้น
เมื่อก่อนเขื่อนปากมูลสร้างผลกระทบแค่ ประชาชนที่อยู่บริเวณปากมูล ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง อ.โขงเจียม จ.อุบล หรือ อ. แถว ๆ นั้น แต่ตอนนี้มันมาถึง อ. เมือง หรือ อ. อื่น ๆ ที่ถูกน้ำท่วมแล้วไม่ระบายออกซักที” เพียรพรกล่าว

“เกิดยากในไทย ขยายตัวในบ้านเพื่อน” สถานการณ์วันนี้
สำหรับการจะเกิดเขื่อนในอนาคตของไทย ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า มีโอกาศเกิดขึ้นได้ยากจาก 2 เหตุผล คือ 1. ไม่มีที่ให้สร้างเขื่อน และ 2. การตระหนักรู้ของคนในสังคมไทย และกฎหมาย
“สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยมี 2 อย่าง 1. ไม่มีที่ให้สร้างเขื่อน และ 2. การตระหนักรู้ของสาธารณะในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมันสูงขึ้นแล้ว แล้วก็กฎหมายในปัจจุบันของไทยสามารถคุ้มครองสิทธิของสิ่งแวดล้อม สิทธิของชุมชน สิทธิของผู้ได้รับผลกระทบว่าอย่างน้อยที่สุดในโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างเช่นเขื่อน ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดทำผลกระทบต่อสุขภาพ เหล่านี้มันทำให้การสร้างเขื่อนชุ่ย ๆ เกิดขึ้นได้ยากขึ้น” เพียรพรกล่าว
แต่ถึงแม้ว่าโอกาสเกิดขึ้นของเขื่อนในประเทศเป็นไปได้ยาก แต่กลับมีนายทุนจากไทยออกไปสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน
“เทรนด์ที่เราเห็นก็คือ ตอนนี้กลายเป็นการออกไปสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านที่กฎหมายมันอ่อนกว่า อย่างเช่น บนแม่น้ำสาระวินในพม่า หรือ แม่น้ำโขงในลาว เขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็มีคนลงทุนจากหลายประเทศ บริษัทจีน ไทย มาเล เวียดนาม” เพียรพรกล่าว
ผอ. รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวถึงการพยายามสร้างเขื่อนในไทยต่อว่า ตอนนี้ก็ยังมีความพยายามที่จะสร้างเขื่อนจากภาครัฐอยู่ตลอด แต่ก็ต้องประสบกับการต่อต้านทั้งจากกลุ่มคนในพื้นที่ และกลุ่มคนที่ตระหนักถึงผลกระทบจากเขื่อนอยู่ตลอด ทั้งที่ คลองชมพู พิษณุโลก และที่แก่งเสือเต้น ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำยม จ. แพร่
“อย่างในประเทศไทยมีโครงการที่ยังมีความพยายามดำเนินการอยู่ก็เช่น เขื่อนคลองชมพู ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำคลองชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ซึ่งชาวบ้านก็ออกมาปกป้องทรัพยากรของตนเองอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20 ปี แล้วก็พูดถึงความสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำในการเลี้ยงดูชุมชน ในการเป็นแหล่งน้ำสะอาด ในการเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าอนุรักษ์ ในการเป็นพื้นที่อาศัยสำคัญของจระเข้สยามที่เหลืออยู่เป็นที่ท้าย ๆ ของประเทศ
หรืออย่างกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่มีการเสนอมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ก็มีการคัดค้านอย่างต่อเนื่องโดยชุมชนที่ดูแลป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศ
แต่เขื่อนมันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ อีกแล้วเนื่องจากว่าประชาชน และสาธารณะเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบที่จะเสียหายจากเขื่อนมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น” เพียรพรกล่าว

เขื่อน: กับดักพลังงานสะอาด ?
“จริง ๆ เขื่อนไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพลังงานสะอาด แต่มันถูกติดป้าย ผิด ๆ ว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งแท้จริงแล้วมันมีผลกระทบด้านสังคม ด้านนิเวศวิทยา ด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อประชาชนเกิดขึ้นมากมาย แล้วสิ่งเหล่านี้มันเคยมีการศึกษามานานตั้งแต่ปี 2000 แล้ว โดยคณะกรรมการเขื่อนโลกซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก World Commission on Dams report พูดอย่างชัดเจนว่า เขื่อนถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา แต่มันได้สร้างผลกระทบต่อประชาชน หลาย 10 ล้านคน ทั่วโลก ซึ่งอันนี้เป็นข้อมูลตอนปี 2000
แล้วก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนว่าเขื่อนในปัจจุบันมันมีผลกระทบอะไรบ้าง มันเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ แล้วมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไรให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทั้งเหนือน้ำ และท้ายน้ำ สอดคล้องกับความต้องการของธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นคำถามที่ต้องถามกลับมาก็คือ คุณจะสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาสาธารณะ หรือเพื่อที่จะต้องการโครงการก่อสร้าง หรือทางเลือกอื่นในการจัดการทรัพยากรน้ำที่มันมีอยู่มากมายเนี่ย เราได้ใช้ทางเลือกเหล่านั้นหรือยัง เราได้มีส่วนร่วมของประชาชน เราได้มีส่วนร่วมของนักวิชาการแขนงต่าง ๆ ในการร่วมแก้ปัญหาแสวงหาทางออกที่มันเดือดร้อน ธรรมชาติ เดือดร้อนประชาชนน้อยที่สุด เดือดร้อนงบประมาณแผ่นดินน้อยที่สุดแล้วหรือยัง
และที่สำคัญหลายประเทศก็พูดถึงสิทธิของแม่น้ำ Rights of river ว่าแม่น้ำเค้าก็มีสิทธิ ธรรมชาติก็มีสิทธิที่จะดำรงคงอยู่ ไม่ใช่ว่าเพื่อเป็นประโยชน์จากการใช้งานของมนุษย์เท่านั้น” ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าว

ค้าคาร์บอนจากเขื่อน อีกกับดัก?
ในปัจจุบัน คาร์บอนเครดิต (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดําเนินโครงการลดก๊าซเรือน
กระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ข้อมูลจาก: TGO) ถูกพูดถึงมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ถ้าการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนที่มีบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์มองว่าเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน (ที่มา : GreenNews) ที่สามารถนำไปใช้คำนวณในฐานะแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และนำมาหักลดกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์เขื่อนในปัจจุบันที่ก็ถูกมองว่าไม่เกิดความจำเป็นอยู่แล้ว
“การที่จะนับเขื่อนเข้าไปในคาร์บอนเครดิต สามารถนำไปหักลบได้ เป็นความคิดที่วิบัติมาก ๆ ความคิดที่ว่าถ้าเอาการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนแล้วเอาไปแลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ตัวเขื่อนเป็นตัวทำลายแหล่งดูดซับคาร์บอนเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้ หรือระบบนิเวศป่าริมน้ำ ป่าน้ำท่วม
แล้ววิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดของกลุ่มทุน ของทุนนิยมโลก ซึ่งมันอัตรายมาก ๆ มันจะนำไปสู่การสร้างเขื่อนให้มันอีรุงตุงนังหมดเลย ซึ่งถึงจะไม่มีเรื่องคาร์บอนเข้ามาเกี่ยวกันก็มีการสร้างเขื่อนอีรุงตุงนังอยู่แล้ว ในแม่น้ำโขง ในประเทศเพื่อนบ้าน ในประเทศไทย
การศึกษาของ World Commision on Dams รายงานการศึกษาเขื่อนทั่วโลก แล้วก็พบว่าเขื่อนเป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม แล้วจะเอาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไปนับได้ยังไง อันนี้มันเป็นความคิดของทุนนิยม
นโยบายแบบนี้มันก็จะไปเอื้อให้กลุ่มทุนพลังงานที่จ้องจะไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว
แล้วคาร์บอนเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องดีด้วยซ้ำ มันทำให้ประเทศที่ปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม ยิ่งมีความชอบธรรมที่จะไปปล่อยคาร์บอนได้ต่อไป มันผิดตั้งแต่หลักการแล้ว
ผมเป็นห่วงเกี่ยวกับวิธีคิดของกลุ่มทุนที่มันผลักดันเป็นนโยบายของรัฐภายใต้กรอบของความร่วมมือในระดับนานาชาติ เช่น เอเปคไรเนี่ย มันต้องคิดถึงเรื่องสังคม เรื่องประชาชน คิดถึงผลกระทบที่ตามมา รวมถึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มีนโยบายที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนหรือรัฐ” ไชยณรงค์กล่าว
ผอ. รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เห็นไปในทางเดียวกันว่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงถ้ามีการนับการเขื่อนเข้ามาเป็นตัวลบคาร์บอนเครดิต
“หากมองผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผลกระทบต่อประชาชนแล้ว มันไม่สามารถที่จะพูดถึงได้ว่า พลังงานจากเขื่อนเป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนเลย
และจริง ๆ แล้วในการลดคาร์บอน เราควรที่จะมองการลดคาร์บอนจริง ๆ ไม่ใช่ว่าไปสร้างเขื่อนแล้วบอกว่าลดคาร์บอน แต่ว่ามันเกิดการทำลายระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุด
อย่างกรณีแม่น้ำโขง การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่าง ๆ บนเขื่อนแม่น้ำโขงของไทย ก็ถูกนับว่าเป็นนโยบายลดคาร์บอน แต่จริง ๆ แล้วคุณค่าทางนิเวศ คุณค่าทางธรรมชาติของประชาชนใน 6 ประเทศ ลุ่มน้ำโขงกำลังสูญเสียกำลังถูกทำลายโดยที่ไม่เคยถูกนับมูลค่าใด ๆ
และผู้ที่จ่ายต้นทุนเหล่านั้นก็คือประชาชนริมน้ำโขง ก็คือระบบนิเวศที้จะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป ก็คืออนาคตของลูกหลานเราที่จะไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านั้นในอนาคตได้อีกแล้ว“ เพียรพรกล่าว