“กระจายอำนาจจัดการทรัพยากร” จากสภาถึงอบต.

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : suratthanihome)

1.

เมื่อถามว่าคุณอยากเห็น อบต.หรือเทศบาลทำอะไร สิ่งที่คนทั่วไปจะตอบ คือ อยากเห็นทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ อาหารนักเรียน รถรับส่งนักเรียน เบี้ยผู้สูงอายุและผู้พิการ สร้างหรือซ่อมแซมถนน น้ำประปา เหมืองฝาย ป้องกันยาเสพติด แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และหนึ่งในประเด็นที่คนชนบทอยากเห็นที่สุด คือ อบต.หรือเทศบาลมีอำนาจจัดการดิน น้ำ ป่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันที่ชาวบ้านชาวเมืองเผชิญ

แต่เมื่อมีการเสนอกฎหมายเพื่อให้อำนาจ อบต.หรือเทศบาลสามารถทำตามความต้องการของคนทั่วไปได้ โดยกระจายอำนาจรัฐและงบประมาณไปให้ อบต.หรือเทศบาลให้มากขึ้น กลับถูกผู้มีอำนาจและคนบางกลุ่มในสังคมขัดขวางอย่างไม่ลืมหูลืมตา ที่น่าเศร้าหน่อยคือในบรรดาคนที่ออกมาขวางนั้น จำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับประโยชน ที่ตอนนี้กำลังเดือดร้อนและบ่น อบต. หรือเทศบาลว่าไม่ทำงาน

2.

เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐสภามีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” ที่มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ดัวยเสียง 245 ต่อ 254 เสียง งดออกเสียง 129 คะแนน ซึ่งคะแนนที่โหวตเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 361 คะแนน และมี ส.ว.เห็นชอบเพียง 6 เสียง น้อยกว่า 83 เสียงของ ส.ว. (1 ใน 3) จึงถือว่าร่างดังกล่าวไม่ผ่านชั้นรับหลักการ

เราจึงพูดได้เต็มปากว่า ส.ว. เป็นกลไกฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างแท้จริง เพราะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่ ส.ว. โหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเกินกว่า 50,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่ง 3 ครั้งหน้านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกลไกทางการเมืองระดับชาติ สำหรับครั้งนี้เป็นเรื่งเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและงบประมาณในการพัฒนาประเทศอย่างเสมอหน้ากัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม

(ภาพ : huaayraisao.go.th)

3.

การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้ อบต. หรือเทศบาล เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นโดยตรง และเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสการเรียกร้องในสังคมไทยนับตั้งแต่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา 

จากแนวความคิดและข้อเรียกร้องของสังคมไทย กลายมาเป็นรูปธรรมเมื่อรัฐธรรมนูญบับประชาชนเมื่อ ปี พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติรับรองเรื่องสิทธิชุมชนที่สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน หลังจากนั้นก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และ 2560 ด้วย 

ที่สำคัญคือมีการออก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (24) บัญญัติให้กระจายอำนาจให้ อบต.หรือเทศบาล มีอำนาจ “จัดการ การบํารุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ไว้ด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะมีการบัญญัติกฎหมายเอาไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติราชการส่วนกลางก็ยังกอดอำนาจไว้เองแต่เพียงผู้เดียว และรัฐบาลเองก็ไม่ได้ดำเนินการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าจริง  

ตัวอย่างกรณีปัญหาความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ของไทย ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด เช่น การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ นอกจากจะประกาศทับที่ของคนในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการรวบเอาพื้นที่ป่าทั้งหมดไปไว้ภายใต้อำนาจของกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯ ทั้งหมด ผลกระทบที่ตามมาคือ ตัดสิทธิและอำนาจของหน่วยงานอื่นๆ และประชาชนในท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ อบต.หรือเทศบาลไม่สามารถสร้างถนน สะพานหรือระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างอื่นได้ หากจะสร้างจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งในทางปฏิบัติ อบต.และเทศบาลที่ยื่นขออนุญาตแทบไม่ได้รับอนุญาตเลย รวมทั้งกรณีปัญหาสิทธิในที่ดิน ซึ่งแม้รัฐบาลจะได้ออกนโยบายจัดทำเอกสารรรับรองสิทธิ์ให้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีศักยภาพจะได้จริง ในขณะที่ อบต. หรือเทศบาล มีศักยภาพท่จะทำได้ แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ จึงไม่สามารถออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินทำกินให้ประชาชนในท้องถิ่นของตนเองได้ 

หลายคนอาจจะสงสัยว่ามีด้วยหรือที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการป่าไม้และที่ดิน ผมขอยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ที่เขาให้ท้องถิ่นจัดการป่าไม้และที่ดินแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งในแง่การเพิ่มพื้นที่ป่าและการอนุรักษ์รักษาพื้นที่ป่า การใช้ประโยชนทรัพยากรจากป่า การสร้างงานสร้างรายได้จากป่า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชุมชนที่อยู่บนภูเขาหรืออยู่ห่างไกล

ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่าประมาณ 157 ล้านไร่ หรือเท่ากับ 67.4% ของพื้นที่ประเทศ (ไทยมี 102 ล้านไร่ หรือ 31.59 %) จำแนกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 73 ล้านไร่ หรือเท่ากับ 31% ของพื้นที่ป่า (ไทยมี 54 ล้านไร่ หรือ 52.9%) และเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 84 ล้านไร่ หรือเท่ากับ 36% ของพื้นที่ป่า (ไทยมี  25.3 ล้านไร่ หรือ 24.8%)

ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายกระจายอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่ป่า โดยให้รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของป่า 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการรักษาระบบนิเวศน์และนันทนาการ หน่วยงานท้องถิ่นเป็นเจ้าของป่า 10% และเอกชนเป็นเจ้าของ 60% ซึ่งสัดส่วนนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 1955 จนถึงปัจจุบัน

พ.ร.บ. ป่าไม้ (Forest and Forestry Basic Act, 1964) ประกาศใช้เมื่อปี 1964 โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลจะต้องจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรในป่า การพยากรณ์ศักยภาพของผลผลิตและความต้องการสินค้าไม้ และการดำเนินกิจการด้านการป่าไม้ในระยะยาว โดยแผนการจัดการป่าระดับชาติ (Nation-wide Forest Plan) จัดทำโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและป่าไม้ สำหรับแผนการจัดการป่าระดับภูมิภาค สำหรับใช้บริหารจัดการพื้นที่ป่าของท้องถิ่นและเอกชน (Regional Forest Plan for Non-national Forest) โดยกำหนดให้ผู้ว่าการที่มาจากการเลือกตั้งในจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนบริหารจัดการ นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2000 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่ชนบท โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระมากเท่าที่จะสามารถทำได้ รวมถึงการเพิ่มงบประมาณสำหรับจัดทำระบบบริการสาธารณะและสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นที่อยู่ในเขตป่า

ดังนั้น หากมีกฎหมายบัญญัติให้ อบต.และเทศบาลของไทย มีอำนาจบริหารจัดการพื้นที่ป่าและที่ดินได้ จะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ดังนี้ คือ 

  1. อบต.และเทศบาล จะสามารถออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินในเขตป่า ที่ชาวบ้านถือครองทำประโยชน์มานานแล้วได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทขึ้นมาได้มหาศาล
  2. อบต.และเทศบาล สามารถออกระเบียบการใช้ทรัพยากรในป่าได้ รวมทั้งออกใบอนุญาตให้คนในท้องถิ่นเก็บหาของป่าเป็นอาชีพได้ เช่น ขุดบุก ขุดหน่อ เก็บเห็ด เหมืองแร่ ไม้ หรือส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นจัดทำบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ อันเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น 
  3. อบต.และเทศบาล สามารถออกระเบียบหรือจัดทำโครงการอนุรักษ์หรือบำรุงรักษาป่าไม้โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนได้ เช่น การป้องกันไฟป่า การปลูกป่า การสงวนรักษาป่าและตัวต์ป่า ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ง่าย และไม่ถูกบุกรุกทำลาย  
  4. ท้องถิ่นสามารถสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารประชนได้ เช่น ถนน ไฟฟ้า เหมืองฝาย สะพาน อ่างเก็บน้ำ แม้กระทั่งการสร้างโรงงานแปรสินค้าของคนในท้องถิ่น เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้บริการประชาชนอยู่แล้ว ควรเป็นสิ่งที่ อบต.และเทศบาล ทำได้เลย
(ภาพ : huaayraisao.go.th)

4. 

สังคมไทยต่างเข้าใจว่าการรวมศูนย์อำนาจจัดการป่าไม้และที่ดิน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อคนชนบท แต่สังคมไทยตกอยู่ใต้เงาความคิดความเชื่อที่ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจของไทยได้สร้างไว้อย่างมั่นคงว่า พื้นที่ป่าไม้ทุกตารางนิ้วเป็นของรัฐส่วนกลาง และรัฐส่วนเป็นเพียงผู้เดียวที่มีอำนาจจัดการ คนที่อยู่ในเขตป่าล้วนเป็นพวกบุกรุก แม้พวกเขาจะอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าก็ตาม  

จากกรณีตัวอย่างของญี่ปุ่น อาจจะกล่าวได้ว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการป่าไม้และที่ดิน ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากร รวมทั้งสามารถเพิ่มและรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้จำนวนมาก ซึ่งสวนทางกับความเชื่อของคนในสังคมไทยว่า ถ้าทำให้คนที่อยู่ในเขตป่ามีสิทธิ์ตามกฏหมาย จะทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกจนหมด

หากรัฐบาลไทยอยากเพิ่มพื้นที่ป่าจริงๆ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ กระจายอำนาจในการบริหารจัดการป่าและที่ดินให้แก่ท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นมีสิทธิ์เป็นเจ้าของป่า ปลูกป่า บำรุงรักษาป่า และใช้ประโยชน์จากป่าไม้และที่ดิน นั่นจึงจะทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้จริงๆ