สผ. ยันจุดยืน “กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA” ชี้กลไกที่มีอยู่ดีพอแล้ว 

ที่ประชุมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สรุปแนวทางแก้กำแพงกันคลื่นรวม 6 ข้อ สาระสำคัญ ยืนยันกลไกกลั่นกรองดูผลกระทบปัจจุบันดีพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้กำแพงกันคลื่นต้องทำอีไอเอ

ด้านเครือข่ายอนุรักษ์ชายหาด Beach For Life ประกาศเคลื่อนไหวในกรุง ด้วย “3 กิจกรรมรวบรวมตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายฝั่งและหาดในภาคใต้และภาคตะวันออกเคลื่อนพลทวงคืนชายหาดเตรียมปักหลักชุมชุมจนกว่า 3 ข้อเรียกร้องจะบรรลุ

ล่าสุด ประธาน กป.อพช.ประกาศหนุนการเคลื่อนไหว-ข้อเรียกร้องเครือข่ายฯ “ทวงคืนชายหาด”

(ภาพ : สผ.)

จุดยืนอีไอเอกำแพงกันคลื่นสผ. 

1. กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ไม่ว่าขนาดความยาวเท่าใดย่อมมีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทำให้สูญเสียชายหาดและระบบนิเวศด้านหน้าของโครงสร้าง เกิดการกัดเซาะบริเวณด้านใต้ของโครงสร้างทำให้เสียหาย และมีผลกระทบเกิดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้างฯ ส่งผลให้บริเวณด้านท้ายของโครงสร้างฯ (Foot scouring) มีการกัดเซาะต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง 

ซึ่งระดับของผลกระทบขึ้นอยู่กับพื้นที่และห้วงเวลาของการก่อสร้างโครงการ และต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง การสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ต้องพิจารณาความสำคัญของพื้นที่ที่จะป้องกันและรักษาไว้ รวมถึงผลกระโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและสิ่งที่ต้องสูญเสียไป 

ดังนั้น การนำกำแพงริมชายฝั่งติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตร ขึ้นไป กลับมาเป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำ EIA อาจไม่ใช่กลไกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เนื่องจาก EIA เป็นการศึกษาและพิจารณาผลกระทบรายโครงการ 

จึงควรใช้เครื่องมือรายพื้นที่ คือ รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เพื่อศึกษาภาพรวมเชิงพื้นที่ 

2. ภายหลังการยกเลิกการกำหนดให้กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตรขึ้นไป ต้องจัดทำ EIA ตั้งแต่ปี พ.. ๒๕๕๖ ทำให้มีจำนวนโครงการกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้นมากขึ้น 

แต่เมื่อมีกลไกการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของ ทช. ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.. ๒๕๕๘ 

โดยมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านการกัดเซาะชายฝั่งทะเล คือ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด และคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ 

รวมถึงคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นกลไกการดำเนินงานด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ 

รวมทั้งมีขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการฯ เพื่อเสนอผลการกลั่นกรองโครงการต่อสำนักงบประมาณเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามกลไกของ ทช. ดังกล่าว 

ทำให้โครงการกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมืองมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.. ๒๕๖๕ เหลือเพียง ๖ โครงการ ในปี พ.. ๒๕๖๖ มี ๕ โครงการ และปี พ.. ๒๕๖๗ มี ๖ โครงการ 

ดังนั้น กลไกของ ทช. สามารถควบคุมจำนวนโครงการได้ โดยภายหลังจากตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ พบว่า จำนวนโครงการลดลงเท่ากับหรือใกล้เคียงกับที่ผ่านมาโดยไม่ต้องใช้กลไกการจัดทำรายงาน EIA  

3. สำนักงบประมาณ ได้นำข้อมูลโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานกลั่นกรองฯ ของ ทช. มาประกอบการพิจารณาความพร้อมของโครงการในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้วย 

จึงมีเฉพาะโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานกลั่นกรองฯ แล้วเท่านั้น ที่สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณได้ 

จึงเป็นกลไกที่ช่วยในการกลั่นกรองโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม 

โดยในปีงบประมาณ พ.. ๒๕๖๕ มีโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับงบประมาณ ๖ โครงการ (เป็นโครงการก่อสร้างใหม่) และปีงบประมาณ พ.. ๒๕๖๖ มีโครงการของกรมเจ้าท่าได้รับงบประมาณ ๒ โครงการ (เป็นโครงการก่อสร้างใหม่) และโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับงบประมาณ ๔ โครงการ (เป็นโครงการฟื้นฟูบูรณะจำนวน ๓ โครงการและเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ ๑ โครงการ)  

4. กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่ายืนยันว่า กลไกในการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.. ๒๕๕๘ มีความเหมาะสมในการควบคุมดูแลบังคับใช้กับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลทุกขนาดอยู่แล้ว 

จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตร ขึ้นไปกลับมาเป็นโครงการที่ต้องจัดทำ EIA 

โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่า ขอให้สนับสนุนเร่งรัดให้เกิดการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พ.. …. “ และรายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล (Environmental checklist for seawall and revetment)” โดยเร็ว 

5. โครงการที่ได้รับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมาเป็นโครงการเดิม ดังนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่าจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา และต้องมีชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและผู้ร้องเรียนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย 

6. ที่ประชุมมีประเด็นหารือเกี่ยวกับความยั่งยืนและสภาพการบังคับตามกลไกการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของ ทช. ว่าสามารถกำหนดให้เจ้าของโครงการ (กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่น) ปฏิบัติตามมาตรการ เช่น การเติมทราย การฟื้นฟูชายหาด และการกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร 

(ภาพ : สผ.)

รายงานข่าว สผ. เปิดเผยการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กรณีการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งที่จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ สำนักงาน สผ.โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. เป็นประธานที่ประชุม  

สผ. ได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงบประมาณ (สงป.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และชมรม Beach for life พร้อมกับประสานแจ้งทางโทรศัพท์เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมหารือฯ แต่เนื่องจากชมรม Beach for life ติดภารกิจจึงไม่สามารถเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวได้ 

ทั้งนี้ สผ อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลทั้งหมด และจะนำไปหารือร่วมกับชมรม Beach for Life พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียให้ครบทุกภาคส่วนตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบในเรื่องนี้อย่างรอบด้านและยั่งยืน ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาโดยเร็วต่อไปรายงานข่าว ระบุ

(ภาพ : Beach For Life)

3 กิจกรรมเคลื่อนพลทวงคืนชายหาด

ด้านเครือข่ายอนุรักษ์ชายหาด Beach For Life ซึ่งได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อ 10 วันก่อน ประกาศยืนยันวันนี้ ว่าจะเดินทางเข้ามาเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ พรุ่งนี้ (6 .. 2565) เพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาล

โดยกิจกรรมจะเริ่มในเวลา 09.30 . ด้วยการเเถลงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในการให้อำนาจกรมโยธาฯ ป้องกันชายฝั่งณ บริเวณด้านหน้ากรมโยธาธิการฯ (พระราม 6) 

ตามด้วยกิจกรรมเสวนาชายหาดไทยกำลังหายไป เพราะรัฐสร้างกำเเพงกันคลื่นในเวลา 13.00 . ณ หอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพฯ 

และชุมนุมปักหลักค้างคืนเรียกร้องกำเเพงกันคลื่นต้องทำ EIA” เวลา 16.00 . หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม 

พร้อมที่ไหน สมทบที่นั้น เคลื่อนขบวน #ทวงคืนชายหาด เราจะไม่ยอมให้ชายหาดถูกย่ำยีเครือข่ายฯ ประกาศ

กป.อพช.ใต้หนุน “ทางคืนชายหาด”

สมบูรณ์ คำเเหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โพสเฟสบุ๊ก สนับสนุนการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ “ทวงคืนชายหาด” ชี้ “กำแพง-เขื่อนกันคลื่น ยิ่งสร้างยิ่งทำลายชายหาด บทเรียนที่รัฐต้องทบทวน”

“สังคมไทยต้องตั้งคำถามถึงวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล กรมโยธาธิการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่หาดทรายของประเทศนี้จะหมดหายไป พร้อมกับงบประมาณมหาศาลที่ใช้ไปอย่างไร้ผลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แบบไม่ได้สรุปบทเรียน แต่ยังมุ่งเดินหน้าตั้งงบประมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อไปตอกย้ำความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรมโยธาฯ ในฐานะที่ได้รับอภิสิทธิ์จากรัฐบาลให้เป็นหย่วยงานหลักในการออกแบบและก่อสร้างกำแพงและเขื่อนกันคลื่นทั่วประเทศ เล่นสร้างผลงานด้วยการตอบสนองรัฐบาลสร้างโครงการเขื่อนกันคลื่นนับพันโครงการ ที่กำลังรออนุมัติงบประมาณ

ในขณะที่รัฐบาลสั่งยกเลิกการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA. เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินโครงการมากขึ้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วสภาพชายหาดแต่ละที่ ที่ลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะใช้วิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษาเสียก่อน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีข้อเรียกร้องของนักวิชาการ ที่มีความห่วงใยและกังวลต่อการพังทลายของชายฝั่งทะเล พยายามเสนอแนะทางออก และสร้างความเข้าใจต่อสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่งทั่เริ่มหนักขึ้นในทุกพื้นที่ขณะ โดยมีข้อมูลบ่งชี้ค่อนข้างชัดเจนว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นตรงจุดใดจุดหนึ่ง ก็จะทำให้มีการพังทลายของชายหาดในพื้นที่ถัดไป นั่นหมายความว่าเราต้องเตรียมงบประมาณเพื่อสร้างเขื่อนและกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้ง 22 จังหวัดของประเทศไทยใช่หรือไม่ ?

จึงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า ” หาดทรายกำลังจะหายไป” พร้อมกับ “งบประมาณมหาศาล” หากเรายังปล่อยให้ขบวนการและวิธีการแก้ปัญหาทึ่ผิดพลาดนี้ดำเนินต่อไป

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ “เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด” อันเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ กำลังออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนรูปแบบวิธีการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งระบบของรัฐบาล ที่มีรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะ

จึงขอสื่อสารเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจถึงเรื่องนี้และเห็นความสำคัญถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมกับการออกมาเรียกร้องและร่วมรณรงค์ไปด้วยกันครับ” สมบูรณ์ กล่าว

(อัพเดตเพิ่มเติม : 23.35 น.)

(ภาพ : ทช.)

อธิบดีกรมทะเล แจงหนุน สผ.

“หนึ่งในภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) คือการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ดูแลชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ซึ่งชายฝั่งทะเลประเทศไทย มีลักษณะหลากหลายเนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน โดยจำแนกออกได้เป็นชนิดต่างๆ คือ การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท การขาดปริมาณตะกอนสะสมตัวตามแนวชายฝั่งทะเล การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ เช่น คลื่น กระแสน้ำ น้ำขึ้น-น้ำลง ลมและพายุ เป็นต้น และการขาดระบบข้อมูลพื้นฐาน 

โดยกรม ทช. ได้มีการสำรวจและศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำเสมอถึงการผลักดันโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาโครงการกำแพงป้องกันคลื่นให้ได้อย่างถาวรและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างไรความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างเร่งด่วน

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการกำแพงกันคลื่นที่ถูกถอดจากโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่าเมื่อปีพ.ศ. 2556 สืบเนื่องจากกรมเจ้าท่าได้แจ้งปัญหา และมีข้อเสนอแนะว่าในปัจจุบันโครงการกำแพงป้องกันคลื่นไม่มีความเหมาะสมในการจัดทำ EIA เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการและประชาชน จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งการทำ EIA ทำให้ไม่สามารถแก้ไข ป้องกัน หรือบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันต่อเหตุการณ์ 

ต่อมาหลังจากที่มีประเด็นในสังคมเกี่ยวกับโครงการกำแพงป้องกันคลื่นระบาดหลายพื้นที่ในปีพ.ศ. 2562 กรม ทช.ได้ยกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดทำโครงการกำแพงป้องกันคลื่นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยต้องจัดทำ Environmmental Checklist ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำผลกระทบด้านกฎหมาย ตามที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งกลับมาให้ทบทวน 

และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 กรม ทช. ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขอให้พิจารณาทบทวนให้กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งกลับเข้าไปทำ EIA ด้าน สผ. ได้เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) เพื่อทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ กก.วล. เกี่ยวกับกำแพงกันคลื่นที่มีมติรับทราบความคืบหน้า และให้ สผ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป 

จากนั้น สผ. ได้จัดประชุมหารือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเชิญ Beach for life เข้าร่วมประชุมแต่ Beach for life ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทางสผ. จะนำข้อมูลจากการประชุมนำไปประกอบการขอความเห็นจากชมรม Beach for life และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา โครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทุกโครงการ ต้องเสนอผ่านคณะทำงานกลั่นกรองฯ พิจารณาความเหมาะสม ก่อนเสนอรายละเอียดให้สำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งสามารถลดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของโครงการได้เป็นอย่างดี 

ดังนั้น กรม ทช. เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันและรักษาพื้นที่ชายฝั่งที่เหลืออยู่ การแก้ไขฟื้นฟูชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาการกัดเซาะและพังทลาย การสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดแนวชายฝั่งทะเล 

ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อคุณค่าด้านการท่องเที่ยวตามธรรมชาติ รวมทั้งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างเป็นระบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการพัฒนาแนวชายฝั่งทะเลให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป ” อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวผ่านรายงานข่าว ทช. ที่เผยแพร่เมื่อเวลา 21.55 น. วันนี้