GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

1.
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และตัวแทนอีกหลายคน เข้าไปชี้แจงหลักการในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 14 ว่าด้วยเรื่อง “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ตามที่มีประชาชนเข้าชื่อ จำนวน 76,591 คน หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ “ปลดล็อคท้องถิ่น” ซึ่งเมื่อต้นปีนี้เคยมีดรามาเรื่องยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว
พอได้ข่าวว่าธนาธรเข้าสภา ก็มีทั้งคนเฮและคนดิ้น แต่ธนาธรและคณะก้าวหน้า ออกมาย้ำหลายครั้งว่า เป็นการเข้าสภาในฐานะตัวแทนประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ใช่ในฐานะ ส.ส.
แน่นอนว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะแค่มีชื่อธนาธรเป็นคนนำเสนอ แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่านักการเมืองท้องถิ่นเป็นพวกโกง บางคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้ตนเองสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ไป สำหรับคนที่เห็นด้วยก็คือฝ่ายที่อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
2.
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนายก อบต. สมาชิก อบต. และสมาชิกเทศบาลหลายคน รวมทั้งนายก อบจ. อีกหนึ่งคน ได้รับเสียงสะท้อนถึงความอึดอัดในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน บางเรื่องเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขากลับเจออุปสรรคมากมาย ถึงขั้นบางคนถูกแจ้งความดำเนินคดี เช่น เทศบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดน่าน อนุมัติเงินจ้างรถไถขนาดเล็กไปปรับถนนเข้าสวนของชาวบ้านในช่วงฤดูฝน แต่ทันทีที่รถไถไปถึงและเริ่มทำงาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มาดักและบอกว่าหากลงมือไถเมื่อไหร่ก็จับ เจ้าของรถไถจำเป็นต้องถอยกลับ
อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อผู้รับเหมารายย่อยคนหนึ่งถูกหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน แจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากก่อสร้างสะพานข้ามห้วยตามโครงการของ อบต.
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริหารและสมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่นมากที่สุด แต่พวกเขากลับเก็บตัวเงียบ ต่างปิดปาก จนถึงตอนนี้เรายังไม่เห็นพวกเขาออกมาเคลื่อนไหว หรือส่งเสียงสนับสนุนแม้แต่แอะเดียว ช่างสวนทางกับปัญหาและความขัดข้องใจที่พวกเขาแบกรับทุกวันเสียกระไร

3.
ในทางหลักการแล้ว ผู้คนในสังคมไทยต่างยอมรับร่วมกันว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นวิธีการที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างทั่วถึง และประเทศจะต้องมีหมุดหมายในกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะพรรคการเมืองทุกพรรค ล้วนมีนโยบายผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แม้แต่ สว. ส่วนใหญ่ก็ยอมรับในหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งภายหลังการชี้แจงของคุณธนาธรแล้ว ปรากฏว่าหลายๆ พรรค ต่างอภิปรายสนับสนุนและพูดชัดเจนว่าจะยกมือสนับสนุนอย่างแน่นอน
ปัญหาการปกครองของไทยในปัจจุบัน คือ มีลักษณะเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ คือ อำนาจ งบประมาณ และกำลังเจ้าหน้าที่ ถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ทำให้อำนาจและงบประมาณถูกส่วนกลางผูกขาด แม้จะมีการกระจายกำลังคนไปทั่วประเทศ แต่อำนาจสั่งการถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง และการดำเนินงานก็สั่งการมาจากส่วนกลางทั้งหมด แม้กระทั่งการจัดทำโครงการพัฒนาในชนบทห่างไกล ก็ต้องตัดสินใจจากส่วนกลาง
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล แม้ผู้บริหารและสมาชิกจะมาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น แต่ถูกจำกัดอำนาจไว้ เป็นได้เพียงหน่วยกระจายงบประมาณประจำของส่วนกลางเท่านั้น ไม่มีอำนาจและอิสระในการจัดทำโครงการพัฒนาตามความต้องการและจำเป็นของประชาชนในท้องถิ่นจริง
แล้วการกระจายอำนาจที่ว่า คือกระจายอะไรบ้าง สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ 1) กระจายเงิน โดยรัฐบาลจะต้องอุดหนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาด้านต่างๆ ลงมาให้ท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งจะต้องแบ่งส่วนภาษีที่จัดเก็บได้ให้ท้องถิ่นเพิ่มเป็น 50% จากแบบเดิมที่ได้เพียง 28% ซึ่งน้อยมาก 2) กระจายอำนาจในการตัดสินใจ เช่น การจัดทำและอนุมัติอนุญาตโครงการ การจัดทำระบบสาธารณูปโภค การจัดทำระบบบริการสาธารณะ การใช้ทรัพยากร แม้กระทั่งการกู้เงินมาจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน 3) กระจายกำลังเจ้าหน้าที่มาให้ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีกำลังเจ้าหน้าที่มากเพียงพอต่อการบริการประชาชน
เรื่องที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมักหยิบยกขึ้นมาโจมตี คือ เชื่อว่านักการเมืองท้องถิ่นทุจริตคปรัปชั่น หากเพิ่มงบประมาณและเพิ่มอำนาจให้ จะทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมหาศาล แต่จากข้อมูลของ ปปช. พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีการร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ช. จำนวน 10,382 เรื่อง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,212 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 33.36 รองลงมาเป็นกระทรวงมหาดไทย 973 เรื่อง หรือร้อยละ 14.37 กระทรวงศึกษาธิการ 752 เรื่อง หรือร้อยละ 11.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 661 เรื่อง หรือร้อยละ 9.91 และเป็นส่วนราชการอื่นๆ อีก 2,175 เรื่อง
นี่ยังไม่นับว่าเพราะท้องถิ่นมีการแข่งขันกันสูง ง่ายต่อการตรวจสอบและร้องเรียนของประชาชน จึงมีเรื่องร้องเรียนเข้าไปที่ ปปช. มากกว่ากว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่แม้จะมีการทุจริต แต่ในทางข้อเท็จจริงประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ทำให้มีเรื่องร้องเรียนเข้าไปยัง ปปช. น้อยกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
แสดงว่าท้องถิ่นทุจริตน้อยกว่าส่วนราชการสังกัดส่วนกลางถึงสามเท่า ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่านักการเมืองท้องถิ่นทุจริต จึงไม่เป็นความจริง
อีกเรื่องที่คนที่ไม่เห็นด้วยมักพูดคือ เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่เห็นว่ายังไวเกินไปและสังคมไทยยังไม่พร้อม เรื่องนี้คุณธนาธรได้ย้ำว่า ความจริงแล้วถือว่าประเทศไทยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นช้ามาก หากนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลา 23 ปีแล้ว แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของไทยกลับถูกแช่แข็งเอาไว้ ทำให้สังไทยขาดการพัฒนาจนล้าหลังหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย
4.
ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบคุณธนาธรและคณะก้าวหน้า แต่ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นวาระร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนชนบทที่ได้รับการพัฒนาน้อย แม้ว่าบางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางประการ ก็สามารถเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ หรือใครจะไม่ชอบคุณธนาธร แต่เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องของคุณธนาธร หากแต่เป็นเรื่องของประชาชน และคุณธนาธรก็เป็นเพียงหนึ่งใน 76,591 รายชื่อที่ร่วมกันเสนอกฎหมายเท่านั้น หากฎหมายฉบับนี้ผ่าน คนที่ได้รับประโยชน์คือประชาชนคนไทยโดยรวม ไม่ใช่คุณธนาธร