ชี้ซ้ำเติมปัญหาเก่าที่ยังแก้ไม่เสร็จ “จัดสรรที่ดิน” หลังถูกไล่รื้อที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเพื่อนำไปทำเหมืองแร่ ประกาศ “ไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานลม” ที่จะเข้ามาทับที่ทำกินอีกครั้ง ในพื้นที่ที่กว้างกว่าเดิม
ยัน “ไม่เห็นด้วย–เรียกร้องแจงข้อมูล–เวทีประชาคม” ขณะการตอบรับจาก “เจ้าของโครงการ–ท้องถิ่น” ส่อไปในทาง “เห็นสัญญาณความรุนแรงในพื้นที่”

ที่ดินทำกิน–ทวงคืนผืนป่า–เหมืองแร่
“หลังถูกไล่รื้อที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเพื่อนำไปทำเหมืองแร่ ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้คัดค้าน และเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เพราะการไล่รื้อที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ในขณะที่กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและมีความเห็นให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้ก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ที่ไม่ได้ทำกินในที่ดินตัวเองมากว่า 5 ปีนั้น
กลับมีโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลม เข้ามาทับที่ทำกินอีกครั้ง โดยในรอบนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากหลายหมู่บ้าน” ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้าน ต.คำป่าหลาย อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ราษฎรบ้านแก้ง–บ้านโนนคำ่” เปิดเผย
ไม่เห็นด้วย–เรียกร้องแจงข้อมูล–เวทีประชาคม
“ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการมีการรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานต่างๆ เพราะนี่ไม่ต่างอะไรจากการซ้ำเติมชาวบ้านในพื้นที่ โดยยื่นขอให้มีการทำประชาคม และต้องมาชี้แจงข้อมูลของโครงการให้ชาวบ้านทราบให้ชัดเจน เนื่องจากตอนนี้การรับรู้ข้อมูลโครงการกังหันลม รับรู้เฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น
ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการยื่นหนังสือต่อ เทศบาลตำบลคำป่าหลาย ขออย่าให้มีมติเห็นชอบต่อโครงการเพราะมีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน แต่ทางเทศบาลยืนยันเดินหน้าต่อ ยกมือผ่านมติโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน
จึงมีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมป่าไม้ เพื่อให้ยุติกระบวนการ และมาเริ่มกระบวนการใหม่ด้วยการแจ้งข้อมูลให้ชัดเจน กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออก และมีการประชาคมตามกฎหมาย” เครือข่ายฯ เปิดเผย
การตอบรับจาก “เจ้าของโครงการ–หน่วยงานท้องถิ่น”
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือ ทางบริษัทกังหันลม มีการตระเวนตามหาคนที่ลงชื่อในหนังสือร้องเรียน เพื่อข่มขู่ให้ถอนหนังสือ หากยังไม่หยุดจะฟ้องคดีเพราะทำให้ชื่อเสียงบริษัทเสียหาย และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีการติดต่อมาหาตัวแทนชาวบ้านเพื่อเสนอผลประโยชน์ แต่เมื่อชาวบ้านปฏิเสธ ก็มีการข่มขู่ คุกคามว่าจะ “จัดคนมาดูแลเป็นพิเศษ
คำถามสำคัญคือ ทางบริษัทฯ รู้รายชื่อของผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนได้อย่างไร เพราะการยื่นหนังสือร้องเรียนต้องเป็นความลับ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ร้องเรียน เพื่อป้องกันการคุกคามจากบริษัทฯคู่ขัดแย้ง แต่หนังสือร้องเรียนของชาวบ้านคำป่าหลาย ถูกบริษัทฯรู้ข้อมูลทั้งหมด ทั้งที่เอกสารที่ยื่นหน่วยงานแต่ละฉบับไม่ได้ใช้ผู้ลงลายมือชื่อคนเดียวกัน ซึ่งเป็นมาตรการไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งตกเป็นเป้าหมายการคุกคาม
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า ทางเทศบาลตำบลคำป่าหลาย และจังหวัดมุกดาหาร จงใจเปิดเผยข้อมูลของผู้ร้องเรียนต่อบริษัทฯคู่ขัดแย้ง ชี้เป้าให้เกิดการคุกคามต่อชาวบ้านที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะข้อมูลการร้องเรียนแจ้งเบาะแสให้ถือเป็นความลับของทางราชการ และต้องมีการคุ้มครองผู้ร้องอย่าให้ต้องได้รับอันตราย หรือความไม่เป็นธรรมจากการร้องเรียน” เครือข่ายฯ ระบุ

สัญญาณความรุนแรงในพื้นที่
“ขณะนี้สถานการณ์การคุกคามและความรุนแรงในพื้นที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยการชี้เป้าของทางหน่วยงานราชการ โดยชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าจะไม่ยอมเสียที่ดินทำกินให้กับกลุ่มทุนใดๆ อีกต่อไปแล้ว ชาวบ้านสู้มา 5 ปี เพื่อขอทำกินในที่ตัวเอง แต่บริษัทฯ ใช้เวลาเพียง 15 วัน ได้มติเห็นชอบจากหน่วยงานราชการ” เครือข่ายฯ เปิดเผย
“เช้าวานนี้ (28 พ.ย.) ประชาชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ราว 50 คน ได้เดินทางไปที่เทศบาลตำบลคำป่าหลาย อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร หลังทราบข่าวว่าจะมีการประชุมสภาฯ สมัยสามัญ โดยจะมีการรับรองมติเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ เพื่อทำโรงไฟฟ้ากังหันลม ที่ประชาชนในพื้นที่คัดค้านอยู่ในวาระการประชุมด้วย ชาวบ้านจึงยื่นคำขาดให้เทศบาลฯ มีหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะเลิกมติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการประชุมวาระอื่นๆ
เวลาประมาณ 09.00 น. สมาชิกสภาเทศบาลฯ ได้ทะยอยเดินทางเข้ามาที่เทศบาลฯ แต่รองนายกฯ ที่เดินเข้ามาหาชาวบ้าน กลับเข้ามากล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นพวกหัวรุนแรง และมีการชี้หน้าสั่งให้ประชาชนเปิดแมส เรียกขอดูบัตรประชาชน ทั้งยังถามประชาชนอีกว่า “เก่งมาจากไหน” ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจต่อท่าทีคุกคามและไม่เหมาะสมดังกล่าว
เวลา 10.00 น. เทศบาลฯ แจ้งตำรวจ สภ.คำป่าหลาย กว่า 10 นาย เข้ามาในพื้นที่เทศบาลฯ โดยอ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย มีการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอของประชาชน พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นตัวแทนในการเจรจาร่วมกับประธานสภาฯ หลายครั้ง แต่ก็ยังคงยืนยันว่าไม่สามารถยกเลิกมติให้ได้ ซึ่งชาวบ้านยังคงยืนยันว่ากระบวนการที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นต้องถูกเพิกถอน สุดท้ายทางเทศบาลคำป่าหลาย ได้ทำหนังสือแจ้งต่อชาวบ้านว่าเลื่อนการประชุมในวันนี้ออกไปก่อน ในเวลาประมาณ 11.30 น. โดยไม่ได้มีการแจ้งว่าจะเลื่อนประชุมออกไปเมื่อใด” ผู้สื่อข่าว “ประชาไท” รายงาน