เครือข่ายอนุรักษ์ชายหาด 93 องค์กร/กลุ่มยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านนายกฯ ประยุทธ์ เรียกร้องให้ดำเนินการปลดล็อคโครงการ “กำแพงกันคลื่น” ซึ่งใช้งบประมาณมากแต่ไม่สามารถกัน-แก้วิกฤตกัดเซาะชายฝั่งได้จริงตามเป้า
3 ข้อเสนอสำคัญ “ปลดกรมโยธาฯ ออกจากหน่วยงานรับผิดชอบ-สั่งให้ต้องทำอีไอเอโครงการฯ-ฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่โครงการที่ทำไปแล้ว” ขอคำตอบใน 10 วัน มิเช่นนั้นจะกลับมาพร้อมขบวนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้

เรียกร้อง “ปลดล็อค”
วันนี้ (25 พ.ย. 2565) ตัวแทนจากกลุ่ม Beach For Life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 93 องค์กร
ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ดำเนินการปลดล็อคการดำเนินโครงการ “กำแพงกันคลื่น” ที่ส่งผลกระทบไปทั่วชายฝั่งทะเลภาคใต้มาต่อเนื่อง
“ข้อเรียกร้องที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 ข้อ
- ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาธิการฯ ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด
- ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
- ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม” ตัวแทนเครือข่ายอ่านแถลงการณ์
“การเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อทวงคืนชายหาดและคัดค้านการกำเเพงกันคลื่นนี้ เนื่องจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ 91 องค์กรเห็นพ้องร่วมกันว่า การดำเนินการในการป้องกันชายฝั่งที่ผ่านมาของรัฐบาลนั้น สร้างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลโดยหน่วยงานต่างๆที่มีอำนาจนั้น เลือกใช้มาตรการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยเฉพาะการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และได้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันนั้น ได้เกิดกระแสการคัดค้านโครงการของรัฐในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากภาคประชาชนและชุมชนในหลายพื้นที่”กรรณิการ์ แพแก้ว ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าว

ขอคำตอบใน 10 วัน
อภิศักดิ์ ทัศนี “น้ำนิ่ง” ตัวแทนจากครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด กล่าวหลังจากยื่นหนังสือว่า จะให้เวลารัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องเป็นเวลา 10 วัน ถ้าภายใน 10 วัน ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาตาม 3 ข้อที่เรียกร้องไป จะกลับมาทวงข้อเรียกร้องอีกครั้งโดยในครั้งนี้จะมาพร้อมกับผู้ได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น
“ให้เวลารัฐบาลพิจารณา 10 วัน โดยต้องได้รับคำตอบความคืบหน้าจากทั้ง 3 ข้อที่เรียกร้องไป โดยออกเป็นมติครม. ทั้ง 3 ข้อ ซึ่งถ้ารัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจริงก็สามารถเสนอเรื่องเข้า ครม. เว้นแต่จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไป
โดยถ้าไม่ได้รับความคืบหน้าภายใน 10 วัน ก็จะกลับมาทวงคำตอบพร้อมกับผู้ได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น” น้ำนิ่งกล่าว

นายกฯ ส่งตัวแทนมารับ
สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตร์ได้ส่งตัวแทนออกมารับหนังสือฯ พร้อมกล่าวกับตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า “จะดำเนินการนำเรื่องเรียนนายกฯให้รับทราบข้อมูลภายในวันนี้ ก่อนจะดำเนินการตามมาตรการต่อไป”
“ในเบื้องต้น ข้อเรียกร้องข้อแรกเป็นเรื่องสำคัญที่ผูกโยงกับการแบ่งอำนาจ ในส่วนราชการที่จะบริหารจัดการในเรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องใช้การทบทวนมากพอสมควร แต่ก็คิดว่าก็ไม่เกินมือของรัฐบาลที่ถ้ามีความจริงใจกับประชาชนจริงก็ทบทวนได้
ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของกำแพงกันคลื่นก็คงเอาไปพิจารณา แล้วก็ออกเป็นมติครม. ออกมา ซึ่งทางน้ำนิ่งก็มีความหวังลึก ๆ ว่ารัฐบาลจะเห็นประโยชน์ของสาธารณะ แล้วจะมองเห็นว่าชายหาดในประเทศเรากำลังเจอภัยคุกคาม และกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตจริง ๆ
แต่ก็เผื่อใจไว้เหมือนกันว่าอาจจะไม่รับเลยก็ได้ เพราะข้อเรียกร้องข้อแรกคือการไปจัดการโครงสร้างอำนาจของการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลใหม่ ซึ่งจะทำให้กรมโยธาธิการไม่อยู่ในสมการการแก้ไขปัญหารการกัดเซาะชายฝั่ง” น้ำนิ่งกล่าว

ชี้ “สั่งสมมานาน-ไม่ปลดล็อคไม่รอด”
“เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่มีการเพิกถอนโครงการกำแพงกันคลื่นออกจากกิจการหรือโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยมีการเพิกถอนออกในปี 2556 หลังจากมีการเพิกถอนแล้วก็มีโครงการกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นกว่า 125 โครงการ โดยเป็นโครงการของกรมโยธาฯ กว่า 107 โครงการ
ตัวแทนจากเครือข่ายกล่าวว่า ได้เคยยื่นหนังสือถึงรัฐบาลมาแล้วเมื่อปีที่แล้วแต่ไม่ได้ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และยังมีการยื่นหนังสืออีกแล้วครั้ง ถึงหลาย ๆ หน่วยงานแต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
ในช่วง 2558 – 2563 ทาง Beach for life ใช้กลไกหลายอย่าง ไม่ว่าจะยื่นหนังสือร้องเรียนไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ รวมทั้งยื่นไปที่รัฐสภาให้คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรรมาธิการได้เชิญ สผ. เข้ามาชี้แจง และคณะกรรมาธิการแนะนำให้กลับมาทำ EIA โดยเร็ว
นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องจากพี่น้องเครือข่ายประชาชนในช่วงปี 2562 ยื่นหนังสือถึงกระทรวงทรัพฯ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กว่า 25 ฉบับ เพื่อให้กำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA แต่ก็ไม่ได้รับความคืบหน้าใด ๆ” อภิศักดิ์กล่าว

พร้อมเคลื่อนไหว-ขอสาธารณะช่วยหนุน
“เบื้องต้นรัฐบาลก็ส่งตัวแทนมารับ ก็คิดว่าเป็นการรับเรื่องไปตามระบบราชการ ไม่ได้มีการกล่าวอะไรมากมาย นอกจากบอกว่าจะนำไปเสนอคณะรัฐมนตรีต่อ
ซึ่งทางเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าฝั่งเค้าจะตอบอะไรมากไปกว่านี้ วันนี้เราแค่มายื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลรู้ว่าเราต้องการให้ดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องนี้อย่างจริงจัง คงต้องดูหลังจากนี้มากกว่าว่าจะมีการดำเนินการอะไรหลังจากนี้ไหม ถ้าไม่มีการดำเนินการอะไร ทางเราก็จะเตรียมการเคลื่อนไหว
สุดท้ายก็อยากจะสื่อสารกับคนในสังคมว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อในวันนี้ ต้องช่วยกันจำตาดู และต้องช่วยกันส่งเสียงแทนชายหาด เพราะชายหาดพูดไม่ได้ เค้าเป็นสิ่งที่ถูกกระทำมาโดยตลอด
วันนี้เราในฐานะคนที่ใช้ชายหาดที่เป็นสาธารณะสมบัติร่วมกัน เราต้องพูดแทนสาธารณะสมบัติอันนี้ แล้วก็อยากให้ทุกคนช่วยกันเรียกร้อง 3 ข้อนี้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนเพื่อจะจัดการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับโครงสร้าง และนโยบาย
ซึ่งถ้าสามารถทำ 3 ข้อเรียกร้องได้ หลังจากนี้ทิศทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเชาะชายฝั่งก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น” ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าว
