3 ผู้นำประเทศ ที่ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจเอสซีจีได้มีโอกาสเข้าพบและพูดคุยคือ เหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand R. Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และฮัน ด็อก–ซู (Han Duck–soo) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี

“การประชุม APEC 2022 ประเทศไทยครั้งนี้ เป็นเวทีสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก มีส่วนสำคัญทำให้การค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัว
ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ภาคธุรกิจได้มีโอกาสเข้าพบผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นำไปสู่การเจรจาความร่วมมือด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้แข็งแกร่งมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ APEC 2022 ประเทศไทย” เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.)” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าว

“ในโอกาสเข้าพบ นายเหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือการลงทุนของเอสซีจี อาทิ โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างยั่งยืน
ในการเข้าพบ นายเฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand R. Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพื่อหารือถึงการดำเนินงานที่เอสซีจีได้เข้าไปลงทุนแล้ว ตลอดจนแผนการขยายโครงการลงทุนในอนาคตเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
และในการเข้าพบ นายฮัน ด็อก–ซู (Han Duck–soo) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านนวัตกรรม โดยได้เจรจาเกี่ยวกับโอกาสการเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรมด้านพลังงาน อาทิ โซลูชันพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการภาคธุรกิจ
การประชุม APEC 2022 ประเทศไทย นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้แนบแน่นยิ่งขึ้นแล้ว ยังเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ นำมาซึ่งการจ้างงาน สร้างรายได้ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกหลังวิกฤตโควิด–19 เนื่องจากเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก” ผู้บริหารระดับสูงเอสซีจีเปิดเผยวันนี้ (24 พ.ย. 2565)
