นายกฯ แถลงความสำเร็จการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค “ผู้นำเอเปคได้ร่วมลงนามปฏิญญา–รับรองเป้าหมายกรุงเทพ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG แล้ว” ซึ่งเนื้อหารวมถึงแผนงานต่อเนื่องเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP
“หวังผลยาก-ไร้กลไกบังคับ-การจัดการงบส่ออุ้มทุนใหญ่-เอื้อฟอกเขียว” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลวิพากษ์

“ลงนาม-รับรอง”
“ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมลงนามรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลไทยเสนอแล้ว”
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงในช่วงเที่ยงวันนี้ (19 พ.ย. 2565) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่ประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ APEC 2022
“ผมและผู้นำเขตเศรษฐกิจได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจ bcg จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญเพื่อสู่ผลลัพธ์ 3 ประการ ภายใต้หัวข้อหลัก เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open, Connect, Balance)
- “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เราได้จัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ในบริบทของโลกยุคหลังโควิด 19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ
- “เชื่อมโยงกัน” เอเปคได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัย เพื่อรับมือกับวิกฤตใหม่ ๆ ในอนาคต
- “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปคทุกคนได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG economy) เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างครอบคลุมยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นระบบ” นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงสรุปการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค” นายกฯ กล่าว

สาระใน BCG ที่มีการรับรอง
“เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG มีสาระสำคัญ 4 ส่วน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ จะต้องมีแผนงาน มีแผนปฏิบัติการในรายละเอียดต่อไป คือ
- การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ/การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ให้เป็นศูนย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสภาพอากาศแปรปวน
- การส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมความหลากหลาย และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- การลดของเสีย การบริหารจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน” ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ The Reportes
“โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green economy) คือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่ง 3 ด้านไปพร้อม ๆ กัน คือเศรษฐกิจชีวภาพ (การนำทรัพยากรชีวภาพมาสร้างมูลค่าเพิ่ม) เศรษฐกิจหมุนเวียน (การนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์) และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล และยั่งยืน
โมเดลนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าภายใน 6 ปีข้างหน้า BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท (24% GDP) เกิดการจ้างงาน 16.5 ล้านคน ด้วยมีศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
วิสัยทัศน์ BCG Model คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายเมื่อ 17 ม.ค. 2564 ในการประชุมเพื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569
ยุทธศาสตร์หรือโมเดล BCG เริ่มพัฒนาโดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อปี 2561-2562 และต้นปีที่ผ่านมา (8 ก.พ. 2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570” วงเงินรวม 40,972.60 ล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงในด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

“หวังผลยาก-ไร้กลไกบังคับ” ก้าวไกลวิพากษ์
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ในเฟสบุ๊ค Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใหใ้ความเห็นต่อ “ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG” ว่าเนื้อหา “ยังคงล้าหลัง”
“สำหรับหัวข้อหลักในการประชุม APEC เรื่อง “ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ” ว่าด้วย BCG Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) อาจจะไม่ได้มีผลกระทบทางตรงกับชีวิตประชาชนมากเท่ากับเรื่องที่คุยกันนอกรอบ
เนื่องจากตัวร่างเป้าหมายเองต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศในทุกย่อหน้า และไม่ได้มีกลไกอะไรบังคับ
ถ้าเราคิดว่าจะใช้ BCG Economy เป็นจุดขายของประเทศก็นับว่าจะยังมีอุปสรรคอยู่มาก เพราะว่าเรากำลังขายในเรื่องที่เราไม่ได้มีความเป็นผู้นำ ยกตัวอย่างเช่นในร่างเป้าหมายมีข้อหนึ่งที่พูดถึงเรื่องการเข้าสู่ Net Zero ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายดังกล่าวในเวที COP26 ตามหลังแทบทุกประเทศด้วยซ้ำไป
ในอีกข้อหนึ่งที่พูดถึงการยกระดับการปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน ประเทศไทยแทบจะเป็นไม่กี่ประเทศที่มาประชุมด้วยซ้ำไปที่ยังไม่ได้มีแนวคิด Climate Adaptation อยู่ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือนโยบายด้านการเกษตร” พิธาระบุ

“การจัดการงบส่ออุ้มทุนใหญ่-เอื้อฟอกเขียว”
“ร่างเป้าหมายยังมีอีกข้อหนึ่งที่ (ข้อมูลล่าสุดที่ทราบยังไม่ได้ฉันทามติ) ว่าจะลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีประสิทธิภาพและเน้นช่วยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นจริงๆ แต่ในสภาเราก็เพิ่งจะผ่าน พ.ร.ก. ค้ำประกันเงินกู้ 150,000 ล้านบาทไปค้ำประกันให้กับการอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เงินอุดหนุนตกไปอยู่กับกลุ่มมีขับรถหรูที่ใช้น้ำมันดีเซล
ถ้าเราไม่ได้ดูเรื่องการต่างประเทศ แต่ดูเฉพาะ BCG ในประเทศแล้ว สำหรับ “แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570” ว่าจะทำให้ BCG Economy เกิดได้จริงในไทยหรือไม่ ถ้าดูในรายละเอียดของแผน จะเห็นได้ว่ามี 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกันคือ
1) การสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร
2) การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
3) การยกระดับอุตสาหกรรมภายใต้ BCG (อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ)
4) การสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสโลก (เน้นเรื่องพัฒนาคนและเทคโนโลยี)
ถ้าลงไปดูในรายละเอียดของงบประมาณทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่างงบประมาณ 6 ปี 4 หมื่นล้านนั้นเทลงไปที่ยุทธศาสตร์ที่ 3 แทบทั้งหมด เหมือนกับเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ มากกว่ายุทธศาสตร์ เศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทยเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกครับ หากจะถูกมองได้ว่าเป็นเพียงการ “ฟอกเขียว” (Green Washing) ให้กับกลุ่มทุน แผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยปกติเช่นนี้ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับกระแสโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างความเป็นผู้นำและความยอมรับจากสากลได้ยากครับ
การตั้งเป้าหมายที่เราเองทำไม่ได้ ไม่ได้มีความเป็นผู้นำ มีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำหนักของคำพูดของไทยในเวทีโลกนับวันยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ” พิธาระบุ
รายละเอียดเพิ่มเติม :