ประชุมเอเปค ใครเดือดร้อน 

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : apec2022.go.th)

1.

ช่วงนี้ ทุกครั้งที่เข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค ไลน์ ยูทูป คำว่า “เอเปค” ก็จะโผล่มาเต็มไปหมด ยิ่งในช่วงสัปดาห์นี้คำว่าเอเปคปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งของโลกโซเชียลมีเดีย 

เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว ที่ผมพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาของเอเปค ฟังนักวิเคราะห์ อ่านบทความ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก เมื่อพูดถึงเนื้อหาของเอเปค พวกเขาล้วนใช้คำศัพท์ที่เข้าใจยาก แม้จะแปลจากไทยเป็นไทยก็ยังไม่เข้าใจ 

เพราะว่าผมไม่ฉลาดมากพอที่จะเข้าใจเนื้อหาสาระของการประชุมเอเปคครั้งนี้ หรือว่าพวกเขาเจตนาเลือกใช้ถ้อยคำที่ทำให้คนธรรมดาอย่างเราไม่เข้าใจกันแน่

(ภาพ : apec2022.go.th)

2.

“ประชุมเอเปค” คืออะไร ผมคิดว่าคนไทยสนใจเนื้อหาสาระของการประชุมเอเปคน้อยมาก พักหลังๆ มานี้ คนไทยได้ยินคำว่าประชุมเอเปคบ่อยๆ ไม่ใช่เพราะรัฐและสื่อนำเสนอเนื้อหาสาระของการประชุมเอเปค แต่ได้ยินคำนี้จากการนำเสนอของสื่อว่า ลุงตู่จะอยู่ยาวจนถึงเอเปค หรือหลังประชุมเอเปคลุงตู่จะยุบหรือไม่ยุบ

แม้คนทั่วไปจะพอรู้แบบคร่าวๆ ว่าการประชุมเอเปค เป็นการหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่คนไทยกลับไม่รู้สึกว่าการประชุมเอเปค เป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือหากพูดด้วยภาษาบ้านๆ คือ คนไทยไม่รู้สึกว่าการประชุมเอเปคจะทำให้คนรากหญ้า เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้าอยู่ดีกินดีขึ้นมาได้อย่างไร 

เมื่อคนในสังคมไทยเกิดความรู้สึกว่าการประชุมเอเปคไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนทั่วไป จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า “เราได้จะอะไรจากการประชุมเอเปค” 

ผมพยายามฟังนักวิเคราะห์หลายคนพูด พวกเขามักพูดในทำนองว่าเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก แม้จะพยายามฟังแต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก จะต้องจินตนาการหลายชั้นถึงจะพอมองเห็นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องมีอะไรที่ผิดปกติ หรือมีการปิดบังซ่อนเร้นอะไรไว้ 

ในทางกลับกัน เมื่อผมลองตั้งคำถามว่า เราจะได้รับผลกระทบอะไรจากผลการประชุมเอเปค กลับค้นพบคำอธิบายง่ายๆ และมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและมากมาย

 

3.

เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือ เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 ประเทศ มีเป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ 

คำถามที่ว่า พวกเราซึ่งเป็นสามัญชนคนธรรมดาจะได้รับผลกระทบอย่างไร 

คุณสุมิตชัย หัตถสาร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนไว้อย่างน่าสนใจว่า ความจริงแล้วเหล่าคนที่เดินทางจากทั่วโลกมา “เขามาเพื่อจะทำข้อตกลงอะไรบางอย่าง ที่จะกระทบต่อชีวิตคุณแน่ๆ การตกลงของพวกเขาจะกระทบต่อคุณ ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่อยู่ตรงตำแหน่งแห่งที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงาน นักธุรกิจ” เช่น การกดค่าแรง ราคาน้ำมันขึ้น ราคาอาหารขึ้นแต่สินค้าเกษตรของชาวบ้านตกต่ำ

ประชาชนตาดำๆ อย่างเรา ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าการประชุมเอเปค (ที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร) จะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีหน้ามีตาในสังคมโลก ได้ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เราถูกทำให้เชื่อกับความจริงที่พวกเขาตกลงกันในห้องประชุมลับ เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่านั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่

ประการแรก คือ ประเด็นที่เป็นเรื่องทั่วไป

ไม่ว่าใครจะใช้วิธีพูดแบบไหน จะใช้สโลแกนสวยหรูอย่างไร จะโชว์วิสัยทัศน์ได้น่าฟังเพียงใด นั่นก็เป็นเพียงละครฉากหน้าเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้วการประชุมเอเปค เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนของรัฐบาลและเหล่านักธุรกิจและนายทุนใหญ่ๆ จากประเทศสมาชิกที่มารวมกัน โดยไม่มีตัวแทนของประชาชนคนธรรมดาเข้าไปเจรจาด้วย 

ที่สำคัญพวกเขาตกลงกันแบบลับๆ ซึ่งจะหมายความว่าพวกเขาย่อมมาคุยเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของเขาเป็นหลัก ไม่ใช่มาปกป้องผลประโยชน์ของชาวบ้านชาวเมือง นี่ยังไม่นับว่าระหว่างนั้นอาจมีการตกลงประโยชน์ส่วนตัวแบบลับๆ อีกมากมาย 

สาระสำคัญใหญ่และเป็นหัวใจของการประชุมเอเปคจริงๆ คือ การเปิดเสรีทางการค้าและลดภาษีสินค้านำเข้า ฟังแบบผิวเผินอาจจะดูดี ชวนให้เข้าใจว่าจะทำให้เราสามารถค้าขายกับต่างประเทศได้ สร้างกำไรเข้ากระเป๋าคนไทยแบบงามๆ ได้ง่ายๆ 

แต่ความจริงที่พวกเขาไม่บอกคือ คนที่ได้ประโยชน์จากการค้าเสรีและการลดภาษีนำเข้าจริงๆ มีเพียงนายทุนใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ที่สำคัญคือจะทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้ามาครองตลาดในประเทศไทย โดยที่รัฐบาลไทยจะไม่มีอำนาจควบคุมได้เลย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อยของไทยเจ๊งกันระนาว 

ขอยกตัวอย่างเช่น ส้ม แตง กะหล่ำปลีในท้องตลาด ที่มีสีสวยงาม สดใหม่ ราคาถูก มีวางขายทั่วไปหมด ผู้บริโภคก็ชอบเพราะสดกว่า ใหญ่กว่า ราคาก็ถูกกว่า แต่คนที่นั่งกุมขมับอยู่บ้านคือเกษตรกรไทยที่แบกหนี้แต่ขายสินค้าไม่ออกหรือถูกกดราคาจนขาดทุน  

ประการที่สอง คือ เรื่องเฉพาะของรัฐบาลไทย

ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพ ประเทศไทยได้ชูประเด็น BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy model (โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) มาเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน 

ซึ่งคุณวิฑูรย์ เลี่ยมจำรุญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลไทยนำเสนอนั้น หากดูผิวเผินก็ถือว่าเป็นเทรนด์เศรษฐกิจในยุคนสมัยปัจจุบัน แต่เมื่อไปดูเนื้อในของแผนปฏิบัตการ กลับเป็นนโยบายฟอกเขียวให้แก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

คุณวิฑูรย์ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ รัฐให้เอกชนรายใหญ่ปลูกป่าเพื่อแลกกับสิทธิในการปล่อยคาร์บอน ซึ่งรัฐบาลไทยมีเป้าหมายให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ปลูกป่า 3.2 ล้านไร่ เริ่มต้นโดยมีการแบ่งโควต้าพื้นที่ป่าชายเลนแล้ว 5 แสนไร่ พื้นที่ที่เคยถูกตรวจยึดจากนโยบายทวงคืนผืนป่าอีกประมาณ 7.5 แสนไร่ นอกนั้นยังไม่ได้ประกาศจัดสรรโควต้า 

แต่ตามนโยบายที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศไว้แล้ว เป้าหมายของรัฐบาลคือ ที่ดิน คทช. และที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่อยู่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1และ 2 ซึ่งหมายความว่าที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย คทช. และที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะถูกบังคับให้ปลูกป่าอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็น 

สำหรับเอกชนที่ปลูกป่าตามที่ได้รับการจัดสรรแล้ว จะมีสิทธิ 2 ประการ คือ ได้รับสิทธิในการลดภาษี และสามารถนำพื้นที่ป่าดังกล่าวไปขายคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งก็ไม่ต่างกับยกสัมปทานพื้นที่ป่าให้บริษัทเอกชนรายใหญ่นำไปแสวงประโยชน์

(ภาพ : BBC Thai / Thai News Pix)

4.

สรุปคือ ไม่ต้องถามว่าเราจะได้อะไรจากการประชุมเอเปค แต่ต้องถามว่าเราจะเจอปัญหาอะไรหลังประชุมเอเปค 

เพราะเมื่อไปดูชื่อกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการประชุมคือนายทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า น้ำมัน อาหารและการเกษตร ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเดียวที่อยุ่เบื้องหลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จะเกิดอะไรขึ้นกับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามาม่า ค่าข้าว ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเหล็ก ค่าปูน ค่า…

สำหรับคนชนบทหลายล้านคนในประเทศไทย คงจะต้องเตรียมรับมือกับการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้านไปให้นายทุนปลูกป่า ตามที่คุณวิฑูรย์สรุปทิ้งท้ายว่า รัฐบาลไทยจะใช้โอกาสนี้ผลักดันให้ระบวนการฟอกเขียวนี้ได้รับการยอมรับในระดับระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายแย่งยึดที่ดินจากประชาชนไปแจกจ่ายให้นายทุน