จี้เปิดแผนรับมือฝุ่นควัน PM2.5 9 จังหวัดภาคเหนือ

เครือข่ายเหนือจี้ ทส. เปิดแผนปฏิบัติการรับมือวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 ตามนโยบายชาติที่เพิ่งประกาศ ชี้ส่อ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ไม่มีอะไรคืบหน้า-ส่อการเปลี่ยนแปลงที่หวังได้ ทั้ง “การสื่อสารเชิงรุก-ตัวชี้วัด-การบริหารจัดการไฟ” ล่าสุดหน่วยงานพื้นที่ยังคงอยู่ในสภาพ “ไม่รู้ต้องทำไง” 

ด้านกรมควบคุมมลพิษ เดินหน้าเซ็นความร่วมมือ (MOU) หน่วยงานเกี่ยวข้อง-เอกชน-ธกส. หาทางนำร่อง “ลดเผาในที่โล่ง” ระดับพื้นที่ชุมชน ตั้งเป้าจะนำร่องทั้ง 9 จังหวัด

(ภาพ : สม-ดุล เชียงใหม่)

จี้เปิดแผนปฏิบัติ

“28 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการสวล.แห่งชาติ พล.อ.ประวิตร / วราวุธ ทส. เห็นชอบ เห็นชอบวาระที่สำคัญ ประกอบด้วย (ร่าง) แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง ตามมติ ครม. เมื่อปี 2562 

หลังจากประชุม มีข่าวสั้นๆ แค่อนุมัติแผนแล้วนะ แต่ไม่มีรายละเอียดของแผนเฉพาะกิจปีหน้าออกมาเลย ในทุกช่องทาง ไม่ว่าเว็บ/เพจ ของ กระทรวง ของกรมควบคุมมลพิษ ของศูนย์แก้ไขมลพิษทางอากาศ ศกพ. หรือจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ใดๆ” บัณรส บัวคลี่ หนึ่งในแกนนำสภาลมหายใจเชียงใหม่ และเครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานติดตามการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษอากาศภาคเหนือมาต่อเนื่อง เปิดเผยวันนี้ (15 พ.ย. 2565)

“ฟังเผินๆ เหมือนดี เพราะแผนที่ว่า (ได้) รวมเอาหลักการสำคัญที่ควรจะแก้ คือ 

การสื่อสาร ที่สอบตกมาตลอด ไม่ใช่แค่นั้น หน่วยงานของท่านทำตัวเป็นแดนสนธยา ไม่เปิดเผยข้อมูลการชิงเผา การทำงานแต่ละวัน มีอาณาจักรของตัว ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน 

การบริหารจัดการไฟ ที่แถลงว่า จะใช้แอพพลิเคชั่น burn check  ซึ่งนี่ก็น่ากังวลเช่นกัน  ว่าชุดนโยบายที่แท้จริงภาครัฐจะเอายังไงแน่ การบริหารไฟโดยใช้ burn check แปลว่า ให้บริหารการเผาได้ ตามหลัก และเปิดเผยโปร่งใส สมเหตุผล  ซึ่งภาครัฐแทบไม่เคยทำมาก่อน ส่วนใหญ่ สั่งห้ามเด็ดขาด มีประกาศห้ามเผาเด็ดขาด หน่วยกำกับอย่างทัพภาคที่ 3 มีท่าทีชัดเจนว่า ควบคุม hotspot ห้ามเกิด 

KPI ของรัฐเอง ก็ใช้ hotspot เป็นสำคัญ ! มีการตั้งเป้าว่าปีหน้าต้องลดจากสถิติเดิมกี่ % ตกลงชุดมาตรการ และ กรอบกระบวนทัศน์ของการแก้ไขปัญหาของปีหน้าจะเอาไงแน่ ? ประกาศแผนเฉพาะกิจอย่าง แต่ KPI ก็ยังคงเดิม ! มันน่าสงสัยไหมล่ะครับ เสียดายที่อ่านการแถลงข่าวไม่มีรายละเอียดเหล่านี้” บัณรส ระบุ

(ภาพ : สม-ดุล เชียงใหม่)

ส่อ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” นโยบายสื่อสารเชิงรุก

“(ฤดูฝุ่นกำลัง) ใกล้มาแล้ว สถานการณ์ความคืบหน้าที่ยังน่ากังวล 

(นโยบายชาติประกาศ) นับจากนี้จะเน้นการสื่อสารเชิงรุก นี่เหรอ การสื่อสารเชิงรุก (ประกาศนโยบายเสร็จ) 10 วันผ่านไป การสื่อสารค่อยปรากฏ 

7 พ.ย. 2565 มีการแถลงข่าวของ ศูนย์  ศกพ. โดย รมว.วราวุธ ปลัดจตุพร อธิบดีปิ่นสักก์ ให้รายละเอียด แผนเฉพาะกิจ ว่าจะมุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่เมือง 2) พื้นที่ป่า และ 3) พื้นที่เกษตรกรรม ภายใต้ 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ประกอบด้วย 

1) เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ 

2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง

3) ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) 

4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 

5) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) 

6) ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด 

7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง” บัณรส กล่าว (รายละเอียด : https://greennews.agency/?p=31402)

แผนป้องกันไฟป่า และฝุ่น PM2.5 จ.เชียงใหม่ ปี 2566 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพ : นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร)

ส่งผล “ภาคปฏิบัติ” ในพื้นที่

“ท่านบอกว่าแบ่งพื้นที่ จัดการ เป็นพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม ถามว่า แต่ละพื้นที่จะยกระดับยังไง นี่ก็ไม่มีรายละเอียด หน่วยงานผู้ปฏิบัติงงมั้ย เขาก็คงใช้ความเคยชินเดิมๆ มาตรการเดิมๆ แบบที่เคยทำนั่นล่ะ  ซึ่งไม่ได้ยกระดับอะไรจริง 

อย่างเช่น จว.เชียงใหม่ ผู้ว่าฯใหม่ ดูกระตือรือร้น มีแนวทางมาตรการออกมา แต่พอลงลึกในรายละเอียด ยังไม่ชัดเช่นกัน ว่าจะยกระดับการบริหารพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า อย่างไร จะเพิ่มการบริหารจัดการแบบ burn check (ที่ส่วนกลางสั่ง) อย่างไร  ถ้าจะมุ่งพัฒนายกระดับการบริหารไฟจริง ต้องลงรายละเอียดมาตรการกว่านี้ เช่น เดือนธันวาคมต้องประเมินสถานการณ์ปีหน้าและกำหนดพื้นที่ชิงเผาภาครัฐไว้ก่อนเลย อย่าให้จนท.นึกเอง สามแสนไร่ สองแสนไร่ แต่เผาที่เดิมจุดเดิมตลอด

ไหนๆ จะยกระดับมาตรการแล้ว ช่วยลงรายละเอียดเพิ่มหน่อยสิครับ หน่วยงานเขางง แต่เขาไม่กล้าถาม มีแต่ภาคประชาชนนี่แหละ ที่ต้องกล้าถาม” บัณรส กล่าว

(ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ)

คพ. เดินหน้า “ลดเผาในที่โล่ง” ด้วย MOU “นำร่อง”

“คพ.ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) “เครือข่าย ลดการเผาในที่โล่ง” ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) และสภาลมหายใจภาคเหนือ ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง วานนี้ (14 พ.ย. 2565)

โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นพยานในการลงนาม” ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ “โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรเพื่อลดฝุ่นละอองจากการเผาในที่โล่งด้วยการพัฒนาเครื่องมือ ทางเศรษฐศาสตร์” ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน พิษณุโลก ตาก และอุตรดิตถ์ ของ คพ. 

ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. “โครงการชุมชนต้นแบบลดการเผา” ของ เอสซีจี  “โครงการลดการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่การเพาะปลูกข้าว อ้อย ร่วมกับเครือข่าย เพื่อลด ฝุ่นละออง PM2.5” ของ ธกส. และกิจกรรมเพื่อลด ผลกระทบจากฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาในที่โล่งขององค์กร และหน่วยงานต่างๆ

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกฝ่าย ที่มีความประสงค์จะร่วมมือกันในการสนับสนุน ดูแล และป้องกันการเผาในที่โล่ง รวมทั้งดำเนิน กิจกรรมการลดการเผาในที่โล่ง โดยการสนับสนุนชุมชนต้นแบบลดการเผาในที่โล่ง มีข้อตกลงความร่วมมือ เช่น 

คพ. ดำเนินการประสานเครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง และชุมชนต้นแบบนำร่อง 9 จังหวัด เพื่อสนับสนุนการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในพื้นที่เกษตร และวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ สร้างชุมชนต้นแบบการจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร 

สถ. ดำเนินการ ส่งเสริม อปท.สร้างความรู้ความเข้าใจ ในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรและวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ชุมชน ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือให้กับชุมชนเพื่อใช้ดำเนินงานการลดการเผาในที่โล่ง  

ธ.ก.ส. ดำเนินการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการลดก๊าซเรือนกระจกและลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 

บริษัท เอสซีจี ดำเนินการแลกเปลี่ยนรูปแบบชุมชนต้นแบบลดการเผาในที่โล่ง และนวัตกรรม โดยการผลักดันให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการลดการเผา สนับสนุนและร่วมดำเนินกิจกรรมการลดการเผาในที่โล่งร่วมกับชุมชน และ 

สภาลมหายใจภาคเหนือ ดำเนินการประสานเครือข่ายในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชุมชนต้นแบบการลดการเผาในที่โล่ง สนับสนุนและร่วมดำเนินกิจกรรมการลดการเผาในที่โล่งร่วมกับชุมชน โดยทุกหน่วยงานจะร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะทั่วไปได้” อธิบดี คพ. อธิบาย