ขึ้นดอยแจกของทำบุญกันเถอะวิ

GreenJust : เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

(ภาพ : เพจเพื่อน้องบนดอยสูง)

1.

คุณคิดว่าการเอาของไปแจกหรือไปเลี้ยงอาหารเด็กบนดอย ความจริงแล้วตอบสนองความต้องการของใคร ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมเห็นเฟสบุ๊คหนึ่งที่ใช้ชื่อเพจว่า “เพื่อนน้องบนดอยสูง” สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/Volunteersocial/posts/5496036053765003 ได้เผยแพร่ข้อความเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมทำบุญ “เลี้ยงอาหารเด็กๆและชาวบ้านบนดอย อิ่มละ 19 หรือร่วมได้ตามกำลัง” ที่วางแผนไว้จะจัดช่วงสิ้นปี

เชื่อได้เลยว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ซึ่งเป็นวันหยุด เด็กๆ และชาวบ้านจะถูกเรียกไปที่โรงเรียน ต่างตื่นเต้นที่เห็นคนแปลกหน้า เด็กๆ จะถูกเรียกให้เข้าแถว มีพ่อแม่และคนแก่ยืนอออยู่ด้านหลัง แขกที่มาเยือนยืนซุบซิบอยู่ข้างๆ บางคนก็วุ่นอยู่กับหม้ออาหารมื้อพิเศษ บางคนก็ง่วนอยู่กับการจัดเตรียมขนม เสื้อผ้า ของเล่น สำหรับแจก

เมื่อคุณครูให้สัญญาณ เด็กสักคนหนึ่งก็จะพูดเสียงดังๆ เหมือนเป็นการสั่ง แล้วเสียงเพลงชาติก็จะถูกร้องด้วยสำเนียงแปร่งๆ ตามมาด้วยบทสวดมนต์ หลังจากนั้นคุณครูก็จะกล่าวชี้แจงอะไรเล็กๆ น้อยๆ เสร็จแล้วก็ปล่อยให้แขกผู้มาเยือนทำกิจกรรมกับเด็กๆ อาจจะมีการร้องเพลง เล่นเกม เตะบอล เป่าลูกโป่ง แจกขนม เสื้อผ้าและสิ่งของอื่นๆ บรรยากาศสนุกสนานพอประมาณ พอได้เวลาทั้งหมดก็จะถูกเรียกเข้าโรงอาหาร และแขกผู้มีเยืยนก็นำอาหารแปลกๆ มาเสิร์ฟให้ 

เมื่อภาระกิจบรรลุเป้าหมายแล้ว เด็กๆ ก็จะถูกเรียกมาเข้าแถวหน้าเสาธงอีกครั้ง คุณครูมายืนดูแลความเรียบร้อย และคอยให้สัญญาณ เด็กๆ จะพูดว่า “ขอบคุณครับ / ขอบคุณค่ะ” ผู้มาเยือนพร้อมๆ กัน 3 ครั้ง แล้วตบท้ายด้วยตัวแทนเด็กเดินออกมาหน้าแถว แล้วพูดแสดงความรู้สึกสั้นๆ พร้อมกล่าวชื่นชมน้ำใจของผู้มาเยือนสองสามประโยค ทำให้ผู้มาเยือนต่างยิ้มหน้าชื่นตาบาน อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำบุญช่วยเหลือสังคม เสร็จแล้วต่างก็เก็บข้าวของกลับบ้าน (อาจจะมีสัญญาว่าปีหน้าจะมาใหม่) ปล่อยให้เด็กๆ และเหล่าชาวบ้านที่นั่นเผชิญชะตากรรมแบบเดิมต่อไป

(ภาพ : เพจเพื่อน้องบนดอยสูง)

2.

คนที่แคร์สังคมส่วนใหญ่ชอบไปแจกของให้คนบนดอยตอนหน้าหนาว ทั้งๆ ที่หน้าอื่นๆ คนบนดอยก็ลำบาก บางทีอาจจะเรียกว่าลำบากกว่า 

เช่น หน้าฝนโรคระบาด ถนนเละใช้งานไม่ได้ สะพานข้ามลำห้วยขาด หน้าร้อนน้ำแล้งมาก ไฟป่าลามหนัก ชาวบ้านถูกเกณฑ์ไปเดินป่าดับไฟโดยที่อำเภอหรือ อบต. ให้เงินมานิดหน่อย ชาวบ้านต้องควักกระเป๋ากันเอง สถานการณ์แบบนี้ชาวบ้านมีความต้องการมากกว่า 

แต่พอไม่ใช่หน้าหนาวคนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยสนใจบริจาค จริงอยู่ที่มีคนจำนวนหนึ่งที่บริจาคช่วยในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ไม่ใช่วิธีการที่อยู่ในกระแสหลักของสังคมไทย   

สมัยเป็นนักศึกษารวมทั้งตอนทำงานใหม่ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจงานแบบนี้พอสมควร ตอนนั้นผมทำด้วยความเชื่อว่าเป็นการทำงานเพื่อช่วยคนที่ลำบากและยากจน ผมเองก็เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการระดมทุนและข้าวของไปแจกชาวบ้านและเด็กๆ ตั้งหลายครั้ง 

มาถึงตอนนี้ ผมก็ยังสนใจปัญหาความยากจนของคนดอยอยู่ บอกได้เลยว่าสนใจมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้คิดจะไปแจกของหรือทำบุญแล้ว ผมกลับคิดว่าแก้ไขปัญหาแบบทำบุญนี่แหละ เป็นต้นเหตุหนึ่งทำให้ความยากจนยังคงอยู่กับคนชายขอบของสังคมไทย

(ภาพ : เพจเพื่อน้องบนดอยสูง)

3. 

ในสายตาของคนให้ โดยทั่วไปมักจะคิดว่าเด็กดอยที่หน้าตาดูมอมแมม ผมเผ้ายุ่งๆ เสื้อผ้าเก่าหน่อยๆ เหล่านั้น คงอยู่ใต้ชายคาที่ผุพัง หนาวเหน็บ หิวโหย ไม่เคยได้กินของดี ไม่มีเสื้อผ้าดีใส่ ไม่มีทีวีให้ดู ไม่เคยเห็นความเจริญ ไม่มีอนาคต แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นจริงหรือ 

ปัจจุบันเด็กๆ เหล่านั้นแม้จะดูมอมแมม แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อดอยาก แม้จะมีฐานะโดยรวมต่ำกว่าคนในเมือง แต่พ่อแม่ของพวกเขามีข้าวและอาหารเพียงพอกินตลอดปี สามารถซื้อขนมให้ลูกกินเองได้ มีรถมอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ใช้ มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

หากมองจากสายตาของผู้รับ การที่เด็กๆ และชาวบ้านไปรับของแจกจากคนใจบุญที่มาเยือน และร่วมกินอาหารที่คนแปลกหน้ามาเลี้ยง สำหรับพวกเขาแล้วนั่นก็เป็นเพียงได้ร่วมกิจกรรมสนุกๆ ได้กินของแปลกๆ มื้อหนึ่ง พ่อแม่ก็ไปดูลูกๆ สนุกสนาน บางคนก็รับของแจกมาด้วยความเกรงใจ แน่นอนว่าพวกเขาดีใจและรู้ยินดีที่มีคนมาเยี่ยมเยือน แต่สิ่งที่เด็กๆ และชาวบ้านได้รับนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเลยแม้แต่น้อย

แน่นอนว่าสิ่งที่คนไปทำบุญได้เห็นด้วยตานั้น เป็นปัญหาที่สร้างความยากลำบากให้ชาวบ้านอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนลูกรังขรุขระต้องใช้รถโฟร์วิว สะพานที่ถูกน้ำพัดขาดต้องใช้ไม้พาด กลางคืนมืดมิดเพราะไม่มีไฟฟ้า อาคารเรียนทรุดโทรม เด็กๆ อ่านออกเขียนได้น้อย ชาวบ้านปลูกอะไรก็ถูกกดราคาจนเป็นหนี้เป็นสิน 

เหล่านี้เป็นปัญหาที่ชาวบ้านอยากให้คนเข้าไปแก้ให้ แต่เมื่อไหร่ที่พูดถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว คนใจบุญก็ตระหนักได้ว่ามันเกินกำลังที่จะช่วยได้ ได้แต่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ บางคนอาจจะคิดด่า อบต. อยู่ในใจ บางคนก็สาปแช่งนักการเมือง

สำหรับคนที่ชอบทำบุญ แจกของ ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส ผมขอแนะนำให้อ่านบทสัมภาษณ์ “มิติทางอำนาจ การผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางชนชั้นด้วยการให้-แจกของอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ในลิงค์นี้ https://prachatai.com/journal/2021/01/91370 เพื่อช่วยเหลาความคิดให้คุณสามารถพัฒนาการให้ได้อย่างมีคุณภาพ และไม่ทำให้ความหวังดีของคุณตกเป็นเครื่องมือของคนที่มีอำนาจในสังคม 

โดยตอนหนึ่งอาจารย์กล่าวว่า การให้ “เป็นการทอดปัญหาที่แท้จริงให้มันยาวออกไปโดยไม่มีการขุดรากให้เห็นว่ารากของปัญหามันคืออะไร เท่ากับเป็นการกลบเกลื่อนรากที่แท้จริงของปัญหา เราไม่อาจพึ่งพาการให้อย่างเดียวเป็นทางออกของการแก้ปัญหา” 

(ภาพ : เพจเพื่อน้องบนดอยสูง)

4.

ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ เราเห็นคนยากจนเยอะแยะมากมาย คนบนดอยอยู่อย่างกันดาร เด็กๆ ขาดโอกาสมากสาย ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ กุมเงินไว้จำนวนมหาศาล แต่ไม่รู้ว่าถูกละลายไปกับอะไร ถึงไม่เอามาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้าน   

หากคุณอยากทำบุญหรือช่วยเหลือแล้วเกิดผลสะเทือนได้จริง ผมขอแนะนำตัวอย่าง (ย้ำว่าเป็นตัวอย่าง) เช่น บริจาคให้กับมูลนิธิหรือสมาคมที่ต่อสู้เรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาในประเด็นที่คุณเห็นว่าสำคัญ หรือบริจาคให้พรรคการเมืองที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ในการต่อสู้เพื่อแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่กีดกันสิทธิสิทธิและเสรีภาพของคนบนดอย เป็นต้น