“หนักแน่ ฤดูฝุ่นปีนี้” ทส.ประกาศแผนรับมือ เครือข่ายเหนือเสนอยกระดับ

การประเมินจากแทบทุกแหล่งระบุค่อนข้างตรงกัน “ฤดูฝุ่นปีนี้ วิกฤตฝุ่นควันในประเทศไทยจะหนักกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปัจจัยสภาพภูมิอากาศ-ภาวะลานีญ่า”

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศวันนี้ “แผนรับมือ” ด้วยนโยบาย “3 พื้นที่ 7 มาตรการ” สำหรับพื้นที่เมือง-เกษตรกรรม–ป่าไม้ ด้วย 7 มาตรการ

ด้านเครือข่ายภาคประสังคมที่ทำงานเรื่องนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ “สภาลมหายใจฯ” จัดทำข้อเสนอเชิงรุก “ยกระดับการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ-ครบทุกมิติ-บนบริบทพื้นที่จริง”

(ภาพ : Stefanos Fotiou)

แหล่งก่อฝุ่นควัน-วิกฤต–แนวโน้ม

“ฝนในปลายปีนี้และต้นปีหน้ามีแนวโน้มน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งนั่นจะเริ่มส่งผลกระทบหลังจากเข้าสู่ฤดูหนาวที่จะทำให้ฝุ่น PM2.5 กลับมาเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนฝุ่น PM2.5 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมาตรการที่ใช้ในการแก้ปัญหายังเหมือนปีที่แล้ว ประชาชนไทยจะต้องเจอกับปัญหาฝุ่นที่หนักขึ้น“ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิเคราะห์สถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 กับทางศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช (ภาพ : Witsanu Attavanich)

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวถึงสาเหตุ แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ว่ามีที่มาจาก 3 แหล่ง คือ ภาคเกษตร ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม

ภาคเกษตร  ในช่วงพฤศจิกายนจะเป็นช่วงนาข้าวจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากนั้นก็จะมีการเผาเพื่อปรับพื้นที่รอปลูกข้าวรอบใหม่  รวมถึงยังมีการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ยังเป็นปัญหาหลัก โดยที่รัฐยังไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมการลดการเผาอย่างจริงจัง

ภาคยานยนต์  จะเป็นปัญหาเดิมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้  เรื่องของควันดำ  และการที่ยังไม่มีการปรับมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 ที่มีการเลื่อนมาตั้งแต่ปี 63 และเลื่อนออกไปเป็นปี 67 

ภาคโรงงานอุตสาหกรรม  ซึ่งปกติจะมีการเดินเครื่องทำงานตลอด 24 ชม. แต่กลับไม่พบข้อมูลของกรมโรงงานที่มีการเปิดเผยให้ทราบว่าโรงงานเหล่านี้มีการปล่อยมลพิษออกมามากเท่าไหร่  เหมือนกับข้อมูลการเผาไหม้ในแต่ละพื้นที่  ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับรู้ 

“ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ฝุ่นจะหนักที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม  เนื่องด้วยอากาศหนาวเย็น ลมอ่อน และปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ ทำให้ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จากภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์และรถบรรทุก และการเผาในภาคเกษตรที่จะเป็นช่วงที่นาข้าวเก็บเกี่ยวเสร็จและจะมีการจัดการแปลงด้วยการเผาเพื่อปลูกข้าวรอบใหม่  นอกจากนี้ยังมีฝุ่นข้ามพรหมแดนจากประเทศกัมพูชามาสมทบเพิ่มด้วย

ภาคอีสาน จะเจอกับฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไปจนถึง – มีนาคม  จากภาคเกษตรที่มีการเผานาข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  รวมถึงยังได้รับฝุ่นข้ามพรมแดนบางส่วนจากประเทศลาวและเวียดนาม 

ภาคเหนือ   จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ยาวนาน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน  ด้วยสาเหตุจากการเผาไหม้ทางภาคการเกษตร  และการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าที่ต่อเนื่องกัน  รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมา” รศ.ดร.วิษณุ กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นในแต่ละภาค

(ภาพ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ทส.ประกาศนโยบายรับมือภาครัฐ

“การคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 สถานการณ์อาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา 

อันเนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าปรากฎการณ์ “ลานีญา” จะเริ่มน้อยลง หรือมีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น 

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ยังคงมีปริมาณเท่าเดิมต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้จะมีความกดอากาศ อากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ปริมาณฝุ่นไม่สามารถระบายออกได้เกิดการสะสมของฝุ่นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองหลักเกิดจากการจราจรและรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล” 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองปี 2566 ที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ บ่ายวานนี้ (7 พ.ย. 2565) พร้อมประกาศแผนรับมือ “นโยบาย “3 พื้นที่ 7 มาตรการ”

“ที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีสาเหตุหลักมาจากการจราจร 

สำหรับมาตรการรับมือ เราจะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าน้ำมันจัดจำหน่ายน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – เมษายน 2566 เพื่อช่วยคุณภาพอากาศในเมืองให้ดีขึ้น และขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการยานยนต์กว่า 11 บริษัทจัดกิจกรรมตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ เปลี่ยนไส้กรอง และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในราคาพิเศษ และเข้มงวดกับการตรวจควันดำรถยนต์ของหน่วยงานราชการที่เข้มข้นกว่ารถทั่วไป ซึ่งหากตรวจพบและไม่มีการแก้ไขภายใน 30 วัน จะมีการติดตามผลไปยังหน่วยงานเจ้าของยานพาหนะนั้นด้วย

“สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ การประเมินจำนวนจุดความร้อนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนจุดความร้อนลดลงไปกว่า 80% ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น จึงขอให้เร่งจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผา เร่งดำเนินโครงการชิงเก็บ ลดเผา เปลี่ยนเชื้อเพลิงเหล่านั้นให้มาเป็นเชื้อเพลิง RDF หรือเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงและการเกิดไฟป่า ส่วนพื้นที่การเกษตร ให้มีการเคาะประตูบ้านเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผาเพื่อไม่ให้มีการเผา และการรับมือหมอกควันข้ามแดน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศไทย สิ่งที่ทางประเทศไทยจะดำเนินการคือการส่งเอกสารไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในการขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังขอฝากแนวทางให้ภาคราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนทำความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จนอาจสร้างความตื่นตระหนก หรือแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการระบาย” วราวุธกล่าว

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึง แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ โดยได้แบ่งการดำเนินงานภายใต้ 3 พื้นที่ 7 มาตรการ 

“คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยในปีนี้ มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่  พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และ พื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ดังนี้

  1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่
  2.  ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง
  3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check)
  4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
  5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)
  6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด
  7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว
จุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทยเมื่อ 8 พ.ย. 2565 (ภาพ : firms.modaps.eosdis.nasa.gov)

ข้อเสนอ “สภาลมหายใจฯ”

“ตลอด 15 ปี นับจาก พ.ศ.2550 เป็นต้นมา พื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ก็ยังคงประสบกับวิกฤตมลพิษอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กเปนประจําทุกปี มากบ้าง-น้อยบ้าง ขึ้นกับมีฝนมาก/น้อย ตามภาวการณ์ลานีญา/เอลนีโย ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาภูมิอากาศ และ ขนาดของแหล่งกําเนิดหลัก คือการเผาในที่โลงทั้งใน และนอกประเทศ

จนกระทั่งล่าสุด ฤดแล้งปี 2565 เป็นปีที่มีฝนตกมากแทบจะทุกสัปดาห์จากปรากฏการณ์ลานีญ่า จุดความร้อน hotspots น้อยลงจากปีก่อนหน้าอย่างชัดเจน แต่กระนั้นก็ยังคงประสบกับปัญหา ค่ามลพิษอากาศ pm2.5 เกินมาตรฐานในทุกจังหวัด มีไฟไหม้ป่าขนาดใหญ่ลามต่อเนื่องหลายวัน 

น่าสังเกตว่าปี 2565 เป็นปีที่อากาศเอื้ออำนวย มีฝนตลอดฤดูแล้ง แต่ก็ยังมีช่วงที่มีมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน และมีไฟไหม้ใหญ่ลุกลามไม่สามารถดับได้หลายพื้นที่ ซึ่งหากเป็นปีที่ปกติ หรือปีที่แห้งแล้ง ความรุนแรงจะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก 

สถิติทิ่ดีขึ้นไม่ได้หมายความว่าในปีหน้า หรือปีต่อ ๆ ไปจะดีต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีฝนฟ้าเป็นตัวแปร ซึ่งมนุษย์ควบคุมไม่ได้ ที่สำคัญกว่านั้นการบริหารจัดการที่แหล่งกําเนิดต้นทาง  ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควรจะควบคุมได้กลับยังไม่สามารถจะบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง” จากหนังสือ บลูพรินท์ : ข้อเสนอเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ

สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควันที่ผ่านมาของภาคเหนือ ภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ ประธานสภาลมหายใจลำพูน ตัวแทนเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด แถลงจาก การประชุมสรุปบทเรียนและสร้างแนวทางการขับเคลื่อนภาคเหนือสู้ฝุ่นควัน ว่าฤดูแล้งที่ผ่านมา เกิดฝุ่นควันและไฟน้อยกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศมีฝนตกจากภาวะลานีญ่าเป็นสำคัญ ขณะที่การบริการจัดการแก้ไขปัญหา

ทางเครือข่ายฯ พบว่า มีความจำเป็น ต้องยกระดับปรับปรุงชุดมาตรการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน PM 2.5 ตามวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละอองที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพราะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาของภาคเหนือ ใช้ตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนและไม่ครอบคลุม มุ่งเน้นที่การบังคับห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ชุดมาตรการ zero burning (มาตรการห้ามเผา) ซึ่งไม่ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ

สำหรับข้อเสนอทางออกของมลพิษฝุ่นควันทางภาคเหนือ ทางเครือข่ายฯ จัดทำเป็นหลักความคิด 6 ประการคือ

หลักความคิด 6 ประการ “ข้อเสนอทางออกของมลพิษฝุ่นควันทางภาคเหนือ”

1.บริหารจัดการสาเหตุตามบริบทภูมิสังคม (แทนการบริหารควบคุมจุดความร้อนห้ามเผาเด็ดขาด- Fire management (การบริหารจัดการไฟ) แทน zero burning (มาตรการห้ามเผา)
- เศรษฐศาสตร์ปากท้อง มาพร้อมกับการปล่อยมลพิษ โดยการ บริหารมลพิษให้สมดุลกับเศรษฐศาสตร์ปากท้อง
- นิเวศป่าผลัดใบ จำเป็นต้องใช้ไฟที่เหมาะสม
- สาเหตุอื่นใช้หลักบริหารตามเหมาะสม แต่สาเหตุไฟที่โล่งใช้มาตรการเหมาคลุม
2.หลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม- หลักคนก่อเป็นผู้รับผิดชอบ ควบคู่กับ หลักผู้ได้ประโยชน์มากต้องรับผิดชอบมาก
- ไม่มีความเหลื่อมล้ำเชิงนโยบาย
- มุ่งผลระยะยาว และความยั่งยืน
3.หลักสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง- ไม่มีพื้นที่ตกสำรวจเพราะ KPI (ตัวชี้วัด) เครื่องวัดอากาศ
- การป้องกันเชิงรุก
- เครื่องวัดอากาศทั่วถึงทุกชุมชน/ตำบล
- ให้น้ำหนักและความสำคัญกับพื้นที่เสี่ยงมาก ผลกระทบมาก
4.เปิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกน- ธรรมาภิบาลในการบริหารข้อมูล ตัวเลขงบประมาณ และ การเปิดตารางกิจกรรมแก้ปัญหา
- วางแผนจัดการร่วมทุกระดับ โดยโครงสร้างบริหารจัดการต่อเนื่องตลอดปี แทนแนวคิดบริหารภัยพิบัติ
- KPI (ตัวชี้วัด) ร่วม
- ป่าชุมชน
- แผนชุมชน
5.การเข้าถึงอากาศสะอาด เป็นสิทธิ์พื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครอง- ฝุ่นควันข้ามแดน กระทบสิทธิ์ของประชาชนไทย
- หลักความโปร่งใส ให้เกียรติประชาชน การบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดมลพิษของรัฐต้องรายงาน/ประกาศล่วงหน้า
- รัฐรับผิดชอบผลกระทบจากผลกระทำของรัฐ เช่น บริหารชิงเผาป่าของรัฐไม่แจ้งล่วงหน้า
6.ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ปัญหา- เพิ่มเขตพื้นที่ปัญหาการเกิดมลพิษขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เป็นตัวตั้ง แทนการใช้เขตปกครอง หรือเขตอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานที่ใช้เดิม
- ใช้หลักบัญชาการแบบซิงเกิ้ลคอมมานด์ในระหว่างเผชิญเหตุ และ คณะกรรมการร่วมบูรณาการระดับพื้นที่ในตลอดปีที่เหลือ
- ปรับปรุงโครงสร้างอำนวยการส่วนกลางเพื่อปฏิบัติงานตลอดทั้งปี ให้มีคณะกรรมการถาวร โดยมี สำนักนายกรัฐมนตรี/หรือกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน (แทนโครงสร้างระดับภาคที่มีกองทัพภาค 3 เฉพาะกิจช่วงเผชิญเหตุ)

โดยทางเครือข่ายฯ จะนำเสนอหลักทั้ง 6 นี้กับรัฐบาลเพื่อที่ให้ทางรัฐบาลนำไปปรับปรุงเป็นนโยบายต่อไป

(ภาพ : สภาลมหายใจเชียงใหม่)